Football Sponsored

แกรด์ มุลเลอร์ – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

ถ้าให้เปรียบเทียบความเก่ง ความดังของ แกร์ด มุลเลอร์ ตำนานดาวยิงผู้ล่วงลับของชาวเยอรมัน กับนักเตะยุคนี้ คงระดับเดียวกันกับ ลิโอเนล เมสซี่, คริสเตียโน โรนัลโด้ อย่างไม่ต้องสงสัย อาจแตกต่างตรงที่ มุลเลอร์ คว้าแชมป์โลก ได้

    ผมไม่ได้ร่วมสมัยกับ มุลเลอร์ เจ้าของฉายาที่พี่ ย.โย่ง เรียกขานในสตาร์ซอคเก้อร์ ว่า ไอ้ดินระเบิด หรือ  Der  Bomber เวอร์ชั่นของดอยช์ลันด์ ที่หมายถึง “ตูม” เดียวพังทั้งหน้าประตูคู่แข่ง ส่วนใหญ่ได้จากการอ่านจากสตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ โดยเฉพาะคอลัมน์ของสองคอลัมนิสต์สายเยอรมัน อานิกร ก.ป้อหล่วน และ อาเจษฎา “ช่อคูณ” นักเรียนเก่าเยอรมันที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเยอรมันอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่ประเทศชาติเคยมีคนรู้เรื่องบอลเยอรมันมา

    ได้ความรู้จากตรงนั้นและการดูเทปไฮต์ไลต์ บุนเดสลีกา รวมทั้งบอลโลก 1974  เมื่อก่อนเรียกกัน “เกิร์ด มุลเลอร์” ภายหลัง อานิกร ชำระเรื่องการออกเสียงให้ถูกต้องตามภาษาเยอรมัน ก็เป็น แกร์ด มุลเลอร์ แรกๆดูไม่คุ้น นานไปเขาคือ แกร์ด เราลืม “เกิร์ด” ไปแล้ว

    เรื่องการออกเสียงให้ตรงกันเจ้าของภาษา อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา แต่ถ้าเราออกเสียงได้ถูกต้อง มันก็ทำให้เราทราบว่าเอกลักษณ์ของแต่ละชาติแตกต่างกันผ่านภาษาที่ใช้

    Roberto ในแบบสเปนคือ โรเบรโต แต่คนอิตาเลียน โรแบรโต ผู้บรรยายอังกฤษพยายามออกเสียงให้ได้ดีกว่า โรเบอรโต 

    Jose ของสเปน โฆเซ่ ละตินอเมริกาก็ โฮเซ โปรตุเกส ก็ โชเซ หรือ โจเซ  เหมือน David De Gea คนอังกฤษออกเสียงตัว G ผสมสระ แบบสเปนและฮอลแลนด์ ยาก
มันคือ ฮ. นกฮูก กึ่ง ค.ควาย เสียงก้องๆ ลำคอ ดังนั้นผู้บรรยายอังกฤษจึงออกเสียง “เดแฮ”

    ไม่แปลก แต่ชื่อนี้ในสเปนคือ เดเคอา ง่ายๆ เพราะคนสเปนออกเสียงสระ (หนัก) ทุกตัว (เคยเรียนภาษาสเปนมาบ้างครับ) อะไรทำนองนั้นครับ

    เอาละครับมาร่วมไว้อาลัยการจากไปของตำนานดาวยิงของโลกยุค 70  แกร์ด มุลเลอร์ เพื่อให้แฟนรุ่นหลังได้รู้จักอดีตที่ยิ่งใหญ่อันเป็นรากฐานฟุตบอลในยุคปัจจุบัน

    ผมมีหนังสือเก่าของสตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เก็บเอาไว้ เลยไปสรุปๆความ บวกกับจากน.ส.พ. ออนไลน์ ที่ผมเป็นสมาชิกเสียเงินรายปี เอาให้ทุกท่านได้ รู้จักในแบบเข้าใจว่า “Der Bomber” นั้นยิ่งใหญ่เพียงไร

    เขาเกิดปีที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลง (1945) แถบ นอร์ดลิงเก้น แคว้นบาวาเรีย มีพี่น้องห้าคน นึกถึงสภาพประเทศแพ้สงครามอย่างเยอรมันที่โดนแบ่งเป็นสองส่วน มุลเลอร์ จะลำบากขนาดไหน เพียงแค่อายุ 14 เขาออกจากโรงเรียนเพื่อเป็น “ช่างทอผ้าฝึกหัด” เริ่มฝึกบอลอายุ 17 ปีกับทีมบ้านเกิด TSV นอร์ดิงเก้น ตำแหน่งศูนย์หน้ายิงไป 51 ลูกในหนึ่งปี ก่อนโดนบาเยิร์น มิวนิค ดึงมาร่วมทีมปี 1964 ตอนนั้นเสือใต้ไม่ได้อยู่ในบุนเดสลีกา อีกทั้งบอลเยอรมัน ไม่ได้มีรากฐานแน่นเหมือนทุกวันนี้ แถมมีลีกอาชีพที่หลังอังกฤษ, สเปน, อิตาลี ด้วยซ้ำ

