Football Sponsored

ต้องแก้กฎ

Football Sponsored
Football Sponsored

ซึ่งข้อติดขัด ข้อขัดข้องก็มีอยู่เรื่องเดียวคือ “เงิน” เงินอันเป็นตัวเลขที่มาจากค่าลิขสิทธิ์ในขั้นสุดท้าย บวกกับค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆ นั่นคือขาจ่ายและขารับกับการสนับสนุนของภาคเอกชน ที่คาดว่าจะได้จากการขายแพ็กเกจโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญเงินที่ต้องจ่ายไปก่อนกับค่าลิขสิทธิ์นั้นใครจะจ่ายเท่าไหร่อย่างไร และสำคัญมากกว่านั้น คือจ่ายได้ไหม ภายใต้กรอบระเบียบของตน

ราคาค่าลิขสิทธิ์นั้น เท่าที่ฟังคือยังไม่นิ่ง ไม่นิ่งด้วยยังไม่มีเงินกองในมือเพื่อเสนอราคาต่อรองในขั้นสุดท้าย ตัวเลข 40 ล้านเหรียญ, 30 ล้านเหรียญ หรือต่ำกว่ามากน้อยแค่ไหน ยังเป็นการประมาณการตามภูมิภาค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเคาะกันในขั้นสุดท้ายนั่นแหละ

จำได้ว่าเคยมีเอกชนไปคุยเรื่องการซื้อสิทธิ์ตั้งแต่ก่อนฟุตบอลโลกครั้งก่อนที่รัสเซีย ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ควบ 2 ครั้ง รวมถึงบอลโลกกาตาร์ 2022 ด้วย ลือกันออกมาว่า ฝ่ายขายตั้งราคาไว้ที่ 50 ล้านเหรียญ และกลุ่มคนที่ไปเจรจา คาดว่าจะสามารถลดลงมาได้เหลือราวๆ 35 ล้านเหรียญ จึงมีการกลับมาพูดคุยกับสปอนเซอร์เพื่อหาความเป็นไปได้ สุดท้ายก็ไปไม่ได้

ประเด็นสำคัญคือกฎมัสต์แฮฟ อันเนื่องมาจาก ประกาศ กสทช.ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่กำหนดให้การแข่งขันกีฬา 7 รายการสำคัญซึ่งมีฟุตบอลโลก เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ให้ออกอากาศได้เฉพาะฟรีทีวีเท่านั้น ทีวีระบบบอกรับสมาชิกไปเก็บค่าบริการดูไม่ได้

นั่นทำให้การที่เอกชนต้องควักเงินซื้อลิขสิทธิ์สูงๆ แล้วจะมีช่องทางหารายได้จากการขายโฆษณาอย่างเดียว เป็นเรื่องยากที่จะได้กำไร หรือแม้กระทั่งคุ้มทุน!

อีกทั้งลิขสิทธิ์บอลโลกควบ 2 ครั้งราคาหนึ่ง แน่นอนต้องถูกกว่าแยกซื้อเป็นครั้งๆ และอย่าไปคิดว่ายิ่งช้ายิ่งถูก เขาคงไม่อยากปล่อยทิ้งไปเปล่าๆ ด้วยมันมีมาตรฐานโลก ดูง่ายๆจากราคาเต็ม 50 ล้านเหรียญ 2 ครั้ง ยังไม่ต่อรองกันเลยก็ครั้งละ 25 ล้านเหรียญ แต่ที่เราดิ้นพล่านมาซื้อตอนท้ายๆใกล้จะเตะกันทั้งสองครั้ง ราคามันล้ำกว่านั้นเยอะ

เมื่อ 4 ปีก่อน บอลโลกรัสเซีย 2018 ก็มีเรื่องในลักษณะนี้เช่นกัน จนรัฐบาลต้องออกมาเป็นตัวกลางประสาน 9 บริษัทเอกชนมาลงขันเป็นสปอนเซอร์ถ่ายทอดสด ครบทั้ง 64 นัด โดยแพ็ก 200 ล้านบาท มี 6 บริษัท, 100 ล้านบาท 2 บริษัท และ 50 ล้านบาท 1 บริษัท ยอดรวมได้มา 1,450 ล้านบาท นี่คงพอจะเป็นตัวตั้งหลวมๆให้เห็นได้ว่าหากจะถ่ายทอดสดครบทุกคู่ครั้งนี้จะต้องลงทุนเท่าไหร่!!!

และถ้ารัฐไม่แสดงอิทธิฤทธิ์จะเป็นทางตรง ทางอ้อม หรือทางไหนๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ จะมีเอกชนกี่เจ้าเต็มใจควักกันโปะให้ในระนาบนี้ได้หรือไม่ ลองประเมินกันดู

ฟุตบอลโลกใครๆก็อยากดู และอยากดูฟรีด้วย แต่มันจำเป็นถึงขนาดนั้นหรือไม่ ยิ่งหากต้องใช้เงินหลวง เงินรัฐ ที่ก็ต้องมาจากภาษีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แถมหากช่วงเวลานั้นประเทศมีวิกฤติ มีความจำเป็นด้านอื่นๆที่มากกว่า จำเป็นเร่งด่วนกว่า ควรทำอย่างไร

แล้วทำไมรัฐต้องไปแย่งเอกชนทำ เอกชนได้มายังไงก็ต้องมีแบ่งมาถ่ายทอดสดให้ดูฟรีในบางนัด ฟีฟ่าเองก็กำหนดไว้ในสัญญาอยู่แล้ว รวมทั้ง เอกชนที่ได้มา จะคิดปิดกั้นเอาเปรียบจนเกินควร กระแสสังคมจะกดดันโดยธรรมชาติ และเชื่อว่าถึงเวลานั้นต้องมีช่องทางอื่นที่ดำเนินการได้ อำนาจรัฐมีมากมาย หรือหากรัฐอยากสนับสนุนให้ดูมากขึ้น ก็เข้ามาเจรจาเพิ่มเติมในบางส่วนได้เช่นกัน ยังไงก็จ่ายไม่มากเท่าไปซื้อสิทธิ์มาทำเอง

กฎมัสต์แฮฟกับฟุตบอลโลก เกมที่บอลไทยยังไม่เคยไป และยากที่จะได้ไป จำเป็นถึงขั้นต้องดูครบ ดูสดทุกคู่เลยหรือ แก้กฎเถอะ ไม่งั้นทุกวงรอบก็เป็นเช่นนี้

กลไกธรรมชาติของการทำธุรกิจ กลไกธรรมชาติทางสังคม ที่แวดล้อมด้วยการขับเคลื่อนและปกคลุมด้วยกลไกอำนาจรัฐ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล มันมีทางไปของมัน อย่าฝืนธรรมชาติเลย

แก้กฎกันดีกว่า ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เป็นผู้ช่วย ผู้สนับสนุนก็เพียงพอ อย่าคิดเป็นผู้เล่นเสียเองเลย เอาเงิน เอาเวลา ไปทำอย่างอื่นเถอะ พี่น้องเรายังมีปัญหาที่ต้องช่วยอีกมากมายเหลือเกิน…

“เบี้ยหงาย”

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.