หลังจากที่ผมได้นำเสนอบทความของน้องพรเทพ มังคละศิริ นิสิตหนุ่ม คณะครุศาสตร์สาขาสุขศึกษาพละศึกษารั้วจามจุรี ในพื้นที่ของ ‘กราวกีฬาไทยรัฐ’ ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปรากฎว่ามีโค้ชบอลไทยหลายท่าน เห็นด้วยกับมุมมองที่ตรงไปตรงมาของน้องเค้า
โดยเฉพาะ “น้าติ๊ก”สมชาติ ยิ้มศิริ อดีตกุนซือทีมชาติมือเก๋าของเมืองไทย ที่ผ่านประสบการณ์คุมทีมมาแล้วทุกระดับ ตั้งแต่เยาวชนจนถึงชุดใหญ่ ถึงกับโทรมาชมกับผมว่าข้อเขียนนี้ ถือเป็น “กระจกชั้นดี” ที่จะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
จริงๆแล้วนั่นเป็นเพียง Part แรก ที่น้องพรเทพเขียนมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกันไปแล้ว
ยังมีเรื่องราวเจาะลึกใน Part ที่ 2 มานำเสนอในเพจ บี บางปะกง-Bebangpakong กันอีก ซึ่งผมขอเอามาแชร์ในคอลัมน์ “Sport Insider” ตรงนี้สัก 2 ตอนจบ แล้วกันนะครับ !!!
OOOOOOOO
บอลทั้งโลกไปบอลจักรวาล ทำไมบอลไทยไม่ไปบอลโลก Part ที่ 2
“เด็กไทยแม่งอีโก้เยอะ” คำพูดยอดฮิตเลยใช่ไหมครับ ถ้าใครพอจะขลุกอยู่ในวงการฟุตบอล ก็จะได้ยินคำนี้จากปากโค้ชหลายๆ คนเยอะมาก แต่เด็กไทยอีโก้สูงจริงหรือ ? กับทีมชาติที่ยังไม่เคยไปฟุตบอลโลกสักครั้งเนี่ยนะ เคยได้แชมป์แค่ในระดับภูมิภาคอาเซียน
แต่อะไรที่ทำให้เด็กไทยอีโก้สูงล่ะ มันต้องมีเหตุผลสิ ไม่ใช่อยู่ดีๆ อีโก้มันจะผุดขึ้นมาเองซะเมื่อไหร่ คำถามนี้คำตอบไม่ได้อยู่ที่นักกีฬาครับ ทุกคนในวงการฟุตบอล ที่ไม่พยายามแก้ไขปัญหามีส่วนร่วมทั้งหมด
ผมตั้งชื่อโรคนี้เล่นๆ กับตัวเองว่าคือ “โรคเด็กประสบความสำเร็จ เกินกว่าวุฒิภาวะจะรับไหว” คืออะไร ? ทุกคนในวงการฟุตบอลร่วมกันสร้างค่านิยมอันล้มเหลวนี้ขึ้นมา ไปหาคำตอบกันใน Part ที่ 2 นี้กันครับ
1.“บอลเดินสาย มะเร็งร้าย ฟุตบอลไทย”
อย่างที่ได้เล่ามาในพาร์ตที่แล้วครับว่า โค้ชอะคาเดมีระดับรากหญ้าหลายคน ที่กำลังดูแลเด็กยุวชน-เยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของฟุตไทยตอนนี้อยู่ หว่านล้อมเด็กและผู้ปกครอง ด้วยค่านิยมของความสำเร็จในรายการแข่งขันต่างๆ เพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง (และแบบนี้ผู้ปกครองหลายท่านชอบมากครับ เวลาลูกไปแข่งแล้วได้แชมป์เยอะๆ)
จนนำมาสู่การฝึกซ้อมเด็กแบบ Overtraining เพื่อเร่งเด็กให้แข็งแรงก่อนวัยอันควรเพื่อที่จะเก็บผลการแข่งขัน (ในระดับโรงเรียนมัธยมก็เช่นกัน)
และการส่งเด็กแข็งขันมากเกินไป เพราะเมืองไทย “บอลเดินสายเยอะมาก” ส่งผลกระทบทั้งสภาพร่าย และสภาพจิตใจของเด็กไทยอย่างมหาศาลครับ
“บอลเดินสาย” ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละครับ คือเวทีที่จะใช้เป็นเครื่องมือได้เป็นอย่างดี ถ้าเราไปนั่งดูถึงขอบสนาม เราจะเห็นพ่อ-แม่ ผู้ปกครองมากมาย ปูเสื่อรอเชียร์ลูกๆอยู่ข้างสนาม ได้แชมป์ ดีใจ ถ่ายรูป ได้แชมป์ ดีใจ ถ่ายรูป ได้แชมป์ ดีใจ ถ่ายรูป….. “ได้หน้า”
แต่ไม่รู้เลยว่า วิธีการเล่นของเด็กในสนามนั้นเป็นอย่างไร เพราะโดนค่านิยมของความสำเร็จชักจูงมาเรื่อยๆจนตาบอด
“ประตู! จับบอลได้โยนไปข้างหน้าเลย เอาเลย บึ้มเลย บึ้มเลย”
“กองหลังสาดยาวไปเลย โด่งๆไปให้กองหน้าๆ”
“ลูกนี้มึงจะเลี้ยงทำไมวะ มึงเอาบอลกลับไปเล่นที่บ้านเลยมั้ย
“อย่าเล่นหน้าโกล เคลียร์!!!”
