จอห์น เดวิด แมคอาฟี เกิดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 1945 ในสหราชอาณาจักร มีพ่อเป็นชาวอเมริกันส่วนแม่เป็นคนอังกฤษ ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะย้ายไปอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ ซึ่งที่นั่น แมคอาฟีศึกษาเล่าเรียนจนได้ปริญญาสาขาคณิตศาสตร์ในปี 1967 เก่งขนาดได้ไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่สถาบันศึกษาอวกาศของนาซา และมีส่วนร่วมในโครงการอพอลโล ช่วงปี 1968-70 ด้วย
หลังออกจากนาซา แมคอาฟีได้ไปทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและให้คำปรึกษาด้านซอฟต์แวร์กับบริษัทต่างๆ อยู่นานหลายปี แต่ระหว่างร่วมงานกับบริษัท ‘ล็อกฮีด’ ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในยุคปี 80 แมคอาฟีก็ได้รับสำเนาของ ‘เบรน’ (Brain) ไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวแรกไว้ในครอบครอง ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ต้านไวรัสของเขา
ต่อมาในปี 1987 แมคอาฟีก่อตั้งบริษัท ‘แมคอาฟี แอสโซซิเอเตส’ ขึ้นมาและขายซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลกออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทของเขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และทำไอพีโอในปี 1992 อย่างไรก็ตาม 2 ปีต่อมา แมคอาฟีก็ขายหุ้นที่เหลือของตัวเองทั้งหมด แล้วไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัทอีกเลย
จากนั้นแมคอาฟีได้มีส่วนร่วมกับการบุกเบิกซอฟต์แวร์ใหม่อื่นๆ หลายอย่าง เขาก่อตั้งบริษัทผู้อยู่เบื้องหลัง ‘PowWow’ โปรแกรมแชตและส่งข้อความในทันทีตัวแรกของระบบปฏิบัติการวินโดว์ และไปลงทุนในบริษัทผู้ผลิตไฟร์วอลล์อย่าง ‘ZoneAlarm’ จนได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารในเวลาต่อมา
ความสำเร็จของแมคอาฟีทำให้เขามีทรัพย์สินมหาศาลกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ด้วยการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ประกอบกับถูกภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเล่นงานอย่างหนัก ทำให้เขาต้องขายอสังหาริมทรัพย์ ของโบราณและผลงานศิลปะราคาแพงออกไปจนหมด และเหลือเงินเพียง 4 ล้านดอลลาร์ในปี 2009
แต่ผู้บุกเบิกอย่างแมคอาฟีไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในปี 2008 เขาย้ายไปอยู่ประเทศเบลีซ ก่อตั้งบริษัท ‘ควอรัมเอ็กซ์’ (QuorumEx) เพื่อผลิตยาปฏิชีวนะจากสมุนไพร แต่ในปี 2012 โรงงานวิจัยของเขากลับถูกหน่วยปราบปรามแก๊งอาชญากรรมบุกตรวจค้น เพราะต้องสงสัยว่าเป็นที่ผลิตยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน โดยแมคอาฟีไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ศูนย์วิจัยยาของเขาก็ต้องปิดตัวลง
ในปี 2012 เช่นกัน แมคอาฟีตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมเพื่อนบ้านชื่อ เกรกอรี ฟาอุลล์ ซึ่งถูกยิงตายในบ้านของตัวเอง โดยตำรวจบุกไปที่บ้านของแมคอาฟีและพบเขาอยู่บนเตียงกับหญิงสาวอายุ 17 ปี เจ้าหน้าที่ยังพบอาวุธปืนจำนวนมากอยู่ภายในบ้าน แต่แมคอาฟียืนกรานปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับคดี ก่อนจะหลบหนีหายไป
แมคอาฟีเคยเปิดใจเรื่องคดีฆาตกรรมกับสำนักข่าว บีบีซี ว่า “ผมอยู่ที่นั่น (เบลีซ) 5 ปี ผมพูดกับเขาไม่ถึง 15 คำ” แต่ดูเหมือนทั้งคู่จะผิดใจกันเรื่องสุนัข โดยแมคอาฟีเชื่อว่า ฟาอุลล์เป็นคนวางยาพิษหมาของเขา “ใช่ ผมโกรธเรื่องหมาของผม บางทีนะ ผมเริ่มคิดแล้วตอนนี้ ว่าบางทีเขาอาจเป็นคนวางยาพวกมันก็ได้ แต่ตอนนั้นผมไม่มีความเชื่อแบบนี้แน่นอน”
