Football Sponsored

เจอแน่ๆ!! 4 สิ่งที่ช้างศึกต้องเผชิญเมื่อฟัดกับเวียดนาม

Football Sponsored
Football Sponsored

ทุกครั้งที่ไทย เผชิญหน้ากับเวียดนาม เป็นงานยากเสมอ เพราะพวกเขาคือคู่รัก-คู่แค้นที่ผูกความเจ็บมาตลอดหลายปีหลังสุด และนัดชิงชนะเลิศ อาเซียน คัพ 2022 ซึ่งเปรียบเสมือนการแย่งชิง ‘เบอร์ 1’ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งทำให้ดีกรีความดุเดือดเพิ่มทวีคูณ

และนี่คือสิ่งที่ทัพช้างศึกจะต้องเผชิญแน่ๆ เมื่อฟัดกับทีมดาวทอง!!

เสียบสกัดหนักหน่วง

เป็นเรื่องปกติของไทย เพราะยามใดที่แข่งขันกับคู่ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นมักจะต้องถูกการเล่นหนักเข้ามาโจมตี เนื่องจากศักยภาพผู้เล่นชาวสยามค่อนข้างจะเหนือกว่าเพื่อนๆ ละแวกนี้อยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเวียดนาม นั้นแตกต่างออกไป เพราะนับตั้งแต่ พัก ฮัง-ซอ เข้ามาคุมทัพเมื่อปี 2017 เขาค่อยๆ ปรับทีมดาวทองให้ดุดันและขึงขังมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ไม่เพียงแค่ไทย เท่านั้นที่ต้องเจอการเสียบสกัดที่หนักหน่วง หากแต่คู่แข่งทุกชาติที่เจอกับลูกทีมของโค้ชชาวเกาหลีใต้ ต่างก็ต้องร้องระงมกับแท็กติกอันเหี้ยมเกรียม เพราะนักเตะเวียดนาม พร้อมที่จะเข้าบอลแบบสุดตัว

จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเสมอ (1-1) และแพ้ญี่ปุ่น ทีมเบอร์หนึ่งของเอเชีย เพียง 0-1 ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก นั่นก็เพราะกลยุทธ์บู๊ล้างผลาญของ ฮัง-ซอ นั่นแหละที่ทำเอา เดอะ บลู ซามูไร ต้องเล่นแบบเซฟตัวเอง

ยิ่งกับเกมสำคัญ ความเหี้ยมโหดของนักเตะเวียดนาม จะเพิ่มพูน ดังนั้นในนัดชิงชนะเลิศ อาเซียน คัพ 2022 เราจะได้เห็นการเล่นที่หนักหน่วงในทุกๆ จังหวะของทัพดาวทองแน่นอน

เดือดทุกจังหวะ

พัก ฮัง-ซอ กุนซือของเวียดนาม เป็นคนที่มีบุคลิกที่กร้าวแกร่ง ไม่ยอมคน และเมื่อใดที่ฝั่งตนเองเสียผลประโยชน์ เขาพร้อมที่จะออกมาปะทะกับฝั่งตรงข้ามแบบไม่เกรงกลัว ด้วยความเดือดดาล

สิ่งที่เฮดโค้ชชาวเกาหลีใต้ เป็น มันสะท้อนออกมาถึงการทำทีมที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและดุดัน จนทำให้เวียดนาม เล่นด้วยแพสชั่นที่สูงลิ่ว ซึ่งภาพที่ออกมาคือการที่มักจะเห็นนักเตะของพวกเขามีอารมณ์ร่วมระหว่างการแข่งขันค่อนข้างมาก

อย่าลืมว่านี่คือทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของ ฮัง-ซอ ในฐานะเทรนเนอร์ของทีมดาวทอง ซึ่งมันจะเป็นพลังบวกที่ทำให้ผู้เล่นพร้อมจะสู้ตายถวายหัวแบบไม่มีเม้ม เพื่อตอบแทนกุนซือผู้สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับวงการลูกหนังเวียดนาม

ดังนั้นคุณรอชมได้เลยว่าเมื่อไหร่ที่ผู้ตัดสินเป่านกหวีดเพื่อหยุดเกม ผู้เล่นของเวียดนาม จะกรูกันไปถามหาความชอบธรรมกับยกใหญ่แน่ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ตาม

นักวิ่งพลังม้า

เวียดนาม ในยุคของ พัก ฮัง-ซอ เป็นทีมที่เล่นด้วยระบบ จึงทำให้เห็นว่าผู้เล่นทุกคนต่างมีวินัยกันขันแข็ง ไม่เว้นแม้แต่กองหน้าที่ไม่ได้จำกัดบทบาทเพียงคนจบสกอร์เท่านั้น หากแต่ยังต้องเล่นเกมรับเป็นด้วย

ทุกนัดที่ทัพดาวทองลงสนาม ไม่ว่าจะเกมเล็กหรือเกมใหญ่ พวกเขาจะทุ่มเทเกินร้อยเพื่อธงชาติบนอกข้างซ้าย ด้วยเหตุนี้เองทำให้ฟุตบอลทีมชาติเวียดนาม พัฒนาขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่นาน

ดังนั้นการเผชิญหน้ากับไทย ซึ่งพวกเขาเองก็รู้ดีว่าศักยภาพส่วนตัวของนักเตะเหนือกว่า ดังนั้นการวิ่งเข้าใส่แบบไม่มีหมดตลอดทั้งเกม จึงเป็นสิ่งที่อดีตแชมป์ อาเซียน คัพ 2018 จะทำให้เห็นแน่ๆ

การต่อบอลที่ติดๆ ขัดๆ

ปัจจุบันฟุตบอลไทย อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับหัวแถวของเอเชีย ทว่าสไตล์การเล่นของทัพช้างศึกค่อนข้างชัดเจน นั่นคือเน้นการต่อบอลกับพื้นเป็นหลัก ยิ่งกับการมี อเล็กซานเดร โพลกิ้ง ซึ่งเป็นเฮดโค้ชที่ชื่นชอบเกมรุก ยิ่งตอกย้ำว่าเราจะเล่นฟุตบอลที่สวยงาม

ข้อดีของทีมสไตล์นี้คือทำให้แฟนๆ ชื่นชมและมีความสุข ดูไม่เบื่อ

ทว่าจุดบอดของทีมที่เล่นบอลกับพื้นคือเมื่อใดที่ต้องแข่งขันในสภาพสนามที่ไม่เอื้ออำนวย เมื่อนั้นแหละ ‘งานเข้า’ เลยทีเดียว

แล้วเกมนัดชิงชนะเลิศ ทีมชาติไทย ต้องบุกไปเยือน มี ดินห์ สเตเดี้ยม สนามที่เห็นภาพก็รู้ได้ทันทีว่ามีปัญหาเรื่องผืนหญ้าที่ไม่ได้เขียวขจีอย่างที่ควรจะเป็น แถมออกไปทางเทาๆ เสียด้วยซ้ำ

คู่แข่งที่ต้องมาที่นี่ต่างก็บ่นอุบเป็นเสียงเดียวกันในเรื่องนี้

แม้ว่าสถิติของไทย ในฐานะอาคันตุกะของ มี ดินห์ จะค่อนข้างดีมากๆ เพราะทีมชุดใหญ่ไม่เคยแพ้ให้เวียดนาม เลยสักครั้ง และยังเคยมายำทัพดาวทองเละเทะ 3-0 เมื่อปี 2015 อีกต่างหาก 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพหญ้าที่ค่อนข้างหนักไปทางย่ำแย่ น่าจะส่งผลให้การต่อบอลของทีมช้างศึกต้องยากลำบากอีกเท่าตัว และนั่นคงจะส่งผลต่อรูปเกมไม่มาก ก็น้อยเลยทีเดียว

ที่มาของภาพ : gettyimages

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.