สถานการณ์ในลิเบียที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุโจมตีกลางเมืองหลวง รายงานระบุว่าเป็นการต่อสู้กันของทหารจากสองขั้วการเมือง สร้างความกังวลว่าความขัดแย้งที่ยึดเยื้อจนนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายครั้งนี้อาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหม่
ความวุ่นวายครั้งใหม่ในลิเบียเกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ผ่านมาลากยาวจนมาถึงช่วงเช้าของวันเสาร์ ภาพที่บันทึกไว้จากหลายจุดในกรุงตริโปลีเผยให้เห็นควันไฟลอยคละคลุ้งคู่กับเสียงปืน รายงานระบุว่า สถานการณ์ล่าสุดถือเป็นความเลวร้ายที่สุดในรอบ 2 ปี
ภาพของความเสียหายที่เกิดขึ้น บันทึกไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หรือหนึ่งวันหลังการโจมตี ชาวบ้านไม่ค่อยกล้าออกจากบ้านเพราะยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์สงบแล้วหรือไม่
พบร่างผู้อพยพ 20 ศพ กลางทะเลทรายลิเบีย หลังขาดการติดต่อ 2 สัปดาห์
เผย ภาพดาวเทียมน้ำท่วมใหญ่ “ปากีสถาน”
ขณะเดียวกันหลายจุดทั่วเมืองเต็มไปด้วยซากรถยนต์ที่ถูกเผาไหม้ ปลอกกระสุนกระจายเกลื่อนกลาด คนกลุ่มนี้ออกมาสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารของพวกเขา
ในตอนแรกการปะทะเกิดขึ้นที่ท้องถนน ก่อนจะค่อยๆ ลามเข้ามายังที่พักอาศัยของผู้คน หลายครอบครัวรีบอพยพหนีไปในคืนนั้น แต่บางครอบครัวก็หวาดกลัวจนไม่กล้าออกไปไหน
ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า รถยนต์ของเขาที่เพิ่งซื้อมาขับเพียง 4 เดือนได้รับความเสียหายไปด้วย การต่อสู้ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นจากสองขั้วการเมืองในลิเบียที่มีความขัดแย้งยึดเยื้อกันมานาน
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขลิเบียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปะทะมีอย่างน้อย 32 ราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บมี 159 ราย นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า มีครอบครัวราว 64 ครอบครัวที่ต้องอพยพออกจากบ้านเป็นการฉุกเฉินจากการปะทะที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันทางกระทรวงก็ออกมาเรียกร้องกลุ่มที่กำลังต่อสู้ว่าให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข และจนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังคงอพยพและช่วยเหลือคนที่ติดค้างอยู่ในวงล้อมการต่อสู้
ด้านสหประชาชาติร้องขอให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงในกรุงตริโปลี เนื่องจากเป็นกังวลต่อความปลอดภัยของเมืองหลวงที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
ก่อนไปดูว่าใครอยู่เบื้องหลังการโจมตีนี้และทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องการอะไร?
มีข้อมูลเกี่ยวกับลิเบียที่ต้องทราบว่า ความขัดแย้งในประเทศนี้เกิดขึ้นมานาน และปัจจุบันลิเบียถูกแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นสามพื้นที่ใหญ่
ลิเบียตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ประเทศนี้ปกครองโดยผู้นำคนเดียวมา ตั้งแต่ปี 1969 คือ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ
เหตุการณ์อาหรับสปริงส่งผลให้เกิดคลื่นการลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้นำที่ครองอำนาจ เบ็ดเสร็จยาวนานในหลายประเทศ หลายผู้นำเช่น อียิปต์ และตูนิเซียทยอยล้ม จนมาถึง ลิเบีย
วันที่ 20 ตุลาคม ปี 2011 กัดดาฟีถูกสังหาร แต่หลังจากนั้นลิเบียตกอยู่ในความวุ่นวายเมื่อฝักฝ่ายในลิเบียผงาด ขึ้นแย่งชิงอำนาจท่ามกลางสูญญากาศทางการเมือง
เหตุการณ์ที่โจษจันคือการปะทะในตริโปลีเมื่อปี 2014 การปะทะเกิดขึ้นอยู่นานถึง 1 เดือน หลายฝ่ายเรียกเหตุการณ์นั้นว่า สงครามกลางเมือง
และในที่สุดกลุ่มของนายพลคาลิฟา ฮาฟตา ผู้นำกลุ่มที่ก่อเหตุโจมตีก็ได้ลี้ภัยไปทางตะวันออก จัดตั้งรัฐบาลฝ่ายตะวันออกขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
