นอกจากที่กล่าวมานั้น นักเดินทางจะนึกไม่ออกเลยว่าบุรีรัมย์ จะมีที่ไหนให้เดินทางไปบ้าง จนกระทั่งมีอดีตนักการเมือง ดาวสภาผู้แทนราษฎรอย่าง คุณเนวิน ชิดชอบ คนบุรีรัมย์ขนานแท้ ผู้รักในกีฬาฟุตบอล ใช้กลยุทธ์ใหม่นำเอาฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่คนไทยคลั่งไคล้มาขับเคลื่อนให้จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่รู้จัก และไม่เป็นจังหวัดทางผ่านอีกต่อไป
สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือที่เรียกกันในฉายา “ปราสาทสายฟ้า” หลอมรวมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ครบรอบสิบปีไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา (ปี 2563) สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการฟุตบอลไทย ด้วยการเป็นสโมสรแรกที่ขายเสื้อทีมฟุตบอลได้มากที่สุดในประเทศ เรียกได้ว่าสร้างกระแส Brand Royalty ได้ทั่วบ้านทั่วเมือง คนบุรีรัมย์ใส่เสื้อทีมปราสาทสายฟ้าประหนึ่งเป็นชุดประจำจังหวัด ยิ่งเสื้อบอลของสโมสรผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้ว ยิ่งเกิดกระแสรักบอลและรักษ์โลกในเวลาเดียวกัน นั่นคือ จุดเริ่มต้นของโครงการ Buriram x GC
เมื่อองค์กรธุรกิจที่โดดเด่นด้านความยั่งยืน อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืน การสร้างสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในองค์กร เป็นกุญแจดอกสำคัญที่เข้ามาช่วยให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ภายใต้องค์ประกอบ Loop Connecting การสร้างและขยายความร่วมมือร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขยายผลสำเร็จและเชื่อมต่อธุรกิจให้ครบวงจร ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวทางของ เจ้าพ่อแห่งวงการกีฬาของจังหวัดบุรีรัมย์ บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด เจ้าของทีมฟุตบอลแชมป์ไทยลีก 6 สมัย ฤดูกาล2011, 2013, 2014, 2015, 2017, 2018 ทีมขวัญใจชาวเซราะกราว ที่มีแนวคิดอยากทำให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็น Green City เป็นบุรีรัมย์โมเดล สร้างจิตสำนึกการคัดแยกขยะให้เกิดขึ้นในใจของชาวบุรีรัมย์ทุกคน ความร่วมมือดีๆ เพื่อโลกครั้งนี้จึงเกิดขึ้น
ทุกวันนี้ เราสามารถเห็นถังขยะแยกประเภทชนิด 5 ถังที่ได้รับการสนับสนุนโดย GC ตั้งอยู่รอบบริเวณสนามช้างอารีนา สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานฟีฟ่าที่ใหญ่และทันสมัย บริเวณพื้นที่รอบๆ สนามช้างอารีนา ตลาดไนท์เซาะกราว หรือแม้แต่บริเวณ บุรีรัมย์ คาสเติล (Buriram Castle) ที่เป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของชาวบุรีรัมย์ ที่มีร้านอาหาร ร้านกาแฟเก๋ ๆ และในช่วงเสาร์-อาทิตย์ จะมีตลาดนัดขายสินค้านานาชนิดอีกด้วย สถานที่เหล่านี้ จึงเป็นแหล่งรวมตัวของเพื่อนฝูง และครอบครัวอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การวางถังขยะแยกประเภทชนิด ทั้งในบริเวณสนามช้างอารีนา และจุดสำคัญรอบ ๆ บริเวณสนาม ทำให้ในปัจจุบันชาวบุรีรัมย์ซึมซับการคัดแยกขยะเข้าไปอยู่ในใจแล้วในทุกช่วงวัย ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ส่งผลดีต่อจังหวัด
จากแนวคิดสู่การลงมือทำ เริ่มต้นที่เยาวชน จุดเล็กๆที่เราจะสามารถปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกดี ๆ ให้เกิดกับเยาวชนได้
