ผ่านมา 3 วันแล้ว แต่เสียงฟ้าผ่าจากแดนมังกรยังคงกึกก้องกับข่าวการประกาศ ‘ยุบทีม’ ของเจียงซู เอฟซี หรือเจียงซู ซูหนิง สโมสรฟุตบอลที่ไม่ได้เป็นแค่สโมสรธรรมดาๆ แต่เพิ่งจะคว้าแชมป์ฟุตบอลไชนีสซูเปอร์ลีกประจำปีที่แล้วมาครองได้
แชมป์ยุบทีม! ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ อย่างแน่นอน เกิดอะไรขึ้นกับสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และมันคือสัญญาณบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับชีพจรของลีกแดนมังกรที่เคยผงาดง้ำค้ำโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าอะไรๆ มันจะเริ่มเปลี่ยนไปแล้วหรือไม่?
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บัญชีอย่างเป็นทางการของสโมสรเจียงซู เอฟซี ได้โพสต์ข้อความในการประกาศ ‘ยุติการดำเนินกิจการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป’ สร้างความตกตะลึงให้แก่วงการฟุตบอลจีนอย่างมาก
เพราะเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้พวกเขาเพิ่งจะคว้าแชมป์ไชนีสซูเปอร์ลีกได้เป็นหนแรก ด้วยนักเตะชั้นเชิงระดับสุดยอดอย่าง อเล็กซ์ เตเชรา จอมทัพชาวบราซิลที่พวกเขากระชากตัวตัดหน้าทีมระดับโลกอย่างลิเวอร์พูลเมื่อปี 2016 ด้วยค่าตัวมหาศาลถึง 50 ล้านยูโร (และก่อนหน้านั้นพวกเขาเคยซื้อ รามิเรส กองกลางทีมชาติบราซิล มาจากเชลซี 25 ล้านยูโร)
ถึงจะดูเป็นเงินมหาศาลเกินตัวไปมาก แต่เรื่องเงินเป็นเรื่องเล็กสำหรับสโมสรความภาคภูมิใจของชาวเมืองหนานจิง เพราะพวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก ‘ซูหนิง’ (Suning) บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนที่เจาะตลาดครบทั้งร้านค้าปลีก ร้านค้าออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ เป็นสุดยอดบริษัทแห่งหนึ่งในแดนมังกร
เมื่อ 2 ปีก่อน พวกเขาคือทีมที่พยายามเจรจาคว้าตัว แกเร็ธ เบล มาจากเรอัล มาดริด แต่ดีลล่มไปในวินาทีสุดท้าย เพราะผู้บริหารทีมราชันชุดขาวเกิดเชื่อคำแนะนำของฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าพวกเขาควรจะได้เงินค่าตัวจากการขายอดีตนักเตะค่าตัวแพงที่สุดในโลกรายนี้ด้วย ไม่ใช่ยกให้ฟรีๆ เพราะต้องการลดภาระค่าเหนื่อย
ซูหนิงยังเป็นเจ้าของสโมสรอินเตอร์ มิลาน ซึ่งกำลังผงาดลุ้นแชมป์เซเรีย อา ในเวลานี้ด้วย
แต่หลังการคว้าแชมป์ ทางด้าน อเล็กซ์ เตเชรา สตาร์หมายเลขหนึ่งของทีม ปฏิเสธที่จะต่อสัญญาฉบับใหม่ออกไป ขณะที่โค้ช คอสมิน โอลาโรยู ชาวโรมาเนีย ที่พาทีมคว้าแชมป์ได้ก็มีรายงานว่าอาจจะไม่กลับมาคุมทีมอีกครั้ง
นั่นเป็นช่วงที่สถานะทางการเงินของสโมสรเริ่มถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเริ่มมีกระแสข่าวว่าพวกเขาต้องการที่จะขายสโมสรแห่งนี้ให้แก่นักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้าใจสโมสรเป็นอย่างดี รวมถึงต้องการขายทีมอินเตอร์ มิลานด้วย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทซูหนิง ในฐานะที่เป็นแม่ของทั้งสองสโมสรเอง และทำให้ต้องการที่จะ ‘ลดภาระ’ ที่ไม่จำเป็นทุกอย่าง ซึ่งสโมสรฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในภาระที่ใช้จ่ายเงินมหาศาล
อีกส่วนหนึ่งคือการที่ซูหนิงมีแผนที่จะขายหุ้นของบริษัทจำนวน 20-25% ให้แก่ผู้ซื้อที่ยังไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตน ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าสถานะทางการเงินของซูหนิงอ่อนแอลงและกำลังต้องการเงินสดเข้ามาประคอง
มองในเหตุผลนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคำสั่งยุบทีม ซึ่งในเมืองไทยเองก็เคยมีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้ง ที่ใกล้เคียงคือกรณีของทีมพีทีที ระยอง สโมสรฟุตบอลที่มี ปตท. เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ และพาทีมขึ้นชั้นมาอยู่ลีกสูงสุดได้แล้ว แต่สุดท้ายกลับยุบทีม ทั้งที่สโมสรเอาตัวรอดพ้นจากการตกชั้นในลีกสูงสุดฤดูกาลแรกได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี กรณีของเจียงซู เอฟซี ไม่ได้เป็นกรณีปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นกับสโมสรของจีน
ชานตง ลู่เหนิง แชมป์เอฟเอคัพจีน ก็เป็นอีกทีมที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง
นอกจากเจียงซู เอฟซี ซึ่งยุบทีมแล้ว ยังมีสโมสรชานตง ลู่เหนิง แชมป์เอฟเอคัพของจีน ที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก รายการฟุตบอลระดับสโมสรที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย
โดยเหตุผลที่ทำให้ถูกตัดสิทธิ์เกิดจากการ ‘ค้างค่าจ้าง’
ขณะที่สโมสรเทียนจิน ไทเกอร์ส ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่สุ่มเสี่ยงที่จะล่มสลายตามไป เพราะบริษัทแม่ที่เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่าง ‘เทียนจิน เทดา’ ตัดสินใจถอนทุน สโมสรที่อยู่ในลีกสูงสุดของจีนมาตั้งแต่ปี 1999 ค้างค่าเหนื่อยของผู้เล่นมากถึง 10 เดือน
ย้อนกลับไปอีกนิด เมื่อปีกลายคู่แข่งของเทียนจิน ไทเกอร์ส อย่าง เทียนจิน เทียนไห่ ซึ่งเคยมี ฟาบิโอ คันนาวาโร เป็นโค้ช และมีนักเตะระดับสตาร์อย่าง อเล็กซานเดร ปาโต และ อักเซล วิตเซิล ประกาศล้มละลายหลังจากที่อดีตเจ้าของ ฉูหยูหุ่ย ถูกจับกุมตัว จนทำให้สโมสรขาดการสนับสนุนทางการเงิน จนไม่สามารถบริหารกิจการได้
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเปรียบให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่า ‘ฟองสบู่’ ของลีกฟุตบอลจีนกำลังถึงจุดใกล้ที่จะระเบิดออกมา หลังจากที่พวกเขาใช้พลังอันวิเศษของมังกร หรือความจริงก็คือการใช้พลังอำนาจทางการเงินไร้ขีดจำกัดของบริษัทยักษ์ใหญ่ตามท้องถิ่นคอยสนับสนุนสโมสรฟุตบอล…จนไต่ทะยานฟ้า
จุดเริ่มต้นนั้นต้องย้อนกลับไปในปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่ลีกฟุตบอลของจีนเริ่มถูกจับตามองจากชาวโลก หลังจากที่ซูเปอร์สตาร์อย่าง ดิดิเยร์ ดร็อกบา และ นิโกลาส์ อเนลกา ย้ายมาอยู่กับเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว และยังมี เซย์ดู เกอิตา มาอยู่กับต้าเหลียน ฮาร์บิน, ลูคัส บาร์ริออส และ ยาคูบู ไอเยกเบนี มาอยู่กับกวางโจว เอเวอร์แกรนด์ และกวางโจว อาร์แอนด์เอฟ ตามลำดับ
ไม่ใช่แค่นักเตะ แต่โค้ชชั้นยอดก็ทยอยมากอบโกยในลีกจีน ไม่ว่าจะเป็น ทาเคชิโอ คาดะ, เซร์คิโอ บาติสตา และ มาร์เชลโล ลิปปี สุดยอดโค้ชผู้พาอิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2006
ในปี 2013 เดวิด เบ็คแฮม เป็นโกลบอลแอมบาสเดอร์คนแรกของลีกจีน ก่อนที่จะเกิดการทะลักของนักฟุตบอลระดับสตาร์ที่ย้ายมาลีกจีนเต็มไปหมด
เตเชรา, รามิเรส, ปาโต, เปาลินโญ, ออสการ์, คาร์ลอส เตเวซ, ฮัล์ก, จอห์น โอบี มิเกล หรือ มารูยาน เฟลไลนี เป็นต้น
