Football Sponsored
Categories: ฟุตบอล

5 ข้อหลังเกมช้างศึกบุกเจ๊าดาวทองสุดมันส์ 2-2!!

Football Sponsored
Football Sponsored

[ 1 ] เริ่มต้นด้วย 3-5-2


อเล็กซานเดร โพลกิ้ง เซอร์ไพรส์ทั้งแฟนฟุตบอลชาวไทย และทาง พัก ฮัง-ซอ เทรนเนอร์ของเวียดนาม เองก็คงจะแปลกใจไม่น้อยกับการที่ทัพช้างศึกเริ่มต้นด้วยระบบ 3-5-2

วีระเทพ ป้อมพันธุ์ มิดฟิลด์จาก เมืองทอง ยูไนเต็ด ถูกส่งลงมายืนเป็นกองหลังร่วมกับ พรรษา เหมวิบูลย์ และ กฤษดา กาแมน ขนาบข้างโดย ศศลักษณ์ ไหประโคน ด้านซ้าย กับ ศุภนันท์ บุรีรัตน์ ทางฟากขวา

การยืนด้วยระบบปราการหลัง 3 คน ไทย เพิ่งจะใช้ในช่วงครึ่งหลังของเกมที่ถล่มมาเลเซีย 3-0 ในรอบรองชนะเลิศนัดที่สอง และผลก็ออกมาได้ดี จึงทำให้ โพลกิ้ง งัดกลยุทธ์นี้มาอีกครั้ง

ขณะที่แดนกลางยังเป็น สารัช อยู่เย็น, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี และ ธีราทร บุญมาทัน

ส่วนแนวรุก เฮดโค้ชเชื้อสายบราซิล-เยอรมัน เลือกที่จะดร็อป เอกนิษฐ์ ปัญญา และ บดินทร์ ผาลา แล้วให้โอกาส ปรเมศย์ อาจวิไล กับ อดิศักดิ์ ไกรษร ลงมาเล่น 

โดยที่ ธีรศิลป์ แดงดา หัวหอกหมายเลขหนึ่งนั้นมีปัญหาเรื่องสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ต้องพักไว้ข้างสนาม

การที่ไม่ใช้ เอกนิษฐ์ และ บดินทร์ ซึ่งเป็นตัวจริงมาตลอด 6 เกม ก่อนหน้านี้ นั้นน่าจะมาจากการที่ทั้งคู่เป็นปีกที่ไปกับบอลได้ดี แต่การเผชิญหน้ากับพื้นสนามที่ขรุขระ ซึ่งไม่เหมาะแน่ๆ กับผู้เล่นประเภทลากเลื้อยเลี้ยงกินตัว

[ 2 ] มี ดินห์ ที่มีแต่ดินจริงๆ

ก่อนการแข่งขัน สิ่งที่ทุกคนหวาดหวั่นคือสภาพสนาม มี ดินห์ รังเหย้าของเวียดนาม นั้นมีปัญหาเรื่องพื้นที่ค่อนข้างขรุขระ ซึ่งนั่นส่งผลโดยตรงต่อทีมที่เล่นฟุตบอลเท้าต่อเท้าอย่างชัดเจน

มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ต่างก็เจอปัญหามาแล้ว ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่งมาเยือนที่นี่เมื่อมีนาคม 2022 ก็ได้เพียงผลเสมอกลับไป

ทีมชาติไทย เองก็ไม่ได้รับข้อยกเว้น โทษฐานที่เป็นหนึ่งในทีมที่เล่นบอลกับพื้นเป็นหลัก

หลายๆ จังหวะในเกมนี้ นักเตะช้างศึกจับบอลกันลั่นและกระฉอกแบบยกใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้ขาดความต่อเนื่องในการเล่น โดยเฉพาะในครึ่งแรกที่ต้องใช้เวลานานพอควร กว่าจะปรับตัว และค่อยๆ ดีขึ้นในครึ่งหลัง

ดังนั้นสนาม มี ดินห์ จึงคล้ายๆ ว่ามีแต่ดินจริงๆ เพราะภาพที่ออกมาคือแทบไม่เห็นใบหญ้าอันเขียวขจีเลยสักนิด