หลายปีของความขัดแย้งและความพยายามแย่งอำนาจปกครอง นี่คือแผนที่ของลิเบียในปัจจุบัน 2 ใน 3 ของพื้นที่ตกเป็นของ รัฐบาลทูบรัค รัฐบาลฝั่งตะวันออกที่เป็นพันธมิตรกับ LNA หรือกองทัพแห่งชาติลิเบีย ฝั่งนี้มีผู้นำคือ นายกรัฐมนตรีฟาติ บาชากา ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
รัฐบาลฝ่ายลิเบียตะวันออกได้รับการสนับสนุนจากจากอียิปต์ ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงชาติอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อีกกลุ่มคือ รัฐบาลแห่งชาติ หรือ GNA ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล ครองพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ รวมถึงกรุงตริโปลีเมืองหลวง
ฝ่ายตะวันตกมีผู้นำคือ อับดุลฮามิด อัล บีเบห์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2021 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติให้เป็นผู้นำลิเบีย ในช่วงที่ตอนนั้นลิเบียกำลังเปลี่ยนผ่านความวุ่นวายทางการเมือง
กลุ่มนี้ได้รับการสนุบสนุนจากสหประชาชาติ อิตาลี กาตาร์ และตุรกี รวมถึงกลุ่ม ภราดรภาพมุสลิม นอกจากนั้นลิเบียยังถูกแบ่งแยกโดยกลุ่มชนเผ่าติดอาวุธทางตอนใต้อีกด้วย
ก่อนหน้านั้นนายกฯ บีเบห์เคยประกาศว่า จะจัดการเลือกตั้งโดยกำหนดกรอบเวลาไว้ที่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 แต่จนถึงเวลาที่ระบุการเลือกตั้งกลับไม่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลขั้วตรงข้ามตั้งผู้นำขึ้นกันเอง โดยระบุว่า รัฐบาลของบีเบห์เป็นรัฐบาลเถื่อน ขณะที่ฝ่ายบีเบห์ก็ระบุว่า รัฐบาลของบาชากาก็ขึ้นสู่อำนาจแบบไม่ชอบธรรมเพราะแต่งตั้งกันเองไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง
เท่ากับว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ลิเบียมีนายกรัฐมนตรีสองคน และต่างฝ่ายต่างมีประชาชน กลุ่มติดอาวุธ ตลอดจนเสียงสนับสนุนจากต่างชาติ
ท่ามกลางความขัดแย้ง ฝ่ายของนายกรัฐมนตรีฟาติ บาชากา พยายามที่จะยึดกรุงตริโปลีเมืองหลวงตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังได้รับการแต่งตั้ง ความพยายามเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมแต่ไม่สำเร็จ เพราะถูกทหารของนายกรัฐมนตรีบีเบห์สกัดไว้
หลายเดือนผ่านไปการปะทะโดยทหารของทั้งสองฝ่ายยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งล่าสุดที่ฝ่ายของบาชากาพยายามที่จะโจมตีเมืองหลวงอีกครั้ง
เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคืนแรกของการโจมตีล่าสุดปรากฏภาพของนายกรัฐมนตรีบีเบห์กล่าวปลุกใจบรรดาทหาร
ระบุว่า ตัวเขาจะไม่หนีไปไหน จะยืนหยัดสู้ และยุคสมัยของรัฐประหารผ่านไปแล้ว บ่งชี้ว่าตัวเขาจะไม่ยอมให้นายกรัฐมนตรีบาชากายึดอำนาจสำเร็จ
ความท้าทายของรัฐบาลบาชากาคือ พวกเขาไม่เพียงต่อสู้กับทหารของรัฐบาลบีเบห์ แต่รอบๆ กรุงตริโปลียังมีทหารตุรกีประจำการ
ตุรกีสนับสนุนรัฐบาลบีเบห์และคอยช่วยสกัดการโจมตีของรัฐบาลฝ่ายตะวันออกตั้งแต่ปี 2020 ที่นำโดยนายพลคาลิฟา ฮาฟตา คนๆ นี้อยู่ในรายชื่อผู้สมัครที่จะลงเลือกตั้งเป็นผู้นำลิเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย แต่ในที่สุดแล้วการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น และทางสภาลิเบียตัดสินใจเลือก ฟาติ บาชากา ขึ้นเป็นผู้นำ
อีกความท้าทายคือ รัฐบาลฝ่ายตะวันออกที่นำโดยบาชากาไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกและสหประชาชาติ
มีเสียงสนับสนุนจากรัสเซียที่ส่งทหารรับจ้างไปช่วยรบ ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะรัสเซียต้องการปกป้องผลประโยชน์ด้านน้ำมัน อย่างไรก็ตามช่วงหลายปีที่ผ่านมาฝ่ายของลิเบียตะวันออกก็ยังไม่สามารถยึดเมืองหลวงได้
ลิเบียเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสี่ของทวีป ประเทศนี้ผลิตน้ำมันมากถึง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งขายให้ชาติตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่หลายชาติยุติการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเนื่องจากกรณีบุกยูเครน ทำให้ลิเบียกลายมาเป็นแหล่งน้ำมันทางเลือก
