เวลาประมาณ 11 โมงแล้ว แต่ร้านอาหารกึ่งบาร์บริเวณริมหาดโคปาคาบานาหลายร้านยังไม่เปิดให้บริการ ในจำนวนไม่กี่ร้านที่เปิดมีร้านหนึ่งสะดุดตาเป็นพิเศษ เสาต้นหนึ่งมีภาพเขียนของ “ลิโอเนล เมสซี” พอผมเข้าไปนั่งมองจากมุมในร้านออกมานอกร้าน อีกฝั่งของเสาต้นเดียวกันเป็นภาพ “ดิเอโก มาราโดนา” ผมมองดูจนครบทุกด้าน อีก 2 ด้านที่เหลือคือภาพเสาโอเบลิสโกกลางกรุงบัวโนสไอเรส และภาพ Façade หรือด้านหน้าของอาคารในลักษณะที่เรียกว่า Ochava เห็นหน้าตึก 3 ด้าน นี่คือรูปแบบอาคารที่พบได้ทั่วไปในกรุงบัวโนสไอเรส
ผมน่าจะเป็นลูกค้าคนแรกๆ ของร้าน โต๊ะหลายตัวยังไม่ได้เช็ดทำความสะอาด พนักงานชายผิวสี 2 คน ตัวใหญ่ยักษ์เปิดเพลงเต้นกันอย่างอรชรอ้อนแอ้น ทำให้งานยิ่งช้า แต่ที่นี่บราซิล เมื่อนึกอย่างเต้น ใครๆ เขาก็เต้นกัน
หลังจ่ายเงินค่าอาหารแล้วผมเดินไปคุยกับพนักงานหญิงของร้านที่ยืนสูบบุหรี่อยู่บนทางเท้า ถามเธอว่าทำไมในร้านมีรูปเมสซีและมาราโดนา เธอตอบว่าเจ้าของร้านเป็นคนอาร์เจนตินา และเธอเองก็เป็นคนอาร์เจนตินา ผมถามต่อว่าแล้วคนบราซิลไม่ว่าอะไรหรือ เธอว่า “เมสซีเก่งที่สุดในโลก พวกเขาต้องยอมรับ” ตอบไม่ตรงคำถาม แต่ผมก็เลิกเซ้าซี้ในประเด็นนี้
บ้านเกิดของเธออยู่ที่เมืองลานุส รัฐบัวโนสไอเรส เมืองเดียวกับบ้านเกิดมาราโดนา อายุคงราวๆ 40 ปีหรือน้อยกว่า แต่เธอมีใบหน้าของคนสูบบุหรี่จัดแบบมวนต่อมวน ถ้าไม่นำส่วนนี้ไปคำนวณก็จะทายออกมามากกว่าอายุจริง
ผมถามเธอว่าทำไมพูดภาษาอังกฤษได้ดี เธอตอบว่าย้ายมาอยู่บราซิลได้ 3 ปีแล้วจึงพอพูดได้ ทั้งหมดมาฝึกเอาที่นี่ แต่พูดได้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานและชีวิตประจำวัน หากจะให้พูดในหัวข้อที่เธอไม่คุ้นเคยก็พูดไม่ได้ พอเธอรู้ว่าผมอยู่อาร์เจนตินามา 3 เดือนก็พูดสเปนใส่เป็นชุด ผมตอบโต้ไม่ได้เลย เธอย้อนว่าอยู่ตั้ง 3 เดือนน่าจะพูดได้ ผมบอกไปว่าพูดได้แค่สั่งกาแฟและสั่งเบียร์
ในร้านไม่มีลูกค้า เราเลยยืนคุยกันอยู่นาน ระหว่างนี้เธอก็สูบบุหรี่ไปเรื่อยๆ ผมถามว่า “คุณคิดถึงอาร์เจนตินาไหม?” เธอตอบว่า “ไม่เท่าไหร่ แต่ฉันคิดถึงเนื้อวัว ที่นี่ได้กินเนื้อเหมือนกัน แต่เนื้อออกแข็งๆ ไม่นุ่มเหมือนเนื้ออาร์เจนตินา”
