วันพุธ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
เมื่อปี 1992 เดนมาร์ก สร้างตำนานเทพนิยายให้กับวงการฟุตบอลด้วยการเป็นแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ได้แบบจดจำไปตลอดกาล
รู้ตัว 10 วันก่อนแข่ง ซ้อม 7 วันก่อนแข่ง แล้วพวกเขาเป็นแชมป์
หนึ่งในเส้นทางสู่ความสำเร็จยิ่งกว่าบทละครใดๆ ก็คือ พวกเขาผ่าน อังกฤษ ได้ในรอบแรก
ผลจบด้วยผลเสมอ 0-0 แต่เป็นคะแนนสำคัญที่ช่วยผลักช่วยดันให้ “แดนิชไดนาไมท์” ที่เพิ่งหมดยุค “โลกตะลึง”จากศึกฟุตบอลโลก 1986 ให้เข้าไปเป็นแชมป์ในบั้นปลาย
หนนี้ก็เช่นกัน เดนมาร์ก ลงเล่นสองเกมแรกแบบเตรียมกลับบ้าน แต่เตะไปเตะมาเริ่มไม่ใช่แล้ว เมื่อพวกเขาเป็นทีมแรกที่แพ้สองเกมแรกแล้วเข้ารอบอัตโนมัติ
จากนั้นยิงได้ถึง 10 ประตู เสียแค่ 2 ลูกเท่านั้น
คำว่า “เทพนิยาย ภาคที่ 2”เริ่มกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากภาคแรกผ่านไปกำลังจะครบ 3 ทศวรรษ
ลองถามกลับไป แล้วคุณไม่อยากเห็น“เทพนิยายอิงกะแลนด์” กันบ้างละหรือ?
ฟุตบอลอังกฤษ กับตำแหน่งแชมเปี้ยน ยิ่งกว่านิยายที่พูดกันไม่รู้จักจบจักสิ้น สำหรับแฟนบอลชาวไทย มันเหมือนกับคำว่า อังกฤษ จะเป็นแชมป์ หรือ บอลไทยจะไปบอลโลก
The Never Ending Story
คำยกยกปอปั้นต่างๆ นานา การเข้าถึงของแฟนบอล และการยัดไส้ให้เข้าถึง เรื่องเหล่านี้การตลาดของอังกฤษดีมาก แต่สุดท้ายก็ค่อยๆ ถอยเสื่อม
สื่อที่เคยชม เริ่มด่า เริ่มกดดัน จากนั้นเริ่มไม่ค่อยได้ให้ความหวังใดๆ กับทีม ไม่ได้ไปเป็นตัวเต็งแชมป์
จากมั่นใจว่าได้แชมป์ กับเลือกกาหัวว่า ตกรอบแน่นอน
ยิ่งการแต่งตั้ง แกเร็ธ เซาธ์เกต มาเป็นกุนซือ แทบจะไม่เคยสร้างความมั่นใจอะไรใดๆ ให้กับใครเลย ก่อนที่เขาจะพาทีมได้อันดับ 4 ฟุตบอลโลก
เครดิตก็ยังไม่ค่อยได้
เช่นเดียวกันกับ ยูโรครั้งนี้ ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดตัว แต่ดูเหมือนกับว่า เซาธ์เกต ไม่ได้สะทกสะท้านใดๆ
1.มุ่งมั่นกับเกม
2.เชื่อมั่นกับทีม
3.ทำงานตามแผนตัวเองเป็นหลัก
สำคัญเลยก็คือ 4.เขาอ่านภาษาไทยไม่ออก?!?!?!?
ขนาดคว้าชัยสวยๆ ในการยำ ยูเครน ก็ยังไม่วายโดนด่า แต่เรื่องเหล่านี้แทบจะไม่มีในสหราชอาณาจักร เพราะตอนนี้ เซาธ์เกต และบอลทีมชาติอังกฤษ คือความหวังในการเยียวยาหัวใจในยุคไวรัสร้ายครองเมือง
เอาเข้าจริงในยุคของเราท่านที่ได้ดูฟุตบอลกันมา ย่อม “ไม่เคยเห็น” แข้งสิงโตได้เข้าไปตุ้งแช่ในนัดชิงชนะเลิศอย่างแน่นอน
ครั้งแรกและครั้งเดียวคือ ฟุตบอลโลก1966 เมื่อ 55 ปีที่แล้ว อย่าบอกนะว่า “ดูทัน”
ภาพบรรยายกาศเป็นอย่างไรไม่เคยพบ เรื่องราวต่างๆ แบบนี้ไม่มีใครเคยเห็น หากว่า อังกฤษ ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้
น่าสนใจตรงที่ สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้าที่นิว เวมบลีย์
มวลเหตุนี้เป็นไปได้ที่ “บรรยากาศเป็นใจ นิสัยเสริมส่ง” ทั้งการเล่นในบ้าน การได้เล่นท่ามกลางกองเชียร์ อื้ออึงไปด้วยคำที่สวยงามคือ Football coming Home แต่ต้องระวังให้จงหนัก
เพราะมันอาจจะเป็น “ดาบสองคม”และไม่ใช่สิ่งที่สวยงามอย่างที่คาดกันไว้
