Football Sponsored

อิบราฮิโมวิช, คูตินโญ นำทัพ : 15 ดีลแย่สุดตลอดกาลของ บาร์เซโลนา | Goal.com ภาษาไทย

Football Sponsored
Football Sponsored

บาร์เซโลนา เซ็นสัญญากับยอดนักเตะมามากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่นี่คือ 15 ดีลที่ขึ้นชื่อว่าแย่ที่สุดตลอดกาลของพวกเขา

บาร์เซโลนา คือหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของสเปน และมีนักเตะชั้นยอดมากมายย้ายมาสร้างตำนานกับพวกเขา

อย่างไรก็ตาม สตาร์ดังหลายรายที่ย้ายมาพร้อมกับชื่อเสียงและความคาดหวังอย่างสูง บางคนย้ายมาด้วยค่าตัวมหาศาลแต่กลับทำผลงานได้ย่ำแย่

นี่คือ 15 ดีล ที่แฟนอาซูลกรานาเห็นตรงกันว่าแย่ที่สุดตลอดกาลของสโมสร!

  • Getty

    15เอ็มมานูเอล เปอตีต์

    กองกลางแชมป์โลกและแชมป์ยูโรทีมชาติฝรั่งเศสที่มีคู่หูอย่าง ปาทริค วิเอรา ประสบความสำเร็จร่วมกันตลอด 3 ฤดูกาลกับ อาร์เซนอล โดยเขาย้ายมาแบบแพ็คคู่พร้อม มาร์ค โอเวอร์มาร์ส

    ตลอดระยะเวลา 1 ฤดูกาลในถิ่นคัมป์ นู เขาไม่สามารถเรียกฟอร์มเก่งที่เคยทำไว้กับไอ้ปืนใหญ่ได้เลย ก่อนจะกลับไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกกับ เชลซี โดยในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาได้เขียนโจมตี ลอเรนโซ เซร์รา เฟร์เร กุนซือเจ้าบุญทุ่มในขณะนั้นว่าไม่รู้แม้กระทั่งตำแหน่งที่เขาต้องเล่นด้วยซ้ำ

  • Getty

    14เนลสัน เซเมโด้

    เมื่อปี 2017 บาร์เซโลนา คว้าตัวแบ็คขวาตัวเก่งของ เบนฟิก้า มาร่วมทีมด้วยค่าตัวถึง 35.70 ล้านยูโร ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะเข้ามาเป็นตัวหลักของทีมแทน ดานี อัลเวส

    อย่างไรก็ตาม เซเมโด้ โดนวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการเล่นเกมรับ โดยเฉพาะในเกมที่ บาร์ซ่า พ่าย บาเยิร์น มิวนิค 2-8 ที่เขาโดน อัลฟองโซ เดวีส์ เล่นงานทั้งเกม ก่อนจะถูกปล่อยตัวให้ วูล์ฟแฮมตัน

  • Getty

    13ดักลาส

    ฟูลแบ็คชาวบราซิลย้ายจาก เซา เปาโล มาเล่นให้กับ บาร์เซโลนา เมื่อปี 2014 ด้วยค่าตัวเบ็ดเสร็จ 4 ล้านยูโร และเป็นส่วนหนึ่งในทีมชุดคว้าทริปเปิลแชมป์ฤดูกาล 2014-15 แต่เขาลงเล่นไปเพียง 5 นัดเท่านั้น รวมทุกรายการ

    ดักลาส เจอปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนอยู่บ่อยครั้ง ก่อนจะย้ายออกไปแบบไร้ค่าตัวเมื่อปี 2019

  • Getty

    12คริสตอฟ ดูการ์รี

    ปี 1997 บาร์เซโลนา จัดการดึงผู้เล่นของ เอซี มิลาน มาแบบแพ็คคู่ทั้ง คริสตอฟ ดูการ์รี และ มิเชล ไรซีเกอร์ แต่กลับกลายเป็นรายหลังที่ได้อยู่เป็นตัวหลักในถิ่นคัมป์ นู ต่างกับกองหน้าดีกรีทีมชาติฝรั่งเศสที่เรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในยุคของ หลุยส์ ฟาน กัล

    ดูการ์รี ได้ลงเล่นให้ทีมเพียงแค่ 7 นัด และถูกจับดอง 1 ฤดูกาลเต็มๆ จากนั้นในปีถัดมาเจ้าตัวได้ย้ายกลับไปค้าแข้งยังบ้านเกิดกับ โอลิมปิก มาร์กเซย และมีส่วนร่วมในทีมชาติฝรั่งเศสชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 ต่อด้วยการค้าแข้งกับ บอร์กโดซ์ ,เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก และจบอาชีพการค้าแข้งในลีกกาตาร์ เมื่อปี 2005

