Football Sponsored
Categories: ฟีฟา

ทำไมต้อง 4-3-3 ??? – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า…

    เมื่อสื่อยักษ์ใหญ่และสื่อเก่าแก่ประจำเมืองแมนอย่าง “แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่ง นิวส์” รายงานว่าฤดูกาลหน้า (หมายถึงฤดูกาล 2021-22) แมนฯ ยูไนเต็ด จะปรับระบบการเล่นจาก 4-2-3-1 มาเป็น 4-3-3 โดยอ้างว่า โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ได้เรียกลูกทีมมาประชุมและแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบในระหว่างการฝึกซ้อม

    อืมมมมม…นะ คือตามประสาของคนหนังสือพิมพ์ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวแล้วไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะเชื่ออะไรง่ายๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้สื่อข่าวของ แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่ง นิวส์ ไปแอบได้ยินคำพูดของกุนซือปีศาจแดงตอนฝึกซ้อมได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าไปชม 

    บางทีพวกเขาอาจได้ข่าวประเภท “อินไซเดอร์” มาจากใครบางคนในสโมสร..ก็..เป็น..ได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญอะไร เพราะข่าวนี้สามารถนำมาวิเคราะห์ให้อ่านกันได้อย่างน่าสนใจ

    สมมุติว่ามันเป็นเรื่องจริงที่คุณน้าลูกอมจะปรับระบบการเล่นจาก 4-2-3-1 มาเป็น 4-3-3 มันก็สามารถนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุได้ว่าทำไมดังต่อไปนี้

1. เพื่อให้มีมิดฟิลด์คอยขับเคลื่อนเกมรุกในแดนกลาง 2 คนคือ บรูโน่ แฟร์นันด์ส กับ ปอล ป็อกบา

2. โดยปกติจากเมื่อฤดูกาลที่แล้ว โอเล่ กุนนาร์ โซลชา มักจะใช้มิดฟิลด์ตัวกลาง 2 คน หรืออีกนัยหนึ่งคือมิดฟิลด์ตัวรับ 2 คนในระบบ 4-2-3-1 อย่าง สก๊อตต์ แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด โดยให้ บรูโน่ แฟร์นันด์ส สวมบท “ผู้เล่นหมายเลข 10” คอยสร้างสรรค์เกมรุก

ด้วยความที่คู่หู “แม็คเฟร็ด” ไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับโดยชอบธรรมทั้งคู่จึงจำเป็นต้องให้ผู้เล่น 2 คนนี้ลงเล่นด้วยกัน เพื่อให้ช่วยประสานงานกันตามจังหวะของเกมจนต้องขยับดาวเตะค่าตัว 89 ล้านปอนด์ ออกไปเล่นในตำแหน่ง “หน้าซ้าย” หรือ “หน้าขวา” ซึ่งนั่นไม่ใช่ตำแหน่งถนัดของ ปอล ป็อกบา

อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่ สก๊อตต์ แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด ลงเล่นด้วยกัน สถิติและผลงานของ แมนฯ ยูไนเต็ด มักจะออกมาดี – ไม่ค่อยแพ้

3. กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสูตรการจัดตัวครั้งนี้คือ ราฟาแอล วาราน ว่าแล้วขออธิบายแบบนี้ครับ

    ที่กุนซือสายพันธุ์ไวกิ้ง-แมนคูเนี่ยนจำเป็นต้องใช้คู่หู “แม็คเฟร็ด” เป็นมิดฟิลด์ตัวรับคู่กันอย่างหน้าแผงแบ็คโฟร์ เพราะเวลาคู่เซ็นเตอร์แบ็คอย่าง วิคตอร์ ลินเดเลิฟ กับ แฮร์รี่ แม็กไกรว์ ลงเล่นด้วยกันแล้วไม่ค่อยน่าไว้ใจสักเท่าไหร่ 

    แต่หากได้ปราการหลังทีมชาติฝรั่งเศสมาจับคู่กับไอ้หัวแตงโม – เกมรับของกองหลังจะมีคุณภาพสูงขึ้นจนไม่จำเป็นต้องใช้มิดฟิลด์ตัวรับ 2 คนเหมือนเคย

4. นอกจากนี้การปรับระบบการเล่นเป็น 4-3-3 ยังหมายถึงการใช้ประโยชน์ของ ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ได้มากกว่าเดิมอีกด้วย ฤดูกาลที่แล้ว มิดฟิลด์ชาวดัตช์ผู้นี้หาตำแหน่ง เพื่อลงเล่นในระบบ 4-2-3-1 ไม่ได้เลยนะครับ

