Football Sponsored

มือกาวจอมโขก – ไทยรัฐ

Football Sponsored
Football Sponsored

เมื่อ อลิสสัน เบคเกอร์ นายทวารชาวบราซิล ดอดขึ้นมาโขกประตูชัยในวินาทีสุดท้ายของเกม ช่วยให้ขุนพล เรด แมชชีน บุกมาเอาชนะ “เดอะ แบ็กกี้ส์” เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ถึงถิ่นเดอะฮอว์ธอร์นส์ด้วยสกอร์ 2-1

เพิ่มความหวังในการกลับมาลุ้นตั๋วลุยศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกฤดูกาลหน้า หากคว้าชัยชนะในอีก 2 เกมที่เหลือได้สำเร็จ

ซึ่งประตูนี้ ถือเป็นลูกแรกในอาชีพค้าแข้งของอลิสสัน ทำให้เขากลายเป็นผู้รักษาประตูคนแรกในประวัติศาสตร์ของลิเวอร์พูลที่สามารถทำประตูในเกมที่มีความหมายได้

ความจริงในระดับโลกผมเคยเห็นยอดนายทวารจอมบ้าดีเดือดหลายต่อหลายคน ทิ้งตำแหน่งตัวเองขึ้นมาแย่งกองหน้ายิงประตูในช่วงเวลาสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายของเกมมาบ้างแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นยักษ์เดนส์ ปีเตอร์ ชไมเคิล ของแมนฯ ยูไนเต็ด, เรเน ฮิกิตา เจ้าของเครื่องหมาย การค้าลูก “สกอร์เปียนคิก”

อันเป็นตำนานของทีมชาติโคลอมเบีย รวมทั้งโฮเซ หลุยส์ ชิลาเวิร์ตนายด่านปารากวัยจอมซัลโวที่กะซวกตาข่ายคู่แข่งตลอดการเป็นโกลอาชีพของตัวเองไปได้ถึง 67 ประตู

ขณะเดียวกันในวงการฟุตบอลเมืองไทย ก็เคยมีเหมือนกัน แต่นานๆทีที่จะมีนายทวารสวมบทฮีโร่ขึ้นมาทำประตูให้เห็น

โดยเฉพาะลูกโหม่งช่วงท้ายเกมแบบเดียวกับที่อลิสสัน เบคเกอร์ ประตูหงส์แดงเพิ่งทำได้นั้น ผมลองไปค้นข้อมูลเก่าๆดูแล้ว ที่เด่นๆหน่อยและเป็นที่จดจำของแฟนลูกหนังบ้านเราน่าจะมีอยู่ 3 ลูกครับ

ประตูแรกเกิดขึ้นในฟุตบอลสปอนเซอร์ไทยพรีเมียร์ลีก 2011 ที่ศรีราชา สเตเดียม จ.ชลบุรี ซึ่ง “เดอะบลูมาร์ลิน” ศรีราชา ซูซูกิ เอฟซี เปิดบ้านรับการมาเยือนของบางกอกกล๊าส

และในช่วงทดเจ็บนาทีสุดท้าย ขณะที่ทีม “กระต่ายแก้ว” นำอยู่ 2–1 เจ้าถิ่นได้ลูกเตะมุมแล้วเป็น “ลูคัส แดเนียล” นายทวารอาร์เจนไตน์ ขึ้นมาโขกบอลผ่านมือกฤษณะ กลั่นกลิ่น เข้าไปเป็นลูกตีเสมอ 2–2 อย่างเหลือเชื่อ

ส่วนประตูที่สอง เกิดขึ้นในอีก 3 ปีถัดมาในศึกไทยพรีเมียร์ลีก 2014 ที่สนามศรีนครลำดวน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งประตูฟ้าขาวคนเดิม “ลูคัส แดเนียล” กลายเป็นฮีโร่อีกครั้ง

แต่คราวนี้เขาโหม่งประตูให้ “กูปรีอันตราย” ศรีสะเกษ เอฟซี ไล่เจ๊าแบ่งแต้ม “กิเลนผยอง’’ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 1–1 ในนาที 90+3 เล่นเอากองเชียร์เจ้าถิ่นเฮสนามเกือบแตก

มาจนถึงประตูสุดท้ายที่อยู่ในความทรงจำของคอบอลชาวไทย เป็นเกมระดับนานาชาติของทีม ม.กรุงเทพธนบุรี ตัวแทนทีมมหาวิทยาลัยของไทย ใน รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลมหาวิทยาลัยเอเชีย 2018 ที่ประเทศจีน

เกมนี้ทีมปัญญาชนเกาหลีใต้นำทีมไทยอยู่ 2-1 และทำท่าจะคว้าแชมป์ไปครองอีกสมัยตามคาด

กระทั่งช่วงทดเวลาบาดเจ็บ น.90+4 ผู้รักษาประตู “สมพร ยศ” เติมขึ้นไปขวิดลูกเตะมุมตีเสมอ 2–2

ก่อนที่เกมจะยืดเยื้อไปถึงการดวลจุดโทษ และเป็นทีมมหาวิทยาลัยไทย ที่ยิงได้นิ่งกว่า บวกกับการเซฟของสมพร ยศ ช่วยให้ ม.กรุงเทพ–ธนบุรี เอาชนะคว้าแชมป์ไปครองอย่างยิ่งใหญ่

ซึ่งทั้งหมดคือตำนาน “มือกาวจอมโขก” ของบอลไทยเรา ที่เคยทำได้มาแล้ว

ก่อนนายทวารขวัญใจชาวเดอะค็อป…ด้วยซ้ำไป!!!

บี บางปะกง

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.