Football Sponsored

ปลอกแขน ‘One Love’ ตัวแทนความรักที่กัปตัน 8 ทีมชาติจะส่งถึงทุกคนผ่านฟุตบอลโลก

Football Sponsored
Football Sponsored

ท่ามกลางเรื่องราวมากมายหลากหลายคำถามเกี่ยวกับฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ประเด็นอ่อนไหวเรื่องหนึ่งที่ถูกจับตามองคือชาติเจ้าภาพจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับความรักที่มิใช่ชายและหญิงตามหลักศาสนา

ในประเทศกาตาร์ ความรักระหว่างเพศเดียวกันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการผิดจารีต แต่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีบทลงโทษ ซึ่งนั่นทำให้ชาวโลกกังขาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากแฟนฟุตบอลชาว LGBTQIA+ เดินทางไปเพื่อเชียร์ทีมชาติหรือทีมโปรดของตัวเองในฟุตบอลโลกครั้งแรกในดินแดนทะเลทราย

หนึ่งในตัวแทนแฟนฟุตบอลอย่าง โจ ไวท์ หัวหน้าของกลุ่มกองเชียร์ Three Lions Pride เปิดเผยว่าได้ล้มเลิกแผนการที่จะเดินทางไปยังกาตาร์แม้จะซื้อตั๋วไว้แล้วก็ตาม เพราะมันเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป “ฉันมีตั๋วและได้คืนไปแล้ว มันเป็นตัวเลือกที่ยาก ยากมากจริงๆ”

นอกเหนือจากเรื่องนี้ อีกประเด็นใหญ่ที่อาจจะใหญ่กว่าคือเรื่องของการเรียกร้องให้กาตาร์ ในฐานะชาติเจ้าภาพ ให้การดูแลคุ้มครองชีวิตของแรงงานและจ่ายเงินชดเชยให้แก่ญาติของแรงงานจากชาติต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาร่วมสร้างสนามการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีรายงานข่าวว่ามีการเสียชีวิตหลายพันคนโดยที่แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับความยุติธรรม

ประเด็นเหล่านี้นำไปสู่การจับมือกันระหว่างทีมชาติทั้งหมด 8 ทีมในเวลานี้ ที่จะผลักดันแคมเปญ ‘One Love’ เพื่อต่อต้านเรื่องการเหยียดเพศทางเลือก โดยทีมที่เข้าร่วม ได้แก่ ทีมชาติอังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์ และเวลส์ ในขณะที่นอร์เวย์และสวีเดนที่ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกก็ขอเข้าร่วมเช่นกันในรายการแข่งขันของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินหน้าได้

โดยคนที่จะเป็นตัวแทน ได้แก่ กัปตันทีมชาติที่จะสวมปลอกแขนที่มีข้อความว่า #ONE พร้อมหัวใจสีรุ้งที่ประกอบไปด้วยสีส้ม ดำ เขียว แดง เหลือง และน้ำเงิน (2 สีสุดท้ายอาจสื่อถึงการร่วมเรียกร้องให้ยุติสงครามในประเทศยูเครนด้วย) พร้อมกับตัวเลข 1 ในหัวใจ

แฮร์รี เคน กัปตันทีมชาติอังกฤษกล่าวในการเปิดตัวแคมเปญเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมกับกัปตันทีมชาติอื่นๆ ในการสนับสนุนแคมเปญ One Love ในฐานะกัปตันทีมเราอาจจะแข่งกันในสนามก็จริง แต่เราก็พร้อมต่อสู้กับการเหยียดทุกรูปแบบ”

ทั้ง 8 ชาติได้มีการนำเสนอเรื่องของแคมเปญให้แก่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) พิจารณาอนุญาตให้ใส่ได้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ทางด้านตัวแทนคณะของ UEFA มีกำหนดการที่จะพบกับฝั่ง FIFA ในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะมีการหารือในเรื่องนี้ด้วย

ขณะที่ไวท์ ไม่ได้เห็นด้วยกับการแสดงออกแบบนี้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมายในเมื่อฮีโร่ของชาติอย่าง เดวิด เบ็คแฮม อดีตกัปตันทีมสิงโตคำรามผู้ยิ่งใหญ่ได้เป็นหนึ่งใน ‘ตราประทับ’ รับรองฟุตบอลโลกของชาติที่เหยียดชาว LGBTQIA+ อย่างกาตาร์ไปแล้วด้วยการเป็นทูตประจำการแข่งขัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทั้ง 8 ชาติ พร้อมที่จะเดินหน้าลุยต่อโดยไม่สนใจว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนว่าบนโลกใบนี้เราควรมีแต่ความรักให้แก่กัน ไม่ว่ามันจะเป็นในรูปแบบไหน กับใคร และเพื่อใครก็ตาม

เพราะทุกคนต่างก็มีหัวใจดวงเดียวเหมือนกัน

อ้างอิง:

  • https://www.thetimes.co.uk/article/england-will-wear-one-love-armband-at-world-cup-even-without-fifas-approval-xqpljf0qp
  • https://www.thetimes.co.uk/article/world-cup-2022-harry-kane-to-wear-rainbow-armband-in-qatar-w6gc3dg3l
  • https://www.thetimes.co.uk/article/qatar-world-cup-we-have-been-sold-out-by-fifa-and-david-beckham-h2bvxb3b7
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.