Football Sponsored

ยลสถิติ “ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์” วีรกรรมสนั่นสังเวียนลูกหนัง – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ “นิว” ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ มิดฟิลด์กัปตันทีมจากบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ที่ล่าสุดจะถูกพลพรรค “แข้งเทพ” ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด คว้าตัวไปร่วมสู้ศึกไทยลีก 1 ฤดูกาล 2021-22 ด้วยสัญญายืมตัว หลังจากก่อนหน้านี้กองกลางทีมชาติไทยวัย 27 ปี เจรจาสัญญาฉบับใหม่กับทัพ “เดอะ แรบบิท” ไม่ลงตัว ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของหลายทีมยักษ์ใหญ่ในลีกสูงสุดของเมืองไทย

     การเข้ามาของ “เจ้านิว” จะทำให้ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ภายใต้การกุมบังเหียนของ “โค้ชแบน” ธชตวัน ศรีปาน เป็นทีมที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน และจะช่วยให้แดนกลางค่อนข้างลงตัวอย่างมากเมื่อได้ผนึกกับ ปกเกล้า อนันต์ และทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร

     อย่างไรก็ดีเราลองมาดูสถิติส่วนตัวของ “เจ้านิว” ก่อนจะมาเป็นสมาชิกใหม่ป้ายแดงในถิ่นทรู สเตเดี้ยม กันหน่อยว่า บุรุษแข้งผู้ผ่านเวทีลูกหนังกับทีมชั้นนำมาอย่างมากมายเป็นอย่างไรกันบ้าง!

     ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ผ่านการค้าแข้งในไทยมาแล้ว 3 สโมสร เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กเยาวชนของเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ในปี 2008 ก่อนจะถูกส่งไปให้กับสุพรรณบุรี เอฟซี ยืมตัวไปใช้งานช่วงระยะสั้นๆ กระทั่งกลับมายังต้นสังกัดกิเลนผยองและถูกดันขึ้นสู่ชุดใหญ่ทันที

    เริ่มออกสตาร์ตครั้งแรกในเวทีไทยลีก 2013 วันที่ 2 มี.ค.56 ให้กับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เกมเปิดบ้านเอาชนะ อาร์มี่ ยูไนเต็ด 2-1 แม้มีชื่อบนม้านั่งสำรองไม่ได้ถูกส่งลงสนาม จนวันที่ 6 เม.ย.56 เขาได้ลงสนามเป็นตัวจริงให้กับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ดครั้งแรก ในเกมที่ทัพ “กิเลนผยอง” บุกเอาชนะ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี 2-0 ซึ่งเกมนี้ “เจ้านิว” เล่นไป 61 นาทีก่อนถูกเปลี่ยนออกจากสนาม และตั้งแต่เกมนี้ “เจ้านิว” ก็เริ่มเก็บประสบการณ์ลูกหนังอาชีพเป็นต้นมา

     จากนั้นปี 2016 “เจ้านิว” ได้ย้ายไปร่วมทีมสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และเล่นได้ 2 ซีซั่นก็ถูกบีจี ปทุม ยูไนเต็ด กระชากตัวมาร่วมทัพในปี 2018 พร้อมโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมจนถูก โออิตะ ทรินิตะ ทีมดังในศึกเจลีก ขอยืมตัวไปเล่นในแดนอาทิตย์อุทัยในปี 2019

     หลังจากกลับมาจากญี่ปุ่น ประสบการณ์ที่ได้มาจากลีกลูกหนังอันดับหนึ่งของทวีปเอเชียทำให้ “เจ้านิว” สามารถช่วยทัพ “เดอะ แรบบิท” ผงาดคว้าแชมป์ไทยลีกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรสำเร็จ ก่อนที่ล่าสุดในปี 2021 จะได้โอกาสไปหาความท้าทายใหม่อีกครั้งกับทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด นั่นเอง

     สถิติลงเล่นนับเฉพาะไทยลีก : 175 นัด 13,660 นาที แบ่งเป็น

     – เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 78 นัด (ปี 2013 : 25 นัด, ปี 2014 : 14 นัด, ปี 2015 : 31 นัด, ปี 2016 เลกแรก : 8 นัด) โดยยิงไปทั้งหมดรวม 5 ประตู ลงสนามไป 5,702 นาที

     – สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด 42 นัด (ปี 2016 เลกสอง : 12 นัด, ปี 2017 : 30 นัด) โดยยิงไปทั้งหมดรวม 6 ประตู ทำได้ 5 แอสซิสต์ ลงสนามไป 3,373 นาที

