Football Sponsored
Categories: ฟีฟา

PELE..TheBeautifulGame | SIAMSPORT | LINE TODAY

Football Sponsored
Football Sponsored

RIP นักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตลอดกาลทั้งในแง่ปริมาณ,คุณภาพและคุณค่าของการเป็นนักกีฬาอาชีพ

นักเตะคนเดียวในโลกใบนี้ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 3 สมัย (1958,62,70)

นักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี 1958 ด้วยวัย 17 ปี 249 วัน

นักฟุตบอลที่เป็นไอคอนของคนทั่วโลกมาตลอด60 ปี

จะว่าไปข่าวการรักษาตัวในขั้นตอนสุดท้ายหลังจากไม่สามารถรับคีโม ได้อีกต่อไป เกิดขึ้นช่วงฟุตบอลโลก 2022 จนกระทั่งล่าสุดลูกสายโพสต์ข้อความทางอินสตราแกม ถึงการจากไปของคุณพ่ออันเป็นที่รักของครอบครัวและคนทั่วโลก

เปเล่ ต่อสู้กับ มะเร็งลำไส้ใหญ่มาสักพักหนึ่งแล้ว หลังจากผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกเมื่อ ก.ย. 2021 จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกายต่อเนื่อง จนต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งเมื่อ พ.ย. 2022 ก่อนช่วงบอลโลกที่ผ่านมา เที่ยวนี้เข้ามาแล้วไม่ได้กลับไปบ้านอีกเลย ด้วยเพราะแพทย์ไม่สามารถใช้การรักษาแบบเคมีบำบัดหรือ คีโม ได้อีกต่อไป ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายของการรักษานั่นคือ (Palliative Care)

หรือการรักษาดูแลผู้ป่วยในช่วงใกล้เสียชีวิต เพื่อให้ครอบครัวไม่ตื่นตระหนกหรืออีกนัยหนึ่งเพื่อเตรียมตัวและทำใจต่อการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่ง เปเล่ อยู่ขั้นตอนสุดท้ายที่โรงพยาบาล อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

นับวันอำลาจากโลกใบนี้….ซึ่งเกิดขึ้นช่วงฟุตบอลโลก2022 ซึ่งถึงจุดนั้นทุกคนต่างทราบดีว่า “รอเวลา” ประกาศข่าวเศร้าเท่านั้นเอง

เปเล่ คือนักเตะในยุคของกลุ่มคนอายุ 60 ถ้า 50เศษๆอย่างผมเกิดไม่ทันดูเขาเล่น หรือช่วงเวลาที่เขายิ่งใหญ่ อย่างแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่สามของเปเล่ปี 1970 ผมพึ่งลืมตาดูโลกในหนึ่งเดือนหลังจาก เปเล่ คว้าแชมป์

5555

ดังนั้นเรื่องราวของ เปเล่ ที่ผมรู้จักจึงเป็นเรื่องราวหลังจากเขาเลิกเล่นฟุตบอลไปแล้ว

ที่น่าทึ่งคือว่า นักฟุตบอลที่แขวนสตั๊ดไปแล้วแต่ยังทรงอิทธิพลต่อวงการกีฬาและสังคมโลก ไปไหนมาไหนใครๆต่างพากันห้อมล้อม ประหนึ่งเซหล่บของโลก

ทุกย่างก้าวของเปเล่ อยู่ในพื้นที่สื่อ…ด้วยความที่เขาได้รับการเชิดชูว่าเป็นนักฟุตบอลที่เก่งกาจที่สุดในโลกผู้มีส่วนในการพาบราซิลคว้าแชมป์บอลโลกสามสมัย

อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และในอนาคตก็ยิ่งจะยากมากขึ้นสำหรับการครองแชมป์โลกสามสมัย

อย่าว่าแต่สามเลย….1 สมัยก็ยังนับคนได้

เรื่องราวทั้งหมดนี้ที่นำมาตีแผ่…มาจากหลายแหล่งสื่อกีฬาหรือหน้ากีฬาสื่อหลักระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Marca น.ส.พ. กีฬาอันดับหนึ่งของชาวสเปน, เดอะ ไทมส์, เดอะ การ์เดียน, บีบีซี, เดอะ เทเลกราฟ และแน่นอนสื่อที่บราซิล สองเจ้าหลักคือ โอ โกลโบ และ โฟย่า เดอ เซาเปาโล ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดสองอันดับแรกของน.ส.พ. ภาษาโปรตุกีส