ผมไม่ใช่คอเนื้อและนานๆ ทีถึงจะกินสักครั้ง แต่ชื่อเสียงของเนื้ออาร์เจนตินานั้นต้องยอมรับว่าเด่นดังกว่าใครในโลกจริงๆ เพราะลักษณะภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าแปมปัสอันกว้างใหญ่ เหมาะแก่การเลี้ยงวัวเนื้อเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเนื้อบราซิลก็มีชื่ออยู่ในระดับหนึ่งเหมือนกัน และอาหารที่ขึ้นชื่อมากก็คือเนื้อชิ้นใหญ่สามสี่ชิ้นเสียบเหล็กแหลมย่างบาร์บีคิว เรียกว่า Churrasco (อ่านว่า “ชูฮาสกู) พันธุ์เนื้อวัวเด่นๆ ในโปรตุเกสนั้นมีอยู่มาก น่าจะถูกขนลงเรือมาในยุคอาณานิคมเพื่อกระจายพันธุ์ในบราซิลที่มีพื้นที่กว้างขวางเป็นครึ่งหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ และบราซิลคือประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวมากที่สุดในโลก
เธอสูบบุหรี่ไปหลายมวน สุดท้ายถามผมว่าต้องการอะไรในร้านอีกไหม เธอต้องกลับเข้าไปในเคาน์เตอร์บาร์แล้ว ผมถามถึงกาแฟ แต่ในร้านไม่มีขาย เธอแนะนำร้านบนฝั่งให้ร้านหนึ่ง ถัดจาก Avenida Atlantica ถนนเลียบหาดโคปาคาบานาขึ้นไปเพียงบล็อกเดียว ผมเดินไปตามลายแทงนั้น
ร้านแบบท้องถิ่นชื่อ La Copa เป็นร้านเบเกอรี่และขนมปังหลากหลายชนิดที่มีกาแฟขาย ลูกค้านั่งดื่มกาแฟอยู่ไม่กี่โต๊ะ ที่มาซื้อขนมห่อไปกินที่อื่นมีมากกว่า ผมกินมื้อเช้ามาแล้วจึงสั่งเฉพาะกาแฟ พนักงานสาวนำแก้วใสใบหนาไปกดกาแฟดำจากถังที่ต้มไว้ แล้วยื่นให้จากในเคาน์เตอร์ ถามว่า “อะซูการ์?” ผมตอบ “เนา โอบริกาโด” ถามอีก “เลชชี?” ผมก็ยังตอบ “เนา โอบริกาโด” ผมดื่มหมดก็ไม่รู้สึกอะไรมากนัก เห็นมีเครื่องทำกาแฟอยู่ด้วยจึงสั่งเอสเปรสโซเพิ่ม เธอเสิร์ฟมาในถ้วย คราวนี้ไม่ถามอะไร เพราะรู้แล้วว่าผมไม่ใส่ทั้งน้ำตาลและนม ดื่มหมดแก้วนี้เห็นผลทันทีว่ากาเฟอีนถึงดีกรีแล้ว
ระหว่างเดินกลับที่พัก ตามร้านอาหารกึ่งบาร์เริ่มมีลูกค้านั่งกันแล้ว ขนาดเป็นวันอังคารแท้ๆ เห็นใส่เสื้อทีมฟลาเมงโกกันหลายคน นี่คือสโมสรที่มีแฟนบอลมากกว่า 40 ล้านคน มากที่สุดในบราซิล (จากประชากรทั้งประเทศราว 216 ล้านคน)
ผมกินมื้อเที่ยงง่ายๆ ที่ซื้อไปจากซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วออกจากที่พักเพื่อเดินทางไปยังสนามฟุตบอล “มาราคานา” หวังจะไปซื้อตั๋วทัวร์สนาม นั่งรถไฟใต้ดินสายสีส้มจากสถานี Siqueira Campos/Copacabana ไปไม่กี่สถานี เปลี่ยนเป็นสายสีเขียวที่สถานี Flamengo แล้วนั่งยาวไปจนถึงสถานี Maracana ภายในรถไฟฟ้ามีคนสวมหน้ากากประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรืออาจจะน้อยกว่า ผิดกับที่เซาเปาโล เจ้าหน้าที่บังคับให้สวมก่อนเข้าสถานี แม้ว่าประมาณครึ่งหนึ่งจะถอดเก็บเมื่ออยู่ในรถไฟ
