“นมผึ้ง” (Royal jelly) เป็นอาหารของผึ้งนางพญา ช่วยในการเร่งการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผึ้งนางพญา มีรูปร่างใหญ่โต ช่วยให้ผึ้งนางพญามีอายุยืนมากกว่าผึ้ง เพื่อการวางไข่สืบพันธุ์ โดยที่มาของ “นมผึ้ง” มาจากผึ้งงานด้วยการขับออกมาจากต่อมไฮโปฟาริงค์และจากต่อมน้ำลาย ที่อยู่บริเวณส่วนหัวของผึ้งงาน
จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางด้านชีวเคมีพบว่า ” นมผึ้ง” มีส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์มาก องค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ ในนมผึ้ง ได้แก่ คาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน เถ้าหรือธาตุอื่น ๆ และ นอกจากนี้ก็พบว่า ในนมผึ้ง มีวิตามินอยู่หลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 5 ไบโอติน อินโนสิตัล กรดโฟลิค และกรดแพนโทเธนิค ทั้งยังพบส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วย เช่น ฮีสตามีน ตลอดจนฮอร์โมน และเอนไซม์ บางชนิด
ในประเทศแถบเอเชีย เชื่อถือว่าอาหารตัวอ่อนผึ้งมีคุณสมบัติทางด้านบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นสารกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ เสริมความงามยับยั้งรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง ฯลฯ จึงทำให้เกิดการเลี้ยงผึ้งผลิต “นมผึ้ง” ออกจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ทางยาในรูปของแคปซูลสกัด หรือผสมน้ำผึ้ง เรียกว่านมน้ำผึ้ง เพื่อง่ายต่อการรับประทาน จนไปถึงการผลิตเป็นเครื่องสำอางสกัดจาก นมผึ้ง
ประโยชน์ของนมผึ้งต่อสุขภาพ ลดระดับไขมันในเลือด นมผึ้งมีส่วนประกอบของสารอาหารหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือกรดไขมันสายกลาง และสารประกอบที่มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่ให้ผู้หญิงวัยทองสุขภาพดี จำนวน 36 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยตรวจปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงระดับไขมันในเลือดทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ
โดยที่ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดลง 4.1% ระดับคอเลสเตอรอลรวม (TC) ลดลง 3.09% และระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) เพิ่มขึ้น 7.7% จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานนมผึ้งอาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือดและอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมอาการวัยทอง ที่เกี่ยวข้องกับภาวะไขมันในเลือดสูง
นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ให้อาสาสมัครซึ่งมีภาวะไขมันในเลือดสูงชนิดไม่รุนแรง 40 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 350 มิลลิกรัมวันละ 9 แคปซูล เป็นเวลา 3 เดือน ก็แสดงให้เห็นถึงระดับไขมันในเลือดที่ลดลงเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศ (Dehydroepiandrosterone Sulphate: DHEA-S) และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้อีกด้วย
บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน อาการก่อนมีประจำเดือนมักส่งผลในทางลบกับสุขภาพของผู้หญิง บางครั้งการรักษาโดยไม่ใช้ยาก็อาจช่วยบรรเทาให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้นักศึกษาแพทย์จำนวน 110 คน รับประทานนมผึ้งขนาด 1,000 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง โดยเริ่มในวันแรกที่มีประจำเดือน และรับประทานต่อเนื่องจนหมดประจำเดือนในรอบถัดไป พบว่าอาการก่อนมีประจำเดือนลดลง จากผลการทดลอง อาจกล่าวได้ว่าการรับประทานนมผึ้งติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้
รักษาแผลเบาหวาน แผลเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมอาการได้ไม่ดี ส่วนใหญ่จะพบแผลเบาหวานที่บริเวณเท้า โดยเฉพาะนิ้วโป้งเท้าและปลายฝ่าเท้า ซึ่งนมผึ้งประกอบไปด้วยสารประกอบฟีนอลิคทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ โปรตีนที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และกรดไขมันเอชดีเอ ที่ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ จึงคาดว่าอาจจะช่วยรักษาแผลเบาหวานได้
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวานที่ได้รับการรักษาหลักตามปกติ ทายาที่มีความเข้มข้นของนมผึ้ง 5% ในบริเวณที่เป็นแผลและปิดแผลด้วยแผ่นปิดแผลชนิดปลอดเชื้อเป็นเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าแผลจะหาย และมีการประเมินผลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง พบว่าใช้เวลาเฉลี่ย 41 วันจึงทำให้แผลหายดี และค่าเฉลี่ยของความยาว ความกว้าง และความลึกของแผลลดลงวันละ 0.35 มิลลิเมตร 0.28 มิลลิเมตร และ 0.11 มิลลิเมตรตามลำดับ จากผลการศึกษาอาจกล่าวได้ว่า นมผึ้งอาจมีประสิทธิภาพเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาแผลเบาหวาน ควบคู่ไปกับการรักษาหลัก
บรรเทาอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็ง อาการอ่อนแรงที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง เป็นผลมาจากการรักษาทั้งการฉายรังสีหรือการทำเคมีบำบัด มักส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการรับประทานยา การบำบัด หรือการออกกำลังกายอาจช่วยบรรเทาอาการลงได้ รวมถึงการรับประทานอาหารเสริม เช่น นมผึ้งก็อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 52 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำผึ้งแปรรูปและนมผึ้งขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็งดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ัรับประทานน้ำผึ้งบริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงบทบาทที่แท้จริงของนมผึ้งในการบรรเทาอาการอ่อนแรงจากโรคมะเร็ง
ความปลอดภัยในการรับประทานนมผึ้ง การรับประทานนมผึ้งค่อนข้างปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เลือดออกในลำไส้ ปวดท้อง หรือถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น บางรายหากมีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจทำให้มีอาการหอบหืด คอบวม หรือถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนการใช้นมผึ้งทาที่บริเวณผิวหนังค่อนข้างปลอดภัย
ข้อควรระวังในการรับประทานนมผึ้ง ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของนมผึ้ง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานนมผึ้งหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้ที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีนมผึ้งเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ การรับประทานหรือทานมผึ้งอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ การรับประทานนมผึ้งอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไป
ส่วนผู้ที่อยู่ในช่วงรับประทานยารักษาโรค เช่น ยาวาร์ฟาริน การรับประทานนมผึ้งอาจเสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำได้ง่าย
This website uses cookies.