ผมพูดสั้นๆได้เลยครับว่า “เฮงซวย” และ “คลาสสิก” เป็นประโยคคลาสสิคที่ไม่ว่าจะเล่นฟุตบอลเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็เจอ.. เล่นฟุตบอล ณ ปัจจุบันก็เจอ ก็เล่นแบบนี้แล้วได้แชมป์ จะไปเปลี่ยนไปทำไม (อันนี้ประชดนะครับ)
และนั่นแหละครับเหตุผล นี่คือ DNA ที่ผิดๆ ของฟุตบอลไทย ที่เราปลูกฝังกันมา มันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรกครับ ไม่มีอะไรสวยหรู ไม่มี Tiki-Taka ไม่ใช่ ติ๊กตอกสไตล์ แต่คือแบบนี้ครับ กองหลังตัวใหญ่ๆ แข็งแรงๆ โยนไปข้างหน้าแล้วให้ตัวต่างชาติเก็บเอา เห็นอะไรมั้ยครับ…… ไทยลีก……
นี่แหละคือวิธีการเล่นในไทยลีกบ้านเรา ที่ใครเป็นแฟนฟุตบอลไทย ก็คงจะเถียงไม่ออกพอสมควร ไม่ต้องแปลกใจครับ วิธีการนี้เราเล่นกันมาแต่ไหนแต่ไร เล่นตั้งแต่เด็กติดตัวไปยันโต
2. ”โรคเด็กประสบความสำเร็จ เกินกว่าวุฒิภาวะจะรับไหว”
ข้อนี้เรามาเข้าสู่ประเด็นใหม่ คือเรื่องของ “จิตใจ” ของเด็กอายุ 5-18 ปีที่ผมและพ่อได้เคยเห็น และตกผลึกมาได้กันบ้างครับ
เชื่อมโยงจากการแข่งบอลเดินสาย ที่แข่งเพื่อผลการแข่งขันตั้งแต่เด็ก นอกจากทำให้เด็กเกิดทัศนคติ กับรูปแบบการเล่นในข้อที่ 1 ว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” และ “เคยชิน” กับมันแล้วนั้น
ที่โหดร้ายที่สุดเลยคือ เด็กเกิดการ “อิ่มตัวในความสำเร็จ” โดยไม่รู้ตัว เพราะการเล่นแบบหวังผลตั้งแต่เด็กนั้น ทำให้ความสำเร็จมาอยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆ เร็วเกินไป เกินกว่าจะรับไหว เกินกว่าทัศนคติของอายุเด็กในตอนนั้น จะจัดการกับความสำเร็จนั้นได้
นำไปสู่คำติดปากของหลายๆคนครับ “อีโก้” ซึ่งเด็กไม่ได้สร้างอีโก้ แต่โค้ชต่างหากที่สร้างขึ้นมา เด็กหลายคนที่อยู่ในภาวะนี้ หลุดไปจากสารบบของฟุตบอลไทยหลายคน
จริงๆ ข้อนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองในบ้านเราด้วยครับ เพราะเป็นโครงสร้างคุณภาพชีวิตในระดับประเทศ ที่หล่อหลอมมีผลต่อทัศนคติเด็กเช่นกัน (ต่อตอนหน้า)
This website uses cookies.