ว่าแล้ว ‘SIAMSPORT’ จึงอยากนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาให้กับคุณผู้อ่านได้ทราบข้อมูลบางส่วนของกัมพูชา ทั้งก่อนหน้าและปัจจุบันให้ทุกคนได้ซึมซับไปกับเส้นทางของนักรบอังกอร์!!
ต้นตอทางประวัติศาสตร์
กัมพูชา หนึ่งในเมืองที่หลากหลายด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ทว่าอารยธรรมต่างๆ ของพวกเขายังอยู่ในระหว่างการถกเถียงเรื่องของถิ่นฐานเดิมว่ามาจากแห่งหนใดกันแน่
บ้างก็ว่ามีต้นกำเนิดมาจากตอนใต้ของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
บ้างก็ว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย
แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันแบบชัดเจนว่ากัมพูชา มีต้นกำเนิดมาจากทางใด
อย่างไรก็ตาม ตามประวัติศาสตร์ในยุคล่าอาณานิคม พวกเขาตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม (ไทย ในปัจจุบัน) ก่อนที่ต่อมาจะส่งต่อไปยังฝรั่งเศส ทำให้กัมพูชา ได้รับอิทธิพลจากทั้งสองประเทศค่อนข้างมาก
และด้วยความที่การเมืองยังไม่นิ่ง ส่งผลให้การพัฒนาในหลายๆ ด้านของพวกเขาเดินหน้าไปอย่างช้าๆ
แน่นอนว่ารวมถึง ‘ฟุตบอล’ กีฬาอันดับหนึ่งของมวลมนุษยชาติที่ กัมพูชา มักจะถูกมองว่าเป็นชาติไม้ประดับอยู่เสมอ
ยุคก่อตั้งกีฬาลูกหนัง
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กัมพูชา เริ่มก่อตั้งสมาคมฟุตบอลอย่างเป็นทางการในปี 1933 แต่กว่าจะได้เข้ามาเป็นชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) ก็ปาไปปี 1953 เลยทีเดียว
โดยชื่อแรกที่พวกเขาใช้ในนานาชาติคือทีมสาธารณรัฐเขมร ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงหลังจากอำนาจการปกครองของ ‘เขมรแดง’ สิ้นสุดลง
ผลงานของกัมพูชา ที่ดูดีที่สุดในยุคก่อนคือการคว้าอันดับ 4 ของศึก เอเชียน คัพ 1972 ซึ่งจัดการแข่งขันที่เมืองไทย แต่ตอนนั้นมีเพียง 6 ชาติที่เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์
อย่างไรก็ตาม จากห้วงเวลาที่ไม่สู้ดีนักภายในประเทศ เพราะมีการสู้รบกันมากมาย โดยเฉพาะยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ ทำให้ฟุตบอลของพวกเขาแทบจะถูกตัดออกจากสารบบไปเลยทีเดียว
กระทั่งปี 1993 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เปลี่ยนชื่อจากทีมสาธารณรัฐเขมร มาเป็นกัมพูชา พวกเขาจึงมีโอกาสได้ออกสู่โลกกว้างมากยิ่งขึ้น
เริ่มต้นจาก ไทเกอร์ คัพ
สถานการณ์ภายในประเทศเริ่มนิ่ง ทำให้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างของอาณาจักรฟูนันได้พัฒนา ปี 1996 พวกเขาได้เข้าแข่งขันได้รับเชิญให้เข้าร่วมแข่งขัน อาเซียน คัพ ครั้งที่ 1 หรือ ไทเกอร์ คัพ ตามชื่อผู้สนับสนุนหลักของทัวร์นาเมนต์
แต่ด้วยความที่ห่างเหินจากการฟาดแข้งในระดับนานาชาติ กัมพูชา แพ้รวดทั้ง 4 เกม ในรอบแรก และโดนถลุงไปถึง 12 ประตู