    ครั้งนั้น “เสือใต้” ไม่ได้เซ็นสัญญาแค่ มุลเลอร์ หากแต่มีดาวรุ่งอีกสองคนที่กลายเป็นกระดูกสันหลังของทีมและเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ของโลกฟุตบอลในเวลาต่อมา ฟร้านส์ เบคเคนบาวเออร์ และ เซปป์ ไมเออร์ 

    มันเหมือนการดึงนักเตะอนาคตไกลจากสามตำแหน่งสำคัญ ผู้รักษาประตู เซปป์ , ต้นตำรับ “ลิเบอโร” ยุคใหม่ เบคเคนบาวเออร์ และดาวยิงมหากาฬ อะไรทำนองนั้น

    สามคนนี้คือแกนหลักที่ช่วยพาบาเยิร์น มิวนิค เลื่อนชั้นได้ในซีซั่นแรก ก่อนยิ่งใหญ่ในยุค 70 

ไทม์ไลน์แบบสังเขปของ มุลเลอร์ 

1966 ติดทีมชาติเยอรมัน (ต.ต.) ครั้งแรก
1968-69 บาเยิร์น มิวนิค แชมป์บุนเดสลีกา
1970 ดาวซัลโวบอลโลก 70 

    นับจากซีซั่น 1971-72 มุลเลอร์ ยิงประตูปีละ 50 ลูกรวมทุกรายการ 

    โดยมีสถิติที่ยืนยาวมาก่อนโดน โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ทำลายคือ 40ลูกต่อ1 ซีซั่น เมื่อสามเดือนก่อน โดยปี 1970 มุลเลอร์ รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมยุโรปหรือ “บัลลงดอร์” 

ปี 1972 ยิงสองประตูช่วยทีมชาติเยอรมันชนะ รัสเซีย 3-0 ก่อนคว้าแชมป์ยูโร สมัยแรก 
ปี 1974 แชมป์ฟุตบอลโลกกับทีมชาติเยอรมัน โดยก่อนหน้านั้นไม่ถึงสองเดือนเขายิงให้บาเยิร์น แชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ เดิม รวมทั้งคว้าแชมป์สามปีติดต่อกัน 1974,75,76 
เขาเลิกเล่นทีมชาติเยอรมันเร็วมากอายุแค่ 29ปีหลังจากไม่ลงรอยกับเดเอฟเบ (สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน) รายงานข่าวบอกว่าเขาไม่พอใจที่ เดเอฟเบ สั่งห้ามภรรยาและครอบครัวมาร่วมฉลองแชมป์บอลโลก 1974 
ปี 1979 เขาอำลาบาเยิร์น มิวนิค วัย 33 ปีก่อนบินข้ามฟากไปโกยเงินดอลลาห์ กับ เมเจอร์ ลีก ซอคเก้อร์ ยุคแรก ที่ฟลอริดา แล้วจึงค่อยแขวนสตั๊ดในสามปีต่อมา

    เรื่องราวที่เป็นตำนานของ มุลเลอร์​ มีมากมายหลายเรื่อง แต่ถ้าหากให้เลือกเรื่องราวที่เป็นตัวตนจนยิ่งใหญ่ก่อนลาลับจากโลกนี้ต้องเป็นสองสามเรื่องนี้ 

บิ๊กเกม….เพลเยอร์ 

สถิติของเขาก็ชัดเจนอยู่แล้ว

ยิงไป 401 ลูกใน บุนเดสลีกส 459 นัด
ยิงไป35 ลูกในสโมสรยุโรป35 นัด
ยิงในบอลโลก 14 ลูก 
ยิงให้ทีมชาติ 68 ลูก ใน 62 นัด 

    แต่การเป็น บิ๊กเกม เพลเยอร์ นี่แหละที่ทำให้เขาคือดาวยิงที่แตกต่างจากดาวยิงทั่วไป

ยิงนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพเดิม ให้บาเยิร์น แชมป์
ยิงบอลยูโร นัดชิงให้เยอรมันแชมป์ 
ยิงประตูชัยในบอลโลก 1974 ให้เยอรมันคว้าแชมป์โลก 

    ก่อนหมดครึ่งแรกเกมระหว่างเยอรมันกับฮอลแลนด์เสมอที่ 1-1 จังหวะเดียวที่สำคัญต่อเยอรมันและเกมนัดชิงคือการผ่านบอลของ ไรเนอร์ บอนโฮฟ จากด้านข้างเข้ามาในเขตโทษ มุลเลอร์ จับบอลแรกไม่ดีห่างตัว แต่ปรากฏว่าจังหวะนั้นเขาหมุนตัวกลับไปตวัดยิงบอลเรียดลอดขา ทั้งกองหลังและผู้รักษาประตูเข้าไปหน้าตาเฉย