ขณะที่ฝั่งโค้ชก็ยังมี หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี อดีตโค้ชผู้พาบราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2002, คันนาวาโร หรือแม้แต่ ราฟาเอล เบนิเตซ ยอดโค้ชชาวสเปน
เรียกได้ว่าจีนกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักฟุตบอลและโค้ชจำนวนมากสนใจที่จะย้ายมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นยุคทองอย่างแท้จริง
โดยเบื้องหลังนั้นมาจากนโยบายของผู้นำอย่าง สีจิ้นผิง ที่เคยประกาศว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจของโลกฟุตบอลให้ได้ภายในปี 2050 (และทำให้บริษัทใหญ่ๆ กระโดดมาร่วมวงตามไปด้วย)
อย่างไรก็ดี ยุคทองนั้นอยู่ได้ไม่นาน เมื่อสัญญาณฟองสบู่ที่แลดูน่ากลัวจากการแข่งกันทุ่มของสโมสร ทำให้ทางด้านสมาคมฟุตบอลจีนและไชนีสซูเปอร์ลีก (CSL) ในฐานะผู้จัดการแข่งขันตัดสินใจที่จะกำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้ทุกอย่างเกินเลยไปกว่านี้
เริ่มจากการกำหนดให้ต้องจ่ายภาษี 100% สำหรับเงินค่าตัวที่ซื้อนักฟุตบอลเข้ามา สมมติถ้าซื้อมา 10 ล้าน ก็ต้องจ่ายให้รัฐบาล 10 ล้าน โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาฟุตบอลระดับรากหญ้าและเยาวชน
จากนั้นก็เริ่มมีการกำหนดกรอบมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่มีข้อบังคับให้สโมสรฟุตบอลต้องเลิกใช้ชื่อที่มาจากบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ เพื่อให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกับท้องถิ่นมากขึ้น สโมสรอย่างเจียงซู ซูหนิง จึงต้องเปลี่ยนเป็นเจียงซู เอฟซี หรือเซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ก็เปลี่ยนเป็นเซี่ยงไฮ้ เอฟซี
ขณะที่นักฟุตบอลต่างชาติที่มากอบโกยเงินมหาศาล โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของสโมสรในไชนีสซูเปอร์ลีกนั้นสูงถึงปีละ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในจำนวนนี้มากกว่า 70-80% นั้นเข้ากระเป๋าของนักฟุตบอลต่างชาติ จึงมีการตัดสินใจ ‘หักดิบ’ ในเรื่องนี้
ทางไชนีสซูเปอร์ลีกเปิดเผยว่า ไชนีสซูเปอร์ลีกจ่ายเงินค่าจ้างนักฟุตบอลสูงกว่าเจลีกของญี่ปุ่น 3 เท่า และสูงกว่าเคลีกของเกาหลีใต้ถึง 10 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ
ปัจจุบันจึงมีการกำหนดเพดานค่าจ้างหรือ Salary Cap ของนักฟุตบอลต่างชาติเอาไว้ไม่เกิน 3 ล้านยูโร และสำหรับนักฟุตบอลท้องถิ่นอยู่ที่ 5 ล้านหยวนก่อนหักภาษี ขณะที่สโมสรจะสามารถใช้จ่ายเงินในค่าเหนื่อยได้ไม่เกิน 600 ล้านหยวน
นั่งจึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของลีกฟุตบอลจีน ซึ่งเมื่อรวมกับการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ประสบปัญหาางการเงินอยู่เดิม จึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการ ‘สละเรือ’ กันเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการยุบทีมของเจียงซู เอฟซี และปัญหาของเทียนจิน ไทเกอร์ส จะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ลามไปถึงสโมสรอื่นๆ ด้วยหรือไม่
มันอาจจะเป็นไปได้ที่สุดท้ายลีกจีนก็จะสามารถปรับตัวกลับมาหาจุดสมดุลอีกครั้ง เอาตัวรอดกันได้แม้จะเจ็บปวดเจียนตาย
หรือสุดท้ายแล้วจะเป็นฟองสบู่ที่แตกระเบิดจนไม่เหลือซาก
มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
This website uses cookies.