ต่อมาอีก 2 ปี กับฟุตบอลโลก 1998 (ฝรั่งเศส) รอบคัดเลือกโซนเอเชีย พวกเขาก็ยังเละเทะเช่นเดิม กับการแพ้ไป 5 จาก 6 นัด ทั้งยังเสียไปกว่า 27 ประตู มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ต่อจากมัลดีฟส์ และมาเก๊า
ย่ำแย่ในทุกทัวร์นาเมนต์
นับตั้งแต่ ไทเกอร์ คัพ 1996 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัมพูชา มากที่สุด แต่พวกเขาก็มีผลงานไม่โสภาเอาเสียเลย
13 ครั้ง (ก่อนปี 2022) ของศึกชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน ทัพนักรบอังกอร์ผ่านเข้าถึงรอบสุดท้ายเพียง 8 หน เท่านั้น และก็ตกรอบแรกแบบเรียบวุธ
โดยผลงานที่ดีที่สุดคือการชนะเพียงนัดเดียว
ไม่ต้องนับรวมถึง เอเชียน คัพ หรือ เวิลด์ คัพ ที่พวกเขาก็จอดอยู่ในรอบคัดเลือกทุกครั้งไป
จะมีที่เชิดหน้าชูตาได้หน่อยคงจะเป็น ซีเกมส์ 2019 เท่านั้น ที่ไปไกลด้วยการจบอันดับ 4 แต่นั่นก็เป็นทัวร์นาเมนต์ของรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี
จากผลงานที่ปรากฏ ทำให้กัมพูชา เป็นหนึ่งในชาติที่ถูกจัดให้อยู่ในฐานะทีมรองบ่อนของวงการฟุตบอล
การมาของ ฮอนดะ
สิงหาคม 2018 คือ ‘จุดเปลี่ยน’ อย่างแท้จริงของกัมพูชา เพราะการมาของ เคซูเกะ ฮอนดะ ตำนานนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นยังไม่แขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการ แต่กล้ารับงาน ‘เฮดโค้ช’ ให้กับทัพนักรบอังกอร์
“ผมรับงานนี้เพราะอยากทำ ผมอยากนำกัมพูชา ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่มันไม่สามารถทำได้ภายในเร็วๆ วันนี้หรอก มันต้องใช้เวลาและความอดทน”
“ผมตั้งเป้าไปที่ฟุตบอลในแบบที่ทุกคนที่นี่เห็นแล้วจะรู้สึกได้ว่ากัมพูชา เปลี่ยนไป”
นี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของอดีตเพลย์เมเกอร์ของ เอซี มิลาน ในวันที่เข้ารับตำแหน่งกุนซือ
คอลูกหนังทั่วโลกต่างงุนงงปนสงสัยว่าเหตุใดกัน ฮอนดะ ซึ่งตอนนั้นยังเล่นอยู่กับ วิเทสส์ สโมสรในลีกเนเธอร์แลนด์ส แต่กลับมารับงานโค้ชให้กัมพูชา ดื้อๆ
ทางทัพนักรบอังกอร์เองก็แปลกไม่แพ้กัน เพราะว่า ‘กล้า’ ที่จะให้นักเตะที่ยังไม่แขวนสตั๊ดเข้ามารับงานโค้ช ทั้งๆ ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านนี้ แถมยังมีงานประจำอยู่แล้วแท้ๆ
มันเหมือนความบ้าบิ่นพอๆ กันทั้งฝั่งฮอนดะ และกัมพูชา ที่เลือกจะกอดคอต่อสู้ไปด้วยกันนั่นเอง
เค้าลางแห่งอนาคต
นับตั้งแต่ ฮอนดะ เข้ามารับงานเทรนเนอร์ให้กับกัมพูชา – ทัพนักรบอังกอร์ค่อยๆ พัฒนาอย่างชัดเจน แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตกับสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ส่งโค้ชมาช่วยวางรากฐานที่มั่นคงให้อีกแรง
อาเซียน คัพ 2018 คือทัวร์นาเมนต์แรกของกุนซือมาดเท่ แม้จะตกรอบแรกตามคาด แต่เขาก็นำกัมพูชา คว้าชัยเหนือ สปป.ลาว ได้ 3-1 ซึ่งถือเป็น 3 คะแนนแรกในรอบ 16 ปี ที่มีส่วนร่วมกับรายการนี้