GC ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ริเริ่มโครงการ ThinkCycle Bank โดยเริ่มจากการเข้าไปอบรม ให้ความรู้กับเหล่านักเรียนโรงเรียนในจังหวัดระยอง ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี เป็นโมเดลที่มีประโยชน์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชน สอนให้เด็กนักเรียนรู้จักการคัดแยกขยะ ทดลองทำกิจกรรมรับซื้อขยะเสมือนจริงกับโรงเรียนต่าง ๆ ในระยองที่เข้าร่วมโครงการ จนโครงการประสบผลสำเร็จ เมื่อ สโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดมีเป้าหมายที่จะทำเรื่องการจัดการขยะในบริเวณสนามช้างอารีน่าและต้องการจะให้เป็นสถานที่ต้นแบบให้ชาวบุรีรัมย์สนใจเรื่องการคัดแยกขยะ ทำให้สององค์กรที่มีแนวคิดตรงกันมาจับมือสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ โดย GC ได้นำโครงการ ThinkCycle Bank ที่ประสบผลสำเร็จในจังหวัดระยองมาใช้กับโรงเรียนเทศบาลในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนเทศบาล 1,2,3 ในจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือกันพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะให้กับสามโรงเรียนดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี (2563-2565)
ไม่ใช้ดูแลเรื่องการจัดการขยะในโรงเรียนต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังเจาะลึกเข้ามาถึง Buriram Academy พร้อมปลูกฝังการจัดการขยะอย่างเป็นระบบให้กับเจ้าหนูลูกเจี๊ยบสายฟ้า
นอกจากในสนามช้างอารีน่า สนามเหย้าของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มีการจัดการขยะรอบบริเวณได้เป็นอย่างดีแล้ว ภายใน บุรีรัมย์ อคาเดมี่ ของเจ้าหนูลูกเจี๊ยบสายฟ้า ทีมอคาเดมี่ที่มีระบบการจัดการทีมในระดับสากล ก็มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบเช่นกัน โดยทีมงาน CSR ของ GC ซึ่งเป็นทีมที่ดูแลโครงการ ThinkCycle Bank ที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีที่จังหวัดระยอง ได้มาให้ความรู้และสอนเทคนิคการคัดแยกขยะให้กับน้องๆ ทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อคาเดมี่ เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อในแคมป์อคาเดมี่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอีกด้วย
นอกจากจะปลูกฝังจิตสำนึกดี ๆ ให้กับเยาวชนแล้ว บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับ ชุมชนปลอดขยะ อย่าง หมู่บ้านหนองโพรง ชุมชนปลอดขยะ ต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
เมื่อเดินทางออกนอกเมือง มุ่งหน้าสู่ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง มีชุมชนหมู่บ้านต้นแบบในเรื่องของการจัดการขยะอย่างครบวงจรที่ได้รับรางวัลจากองค์กรภาครัฐมาเป็นเวลาหลายปี หมู่บ้านหนองโพรง หมู่บ้านที่ชาวชุมชนทุกคนมีจิตสำนึก มีจิตใจที่รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์บ้านเกิดอย่างมาก ได้รับรางวัลชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก 3Rs คือ Reduce การลดปริมาณขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้เป็นต้นแบบการจัดการขยะในทุกครัวเรือนอย่างแท้จริง โดย สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ให้ชุมชนหนองโพรงจัดตั้งทีมชื่อ กูเก็บ เข้ามาทำการเก็บและคัดแยกขยะ จากงาน Event ใหญ่ๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น การแข่งขันฟุตบอลไทยลีกนัดเจ้าบ้านประจำสัปดาห์ การแข่งรถมอเตอร์ไซด์ทางเรียบระดับโลก MOTO GP ที่สนาม Chang Circuit หลังการแข่งขันทุกครั้ง ทีมกูเก็บจะลงพื้นที่จัดการขยะอย่างเป็นระบบ นับว่าเป็นชุมชนต้นแบบที่ตอบโจทย์เป้าหมายการเป็น Green City ของจังหวัดบุรีรัมย์อย่างแท้จริง ชุมชนนี้อาจจะเป็นอีกความร่วมมือหนึ่งของโครงการ GC X Buriram ในอนาคต
บุรีรัมย์โมเดล ความร่วมมือระหว่าง บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด เจ้าของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จะช่วยให้การบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ตามหลัก Circular Economy ในจังหวัดบุรีรัมย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เหนืออื่นใดคือการได้ปลูกจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในใจของชาวบุรีรัมย์ทุกคน
This website uses cookies.