ทว่าความขัดแย้งที่ปะทุรุนแรงขึ้นสร้างความกังวลว่าอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมัน ซึ่งจะกระทบต่อตลาดราคาน้ำมันโลกไปด้วยเป็นลูกโซ่
ที่ผ่านมาฝ่ายลิเบียตะวันออกใช้โรงกลั่นน้ำมันเป็นหนึ่งในเครื่องมือกดดันฝ่ายลิเบียตะวันตก ด้วยการปิดล้อมและชัตดาวน์โรงกลั่นหลายครั้ง เนื่องจากหลายโรงกลั่นและหลายแหล่งน้ำมันดิบตั้งอยู่ในพื้นที่ของพวกเขา ส่งผลให้การผลิตและส่งออกต้องชะงักงันเป็นระยะ
กลยุทธ์ชัตดาวน์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ต่อวันหายไปมากถึง 600,000 บาร์เรล ในช่วงเวลานั้นเป็นจังหวะเดียวกันกับที่รัสเซียเริ่มลดปริมาณการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเพื่อแก้เผ็ดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯที่คว่ำบาตร
เมื่อขาดทั้ง 2 แหล่งสำคัญ น้ำมันโลกจึงอยู่ในภาวะตึงตัวอย่างหนัก ปริมาณที่น้อยลงทำให้ราคากำลังปรับตัวสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ราคาพลังงานสูงส่งผลให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อตามมา และเป็นเงินเฟ้อในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบกว่า 50 ปี เช่นในสหราชอาณาจักร เงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมขึ้นไปถึงร้อยละ 10.2 สูงที่สุดในรอบ 50 ปี
ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยของทั้งสหภาพยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 8.9 สูงที่สุดในรอบหลายปีเช่นกัน ส่วนที่สหรัฐฯเงินเฟ้อไปอยู่ที่ร้อยละ 8.5 เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2 ไปมาก ทำให้ต้องมีการใช้ยาแรงด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพแพงทะลุเพดานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น ศรีลังกาที่ประชาชนลุกฮือขับไล่รัฐบาล
ผู้นำจากชาติตะวันตกพยายามเสาะหาพลังงานจากแหล่งอื่นมาทดแทนน้ำมันจากรัสเซียและลิเบียที่หายไป ( รัสเซีย 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลิเบียประมาณ 1 ล้านบาเรลต่อวัน)
ผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกเพื่อร้องขอให้ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกกับการเสียจุดยืนหรือเสียหน้า เพราะต้องพบหน้าพบตาและพูดคุยกับมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บุคคลที่เขาประกาศว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารจามาล คาช็อกกี นักข่าวชื่อดังชาวซาอุดิอาระเบีย โดยเหตุการณ์สังหารเกิดขึ้นในสถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูล ประเทศตุร กีเมื่อต้นเดือนตุลาคม ปี 2018
การไปซาอุดิอาระเบียในคราวนั้นของประธานาธิบดีไบเดนได้ผลไม่มาก หลังจากซาอุฯและกลุ่มโอเปกประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมันอีกเพียง 100,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น
ลิเบียกลายเป็นความหวังใหม่ในบรรเทาปัญหา เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มขั้วขัดแย้งในลิเบียสามารถบรรลุข้อตกลง มีการยุติการปิดกั้นแหล่งผลิตน้ำมันและโรงกลั่น ทำให้ลิเบียปั๊มน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกได้อีกครั้งที่ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
น้ำมันจากลิเบียคือส่วนหนึ่งที่ทำให้คาคาน้ำมันตลาดโลกลดลงมาอยู่ต่ำหว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บาร์เรล ( ประมาณ 98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม
ไม่เคยไม่คราวไหนที่โลกจะต้องการน้ำมันจากลิเบียมากขนาดนี้มาก่อน น้ำมันจากลิเบียกำลังกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในวันที่สงครามในยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด แต่ลิเบียก็มีปัญหาของตนเอง
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบใหม่อาจจะทำให้ตลาดน้ำมันเกิดความปั่นป่วนอีกครั้ง
อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ และการลงทุน ได้ที่ @PPTVOnline
This website uses cookies.