Football Sponsored
Categories: ฟีฟา

“โกรเอนเก” ตาสว่างแล้ว “เกลเซอร์” เมื่อไรจะตื่น / MVP

Football Sponsored
Football Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แชมป์ พรีเมียร์ ลีก 13 สมัย (ไม่รวมดิวิชัน 1) ช่างขยันสร้างคอนเทนต์เหลือเกิน หลังพ่ายนัดที่ 2 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เริ่มฤดูกาล 2022-23 แก่ เบรนท์ฟอร์ด แบบหมดสภาพ 0-4 นำไปสู่กระแสข่าวลือต่างๆ นานา ทั้งความแตกแยกภายในแคมป์ และการซื้อ-ขายนักเตะ ซึ่งถูกโยงกับผู้เล่นทีมอื่นๆ มากมายตามอาการ “Panic buy” จนไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน มั่วไปหมดทั้งเรื่องในและนอกสนาม

ความเดิมตอนที่แล้ว เขียนถึงกรณี เอริก เทน ฮาก กุนซือชาวดัตช์ กำลังจะเสียการปกครอง โดยคาดว่า ตระกูลเกลเซอร์ เข้ามาอุ้ม คริสเตียโน โรนัลโด้ ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังโปรตุกีส ที่มีข่าวอยากย้ายทีม เพื่อพิสูจน์ฝีเท้าระดับ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก กระทั่งปัจจุบัน พี่โด้ ก็ยังจะปั่นอยู่นั่นแหละว่า ข่าว 100 ข่าว เป็นจริงแค่ 5 ข่าว บทสรุปแล้วอะไรคือความจริงล่ะ พี่ก็เคลียร์ตัวเองสักทีสิ ทีมจะได้เดินหน้าต่อ

ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของ โรนัลโด้ ย่อมส่งผลกระทบต่อทีมสปิริต คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ส.ค.) ผมนั่งดูเกมถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้าน เห็นท่าทางปลุกเร้าเพื่อนๆ หลังตกเป็นรอง 1 หรือ 2 ลูก รวมถึงคอยกระตุ้นน้องๆ อยู่ข้างสนามวันเปิดซีซันแพ้ ไบรจ์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน 1-2 ผมลองจินตนาการว่า ตัวเองเป็นเพื่อนร่วมทีมของเขา ผมคงรู้สึกว่า “คุณจะมากระตุ้นอะไรล่ะ เดี๋ยวก็ย้ายแล้วไมใช่เหรอ แค่ตอนนี้มันไม่มีใครเอาคุณ”

ปัญหาบนสนามของ ยูไนเต็ด ตอนนี้ คือ คุณต้องจัดการเรื่อง โรนัลโด้ ให้เด็ดขาด นักเตะอยากไปก็อย่าไปขวางทาง ซึ่งสาเหตุที่สโมสรยังยืนกรานหนักแน่นว่า “ไม่ได้มีไว้ขาย” น่าจะเป็นเพราะมูลค่าของเขาอยู่เหนือทีมฟุตบอล ส่วนเรื่องนอกสนาม ผมคงไม่ย้อนความไปไกลถึงเกือบๆ 20 ปีที่ ตระกูลเกลเซอร์ เทกโอเวอร์ “ปิศาจแดง” เอาเหตุการณ์ซึ่งๆ หน้านี่แหละ เพราะมันเห็นชัดเจนสุด ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนบอลของพวกเขามานานเท่าไหร่ก็ตาม

ซัมเมอร์นี้ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ผู้เล่นหน้าใหม่ 3 คน ได้แก่ ไทเรลล์ มาลาเซีย, คริสเตียน อีริกเซน และ ลิซานโดร มาร์ติเนซ หากพิจารณาไทม์ไลน์จะเห็นได้ว่า 2 รายหลัง ปิดดีลล่าช้าทั้งๆ ที่ไม่มีใครแย่งทำให้เวลาเก็บตัว และปรับตัวกับทีมใหม่ หรือบทบาทใหม่น้อยเกินไป และยังขาด 2 ตำแหน่งสำคัญ คือ มิดฟิลด์เบอร์ 6 คู่กลาง และกองหน้าสแตนด์ บาย อองโตนี มาร์กซิยาล กับ โรนัลโด้ (กรณีอยู่ต่อ) นี่ยังไม่รวมผู้รักษาประตูมือ 2 กับ แบ็กขวา ที่อาจมองได้ว่า ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ริชาร์ด อาร์โนลด์ กับ จอห์น เมอร์ทัฟ เป็น 2 ผู้บริหารยุคใหม่ที่มาจาก คนในบ้าน ซึ่ง ตระกูลเกลเซอร์ สามารถสั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ตามชอบ รวมถึงขาดอิทธิพลหรือคอนเนคชันกับนักเตะ หรือผู้บริหารด้วยกัน ดังนั้นการเจรจาซื้อ-ขายจึงเป็นงานที่ดูยากเหลือเกิน และเห็นได้ว่า 3 คนที่ได้มาต่างมีความเชื่อมโยงกับ เทน ฮาก ทั้งสิ้น มาลาเซีย เป็นนักเตะเคยเล็งไว้, มาร์ติเนซ ก็ลูกน้องเก่า และ อีริกเซน เคยขอฝึกซ้อม ที่อาแจ็กซ์ หลังถูก อินเตอร์ มิลาน ยกเลิกสัญญา แล้วย้ายมา เบรนท์ฟอร์ด เดือนมกราคม 2021