เรื่องราวของเปเล่ ในการรับรู้ของผมนั้นมีอย่างเจาะลึกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชื่อ “เปเล่” ก็เมื่อครั้งเป็นนักข่าวใหม่เพราะต้องแปลบทความลงหนังสือพิมพ์ และ นิตยสารในยุคที่ไม่มีออนไลน์ (ปี 1992)

มายุคนี้….ถ้าสนใจและใคร่รู้ มีให้อ่านกันจุใจ

ยังไงก็แล้วแต่….ผมขอนำมาตีแผ่ในแบบที่อ่านเข้าใจง่ายๆ อ่านเพลินๆ เหมือนเช่นเคย

ทำไมถึงต้อง “เปเล่”

ชื่อเต็มๆของเขาคือ เอดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต้

เกิดเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 1940 ละแวกท้องถิ่นทำเหมือง เตรส โกราโกเอส

รัฐ มินาส เกราอิส ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศบราซิล

เรื่องราวก่อนเป็นตำนานผู้ยิ่งใหญ่ในโลกฟุตบอลของเขาเกิดขึ้นเมื่อเขาเก็บถั่วลิสงที่หล่นมาจากรถขนส่งสินค้าเพื่อนำไปขายแลกกับเสื้อบอลทีมเยาวชนของเขาที่ เบารู (ใกล้เมืองท่าใหญ่อย่างซานโตส) ซึ่งเขาเตะบอลด้วยเท้าเปล่า ไม่มีรองเท้าใส่ในเวลานั้น

พ่อของเขาเป็นนักฟุตบอลชื่อ ดอนดินโญ คุณแม่ โดนา เซเลสเต เป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัวทุกอย่าง ที่สำคัญไม่ต้องการให้เขาเป็นนักฟุตบอล ด้วยเพราะคุณพ่อบาดเจ็บหัวเข่าจนต้องเลิกเล่น และการเล่นบอลสมัยนั้นมีรายได้จำกัด ควรทำอาชีพอื่นซึ่ง ตัวของเขาเองก็เหมือนจะเดินตามรอยแม่ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน

ชื่อหน้าของเขา Edson มาจากชื่อ โทมัส แอลวา เอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟเพื่อนำแสงสว่างให้กับคนทั้งโลกในยามค่ำคื่นนั่นแหละ ดูเหมือนว่าเขาภูมิใจชื่อนี้ แต่ไม่มีใครสนใจเรียกัน แถมที่บ้านเรียกเขาเล่นๆ เหมือนคนละตินทั่วไปว่า “ดิโก”

ยิ่งไปกว่านั้น….เพื่อนๆที่โรงเรียนเรียกเขาว่า “เปเล่” จากที่เรียกกันเล่นๆว่า Bile หรือ บิเล ชื่อผู้รักษาประตูเพื่อนร่วมทีมของพ่อเขา ซึ่งวัยเด็กเขาชอบซ้อมเป็นผู้รักษาประตู (ตอนเล่นซานโต้ส ก็สามารถเป็นประตูสำรองได้) พอเซฟได้ เพื่อนๆตะโกนเรียก …บิเล….บิเล….เบเล….เบเล…จนเพี้ยนเป็น “เปเล่”

ตำนานของ “เปเล่” เริ่มต้นจากทีมเยาวชนเบารู นั่นเอง

เมื่ออายุ 13 ปี พ่อของเขาพาไปสมัครเล่นทีมเยาวชน เบารู ตอนนั้นโค้ชคือ วัลเดอมาร์ เดอ บริโต อดีตทีมชาติบราซิลในตำแหน่งเดิมของฟุตบอลคือ “ในขวา” คือหน้าต่ำที่ยืนทางขวา ถ้า “ในซ้าย” คือหน้าต่ำที่ยืนทางซ้าย โดยมีศูนย์หน้า และปีกซ้ายและปีกขวาแยกต่างหาก เมื่อก่อนตัวบุกมี 5 คน