ออกจากสถานีรถไฟ Maracana ยิ่งเห็นคนสวมเสื้อฟลาเมงโกจำนวนมากขึ้นไปอีก จากสถานีรถไฟใต้ดินถึงตัวสนามมาราคานามีทางเชื่อมโค้งๆ ยาวประมาณ 200 เมตร ถึงป้ายที่เขียนว่า Tour Maracana-Buy Your Ticket Here ตอนประมาณบ่าย 3 ครึ่ง เจ้าหน้าที่ รปภ.ปล่อยคนออกมาจากข้างใน ทำสัญลักษณ์กากบาทด้วยแขน 2 ข้าง ผมถามเป็นภาษาสเปนว่า “เซอราโด?” เขาก็ตอบ “เซอราโด” แปลว่าปิดแล้ว
ผมอ่านมาก่อนหน้านี้ทราบว่าเวลาปิดให้เข้าทัวร์มาราคานาคือ 5 โมงเย็น และให้ออกจากสนามตอน 6 โมงเย็น จึงสันนิษฐานว่าวันนี้มีการแข่งขัน และภาพคนสวมเสื้อฟลาเมงโกตั้งแต่ยังไม่เที่ยงวันยิ่งเพิ่มความมั่นใจ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตระบุไว้ว่าจะปิดก่อนเกมการแข่งขัน 5 ชั่วโมง ทำให้วันนี้ผมอดทั้งขึ้นไปกราบพระเยซูและทัวร์สนามมาราคานา
ภาษาโปรตุเกสใช้ Estádio do Maracanã อ่านว่า “อิสตาโจ ดู มารากานัง” เป็นสนามที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกเคยได้ยินชื่อ สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ.1950 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ ในนัดชิงครั้งนั้นทีมชาติบราซิลพบกับทีมชาติอุรุกวัย ด้วยโครงสร้างสนามในอดีตที่ไม่มีเก้าอี้นั่ง ทำให้มีผู้ชมเฮโลกันเข้าไปในสนามมากกว่า 173,850 คน นี่คือตัวเลขอย่างเป็นทางการ ในความเป็นจริงว่ากันว่าน่าจะเกิน 200,000 คนด้วยซ้ำไป (มีถึง 26 นัดที่ยอดผู้ชมทะลุ 150,000 คน) ผลการแข่งขันอุรุกวัยเอาชนะบราซิลไป 2-1 คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 2
สนามมาราคานาตั้งตามชื่อย่านมาราคานาซึ่งมาจากชื่อแม่น้ำอีกทอดหนึ่ง เจ้าของสนามคือรัฐบาลของรัฐรีโอเดจาเนโร แต่ให้ทีมฟลาเมงโกและทีมฟลูมิเนนเซบริหาร และเป็นสนามเหย้าของทั้ง 2 ทีม ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ.2014 ที่บราซิลกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง สนามถูกปรับปรุงครั้งใหญ่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ มีการใส่เก้าอี้จนครบ ทำให้ความจุลดลงเหลือ 78,838 ที่นั่ง แต่ก็ยังเป็นสนามที่ใหญ่สุดของประเทศอยู่ดี
เมื่อไม่ได้ทัวร์สนาม แต่กลับมีโอกาสที่ดีกว่าคือได้ดูฟลาเมงโกเตะในสนามเหย้า เปิดมือถือดูข้อมูล ฟลาเมงโกจะพบกับคอรินเทียนส์ ในศึกโคปาลิเบอร์ตาดเรส เวลา 3 ทุ่มครึ่ง แสดงว่าการทัวร์สนามปิดก่อนถึง 6 ชั่วโมง กฎคงถูกยกเว้นเพราะนี่คือแมตช์ใหญ่ และไม่ใช่การแข่งขันถ้วยภายในประเทศ หากแต่เป็นถ้วยประจำทวีปเลยทีเดียว เทียบเท่ากับยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกของยุโรป เพียงแต่ว่า 2 ยักษ์ใหญ่ของบราซิลโคจรมาพบกันเอง (บราซิลได้สิทธิ์ปีละ 7 ทีม อาร์เจนตินา 6 ทีม ชาติอื่นๆ จำนวนทีมลดหลั่นกันไป)