  • 11อเล็กซ์ ซง

    บาร์เซโลนา เซ็นสัญญากับมิดฟิลด์คนสำคัญของอาร์เซนอล ในราคา 19 ล้านยูโร แต่แข้งดีกรีทีมชาติแคเมอรูนนับเป็นแข้งไอ้ปืนใหญ่อีกรายที่ย้ายมาล้มเหลวในถิ่นคัมป์ นู

    ซง ไม่สามารถโชว์ฟอร์มเก่งได้เมื่อได้รับโอกาสลงสนาม อีกทั้งยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบของทีม ก่อนตกเป็นตัวสำรองภายในทีมและค่อยๆถูกลดบทบาท และต้องย้ายกลับมาเล่นในอังกฤษกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ด้วยสัญญายืมตัว 2 ฤดูกาล

  • Getty

    10อังเดร โกเมส

    กองกลางจากบาเลนเซียย้ายมาอยู่กับบาร์ซาหลังเสร็จสิ้นภารกิจคว้าแชมป์ยูโร 2016 กับทีมชาติโปรตุเกส แต่กลับไม่สามารถรีดฟอร์มเก่งของตัวเองออกมาโชว์บนถิ่นคัมป์นูได้เลย จนถูกปล่อยไปอยู่กับเอฟเวอร์ตันในปี 2018

    โดยเจ้าตัวออกมายอมรับในภายหลังว่าไม่สามารถรับมือกับความกดดันในการค้าแข้งกับอาซูลกรานาได้

  • Getty

    9จิโอวานนี

    ในประวัติศาสตร์ของ บาร์เซโลนานั้นมีแนวรุกเลือดแซมบ้าอย่าง ริวัลโด ,โรนัลโด,โรนัลดินโญ และ เนย์มาร์ ที่คอยสร้างสีสันและผลงานอันโดดเด่นออกมาให้แฟนบอลได้ตื่นตาตื่นใจ แต่ไม่ใช่กับเพลเมกเกอร์อย่าง จิโอวานนี ดาวเตะค่าตัว 18 ล้านยูโรย้ายมาจาก ครูเซโร ใน 2001

    โดยเขารับใช้เจ้าบุญทุ่มมากกว่า 50 นัดรวมทุกรายการ ตลอด 2 ซีซัน แต่กระนั้นก็ยังไม่ดีพอสำหรับทัพอาซูลกรานา จนต้องย้ายไปเล่นแบบยืมตัวกับ เบนฟิก้า ในปี 2003 และย้ายถาวรแบบไม่มีค่าตัวในฤดูกาลถัดมา

  • 8อเล็กซานเดอร์ เคล็บ

    เคล็บ ตัดสินใจย้ายจาก อาร์เซนอล ขณะที่เป็นขวัญใจในถิ่น เอมิเรตส์ สเตเดียม มาอยู่กับ บาร์เซโลนา ในช่วงซัมเมอร์ปี 2008 ตามรอย เธียร์รี อองรี หัวหอกระดับตำนานของไอ้ปืนใหญ่

    แต่เขากลับไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับ 3 แชมป์ในฤดูกาลดังกล่าวเท่าใดนัก โดยตลอด 36 นัดที่ลงเล่นให้ อาซูลกรานา เขาทำประตูไม่ได้เลย ก่อนที่ 2 ซีซันถัดมาจะถูกปล่อยยืมให้กับ สตุ๊ตการ์ต ต้นสังกัดเก่า ,เบอร์มิงแฮม ซิตี้ และ โวล์ฟบวร์ก จนในที่ดาวเตะทีมชาติเบลารุสก็หมดอนาคตกับบาร์ซาและ ย้ายไปเล่นในลีกรัสเซียแทน

  • 7ดิมิโทร ชิกรินสกี้

    ช่วงซัมเมอร์ปี 2009 บาร์เซโลนา จัดการคว้าตัวปราการหลังดาวรุ่งฝีเท้าดีมาจาก ชัคเตอร์ โดเน็ทส์ค ด้วยราคา 25 ล้านยูโร หลังมีโอกาสได้เห็นความสามารถในเกมยูฟ่า ซูเปอร์คัพ ที่ทั้งสองทีมพบกัน

    อย่างไรก็ตามในปี 2010 แนวรับทีมชาติยูเครนถูกขายกลับไปให้ต้นสังกัดเก่าด้วยราคา 15 ล้านยูโร โดย ซานโดร โรเซลล์ ประธานสโมสรในขณะนั้นให้เหตุผลว่าต้องนำเงินไปใช้หนี้ที่ โจน ลาปอร์ต้า ประธานคนก่อนหน้าได้สร้างเอาไว้ ถึงแม้ เป็ป กวาร์ดิโอลา กุนซือเจ้าบุญทุ่มขณะนั้นต้องการเก็บเขาไว้ก็ตาม