สมัยผมเริ่มเตะบอลที่สุพรรณบ้านเกิดยังมีตำแหน่งนี้อยู่นะครับ ในซ้าย, ในขวา, ศูนย์หน้า

แค่ลงสนามไม่กี่นัดเขาก็โชว์ฟอร์มยิงไป 9 ลูกในเกมที่ทีมของเขาชนะ 11-0

จากทีมเยาวชนเบารู เขาก้าวไปต่อกับ เยาวชนซานโตส ตามคำแนะนำของ เดอ บริโต โค้ชคนแรกของเขา และนับจากนั้น…..เขาคือ เปเล่ ที่เรารู้จักไปตลอดกาล

อายุ 16 ปีติดทีมชาติบราซิลลงเล่นนัดแรกยิงประตูในเกมที่แพ้อาร์เจนติน่า 2-1 ที่ริโอ เดอ จาไนโร ปีต่อมาเขาร่วมทีมบราซิลไปฟุตบอลโลก เขาสร้างผลงานอย่างน่าทึ่ง แฮทริก รอบรองชนะเลิศ, นัดชิงยิงอีกสองลูก

ประตูแรกคือประตูที่สุดยอดเหนือคำบรรยาย

พักบอลลงด้วยอก กระดกข้ามหัวกองหลัง จากนั้นพอบอลตกถึงพื้นก็วอลเลย์ ลูกพร้อม เขาประตูไป (ลูกพร้อม…คือจังหวะบอลกระทบพื้นแล้วเล่นทันที) เป็นทักษะที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการสับไกยิงลูกพร้อม

นัดชิง เปเล่ และพี่ๆ ชนะ สวีเดนเจ้าภาพ 5-2 คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1958 สมัยแรกของบราซิลในวัย 17 ปี พร้อมทั้งสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ว่ากันว่าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกของเขาได้รับการยกย่องในฐานะเด็กอายุ 17 ปี ที่มีส่วนในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้ทีมชาติบราซิล

โดยเฉพาะ “แชมป์บอลโลก” ครั้งแรกของประเทศชาติ ที่เตะฟุตบอลช้ากว่า อุรุกวัยและอาร์เจนติน่า

ส่วนแชมป์บอลโลกสมัยสอง ปี1962 ที่ชิลี อาจพูดได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่นัก เพราะเขาลงสนามแค่สองเกมชนะเมกซิโก ด้วยการโซโลเดี่ยวเข้าไปยิง จากนั้นนัดพบกับ เชคโกสะโลวะเกียเดิม เขาบาดเจ็บกล้ามเนื้อจากจังหวะยิงไกลแล้วก็ไม่ได้เล่นอีกจนหมดทัวร์นาเม้นต์ ซึ่งบราซิลชนะ เชคโก 3-1 คว้าแชมป์

ส่วนปี 1966 เขาโดนไล่เตะจนเจ็บจากเกมที่พบกับโปรตุเกส เมื่อกองหลังโปรตุกีส ตามสอย เปเล่ อย่างสนุกเท้า จนโดนหามออกจากการแข่งขัน พร้อมทั้งประกาศไม่เล่นบอลโลกอีกแล้ว

สี่ปีต่อมา เปเล่ กลับมาคว้าแชมป์บอลโลก 1970 ที่เมกซิโก ด้วยการถล่มอิตาลี ทีม “คาเตนัชโช” ขาดลอย 4-1 กระนั้น…มันก็มีสตอรี 2 เรื่องที่สำคัญ

สตอรีแรก….เขาโดนตัดชื่อออกจากทีมชาติโดยโค้ช เชา ซานดัลญา ไม่ได้เล่นบอลโลกที่เมกซิโก แน่ๆ แต่แล้วสวรรค์มีตา ฟ้าเปิดทาง