    นั่นคือประตูชัยที่ทำให้เยอรมันชนะฮอลแลนด์ 2-1 แม้ตลอดครึ่งเวลาหลัง “กังหันลม” ของโค้ชเจ้าของฉายา “นายพลลูกหนัง” รินุส มิเชล ที่มี โยฮัน ครัฟฟ์ นักเตะเทวดา, โยฮัน นีสเก้น มิดฟิลด์ห้องเครื่อง จะดาหน้ากันเข้าไปลั่นสกอร์ใส่ เยอรมัน แต่ทีมอัศวินสีส้มกลับไร้ความเด็ดขาด ยิงพลาดเป้า ใช้โอกาสเปลืองจนต้องยอมรับว่าโชคชะตา วาสนาไม่พาให้พวกเขาได้แชมป์โลกนั่นเอง

จุดจบ “สายดื่ม”

    ช่วงเวลาที่เล่นบอลอยู่สหรัฐอเมริกา  มุลเลอร์ ติดสุรางอมแงม โดยเฉพาะหลังจากเลิกเล่นบอลแล้วเขากับภรรยาเปิดร้านสเต้กในเมือง ฟอร์ต ลอเดอเดล ยิ่งทำให้เขากลายเป็น แอลกอฮอลิสซึม หนักขึ้น จนกลุ่มเพื่อนบาเยิร์น มิวนิค นำโดยฟร้านซ์ เบคเคนบาวเออร์ ดึงกลับมาทำงานที่บาเยิร์น ให้เป็นโค้ชทีมเยาวชนของเสือใต้นานถึง 20 ปี จนเขาเลิกเหล้าได้ในที่สุด

ยอดดาวยิง…..

    ถ้าถามว่าเขามีความเก่งอย่างไรในการเป็นยอดดาวยิง คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ “ยิงให้เข้า” เท่านั้นก็พอ

    เรื่องนี้มันขึ้นกับสัญชาติญาณความเป็นศูนย์หน้า กระทั่งฝึกฝน แนะนำ ติวเข้ม มันก็ขึ้นกับแต่ละคนซะมากกว่า แต่สำหรับ แกร์ด มุลเลอร์ เขาคงเกิดมาเพื่อสร้างตำนานการเป็นยอดดาวยิง ใช่ครับ ในกรอบ 18 หลาคือพื้นที่ทำการของเขา มาเหลี่ยมไหน มุมไหน ทั้งเท้าซ้ายและขวา เขายิงเข้าประตูได้หมด นั่นรวมทั้งลูกโหม่งทีทำได้ดี ทั้งที่ตัวไม่สูง ระดับ 5ฟุต 9 นิ้ว ประมาณ 172 เซนติเมตร  แม้กระทั่งล้มลงนอนกับพื้นเขายิงยิงประตูได้ 

    ถ้าถามคนเยอรมัน….เขาคือกองหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศชาติเยอรมันจะมีศูนย์หน้ามา ยิ่งใหญ่ทั้งแชมป์, ผลงานส่วนตัว โดยกองหน้ารุ่นต่อมาคงไม่สามารถเทียบเท่ากับเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น จุปป์ ไฮย์เกส, คาร์ลไฮนส์ รุมเมนิเก้, ดีเตอร์ เฮอเนส, ฮอร์ช ฮรูเบช, เจอร์เก้น คลินส์มันน์, รูดี โฟลเลอร์, โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ, มิโรสลาฟ โคลเซ่

    ยังคงเป็น แกร์ด มุลเลอร์ “ดาวยิงของเยอรมัน” อย่างที่  DW พาดหัวให้อย่างสมเกียรติ  The “Bomber of The Nation”

    ชีวิตช่วงท้ายของเขาคือการพยาบาลรักษาโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับนักฟุตบอล 

    dimentia หรือโรคสมองเสื่อมก่อนเป็นอัลไซเมอร์ เมื่อปี 2013 มีข่าวว่าเขาป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และหายไปจากวงการนับจากนั้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา เขาเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 75 ปี 

    ฟีดหลั่งไหลในโลกโซเชียลมากมาย สดุดี ความยิ่งใหญ่ของผู้จากไปในระดับตำนานของวงการฟุตบอลโลกแต่คนที่น่าจะพูดถึงเขาได้ดีสุดคงหนีไม่พ้นเพื่อนเลิฟ ที่เป็นรูมเมตในทีมบาเยิร์น และทีมชาติอย่าง ฟร้านส์ เบคเคนบาวเออร์ 

    ” โดยปราศจาก แกร์ด พวกเราคงไม่มีวันประสบความสำเร็จทั้งบาเยิร์น มิวนิค และทีมชาติ เขายิงประตู เขามีหัวจิตหัวใจอันแข็งแกร่งพาเราไปข้างหน้า บางที ผมอยากบอกว่า แกร์ด ไม่ใช่แค่นักเตะที่ดีที่สุด เขาคือนักเตะที่มีความสำคัญที่สุด บางครั้งคุณยกย่องนักเตะว่า”ทรงคุณค่าที่สุด” นั่นแหละเขา

    ผมขอบอกว่า …”แกร์ด เป็นทั้ง  MVP และยังเป็นนักเตะที่มีความสำคัญมากที่สุดอีกด้วย”

Jackie

ข้อมูลและภาพจาก…

สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์
ก. ป้อ หล่วน
ช่อคูณ
The Guardian
DW 
FC Bayern Munich 
DFB 

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.