  • 6เคียร์ริสัน

    เคียร์ริสัน ย้ายจากพัลไมรัสมาอยู่ บาร์เซโลนา เมื่อปี 2009 ด้วยค่าตัว 14 ล้านยูโร แต่เขาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในสเปน

    โดยเขาไม่ได้ลงสัมผัสเกมการแข่งเลยแม้แต่นัดเดียว และถูกปล่อยยืมให้กับหลายสโมสรตั้งแต่ฤดูกาลแรกทั้ง เบนฟิก้า,ฟิออเรนตินา,ซานโตส,ครูเซย์โร และ คอริติบา ก่อนจะย้ายกลับไปซบทีมในบ้านเกิดแบบไร้ค่าตัวเป็นการถาวรเมื่อปี 2014

  • 5มิราเล็ม ปานิช

    ปานิช เป็นส่วนหนึ่งในดีลสลับขั้วกับ อาร์ตูร์ ที่ย้ายไปอยู่กับ ยูเวนตุส โดยมีข่าวว่าทั้งสองทีมทำให้ดีลนี้มูลค่าสูงเกินจริงเพื่อสร้างสมดุลให้กับบัญชีของทั้งสองสโมสร

    ดาวเตะชาวบอสเนียถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาเป็น ชาบี เอร์นานเดซ คนใหม่ของสโมสร แต่เขาได้ลงเล่นให้ บาร์เซโลนา เพียง 30 นัด รวมเวลา 1,296 นาที ก่อนอำลาทีมไปเมื่อปี 2022

  • Getty

    4มาร์ติน เบรธเวต

    เบรธเวต ย้ายมาจาก เลกาเนส ด้วยค่าตัว 18 ล้านยูโร แต่แทบไม่ได้ลงสนามเป็นตัวจริงให้ บาร์เซโลนา เลบ และทำไปเพียง 5 ประตู จากการลงสนาม 44 นัดในลาลีกา

    ที่น่าเห็นใจกว่านั้นคือเขาโดนแฟนบอลอาซูลกรานาโห่และถูกกล่าวหาว่าทำตัวมีปัญหากับสโมสร ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงยกเลิกสัญญาเพื่อบรรเทาปัญหาด้านการเงินของทีม

  • 3ซลาตัน อิบราฮิโมวิช

    บาร์เซโลนา ไม่เพียงจ่ายเงินให้ อินเตอร์ มิลาน 69.5 ล้านยูโร พวกเขายังมอบ ซามูเอล เอโต้ ให้กับทีมงูใหญ่เป็นเงื่อนไขในดีลครั้งนี้ด้วย

    อย่างไรก็ตามดาวยิงชาวสวีดิชทำไปเพียง 21 ประตูรวมทุกรายการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือของอาซูลกรานาในเวลานั้น จนแฟนบอลบาร์ซ่ายกให้เขาเป็นหนึ่งในการเซ็นสัญญาที่ผิดพลาดที่สุด

  • 2อองตวน กรีซมันน์

    กรีซมันน์ เป็นหนึ่งในกองหน้าที่เนื้อหอมที่สุดของยุโรป ก่อนจะเป็น บาร์เซโลนา ที่ทุ่มเงินกว่า 100 ล้านยูโร ดึงตัวเขามาร่วมทีมเมื่อปี 2019

    ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องฝีเท้าของเขา แต่ดูเหมือนว่าเคมีของ กรีซมันน์ กับ บาร์ซา ดูจะไม่เข้ากัน จนต้องถูกปล่อยให้ แอตฯมาดริด ต้นสังกัดเก่ายืมตัว แบบที่แฟนบอลอาซูลกรานาไม่รู้สึกเสียดายมากนัก

  • Getty

    1ฟิลิปป์ คูตินโญ

    อาซูลกรานา ยอมทุ่มเงิน 135 ล้านยูโร เพื่อคว้าตัว คูตินโญ มาร่วมทีม แต่กลับไม่มีผลงานเป็นที่จดจำของแฟนบอลและไม่สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงในทีมได้จนถูกปล่อยให้ บาเยิร์น มิวนิค และ แอสตัน วิลลา ยืมตัว

    หลังจากพยายามหาทางปล่อยตัวแนวรุกชาวแซมบ้ารายนี้มาหลายปี ในที่สุดบาร์ซ่าต้องปล่อยให้ วิลลา ในราคาเพียง 20 ล้านยูโร และถูกแฟนบาร์ซายกให้เป็นดีลที่แย่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.