ซานดันญา โดนปลดออกจากตำแหน่งโค้ชทีมชาติ โดยสหพันธ์บอลบราซิลแต่งตั้ง มาริโอ ซากัลโล อดีตเพื่อนร่วมทีมชุดแชมป์โลกมาเป็นโค้ชแทน ปรากฏว่า ซากัลโล เรียก เปเล่ กลับมาติดทีมชาติก่อนบอลโลกเริ่มต้น

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์แชมป์บอลโลกสามสมัยอยู่ตรงนี้ เพราะปี 1970 ทั้งทีมบราซิล คาร์ลอส อัลแบร์โต้ ทอสเทา, แซร์จินโญ,ริเวลลิโนและตัวเปเล่ ต่างโชว์ฟอร์มได้สุดยอด ประกาศศักดาความเก่งกาจในเรื่องฟุตบอล ล้มอังกฤษแชมป์เก่า ปราบ อิตาลี แชมป์สองสมัยนัดชิงชนะเลิศ พร้อมลูกยิงที่สุดเหนือชั้น แตะอ้อมกองหลัง แล้วปล่อยบอลไหล หลอกเข้าไปยิง อันเป็นไฮต์ไลต์ที่แฟนบอลทั่วโลกต่างพากันชื่นชม

ภาพเพื่อนๆร่วมทีมแห่ เปเล่ ขึ้นบ่าหลังคว้าแชมป์ เป็นภาพแห่งฟุตบอลบอลโลก 1970 และอาจเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่สุดของเปเล่ ตลอดกาล

สตอรีที่สอง…เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ เมื่อผลิตภัณฑ์ชุดกีฬาอย่าง อดิดาส กับ ปูมา ที่เป็นคู่ปรับกัน (วันหลังเขียนให้อ่านครับ) ต่างตกลงไปทุ่มเงินแข่งกันเพื่อเป็นผู้สนับสนุน เปเล่ เพราะจะเสียเงินโดยใช่เหตุ

ทว่า…ก่อนบอลเขี่ยในนัดชิงชนะเลิศระหว่างบราซิลกับอิตาลี

เปเล่ นั่งลงผูกเชือกรองเท้าในจังหวะเดียวกันกับที่ กล้องจับไปโคลสอัพไปยัง เปเล่น ที่กลางสนาม

รองเท้าที่เขาใส่คือ พูม่า…….

มีการกระแสข่าวว่า พูม่า จ่ายเงินเพื่อโฆษณาแฝงให้เปเล่ …ในครั้งนั้น

สถิติบันทึกกันว่า เขาลงสนามตลอด 21 ปี

บีบีซี ระบุจำนวน 1,363 นัด ยิง 1,281 ประตู

CBF (สหพันธ์ฟุตบอลบราซิล) ระบุ 1,367 นัด ยิง 1,283 ประตู

ฟีฟา ระบุ 1,366 นัด ยิง 1,281 ประตู

ใกล้เคียงกันครับ….ขึ้นกับว่าแมตช์นั้นนับหรือไม่นับอย่างเป็นทางการ

ส่วนที่ตรงกันบันทึกง่ายๆคือ ติดทีมชาติบราซิล 92 นัดยิง 77 ประตู

เล่นฟุตบอลโลก 14 นัด ยิง 12 ประตู

ส่วนประตูที่ 1000 นั้นเขายิงจุดโทษให้ ซานโตส ชนะ วาสโก ดากามา

ส่วนวันแขวนสตั๊ดคือ ต.ค. 1974 เล่นเกมสุดท้าย 20 นาทีแรกก่อนอำลาสนามด้วยคราบน้ำตา พร้อมทั้งทิ้งตำนานเบอร์ 10 ที่ไม่มีอีกแล้วในทีมซานโต๊ส หลังจากนั้นสามปี เขาไปร่วมทีมนิวยอร์ค คอสมอส ในเมเจอร์ ลีก ซอกเกอร์ ยุคโปรโมต “ซอคเกอร์” ในประเทศที่มีแต่ “ฟุตบอล” พร้อมกับ ฟร้านส์ เบคเคนบาวเออร์, คาร์ลอส อัลแบร์โต้

ไกเซอร์ ฟร้านส์ กล่าวยกย่อง เปเล่ ว่า “ถ้าในดนตรีมี บีโธเฟน ฟุตบอลย่อมมี เปเล่ เช่นกัน”

