Football Sponsored

เบื้องหลัง “อิตาลี” โฉมใหม่ ยุค “มันโช่” ลบภาพจำ “ทีมจอมอุด” – (ฟุตบอล)

Football Sponsored
Football Sponsored

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ในบรรดาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยูโร 2020 รอบสุดท้ายช่วงฟาดแข้งรอบแบ่งกลุ่ม สิ่งที่ทำให้แฟนบอลตื่นตาตื่นใจได้ไม่แพ้กระแส “ขวดเครื่องดื่ม” หัวข้อที่ถูกพูดถึงมากไม่แพ้กันกลายเป็นโฉมใหม่ของทีมชาติอิตาลี ภายใต้การคุมทีมของ โรแบร์โต้ มันชินี่ ซึ่งสลัดภาพ “อัซซูรี่” กับการเน้นเกมรับเหนียวแน่นไปอย่างสิ้นเชิง

ทีมชาติอิตาลีซึ่งเคยรุ่งเรืองเมื่อทศวรรษก่อน พบกับความล้มเหลวทั้งในฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 2014 จนมาถึงฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งพวกเขาไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ หลังจากนั้นมาทัพอัซซูรี่ก็แต่งตั้งมันชินี่มาแทนกุนซือรักษาการคนเดิม

ต้องยอมรับว่าช่วงเวลาเมื่อ 2-3 ปีก่อนไม่ต่างจากฝันร้ายของทีมชาติอิตาลี กระทั่งการเข้ามาของ โรแบร์โต้ มันชินี่ กุนซือและอดีตนักเตะทีมชาติอิตาลีซึ่งมีความหลังไม่ค่อยราบรื่นกับทีมชาติสมัยเป็นนักเตะ แต่เมื่อเข้ามารับโอกาสอีกครั้งในการทำงานกับทีมชาติในบทบาทกุนซือ มันชินี่ไม่ทำให้แฟนบอลและสมาคมผิดหวัง

อิตาลีในยุคมันชินี่กลับมาเป็นอิตาลีที่แข็งแกร่งอีกครั้ง อิตาลีในรอบ 24 เกมหลังสุด (นับจนถึงวันที่ 21 มิ.ย. 2021) สะกดคำว่าแพ้ไม่เป็น และเก็บชัย 10 เกมรวด (นับจนถึงวันที่ 21 มิ.ย. 2021) ไม่เพียงแค่สถิติที่ยอดเยี่ยม แฟนบอลยังได้เห็นรูปแบบการเล่นซึ่งแตกต่างจากอิตาลีในยุคที่ผ่านมา

ทัพอัซซูรี่ในยุคมันโช่กลายเป็นทีมที่ครองบอลและทำเกมบุกอย่างดุดัน เร้าใจ ขณะเดียวกัน ก็ยังรักษาเอกลักษณ์เดิมนั่นคือ การเล่นเกมรับอันแข็งแกร่งเอาไว้ได้ โดยมันชินี่ยังเลือกใช้แนวรับรุ่นเก๋าอยู่เช่นเคย แม้อายุกองหลังตัวหลักหลายคนจะแตะเลข 35 แล้วก็ตาม

ภายหลังเปิดตัวอย่างร้อนแรงใน 3 เกมแรกของรอบแบ่งกลุ่ม เก็บ 9 คะแนนเต็ม ยิงคู่แข่งได้ 7 ประตูและไม่เสียประตูเลย ผ่านเข้ารอบต่อไปเป็นทีมแรก ขณะที่สถิติ 10 นัดหลังสุดในทุกรายการ ยิงคู่แข่งรวมทั้งหมด 29 ประตู และไม่เสียประตูเลย ผลงานของอัซซูรี่ทำให้พวกเขาถูกปรับขึ้นมาจากทีมเต็ง 4 เป็นทีมเต็ง 2 ของรายการไปโดยปริยาย (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย.)