    เมื่อผู้เป็นกุนซือไม่ไว้ใจให้เขาลงเล่นเป็นหนึ่งใน 2 มิดฟิลด์ตัวกลาง ต่อเมื่อได้ลงในตำแหน่ง “ผู้เล่นหมายเลข 10” แทน บรูโน่ แฟร์นันด์ส ก็ทำเกมไม่ได้จนเกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากไม่มีลักษณะของ “จอมทัพ” แถมไม่ใช่บทบาทที่เขาถนัดนักยิ่งขยับออกไปเล่นทางด้านข้างยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเขาไม่ใช่ผู้เล่นที่มีความรวดเร็วและคล่องตัวตามคุณลักษณะของกองหน้ากึ่งปีก

    สรุปว่าหาที่ลงไม่ได้ แต่ในระบบ 4-3-3 ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค จะเป็นหนึ่งใน 3 มิดฟิลด์ตัวกลางเหมือนตอนที่แผลงฤทธิ์สมัยอยู่กับ อาแจ็กซ์ อัมส์เตอร์ดัม นั่นแหละ 

    ถึงตรงนี้ขออนุญาตอธิบายถึงความแตกต่างกันระหว่าง 4-2-3-1 กับ 4-3-3

    อันที่จริงทั้ง 2 สูตรนี้ก็แทบจะไม่แตกต่างกันมากนักหรอก โดยในระบบ 4-2-3-1 จะมีตำแหน่ง “หน้าต่ำ” หรือ “ผู้เล่นหมายเลข 10” ทำหน้าที่เป็น “เพลย์เมคเกอร์” หรือ “จอมทัพ” สร้างสรรค์เกมรุก

    คุณสมบัติสำคัญของผู้เล่นตำแหน่งนี้คือต้องมากด้วยความสามารถเฉพาะตัว พลิกหนีคู่แข่ง เลี้ยงกินตัวคู่แข่ง จ่ายบอลฉลาด ผ่านบอลทะลุทะลวง วางยาวแม่นยำ และกะซวกประตูได้ด้วยตัวเอง

    ลองนึกถึง โอซาระ ซึบาสะ ในมังงะเรื่องนั้น – เจ้าหนูสิงห์นักเตะจอมซอยยิก นั่นแหละผู้เล่นหมายเลข 10 ที่มีความสมบูรณ์แบบ ถ้าในโลกแห่งความจริงก็ต้อง ดิเอโก้ มาราโดน่า, ซีเนดีน ซีดาน หรือ โรแบร์โต้ บาจโจ้

    ตอน บราซิล คว้าแชมป์โลก เมื่อ 2002 พวกเขาให้ โรนัลดินโญ่ สวมบทหมายเลข 10 อยู่ข้างหลังกองหน้าคู่อย่าง โรนัลโด้ กับ ริวัลโด้  นอกจากนี้สไตล์การเล่นของผู้เล่นหมายเลข 10 ก็ยังแตกต่างกันได้อีก 

    ยกตัวอย่าง บรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่เป็นตัวสร้างสรรค์เกมรุกด้วยการเปิดป้อนและทำทางให้เพื่อนร่วมทีมทำประตู ขณะที่ผู้เล่นหมายเลข 10 อย่าง โธมัส มุลเลอร์ ก็แตกต่างไปอีกสไตล์ คือเหมือนเป็นกองหน้าตัวที่ 2 ซะมากกว่า โดยมักจะโผล่ออกมาตอนเข้าได้เข้าเข็ม เช่นจ่ายลูกคิลเลอร์พาสส์ให้เพื่อนร่วมทีมทำลายตาข่าย หรือโผล่มาแล้วก็กระทุ้งตาข่ายในทันที – ไม่ได้โดดเด่นในเรื่องการสร้างสรรค์เกมโดยรวม

    ตำแหน่งนี้จึงเปรียบเสมือน “จุดศูนย์กลาง” ของทีมในการทำเกมรุกที่รับภาระหนักหน่วง 

    ผลงานของทีมจึงอาจขึ้นอยู่กับผู้เล่นในตำแหน่งนี้มากเกินไปจนหากวันใดที่เขาเล่นไม่ออก ฟอร์มตก หรือถูกจับตาย มันจะส่งผลกระทบถึงผลงาน  