เชื่อมั้ยครับ ฉายาของเขาคือ “ไข่มุกดำ” (The black pearl) แม้ที่บราซิลเรียกเขาว่า “O Rei”

หรือ King Pele

แต่ผมว่า “เปเล่” คำเดียวก็ยิ่งใหญ่พอละครับ

👉🏿เซเหล่บลูกหนัง

เปเล่ คือนักฟุตบอลที่เป็นต้นแบบของ “คนดัง” หรือ เซเหล่บ ของโลกในยุคทีการสื่อสารยังไม่ย่อโลก คิดดูขนาดเริ่มยุคทีวีขาวดำ ไม่มีสื่อออนไลน์ มีแค่ น.ส.พ. แต่ชื่อเสียงเขากลับขจรขจายไปทั่วโลก ไปไหนมาไหนคนห้อมล้อม

อีกทั้งแม้เลิกเล่นบอลไปแล้ว….เปเล่ ยังคงอยู่ในกระแสสังคมโลก ทุกคนยังได้ติดตามเปเล่ นอกสนามฟุตบอล ทุกข่าวแง่บวกและลบเกี่ยวพันกับ เปเล่ แทบทั้งนั้น ใครๆก็รู้เรื่อง เปเล่

เปเล่ ยิ่งใหญ่ในโลกลูกหนัง แต่เมื่อเลิกเล่นเขาจับธุรกิจหลายตัว ทำธุรกิจก่อสร้าง ผลิตกาแฟ เปเล่ มีหุ้นส่วนในธุรกิจอะไหล่รถยนต์ชื่อ Fiolax เขามีหุ้น 6% แต่ที่หนักกว่านั้นคือเขาดันเป็น “ผู้ค้ำประกัน” บริษัท ยังผลให้เมื่อกิจการล้มละลาย เขาเจอหางเลขเป็นเงินถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 1975 ส่วนตัวของเขาก็โดนฟ้องล้มละลายอีกด้วย

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม…เขาจึงตัดสินใจกลับมาสวมสตั๊ดลงสนามฟุตบอลกับ นิวยอร์ค คอสมอส ซึ่ง “จ้าง” เขาด้วยเงินก้อนใหญ่ในเวลาสองปีก่อนเลิกเล่นในปี 1977

จากนั้นปี 1981 เขาเล่นภาพยนตร์ Escape to Victory หรือชื่อไทย เตะแหลกแล้วแหกค่าย ก็เป็นหนังที่ผู้คนชื่นชอบกันทั้งโลก มี ซิลเวสเตอร์ สตัลโลน, ไมเคิล เคน, บ๊อบบี มัวร์, ออสซี อาร์ดิเลส…..

ทุกครั้งที่มีภาพ เปเล่ ปล่อยออกมาตามทีวี, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร ย่อมมีภาพคนดังระดับผู้นำประเทศ, ตำนานนักกีฬา, ดาราฮอลลีวูด ประกบข้างตลอดเวลา นั่นจึงอาจกล่าวได้ว่า

เปเล่ คือ เซเหล่บ นักฟุตบอลคนแรกของโลกใบนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ครั้งหนึ่งประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เคยบอกว่า “ผมชื่อ โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ผู้ชายคนข้างๆผม ไม่จำเป็นต้องแนะนำตัว เพราะทุกคนในโลกนี้รู้จักเป็นอย่างดี”

นอกจากโลกธุรกิจ…การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผ่านการเป็นทูตของฟีฟาแล้ว เปเล่ ยังสนใจเรื่องการเมือง ถึงขั้นอยากเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของบราซิล ยุคต้น 80 แต่เขาก็ไม่ได้สานต่อ จนกระทั่งปี 1995 เขารับตำแหน่งรัฐมนตรีกีฬาของบราซิล อยู่ในตำแหน่งสามปี มีผลงานคือ “กฏหมายของเปเล่” ที่ช่วยเหลือนักเตะอาชีพมีอิสระในการย้ายทีม