     – บีจี ปทุม ยูไนเต็ด 55 นัด (ปี 2018 : 32 นัด, ปี 2020-21 : 23 นัด) โดยยิงไปทั้งหมดรวม 8 ประตู ทำได้ 7 แอสซิสต์ ลงสนามไป 4,585 นาที

     สถิติลงเล่นฟุตบอลถ้วย 2 รายการ : ช้าง เอฟเอคัพ 8 นัด 754 นาที, ลีกคัพ : 8 นัด 554 นาที แบ่งเป็น

     – (ช้าง เอฟเอ คัพ) เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด 1 นัด (ปี 2015) ลงสนามไป 90 นาที, สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด 5 นัด (ปี 2017) ทำได้ 1 แอสซิสต์ ลงสนามไป 506 นาที และบีจี ปทุม ยูไนเต็ด 2 นัด (ปี 2018) ลงสนามไป 158 นาที

     – (ลีกคัพ) สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด 4 นัด (ปี 2017) ยิงไป 1 ประตู ทำได้ 2 แอสซิสต์ ลงสนามไป 230 นาที และบีจี ปทุม ยูไนเต็ด 4 นัด (ปี 2018) ทำได้ 3 แอสซิสต์ ลงสนามไป 324 นาที

    สถิติลงเล่น “ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์คัพ” กับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (ทีมเดียว) 2 นัด 112 นาที โดยปี 2014 แพ้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 0-1 ลงเล่น 33 นาที และปี 2016 แพ้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 1-3 ลงเล่น 79 นาที

    สถิติลงเล่นกับ โออิตะ ทรินิตะ ทีมในศึกเจลีก ประเทศญี่ปุ่น ลงเล่นในเจลีก 2019 (20 นัด) 1,022 นาที, ฟุตบอลถ้วย 2 รายการ แบ่งเป็น ลูวาน คัพ 2019 (3 นัด 182 นาที) 1 ประตู 1 แอสซิสต์ และเอ็มเพอเรอร์ คัพ 2019 (2 นัด) 47 นาที

    สถิติลงเล่น “เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก” รอบเพลย์ออฟ กับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (ทีมเดียว) 4 นัด แบ่งเป็นปี 2014 : 2 นัด 180 นาที (เปิดบ้านชนะ ฮานอย เอฟซี (เวียดนาม) 2-0, บุกแพ้ เมลเบิร์น วิคตอรี่ (ออสเตรเลีย) 1-2) และปี 2016 : 2 นัด 128 นาที (เปิดบ้านชนะจุดโทษ ยะโฮร์ ดารุล ทักซิม (มาเลเซีย) 3-0, บุกแพ้ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี (จีน) 0-3)

    สถิติลงเล่น “เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก” รอบแบ่งกลุ่ม : 7 นัด 428 นาที กับ 2 สโมสร แบ่งเป็น

     – เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ปี 2013 (2 นัด) 31 นาที (เกมเปิดบ้านแพ้ กว่างโจว (จีน) 1-4 เล่น 24 นาที และเปิดบ้านแพ้ อุราวะ เรด ไดมอนส์ (ญี่ปุ่น) 0-1 เล่น 7 นาที)

     – บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ปี 2021 (5 นัด) 397 นาที ทำได้ 1 ประตู 1 แอสซิสต์

    สำหรับเกียรติประวัติแชมป์ ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ เคยได้แชมป์ไทยลีก 1 ครั้งกับบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ปี 2020-21, แชมป์ลีกคัพ 1 ครั้งกับเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ปี 2016 และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 ครั้งกับสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ปี 2017

    ปิดท้ายที่สถิติการลงเล่นในนามทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ลงสนามไปรวม 33 นัด 2,578 นาที ยิงได้ 5 ประตู 4 แอสซิสต์ ประกอบด้วย กระชับมิตรฟีฟ่ารับรอง (15 นัด 2 ประตู 2 แอสซิสต์), ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก (6 นัด), เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 (6 นัด 1 แอสซิสต์) และเอเชียน คัพ (6 นัด 3 ประตู 1 แอสซิสต์) แบ่งเป็นปี 2013 รอบคัดเลือก (2 นัด 2 ประตู) และปี 2019 รอบสุดท้าย ที่ยูเออี (4 นัด 1 ประตู 1 แอสซิสต์)

กอล์ฟ เบนเทเก้ “

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.