ในที่สุดแมคอาฟีก็ถูกจับกุมตัวที่กัวเตมาลา หลังจากหนีเจ้าหน้าที่นานเกือบเดือน แต่ในขณะที่เขากำลังจะถูกศาลกำลังจะตัดสินให้ส่งตัวกลับไปเบลีซนั้น แมคอาฟีก็แกล้งหัวใจวายในทัณฑสถานถึง 2 ครั้ง ทำให้ทนายความของเขามีเวลาเจรจาขอให้ส่งตัวลูกความของเขาไปสหรัฐฯ แทน ซึ่งแผนการนี้ก็สำเร็จเสียด้วย แมคอาฟีถูกส่งตัวไปไมอามี ได้เป็นอิสระ และได้พบกับ เจนิซ ไดสัน อดีตอัยการที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ก่อนที่สุดท้ายทั้งคู่จะได้แต่งงานกัน
หลายปีหลังจากนั้น แมคอาฟียอมรับกับสถานีโทรทัศน์ เอบีซี ของสหรัฐฯ ว่า เขาแกล้งหัวใจวายจริงๆ “แน่นอนผมแกล้งทำ เป็นคุณจะทำยังไงล่ะ?” แต่คดีของนายฟาอุลล์ก็ยังตามมาหลอกหลอนเขาไม่หยุด ในปี 2019 ศาลสหรัฐฯ สั่งให้แมคอาฟีจ่ายเงินชดเชยแก่ครอบครัวฟาอุลล์ จำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ย้อนกลับไปในปี 2015 แมคอาฟีตกเป็นข่าวไปทั่วสหรัฐฯ เมื่อเขาประกาศจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในฐานะตัวแทนพรรค ‘ไซเบอร์’ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ แต่ปลายปีเดียวกัน เขากลับย้ายไปอยู่พรรคเสรีนิยม โดยชูนโยบายเรื่อง ยุติการทำสงครามกับยาเสพติด และจะเพิ่มการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์จากจีนและรัสเซีย
แน่นอนว่า ความพยายามของแมคอาฟีประสบความล้มเหลว เขาพยายามลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2020 แต่ก็ไม่สำเร็จ
ในช่วงเดียวกับที่แมคอาฟีประกาศชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีครั้งแรก เขาก็เริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการโปรโมตเงินคริปโต ซึ่งในตอนแรกดูเหมือนจะไปได้สวย โดยเขาใช้ทวิตเตอร์โปรโมตเงินคริปโตที่ชื่อ ‘อันต์คอยน์’ (Altcoin) และเคยได้เงินจากการโปรโมตถึง 105,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.3 ล้านบาท) ต่อ 1 ทวีต
แต่วิธีการโปรโมตเงินคริปโตของเขา กลับไปเตะตาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) เข้าจนได้ แมคอาฟีถูกทางการสเปนจับกุมตัวที่ท่าอากาศยานนานาชาติบาร์เซโลนา ในวันที่ 5 ต.ค. ปี 2020 ตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนจะถูกฟ้องร้องที่รัฐเทนเนสซี ข้อหาเลี่ยงภาษีระหว่างปี 2014-2018 รวมมูลค่า 4,214,105 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดบังรายได้จากธุรกิจเงินคริปโต, งานให้คำปรึกษา และการขายลิขสิทธิ์ชีวิตตัวเองเพื่อจัดทำสารคดี
ระหว่างอยู่ในเรือนจำสเปน แมคอาฟีก็ถูกสหรัฐฯ ตั้งข้อหาเพิ่มอีก ทั้งฉ้อโกงและฟอกเงินโดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อโปรโมตเงินคริปโต นอกจากนี้ยังยื่นคำร้อง ขอให้รัฐบาลสเปนส่งตัวแมคอาฟีไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ ด้วย
แมคอาฟีพยายามต่อสู้ในชั้นศาลของสเปนมานานหลายเดือน เพื่อคัดค้านการส่งตัวเขาไปสหรัฐฯ โดยอ้างว่า มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ในที่สุด เมื่อวันพุธที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลแห่งชาติสเปนก็ตัดสินว่า “ไม่พบหลักฐานใดๆ” ว่าแมคอาฟีกำลังถูกดำเนินคดีด้วยเหตุผลทางการเมืองหรืออุดมการณ์ และให้ส่งตัวเขาไปสหรัฐฯ
แมคอาฟีเชื่อว่า หากถูกส่งตัวกลับไปสหรัฐฯ ตัวเขาจะต้องอยู่ในคุกไปจนตลอดชีวิต และไม่กี่ชั่วโมงหลังจากศาลมีคำตัดสิน อดีตมหาเศรษฐีรายนี้ก็ถูกพบเป็นศพอยู่ภายในห้องขัง โดยที่ทนายความอ้างว่า ลูกความของเขาทำอัตวินิบาตกรรม ยุติชีวิตอันมีสีสันและโลดโผน จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เอาไว้ที่ 75 ปี.
This website uses cookies.