ธุรกิจนอกสนามอย่าง Legends 10 บริษัทการตลาดกีฬา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ชื่อเปเล่ ในการเดินธุรกิจตัวนี้ โดย เปเล่ มีหุ้นหนึ่งในสาม มีการเดินธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลม, นาฬิกาสวิสเซอร์แลนด์, ของกินอย่างแซนด์วิช (ซับเวย์) ,ธนาคารในสเปนรวมทั้ง บริษัทค้าปลีกในฝรั่งเศส

ว่ากันว่าทำรายได้ให้กับเขามากมายปีละหลายพันล้านบาท จากบริษัทนี้ เพราะมูลค่าการตลาดของ เปเล่ ยังมีอยู่สูงมาก

แน่นอน…ชื่อของ เปเล่ ยังมีอิทธิพลในสังคมโลก อะไรที่เกี่ยวกับตัวของเขา ย่อมถูกนำมาขยายผล ตีแผ่กันตลอดเวลาไม่ว่าจะบวกหรือลบ

กระทั่งทายแชมป์โลก….ยังเป็นเรื่องที่ฮือฮาทุกครั้งในนามของ เปเล่ เซียนกระจก

ส่วนในอีกมุมหนึ่งของชีวิตของ เปเล่ ก็ไม่ต่างจากมนุษย์อย่างพวกเรานั่นหละครับ ภาษิตไทยบอกความหมายชัดเจน ชั่ว 7 ดีที 7 หน มีขึ้นมีลง ไม่มีใครมีความสุขไปตลอดชีวิต มีสุขย่อมมีทุกข์ สอนกันมาแบบนี้ แต่คนก็ยังไม่คิดถึงมากมายนักสำหรับลัทธิสุขนิยมในทุกวันนี้

ชีวิตนอกสนามหวือหวาพอๆกับในสนาม เขาเหมือนแม่เหล็กดึงผู้คนเข้าหา โดยเฉพาะสาวๆ ทั้งคู่ควงเป็นตัวเป็นตนอย่าง มิส บราซิล (1980) และสาวสวยระดับไฮโซแซมบ้า

เปเล่ มีชีวิตการแต่งงานที่ล้มเหลวทั้ง3 ครั้ง อ่านแล้วก็คงนึกถึงนิยายสักเล่ม

ที่ล้อๆกันคือจริง เมีย3 ลูก7

หนึ่งใน7 ชื่อ เอดินโย เล่นบอลแต่เอาดีไม่ได้ เลยถูกชักนำเข้าวงการฟอกเงินจากยาเสพติด ต้องโทษจำคุก 33 ปี แต่ติดจริง3 ปี เนื่องจากประพฤติตัวดี

เคยโดนกล่าวหาว่ามี ผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเปิดบริษัทรับงานกับหน่วยงานราชการ สมัยเป็น รมต กีฬา หรือข้อหาคอร์รัปชั่นจากองค์การยูนิเซฟ

ถ้าขุดเรื่องราวของ เปเล่ มาตีแผ่….ในเพจนี้คงไม่พอแค่วันสองวัน ด้วยเพราะทั้งชีวิตของเปเล่ ที่มีมูลค่าเพิ่มจากความสามารถในสนามฟุตบอลต่อยอดมาจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต

มากมายเหลือเกิน

ผมเขียนแบบย่อๆให้พอเข้าใจในความเป็น “เปเล่”

นักฟุตบอลที่เล่นด้วยทักษะ, จินตนาการ และประสบความสำเร็จในแบบฉบับของฟุตบอลยุคใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งเป็นต้นแบบฟุตบอลอันสวยงามบนโลกใบนี้

เหมือนครั้งหนึ่ง เปเล่ เคยออกหนังสืออัตชีวะประวัติของเขา

My life and the beautiful game เมื่อปี 1977

นับจากนั้นเป็นต้นมา….. The Beautiful Game หรือภาษาโปรตุกีส O Jogo Bonito ได้กลายเป็นวลีเพื่อบรรยายความเป็นฟุตบอลบนโลกใบนี้…..

แน่นอนครับ…..

ในความสวยงามของเกมลูกหนังนั้นย่อมมี เปเล่ อยู่ด้วยตลอดกาล

JACKIE

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.