Football Sponsored

‘Pelé’ สารคดีลูกหนังที่จะทำให้คุณได้รู้จักราชาของโลกฟุตบอลตัวจริง มากกว่าแค่เรื่องเล่าที่เคยได้ยินมา

Football Sponsored
Football Sponsored

หากเอ่ยชื่อของ เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต หลายคนอาจจะทำหน้าฉงน แต่หากบอกว่า ‘เปเล’ คงไม่มีใครที่รักเกมฟุตบอลที่ไม่รู้จักอย่างแน่นอน

เพราะนี่คือนักฟุตบอลผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘ราชาของโลกฟุตบอล’ ตำนานมีลมหายใจที่ครองความเป็นหนึ่งตลอดกาลมาอย่างยาวนาน เป็นนักฟุตบอลคนเดียวในโลกที่ครองแชมป์ฟุตบอลโลกถึง 3 สมัย และเป็นเจ้าของสถิติผู้ที่ทำประตูในเกมฟุตบอลมากที่สุดในโลก 1,279 ประตู จากการลงสนาม 1,363 นัด ซึ่งเป็นสถิติที่ได้รับการจดบันทึกไว้โดยกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์

แต่หากถามว่ามีใครเคยได้เห็นเปเลลงเล่นจริงๆ จังๆ ไหม? ปัจจุบันคงเหลือน้อยคนนักที่จะเคยได้ดู เหตุผลเพราะในยุคสมัยของราชาลูกหนังผู้นี้ การถ่ายทอดฟุตบอลยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก โดยการถ่ายทอดสดฟุตบอลแบบจริงจังบนโทรทัศน์สีเพิ่งจะเริ่มต้นในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1970 ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายของเปเลกับทีมชาติบราซิลชุดที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดตลอดกาล

ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถสืบค้นหลักฐานวิดีโอการเล่นของเปเลจึงมีไม่มากนักบนโลกออนไลน์ และไม่แปลกหากจะมีใครที่เคลือบแคลงสงสัยว่าตกลงแล้วเขาคือสุดยอดนักเตะที่อยู่เหนือโคตรบอลอย่าง ดิเอโก มาราโดนา, ลิโอเนล เมสซี, คริสเตียโน โรนัลโด หรือ ซีเนดีน ซีดานจริงหรือไม่

และตัวตนของชายผู้ได้รับสมญาว่า The Black Pearl หรือ ‘ไข่มุกดำ’ จริงๆ นั้นเขาเป็นคนอย่างไรกัน

โชคดีสำหรับแฟนฟุตบอลทุกคนที่เราจะได้ชมสารคดีฟุตบอลเรื่องใหม่ Pelé ที่ฉายแล้วทาง Netflix ตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในสารคดีเรื่องนี้ซึ่งมีความยาว 1 ชั่วโมงกับอีก 48 นาที (ในระบบภาพ HD และบันทึกเสียงในระบบ Dolby Vision) เราจะได้ร่วมเดินทางย้อนกาลเวลาไปยังทศวรรษที่ 1950 กับจุดตกต่ำที่สุดของชาวบราซิลในโศกนาฏกรรมที่ชื่อว่า ‘มาราคานาโซ’ ที่ทีมชาติอันน่าภาคภูมิใจของพวกเขาพ่ายแพ้ต่ออุรุกวัย ในนัดชิงชนะเลิศที่สนามชามอ่างยักษ์มาราคานาบนแผ่นดินตัวเอง

ก่อนที่จะปรากฏความหวังใหม่ของชาติ ซึ่งเป็นเพียงเด็กน้อยอายุ 17 ปี แต่สามารถลบฝันร้ายของคนทั้งประเทศได้ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกได้ในการแข่งขันที่ประเทศสวีเดนเมื่อปี 1958

ลองจินตนาการว่าเด็กอายุแค่นี้ แต่ทำ 6 ประตูในรอบน็อกเอาต์ โดยยิงประตูชัยในเกมกับเวลส์ รอบ 8 ทีมสุดท้าย, ซัดแฮตทริกใส่ฝรั่งเศสในรอบรองชนะเลิศ และทำอีก 2 ประตูให้บราซิลล้มสวีเดนเจ้าภาพบนสนามของตัวเอง

เพียงแต่เราไม่ได้จะเห็นแค่เพียงตำนานความมหัศจรรย์ในสนามของเปเลเท่านั้น ในสารคดีเรื่องนี้จะเปิดมุมมองชีวิตอีกด้านของเขาในฐานะ ‘ไอคอน’ ของชาติ นักฟุตบอลผู้ไม่ได้เป็นสมบัติของสโมสรฟุตบอลหรือทีมชาติ แต่เป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ

ในมุมจากภายนอกมันคือความสวยงามกับสถานะอันยิ่งใหญ่ แต่ในมุมภายในมันคือความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

ใหญ่ในระดับที่ไม่มีใครจินตนาการได้ว่าเปเลแบกรับอะไรอยู่บ้าง

เรายังจะได้เห็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศบราซิล เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพในปี 1964 และนำไปสู่การเป็นประเทศเผด็จการซึ่งอยู่ยืนยงถึงปี 1985 โดยในช่วงเวลาของการรัฐประหารนั้น เปเลถูกกดดันอย่างหนักให้แสดงจุดยืนว่าเขาเลือกข้างใด

และการตัดสินใจของเขาทำให้เพื่อนเก่าบางคนถึงขั้นไม่อาจให้อภัยได้ (และมันทำให้เราได้รู้ว่ากีฬาฟุตบอลมีความเชื่อมโยงกับการเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ)

เราจะได้เห็นเปเลและขุนพลรอบกายเขาอย่าง แกร์สัน, ทอสเทา, ริเวลลิโน, แจร์ซินโญ ในฟุตบอลโลก 1970 และความรู้สึกของตัวเขาจริงๆ หลังการคว้าแชมป์สมัยที่ 3 มาครองได้

รวมถึงมุมส่วนตัวของชีวิต สมาชิกครอบครัว และแรงบันดาลใจ ซึ่งเขาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวเอง

เป็นการเล่านิทานของราชาลูกหนังโดยตัวของราชาในวัยชรา

ในวัย 80 ปี ร่างกายเสื่อมถอยไปมากแล้ว แต่ความทรงจำยังคงชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนที่มีหัวใจรักในเกมฟุตบอลทุกคนที่จะได้รู้จักเปเลมากกว่าที่ผ่านมา

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • https://www.independent.co.uk/sport/football/world/pele-netflix-documentary-b1805979.html
  • https://www.gq-magazine.co.uk/culture/article/pele-documentary-netflix-review
  • https://www.bbc.com/sport/football/56111329
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Pelé
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.