ความเคลื่อนไหวของทัพนักกีฬากรีฑาคนพิการทีมชาติไทยที่เตรียมเข้าร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24 ส.ค. – 5 ก.ย.64 โดยมีนักกีฬาที่สามารถควอลิฟายน์ผ่านเข้าร่วมได้ทั้งสิ้น 13 คน แบ่งเป็น กรีฑา ประเภท ลู่-ลาน 5 คน และ วีลแชร์เรซซิ่ง 8 คน ซึ่งทั้งหมดต่างแยกย้ายกันเก็บตัวฝึกซ้อมในช่วงโค้งสุดท้ายกันในที่ต่างๆ ประกอบด้วย สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80
พรรษา จ.นครราชสีมา, สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี และ สนามศุภชลาศัย อยู่ในเวลานี้
นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วีลแชร์เรซซิ่ง ถือเป็นกีฬาพระเอกของไทยในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่ผ่านมาหลายสมัย ผลงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีมาตรฐานที่ไม่เคยตก ที่น่าดีใจคือมีนักกีฬาหน้าใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นในเวลานี้ ส่วนคนเก่าก็ยังคงรักษาผลงานเอาไว้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ประวัติ วะโฮรัมย์, พงศกร แปยอ หรือ อธิวัฒน์ แพงเหนือ ดาวรุ่งวัย 18 ปี ซึ่งก็เชื่อว่ากีฬากรีฑาโดยเฉพาะอย่างยิ่งวีลแชร์เรซซิ่งจะประสบความสำเร็จในพาราลิมปิกเกมส์ ที่โตเกียว ครั้งนี้แน่นอน
ด้าน นายสุพรต เพ็งพุ่ม หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย เปิดเผยถึงความพร้อมของทีมวีลแชร์เรซซิ่งเวลานี้ว่า ตอนนี้นักกีฬาทุกคนพร้อมมาก พร้อมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะการได้เก็บตัวอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 4 ปี มีเวลาแก้ไขจุดอ่อน และเสริมเติมจุดแข็งให้นักกีฬาทุกคนอย่างเต็มที่ ซึ่งนักกีฬาทุกคนมีพัฒนาการที่ดีมากทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่านักกีฬาทุกคนจะผลงานได้ดีอย่างแน่นอน
“ส่วนเป้าหมายหากให้บอกว่าจะได้กี่เหรียญทอง คงจะเป็นการกดดันนักกีฬามากไป แต่จากการเตรียมตัวที่ดี ทำให้พูดได้เต็มปากเลยว่านักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งเรามีโอกาสลุ้นเหรียญรางวัลทุกรายการ และหวังว่าแฟนกีฬาชาวไทยอยากฟังเพลงชาติไทยหลายๆ ครั้ง ก็ขอให้พี่น้องชาวไทยส่งกำลังใจมาเชียร์พวกเรากันเยอะๆ และเราให้สัญญาว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เช่นกัน” โค้ชสุพรตกล่าว
ขณะที่ “กร” พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย ดีกรี 2 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ในรายการ 400 ม. และ 800 ม. คลาส ที53 เผยว่า ความพร้อมส่วนตัวตอนนี้เกินร้อยเปอร์เซ็นแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องในสนามที่ได้มาตรฐานทำให้ตนสามารถทำสถิติได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพร้อมป้องกันแชมป์ให้ได้อีกครั้ง โดยพาราลิมปิกเกมส์หนนี้ได้สิทธิ์ลงแข่งขัน 3 รายการ คือ ระยะ 100 ม., 400 ม. และ 800 ม. ส่วนเป้าหมายแน่นอนว่าหวังจะป้องกันแชมป์ให้ได้ทั้งสองรายการ 400 ม. และ 800 ม.