    สังเกตได้เลยครับว่าเกมไหนที่ บรูโน่ แฟร์นันด์ส สามารถปั้นเกมรุกได้อย่างเพลิดเพลิน ผลงานของ แมนฯ ยูไนเต็ด มักออกมาไฉไล

    กลับกัน หากผู้เล่นตำแหน่งหมายเลข 10 ของปีศาจแดงถูกลักพาตัวหายไปจากเกมเมื่อไหร่ มันก็จะเหมือนสิ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในเกมที่เรียกว่า “บิ๊กแมตช์” ของ แมนฯ ยูไนเต็ด นั่นแหละ

    เพียงแต่ในระบบ 4-3-3 ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งผู้เล่นหมายเลข 10 เวลาขับเคลื่อนเกมไปข้างหน้า มันก็จะไม่ขึ้นอยู่กับผู้เล่นในตำแหน่งนี้มากเกินไปพลางสอดประสานงานร่วมกันในแดนกลาง 3 คนจนเกิดสมดุลย์

    ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมานั้นมีอยู่แค่ 2 ทีมที่ผลัดกันเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก โดยทั้งคู่ยึดระบบ 4-3-3 เหมือนกัน นั่นคือ แมนฯ ซิตี้ กับ ลิเวอร์พูล

    ทีมสีฟ้าแห่งแมนเชสเตอร์จากภูมิปัญญาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า อาจมีสูตรการจัดตัวหลากหลาย  แต่ส่วนใหญ่ใช้ระบบ 4-3-3 เป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องมี “ผู้เล่นหมายเลข 10”

    อันดับแรกพวกเขามีมิดฟิลด์ตัวรับคอยปกป้องแผงหลังอย่างน้อย 1 คน อย่าง แฟร์นานดินโญ่ หรือ โรดริโก้ โดยใช้มิดฟิลด์ตัวรุก 2 คน ซึ่งหนึ่งในตัวหลักของตำแหน่งนี้คือ เควิน เดอบรอยน์

    ส่วนอีก 1 คนสลับกันลงสนามตามฟอร์มการเล่นและตามสถานการณ์คือ อิลคาย กุนโดกัน, แบร์นาโด้ ซิลวา หรือ ฟิล โฟเด้น

    ด้วยความที่เป็นคุณเล่นคุณภาพคับตูดสามารถเล่นได้มากกว่า 1 ตำแหน่ง ดาวเตะอย่าง แบร์นาโด้ ซิลวา และ ฟิล โฟเด้น ยังขึ้นไปเล่นเป็นกองหน้ากึ่งปีกได้อีกต่างหาก

    กุนซือระดับอ๋องอย่าง “เป๊ป” จะเลือกนักเตะเข้าใจในระบบ เข้าใจในความต้องการ และรู้ว่าจะต้องเล่นอย่างไร

    อีกทีมที่ยึดระบบ 4-3-3 เป็นหลักคือ “หงส์แดง” จากการทำงานของ เจอร์เก้น คล็อปป์ สังเกตได้ว่ามิดฟิลด์ตัวกลาง 3 คนของ ลิเวอร์พูล จะไม่มีนักเตะประเภท “หมายเลข 10” ด้วยเน้นการทำงานแบบเป็นทีม เฉพาะอย่างยิ่งการ “เพรสซิ่ง” ใส่คู่แข่งในแดนกลางที่อาศัยความเข้าใจในรูปแบบการเล่นสูงมาก

    ตรงกลางของเครื่องจักรสีแดงจะประกอบไปด้วยขุมพลังอย่าง ฟาบินโญ่, จอร์จินโญ่ ไวนัลดุม, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน, ติอาโก้ อัลคันตาร่า และโดยไม่เว้นแม้แต่ เซอร์ดาน ชากีรี่ 

    ไม่ว่าจะส่งใครลงสนาม ผู้เล่นในแดนกลางทั้ง 3 จะทำหน้าที่ไม่ต่างจากเด็กยกเปียโนให้ 3 ประสานในแดนหน้าที่จู่โจมแบบสายฟ้าฟาด โดยไม่จำเป็นต้องมี “ผู้เล่นหมายเลข 10” มาคอยปั้นเกม 

    แต่ในบางอารมณ์ เจอร์เก้น คล็อปป์ ก็ปรับระบบเป็น 4-2-3-1 เพื่อให้กองหน้าตัวหลอกอย่าง โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ สวมบท “หน้าต่ำ” แล้วขยับ โม ซาล่าห์ ขึ้นไปเล่นเป็น “หน้าเป้า” 