แนวทางการทำทีมของ ฮอนดะ ค่อนข้างชัดเจน เขาเปิดโอกาสให้ผู้เล่นอายุน้อยเข้ามาติดทีมชาติมากขึ้น, เน้นหนักไปที่การเล่นบอลกับพื้น, ไม่เตะทิ้งแบบโฉ่งฉ่าง, เน้นเกมบุกเป็นหลัก, วิ่งเพรสซิ่งพร้อมกันอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือต้องเล่นฟุตบอลด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ
ทว่าด้วยความห่างชั้นกับประเทศใหญ่ๆ มันจึงทำให้เห็นสกอร์ที่ขาดลอยของพวกเขาที่ปราชัยต่อ อิหร่าน 0-14 ตามด้วยแพ้อิรัก ไป 0-10 ในศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย
แน่นอนว่าการโดนถลุงยับเยินแบบนี้ย่อมเกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ โทษฐานที่ทะลึ่งไปต่อกรกับทีมที่เหนือกว่าด้วยการเล่นแบบเปิดหน้าแลกแบบนั้น
แต่นั่นไม่ได้ทำให้ ฮอนดะ และแฟนฟุตบอลชาวกัมพูชา บางส่วนยี่หระ หากแต่ยักไหล่เสียด้วยซ้ำ เพราะแนวทางการเล่นของพวกเขาเริ่มส่อให้เห็นแววที่สดใสในอนาคต
อาเซียน คัพ 2020 ดอกผลเผยออกมา
ฮอนดะ ยังเดินหน้าทำทีมด้วยแนวทางที่ชัดเจน แม้ระหว่างทางจะมีขวากหนามในเรื่องของคำติเตียนที่มีอยู่ตลอด แต่เขาก็ยังยึดมั่นในวิธีของตนเองไม่เสื่อมคลาย
เขาดึง ริว ฮิโรเสะ รุ่นพี่ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยโค้ชของ สมุทรปราการ ซิตี้ มาร่วมทำงานให้กับทัพนักรบอังกอร์
อาเซียน คัพ 2020 ที่กัมพูชา ก็ยังถูกมองว่าเป็น ‘ม้านอกสายตา’ อยู่เช่นเคย ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือการที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงการเติบโตในเรื่องของรูปแบบการเล่น
พวกเขาต่อกรกับเวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้อย่างสนุก จนสร้างความยากลำบากให้กับทั้ง 3 ชาติ ได้เหลือเชื่อ แม้ว่าสุดท้ายจะมีเพียง 3 คะแนน ปลอบใจจาก สปป.ลาว แต่สิ่งที่แฟนฟุตบอลได้เห็นคือ ‘พัฒนาการ’ ที่รุดหน้าอย่างชัดเจน
ผลงานที่ออกมานั้นประจักษ์ต่อสายตาชาวประชาคอกีฬาลูกหนัง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ ฮอนดะ และสมาคมฟุตบอลกัมพูชา อดทนมานานนับปี ซึ่งทุกคนก็ได้ชื่นใจไปกับการเล่นที่เป็นระบบมีแบบแผนชัดเจน
6 แต้มประวัติศาสตร์
วันเวลาผันผ่านไปพร้อมกับ ‘กระดูกฟุตบอล’ ของบรรดาผู้เล่นอายุน้อยที่ ฮอนดะ เฝ้าฟูมฟักเริ่มแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ
อาเซียน คัพ 2022 เป็นอีกครั้งที่กัมพูชา ถูกมองว่าเป็น ‘สมันน้อย’ รอวันถูกเชือด
ทว่าเกมแรกของทัวร์นาเมนต์ทุกคนก็ต้องตะลึงกับการที่พวกเขาเอาชนะฟิลิปปินส์ ที่อุดมไปด้วยผู้เล่นลูกครึ่งไปด้วยสกอร์ 3-2
เท่านั้นไม่พอ นัดที่สองที่อาจจะพ่ายอินโดนีเซีย ไป 1-2 แต่ฝั่ง ชิน แท-ยง กุนซือเกาหลีใต้ ของทัพการูด้าก็เหนื่อยหนักกว่าจะได้ 3 คะแนน
พอถึงแมตช์ที่ 3 กัมพูชา เอาชนะบรูไน ไปสบายๆ 5-1 พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเก็บแต้มในศึกชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนได้มากที่สุดนับตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขัน
แต่เหนืออื่นใดคือฟอร์มการเล่นอันสุดประทับใจในเกมพบกับไทย ที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงวิธีการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่
นักรบอังกอร์สร้างเกมจากแดนหลัง ผู้รักษาประตูของพวกเขาไม่มีเตะทิ้งขว้าง แม้จะถูกบีบพื้นที่ แถมยังแกะเพรสซิ่งของทัพช้างศึกได้หลายต่อหลายครั้งอีกด้วย
นอกจากจะเหนียวแน่น เกมโต้กลับของกัมพูชา ก็สามารถสร้างปัญหาให้กับไทย ได้มากมาย จนเกือบที่จะเป็นฝ่ายออกนำก่อนเสียด้วยซ้ำ
3 ประตูที่ลูกทีมของ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง ได้มานั้น ค่อนข้างยากลำบาก ซึ่งมันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อันตรายในการแข่งขัน นั่นคือ 5 นาทีแรก กับ 5 นาที สุดท้าย ของครึ่งแรกและครึ่งหลัง
นั่นแสดงให้เห็นว่ากัมพูชา ยังต้องปรับปรุงเรื่องของสมาธิระหว่างเกม ซึ่งจุดๆ นี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ ฮอนดะ จะต้องกลับแก้โจทย์นี้ต่อๆ ไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้จะตกรอบแรก แต่ก็เป็นการตกรอบแบบที่สร้างความประทับใจให้กับแฟนฟุตบอลทั่วทั้งอาเซียน เพราะการได้เห็นเพื่อนบ้านพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างชัดเจนแบบนี้ มันคือ ‘แสงสว่าง’ ที่จะส่งต่อกันไปยังทุกๆ ประเทศว่าถ้าคุณเอาจริงเอาจังกับการสร้างรากฐานที่ถูกต้อง คุณก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
ที่สำคัญมันคือการทำให้ฟุตบอลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น เพราะเมื่อย่านนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ อีกต่อไป มันจะทำให้ ‘ฟุตบอลโลก’ รอบสุดท้าย ซึ่งเป็น ‘ความฝัน’ ขยับใกล้เข้ามาได้มากกว่าเดิม
ก้าวต่อไปที่น่าติดตาม
แม้จะไปได้สวยและเฉิดฉายใน อาเซียน คัพ 2022 ทว่าล่าสุดสมาคมฟุตบอลกัมพูชา ได้ออกมาประกาศว่า ฮอนดะ จะไม่ได้ไปต่อกับทีมชาติชุดใหญ่ อีกทั้งยังจะคุมทัพอังกอร์ใน ซีเกมส์ 2023 เป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้าย
สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความฉงนให้กับแฟนฟุตบอลทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะผลงานและรูปแบบการเล่นของกัมพูชา ภายใต้การกำกับของกุนซือวัย 36 ปี นั้นดูดีมีอนาคตจริงๆ
ทุกอย่างกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แต่กลายเป็นว่า ฮอนดะ ซึ่งเป็นเหมือนผู้จุดประกายแห่งความหวังให้กับวงการลูกหนังกัมพูชา กลับไม่ได้ไปต่อ ทั้งๆ ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานานกว่า 5 ปี
ดังนั้นต่อจากนี้จึงน่าสนใจเหลือเกินว่ากัมพูชา ที่ไร้เทรนเนอร์ชาวญี่ปุ่น คนนี้จะยังเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลได้สนุกแบบเดิมอีกหรือไม่
This website uses cookies.