“ส่วนรายการที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำผลงานออกมาให้ที่สุดคือรายการวีลแชร์ 400 ม. และหวังไว้ส่วนตัวว่าจะต้องทำสถิติโลกรายการนี้ให้ได้ เพราะการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาตนเคยทำลายสถิติโลกรายการนี้มาแล้ว และคิดว่ามีโอกาสทำได้ด้วยเพราะ 400 ม. จะเป็นรายการแรกที่ตนจะลงแข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์หนนี้” พงศกร กล่าว
ในส่วนของกีฬากรีฑาประเภทลู่-ลานนั้น นายจิระศักดิ์ ปลาทิพย์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาคนตาบอดทีมชาติไทย เผยว่า สำหรับทีมกรีฑาคนตาบอดในครั้งไทยมีนักกีฬา 2 คนที่คว้าสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน คือ สุนีย์ภรณ์ ถนอมวงค์ จากกรีฑาประเภทลู่ และ เจนจิรา ปัญญาทิพย์ จากกระโดดไกล โดยเวลานี้ทั้งสองคนถือว่ามีความพร้อมสมบูรณ์ ส่วนเรื่องความหวังเหรียญหวังคงอยู่ที่ สุนีย์ภรณ์ เพราะด้วยผลงานที่ผ่านมาซึ่งเคยคว้าเหรียญทองแดงในรายการชิงแชมป์โลกมาได้ ทำให้คิดน่าจะมีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลได้ในพาราลิมปิกเกมส์เช่นกัน อย่างไรก็ดี คงต้องไปวัดกันหน้างานอีกครั้งเพราะในครั้งนี้อาจต้องลงแข่งรอบคัดเลือกถึง 2 หน ก่อนที่จะถึงรอบชิงฯ ทำให้หากไม่มีปัญหาบาดเจ็บเชื่อว่ารอบชิงมีลุ้นแน่นอน
ส่วน อรวรรณ ไกรสิงห์ นักกรีฑาผู้พิการทางสมอง ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ในรายการวิ่ง 400 ม. และ ฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมอยู่ ที่ สนามศุภชลาศัย เผยว่า ในเวลานี้ถือว่าพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่ไปเข้าร่วมการแข่งขันแล้ว ส่วนเป้าหมายแน่นอนตนเองก็จะหวังที่จะทำผลงานอย่างเต็มที่เพื่อทำผลงานออกมาให้ดีที่สุดซึ่งเชื่อว่าหากถึงวันแข่งขันไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวนตนก็เชื่อว่าเรามีโอกาสลุ้น
เหรียญรางวัลได้เช่นกัน
สำหรับรายการที่ทัพกรีฑาคนพิการทีมชาติไทย ทั้ง 13 คน จะลงชิงชัยใน พาราลิมปิกเกมส์ 2020 มีดังนี้ กรีฑา ลู่-ลาน ประกอบด้วย จิราพร ก๋ากัน (คลาส ที46) วิ่ง 100 ม./ 200 ม., อังคาร ชะนะบุญ (คลาส ที47) กระโดดสูง, อรวรรณ ไกรสิงห์ (คลาส ที20) วิ่ง 400 ม., สุนีย์ภรณ์ ถนอมวงค์/ปัจจัย ศรีคำพันธ์ (ไกด์รันเนอร์) ( คลาส ที11) วิ่ง 200 ม./400 ม., เจนจิรา ปัญญาทิพย์ (ที11) กระโดดไกล,
กรีฑา วีลแชร์เรซซิ่ง ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ รัตนะ (คลาส ที34) 100 ม./ 800 ม., พงศกร แปยอ (คลาส ที53) 100 ม./ 400 ม./ 800 ม.พิเชษฐ์ กรุงเกตุ (คลาส ที53) 100 ม./ 400 ม./ 800 ม., มะสบือรี อาแซ (คลาส ที53) 400 ม./ 800 ม., สายชล คนเจน (คลาส ที54) 100 ม./ 400 ม./ 800 ม./ 1,500 ม., ภูธเรศ คงรักษ์ (คลาส ที54) 400 ม./ 800 ม./ 1,500 ม./5,000 ม., ประวัติ วะโฮรัมย์ (คลาส ที54) / 800 ม./ 1,500 ม./5,000 ม./มาราธอนอภิวัฒน์ แพงเหนือ (คลาส ที54) 100 ม./ 400 ม. โดยทัพกรีฑาคนพิการทีมชาติไทยจะออกเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นทัพที่ 2 ซึ่งเป็นทัพใหญ่ที่สุด ร่วมกับ ยิงธนู, วีลแชร์เทนนิส, ยกน้ำหนัก และ ยูโด โดยเดินทางวันที่ 19 ส.ค.64 เวลา 10.55 ด้วยสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ เจแอล035
สำหรับผลงานของทัพกรีฑาคนพิการทีมชาติไทยใน “พาราลิมปิกเกมส์” ครั้งที่ผ่านมา ในปี 2016 ที่นครริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล ทีมกรีฑาไทย คว้ามาได้ทั้งสิ้น 4 เหรียญทอง จาก ประวัติ วะโฮรัมย์ 2 ทอง ในรายการวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 ม. และ 5,000 ม. คลาส ที54, 2 เหรียญทอง จาก พงศกร แปยอ 2 ทอง จากรายการวีลแชร์เรซซิ่ง 400 ม. และ 800 ม. คลาส ที53, ได้ 3 เหรียญเงิน จาก พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 ม. ที53, สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิ่ง 800 ม. คลาส ที54, วีลแชร์เรซซิ่งผลัด 4×400 ม. (พงศกร แปยอ, ประวัติ วะโฮรัมย์, เรวัตร์ ต๋านะ, สายชล คนเจน) และ ได้ 2 ทองแดง จาก สายชล คนเจน ระยะ 1,500 ม. คลาส ที53-54 และ พิชญา คูรัตนศิริ 1,500 ม. คลาส ที51-52
This website uses cookies.