    ระบบ 4-2-3-1 ช่วยให้ ลิเวอร์พูล มีทางออกในการส่งผู้เล่น 4 คนอย่าง ซาดิโอ มาเน่, โม ซาล่าห์, โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ และดิโอโก้ โชต้า ลงสนามพร้อมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ระบบสามารถยืดหยุ่นได้ ไม่ถึงกับตายตัวอะไร และขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า

    ทีนี้ย้อนกลับมาที่ แมนฯ ยูไนเต็ด อีกครั้ง

    ฤดูกาลที่แล้ว โอเล่ กุนนาร์ โซลชา พยายามยึดระบบ 4-2-3-1 เป็นหลัก โดยไม่ปรับเปลี่ยนเป็นระบบอื่นสักเท่าไหร่ จุดประสงค์เพื่อให้ลูกทีมคุ้นเคยและเข้าใจในระบบมากที่สุด

    แม้บางนัดจะต้องปะทะกับคู่แข่งที่น่าขามเกรงอย่าง แมนฯ ซิตี้ หรือ ลิเวอร์พูล ก็ตาม ผิดกับเมื่อก่อนที่ผู้จัดการทีมอสูรแดงมักปรับระบบการเล่นเป็น “หลังสาม” เวลาเจอทีมระดับพญายักษ์แบบนี้

    มันจึงนำมาซึ่งคำถามว่าแล้ว โอเล่ กุนนาร์ โซลชา จะกล้าปรับเปลี่ยนระบบการเล่นเป็น 4-3-3 จริงๆ หรือ ???

    ตอนที่กุนซือเบบี้เฟซผู้นี้เข้ามารับตำแหน่งพ่อใหญ่แห่ง โอลด์ แทรฟฟอร์ด ใหม่ๆ ระบบการเล่นหลักที่ยึดถือมาตั้งแต่แรกคือ 4-2-3-1 เหมือนกับที่กุนซือคนเก่าอย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ ใช้นั่นแหละ

    ยกเว้นบางนัดที่ปรับระบบการเล่นแบบเฉพาะกิจเป็น 4-3-1-2 (หรือ 4-4-2 แบบไดมอนด์) หรือ 3-4-1-2 หรือ 3-4-3 บ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอีน้าแกก็ไม่ถึงขนาดกับยึดติดจนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

    ฉะนั้น & ฉะนี้ มันจึงขึ้นอยู่กับการมาหรือไม่มาของ ราฟาแอล วาราน ซะมากกว่า 

    เพราะในกรณีที่ แมนฯ ยูไนเต็ด มีคู่เซ็นเตอร์แบ็คระดับที่แข็งแกร่งระดับ “เดอะ เกรทวอลล์”  ผู้เล่นในแดนกลางอาจไม่ต้องพะวงเกมรับมากนักจนลดมิดฟิลด์ตัวรับเหลือแค่คนเดียว โดยต้องเลือกเอาระหว่าง สก๊อตต์ แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด และอาจรวมถึง เนมานย่า มาติช

    อนึ่ง ลองนึกดูนะครับว่าถ้าพวกเขาได้มิดฟิลด์ตัวรับที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่าง ดีแคลน ไรซ์ มาร่วมทีม ผู้เล่นในแผนกเกมรุกจะมีอิสระมากขึ้นขนาดไหน ???

    อย่างไรก็ตาม ผู้มีจิตศรัทธาในปีศาจแดงอย่างผมมองว่าทั้ง “แม็คทอม” และ “เฟร็ดดี้” สามารถลงเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวรับเพียงลำพังได้ ถ้ามันเป็นความต้องการของเจ้านาย 

    แม้ทั้งคู่จะไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวทำลายล้างมาตั้งแต่แรกเกิด ทว่ามันก็สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้เชี่ยวชาญขึ้นได้โดยอาจไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อผู้เล่นใหม่ในตำแหน่งนี้

    ที่แน่ๆ คือถ้าอยากให้ แมนฯ ยูไนเต็ด เล่นในระบบ 4-3-3 ปราการหลังอย่าง ราฟาแอล วาราน ต้องมาก่อน

    เมื่อมีคู่เซ็นเตอร์แบ็คที่อุดมด้วยคุณภาพมากยิ่งขึ้น 

    บางที โอเล่ กุนนาร์ โซลชา อาจกล้าที่จะวางแผนให้ลูกทีมเน้นเกมรุกมากขึ้นกว่าเดิม…ก็..เป็น..ได้…นะจ๊ะ

บอ.บู๋

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.