ผมเดินไปตามทิศทางที่คิดว่าเป็นห้องจำหน่ายตั๋วหน้าสนาม เห็นเจ้าหน้าที่ในชุดเขียวจำนวนมากกำลังเตรียมความพร้อมและซักซ้อมรับมือกับกองเชียร์ของทั้ง 2 ฝ่าย นี่คือดาร์บีแมตช์ระหว่างรัฐของบราซิล ทั้ง 2 ทีมคว้าถ้วยแชมป์ของประเทศ (Campeonato Brasileiro Serie A เริ่มจัดแข่งขันเมื่อ ค.ศ.1960) เท่ากันที่ 7 สมัย (มีทีมปัลเมรัสและซานโตสที่ได้แชมป์มากกว่า) โดยบราซิลมีอยู่ 26 รัฐ แต่ละรัฐมีฟุตบอลลีกภายในรัฐ ใหญ่สุด 4 รัฐ ได้แก่ รีโอเดจาเนโร เซาเปาโล ปอร์โตอเลกรี และมีนัสเจไรส์ นอกจากแข่งลีกภายในรัฐแล้ว ทีมใหญ่ๆ จากทั่วประเทศ 20 ทีมก็แข่งลีกซีรีส์เอของประเทศด้วย (มีเลื่อนชั้น-ตกชั้น)
วันนี้เป็นเลกที่ 2 โดยนัดแรกที่พบกันที่บ้านของคอรินเทียนส์ ฟลาเมงโกบุกไปเอาชนะได้ 2-0 มีชายคนหนึ่งเดินมาใกล้ๆ ผมถามเขาว่าพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เขาตอบ “โน” ผมจึงพิมพ์ข้อความลงในแอปแปลภาษา ถามเขาว่า “คุณรู้ไหมว่าจะหาซื้อตั๋วนัดนี้ได้ที่ไหน” เขาชี้ที่ตัวเขาเอง ผมถามเป็นภาษาสเปนว่า “กวนโต?” เขาพิมพ์ตอบในมือถือของเขา “300 เรียล” ผมพูดสเปนอีก “มุย กาโร” แปลว่าแพงไป แล้วพิมพ์ว่า “จะขอคิดดู” เขาก็เดินจากไป ไม่มีคะยั้นคะยอ
มีกลุ่มวัยรุ่นหลายคนยืนรวมตัวกันอยู่ ผมเดินเข้าไปถามหนึ่งในนั้นว่าพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เขาชี้ไปที่เพื่อนๆ มีคนเข้ามาคุยกับผม 3 คน พวกเขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มารับจ๊อบแจกสินค้าตัวอย่างให้กับแฟนบอล
ทราบจากทั้ง 3 คนว่าตั๋วนัดนี้ถูกขายหมดไปหลายวันแล้ว ตั๋วผีพอหาได้ในราคาใบละ 200-300 เรียล จากปกติ 150 เรียล แต่ต้องระวังตำรวจที่เดินลาดตระเวนไปทั่ว ผมถามว่าถ้าตำรวจเห็นจะถูกจับไหม ได้รับคำตอบว่าไม่ถึงขั้นถูกจับไปโรงพัก แต่จะถูกไล่
ผมมีเงินสดอยู่แค่ 190 เรียล ถ้าจะดูบอลคู่นี้ก็ต้องกดเอทีเอ็มมาจ่ายค่าตั๋วผี คิดอยู่หลายตลบ แต่เริ่มมีอาการน้ำมูกไหลและจาม ฤทธิ์ของกาชาซาไม่หมดไปเสียทีเดียว ถ้าต้องรอถึง 3 ทุ่มครึ่งไม่รู้อาการจะแย่ไปกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน ตัดสินใจไม่ดูที่สนาม กลับไปดูที่ห้องพัก ฟลาเมงโกเอาชนะคอรินเทียนส์ 1-0 และสุดท้ายฟลาเมงโกทะลุเข้าไปชิงกับ “แอตเลติโก ปารานาเอนซี” สโมสรที่มาจากบราซิลเช่นกัน
ท้ายสุดฟลาเมงโกได้แชมป์อเมริกาใต้เป็นครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์สโมสร.
This website uses cookies.