หัวใจสำคัญประการหนึ่งของอัซซูรี่ชุดนี้ คือ มันชินี่ ผสมผสานผู้เล่นตัวเก๋าเข้ากับพลังหนุ่มในแดนกลางและแดนหน้าได้อย่างกลมกล่อม แม้แต่กุนซือทีมชาติบราซิลอย่างติเต้ ก็ชื่นชมสไตล์การเล่นของอิตาลีในยุคนี้ อย่างไรก็ตาม มันโช่ไม่ปฏิเสธว่าความสำเร็จของทีมชาติอิตาลีที่ผ่านมา ซึ่งได้แชมป์โลก 4 สมัย และยูโรอีกสมัยนั้นได้มาจากการเล่นด้วยรูปแบบเกมรับมากกว่าเน้นเกมรุก และเชื่อว่าการเล่นเกมรับของอิตาลีในวันนี้ก็ยังสามารถสร้างความแตกต่างให้กับเกมได้

มันโช่เป็นกุนซืออิตาลียุคใหม่ที่มองว่า หากจะสร้างทีมที่ดีขึ้นมาได้ กุนซือจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างเกมรุกและเกมรับ สมดุลที่ว่านั้นสะท้อนออกมาผ่านการหลอมรวมความเป็นทีมขึ้นมา ถ้าไปถามผู้เล่นอิตาลีถึงความลับของฟอร์มยอดเยี่ยมเวลานี้ ผู้เล่นบางรายอย่าง นิโคโล บาเรลล่า มิดฟีลด์ วัย 24 ปีของทีมจะตอบว่า “ไม่มี” ชุดนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังความมุ่งมั่นจากกลุ่มนักเตะไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทั้งในและนอกสนาม

เมื่อดูผู้เล่นอิตาลีในชุดนี้ นอกเหนือจาก ลีโอนาร์โด้ โบนุชชี่ และ จอร์โจ คิเอลลินี่ คู่กองหลังตัวเก๋าแล้ว ผู้เล่นแกนหลักอื่นผสมไปด้วยดาวรุ่งอิตาลีซึ่งขยับขึ้นมาพร้อมกันจากชุดทีมเยาวชน ความผูกพันรู้ใจกันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเล่นของอิตาลีลื่นไหลสนุกสนานแตกต่างจากยุคก่อนหน้านี้ แม้แต่ผู้เล่นที่มีตำแหน่งเดียวกันอย่าง ชิโร่ อิมโมบิเล่ กับ อันเดรีย เบล็อตติ ยังแชร์ห้องร่วมกันทั้งที่หน้าที่ในสนามแล้วพวกเขาเป็นตัวเลือกใน 11 ผู้เล่นตัวจริงด้วยซ้ำ

เบื้องหลังผู้เล่นชุดเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักผสมผสานกับตัวเก๋าในเวลานี้ กูรูหลายคนยกความดีความชอบไปที่บทบาทของ อาร์ริโก ซาคคี อดีตกุนซือเอซี มิลานที่เคยมารับบทบาทผู้ประสานงานในทีมชาติอิตาลีชุดเยาวชนยุค 2000 และทำงานประมาณ 4 ปี

อิตาลีในเวลานั้นพยายามสร้างทีมเยาวชนโดยเทียบเคียงกับโมเดลและสไตล์แบบสเปนในช่วงรุ่งเรืองซึ่งเล่นฟุตบอลสวยงามเป็นเอกลักษณ์ หากทีมกระทิงดุชนะแต่เล่นไม่ได้ใจพอ แฟนบอลก็ยังไม่ปรบมือให้ ความผูกพันของนักเตะอีกแง่มุมที่น่าสนใจ คือ กรณีคู่มิดฟีลด์จากซาสซูโอโล่ ทีมจอมกระทุ้งประตูในเซเรียอา อิตาลี ช่วงนี้อย่างโลคาเตลลี่ และโดเมนิโก้ เบราร์ดี้

อิตาลียุคใหม่มีส่วนผสมที่น่าสนใจมาก และเป็นทีมที่น่าจับตาอีกทีม ภายหลังจากแนวทางเดิมที่สร้างชื่อให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จมาหลายปี เมื่อพวกเขากล้าปรับเปลี่ยนผสมผสานสิ่งดั้งเดิมเข้ากับสไตล์การเล่นใหม่ซึ่งสอดรับกับยุคสมัย ไม่ใช่เพียงยูโรครั้งนี้ มันชินี่มีสัญญากับอิตาลีระยะยาว นั่นยิ่งน่าสนใจว่า กุนซือรายนี้จะพาอิตาลีไปได้ไกลเพียงใด

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.