ด้วยระยะเวลาที่เหลือ 2 สัปดาห์ก่อนปิดตลาด เชื่อว่า ถ้า แมนฯ ยู จะได้นักเตะใหม่ จะเป็นการซื้อ-ขายแบบเอามาไว้ก่อน เพื่อป้องกันแฟนๆ ก่นด่า แล้วจะตรงสเปค เทน ฮาก หรือไม่ เกมบนสนามจะเป็นคำตอบ และอาจได้ขยะกองใหม่มาทับถมกับตัวเดิมๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน แว่วมาว่า การซื้อ-ขาย อาเดรียน ราบิโอต์ มิดฟิลด์ ยูเวนตุส ทำท่าจะล้มเหลว เพราะอิทธิฤทธิ์ “ขุ่นแม๊” แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากผลกรรมที่ ตระกูลเกลเซอร์ เปย์ค่าจ้างนักเตะแพงเกินเหตุนั่นแหละครับ

หากลองมาเปรียบเทียบกับ อาร์เซนอล ซึ่งตอนนี้พวกเขาเป็นทีมหนึ่งที่ชนะ 2 เกมรวด นอกเหนือจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี แชมป์เก่า 2 ตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ตระกูลโครเอนเก เริ่มเอาจริงเอาจังด้วยการลงทุนหนักๆ เพื่อการแย่งชิงท็อป 4 โดยการเซ็นสัญญา กาเบรียล เฆซุส กองหน้าบราซิเลียน สร้างความแตกต่างจากฤดูกาลที่แล้วอย่างชัดเจน รวมถึงแบ็กอัพ มิเกล อาร์เตตา กุนซือชาวสเปน ด้านการจัดการทีม โดยเห็นได้จากการปลด ปิแอร์-เอเมอริค โอบายอง ออกจากตำแหน่งกัปตันทีม เนื่องจากมีปัญหาด้านวินัย กระทั่งยกเลิกสัญญาแล้วปล่อยให้ บาร์เซโลนา

ย้อนกลับไปไม่กี่ปี อาร์เซนอล ยังเป็นทีมที่ถูกแฟนๆ ประท้วง เพราะ เจ้าของทีมชาวอเมริกัน ค่อนข้างขี้เหนียว ไม่ยอมทุ่มเงินซื้อนักเตะอันเป็นเหตุให้สโมสรห่างหายจาก ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก มานาน และมีเพียงแชมป์ เอฟเอ คัพ 4 สมัย เยียวยาแผลใจกองเชียร์ นับตั้งแต่ ตระกูลโกรเอนเก เทกโอเวอร์แบบเบ็ดเสร็จ เมื่อปี 2011 ดังนั้นภาพอดีตของ “ปืนใหญ่” จึงดูคล้ายๆ กับ แมนฯ ยูไนเต็ด นั่นแหละ

แต่เป็นไปได้ไหมว่า แนวคิดของ ตระกูลโกรเอนเก ที่หันมาทุ่มทุนกับ “เดอะ กันเนอร์ส” อาจมาจากการสร้าง แอลเอ แรมส์ กลับสู่แชมป์ ซูเปอร์โบว์ล 56 โดยฤดูกาล 2021 ที่ผ่านมา แรมส์ เทรด แม็ตธิว สแตฟฟอร์ด ควอเตอร์แบ็ก จาก ดีทรอยต์ ไลออนส์ และ วอน มิลเลอร์ ไลน์แบ็กเกอร์จาก เดนเวอร์ บรองโกส์ รวมถึงเซ็นสัญญา โอเดลล์ เบ็คแฮม จูเนียร์ ปีกนอกฝีมือดี แบบฟรีเอเจนต์ จนเรียกได้ว่า เดิมพันอนาคตของแฟรนไชส์กับโทรฟี “วินซ์ ลอมบาร์ดี” และช่วงปิดซีซันพวกเขายังรั้งตัวกระดูกสันหลังของทีม ทั้ง สแตฟฟอร์ด, คูเปอร์ คัปป์ และ แอรอน โดนัลด์ เพื่อป้องกันแชมป์อีกด้วย

สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ตลาดซื้อ-ขาย เพื่อถ่ายนักเตะที่ไม่ตรงสเปค หรือสะเงาะสะแงะออกไป แล้วต้องทุ่มเงินดึงตัวท็อปมาเป็นกระดูกสันหลังของทีม ทั้งแนวรับ, แดนกลาง และแดนหน้าโดยจะต้องสนับสนุน เทน ฮาก เต็มที่ แม้ว่า เทน ฮาก จะเอา โรนัลโด้ หรือไม่? ก็ที แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส คุณยังไปเอา ทอม เบรดี ควอเตอร์แบ็ก มานำทีมจนเป็นแชมป์ได้เลย

ตลอด 2 นัดของ พรีเมียร์ ลีก 2022-23 เราเห็นแล้วว่า ตระกูลโครเอนเก ตื่นแล้ว ขณะที่ ตระกูลเกลเซอร์ ควรจะตื่นบ้างเช่นกัน ส่วนกระแสของแฟนๆ “เรด เดวิลส์” ที่กำลังคึกคักกับข่าวลือว่า เกลเซอร์ จะขายทีม โดยมีคนดังๆ อยากจะเทกโอเวอร์ ตามมุมมองผมเห็นว่า ตราบใดที่ห่านอย่าง แมนฯ ยู ยังออกไข่เป็นทองคำ ตระกูลเกลเซอร์ คงไม่มีวันปล่อยห่านตัวนั้นไปแน่นอน แม้ว่าคุณจะก่นด่า, สาปแช่ง หรือกดดันด้วยการงดเข้าสนามวันแดงเดือดก็ตาม

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.