เล่นเพื่อแฟนบอลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่อย่าเล่นตามเสียงเชียร์เป็นอันขาด
พวกเขามี 4 เกม ที่ลงไปแล้วในมหานครลอนดอน สิ่งที่ เซาธ์เกต แสดงให้เห็นก็คือ ไม่เคยเล่นตามเสียงเร้าจากด้านข้างสนาม ทีมต้องการเน้นผลการแข่งขัน เพื่อให้ได้เข้ารอบ
จุดนี้ประสบการณ์จากการเป็นนักบอลของ เซาธ์เกต ที่ผิดหวังกับทีมชาติแบบ “จำกันทั้งโลก” เคยเกิดขึ้น และเขายังต้องมันมาใช้อยู่ต่อไป
ยิ่งการที่เขา “มีตัวเลือก” มากมายชนิดที่เป็น “ปัญหาที่ดี” ของคนเป็นโค้ชคือสิ่งที่ต้องละเอียดที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่“ตัวนักเตะ” และ “แผนลงเตะ”
เดาว่าหากจะต้องเล่นกับ เดนมาร์กแผนที่สมดุลที่สุดคงไม่พ้น “หลัง 4”มากกว่า “หลัง 3”
เนื่องจากการชิง “พื้นที่ในแดนกลาง”คือสิ่งที่จะบ่งชี้ว่าคุณจะได้ “ชิงชนะเลิศ”หรือไม่
เพราะจุดเด่นสุดๆ ของ “โคนม” อยู่ที่ “คู่กลาง” ที่เล่นเกมบู๊โดยอาชีพทั้ง ปีแอร์ เอมิล-ฮอยเบียร์ก และโธมัสเดลานี่ย์
การยืนตำแหน่ง, การสอดประสาน และเล่นด้วยหัวใจอันกร้าวแกร่งของสองคนนี้ ทำให้ตำแหน่งอื่นๆ “สมาร์ท” และเล่นได้ง่ายขึ้น
เพราะ ฮอยเบียร์ก กับ เดลานี่ย์ เล่นบอลไม่ฝืน
เมื่อได้บอลแล้วปล่อยให้ด้านข้างหรือแทงต่อให้กับแนวรุก ทีนี้ต้องดูว่าพวกดาวโรจน์อย่าง ดอลเบิร์ก กับ ดามส์การ์ดจะผ่าพรรษาพวกแข้งอังกฤษได้หรือไม่
ขณะเดียวกัน ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ลูกเป็ดขี้เหร่ที่ถูกค่อนแคะจากแฟนบอลทั้งที่ยิงไปแล้วถึง 3 ลูกในรายการนี้จะสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดหรือเปล่า
ไม่ใช่เรื่องของการพังประตู แต่เรื่องของการเคลื่อนตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ ที่จะงานบอลที่เขาไม่กลัวอยู่แล้วทั้ง ยานนิค เวสเตอร์การ์ด หรือ อันเดรส คริสเตนเซ่น
ทีนี้ก็อยู่ที่พี่ใหญ่อย่าง ซิมง เคียร์ (คนเดนมาร์ก เรียก ซิมง แคร์ หรือ กยาร์)ในการคุมจังหวะนี้
เช่นเดียวกับ “Like Father Like Son” แคสเปอร์ ชไมเคิ่ล
ด้วยแนวทางการเล่นนั้น เดนมาร์ก น่าสนใจหลายจุดว่า แผลพวกเขาเปิดมาให้เห็นเมื่อเจอบอลดับเบิ้ลพาสต์ และเลี้ยงกินตัวเก่งๆ นี่คือจุดที่ อังกฤษ ต้องเล่นงานให้ได้
ในทางตรงข้าม อังกฤษ หาใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน หากพวกแดนิช ทานแรงกดดันได้ จากเดิมที่แบ่งกันคนละครึ่งมันอาจจะโยนไปให้อังกฤษทั้งหมด
สำคัญก็คือ เป็นคำถามเดียวกันกับที่ อิตาลี เจอมาก่อน ก็คือว่า หากเสียประตูขึ้นนำ พวกเขาจะทำอย่างไร?!?!?
อิตาลี เสียประตูแรกที่ เวมบลีย์ เหมือนกัน แต่นั่นเกิดขึ้นหลังจากทีมออกนำไปแล้ว
ดังนั้นเปรียบเทียบหลายมุม อังกฤษ เป็นต่อ แต่ เดนมาร์ก ก็มีดีพอเหมือนกัน
ถือเป็นโอกาสทองของทั้งคู่ที่จะก้าวสู่นัดชิงชนะเลิศ และสร้าง “เทพนิยาย”ของตัวเองขึ้นมา ก็ต้องย้อนถามแฟนบอลแท้ๆ ว่า อยากเห็นอะไรมากกว่า
ระหว่าง เทพนิยาย ภาค 2 ของแดนิช ไดนาไมต์
หรือเทพนิยายเรื่องใหม่ของอิง-กะ-แลนด์!!!
บี แหลมสิงห์
This website uses cookies.