[ 3 ] เค ง็อก ไฮ ขวัญใจวัยโจ๋

เค ง็อก ไฮ เซนเตอร์ฮาล์ฟหมายเลข 3 ของเวียดนาม ยังคงสร้างวีรกรรมเช่นเคยในการเผชิญหน้าทีมชาติไทย อีกครั้ง

ย้อนไทม์แมชีนกลับไปเมื่อปี 2021 ในศึก อาเซียน คัพ 2020 รอบรองชนะเลิศนัดแรกที่แข่งขันกันที่ประเทศสิงคโปร์ 

จังหวะดังกล่าวเกิดขึ้นตอนที่ สุภโชค สารชาติ ที่โดนทำฟาวล์จนนอนเจ็บอยู่บริเวณข้างสนาม – ง็อก ไฮ ซึ่งเวลานั้นสวมปลอกแขนกัปตัน วิ่งมาแต่ไกล ก่อนจะ ‘หวดบอล’ ไปใส่ใบหน้าของแนวรุกทีมชาติไทย

อเล็กซานเดร โพลกิ้ง ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุไม่พอใจกับการเล่นนอกเกมแบบนั้นและฉุนจัดจนปรี่ไปหากองหลังเวียดนาม ในทันที

ภาพที่ออกมาคือการปะทะคารมของกุนซือของไทย กับ ง็อก ไฮ ที่ใบหน้าขมึงทึง เกร็งคอสุดขีด พร้อมผรุสวาทใส่กันไฟแลบ

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ปราการหลังคนนี้ถูกริบปลอกแขนกัปตันเวียดนาม แต่ความดีเดือดของเขาไม่ได้ลดลงไปด้วย เพราะล่าสุดในเกมที่เสมอกับทีมช้างศึก 2-2 ก็สร้างเรื่องให้เป็นที่จดจำอีกครั้ง

ในจังหวะที่ไทย กำลังจะได้ลูกฟรีคิกหน้ากรอบเขตโทษเจ้าถิ่น จู่ๆ ง็อก ไฮ ก็เข้ามาโหวกเหวกโวยวายใส่ผู้ตัดสิน และไปยั่วโมโห ธีราทร บุญมาทัน พร้อมกับ ‘ตบหน้า’ แชมป์ เจลีก 2019 แบบเบาๆ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกือบจะบานปลาย เพราะผู้เล่นของทั้งสองฝั่งต่างกรูกันเข้ามา ทั้งห้ามปรามและพร้อมจะบวก ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ สงบลงในเวลาต่อมา

ผลจากจังหวะ ‘มือไว’ คือรับ ‘ใบเหลือง’ ไปตามระเบียบ

นับตั้งแต่ถูกจดชื่อ เขาก็ฟอร์มดร็อปลงไปทันที เพราะประตู 1-1 ที่ ปรเมศย์ อาจวิไล ยิงตีเสมอให้ไทย ก็เป็น ง็อก ไฮ นี่แหละที่หลงเหลี่ยม โดนแนวรุก เมืองทอง ยูไนเต็ด ล็อกหลับหลังแทบหัก ก่อนจะตะบันผ่านมือ ดัง วัน ลัม ตุงตาข่าย

เท่านั้นไม่พอ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะถูกอกถูกใจแฟนฟุตบอลชาวไทย คือการที่ ง็อก ไฮ คนดีคนเดิมที่เป็น ‘ตัวสุดท้าย’ ซึ่งอยู่ในไลน์กองหลัง จนทำให้ สารัช อยู่เย็น หลุดกับดักล้ำหน้า แล้วเข้าไปยิงผ่าน ดัง วัน ลัม เข้าประตูไป

2 จังหวะนี้ทำให้ ง็อก ไฮ กลายเป็นขวัญใจของชาวช้างศึกแบบเต็มๆ

[ 4 ] ทัวร์นาเมนต์ของ ธีราทร อย่างแท้จริง

แม้ว่า อาเซียน คัพ 2022 จะยังเหลืออีกหนึ่งนัดให้ลุ้นต่อที่สนามกีฬาธรรมศาสตร์-รังสิต ในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม

ทว่าทัวร์นาเมนต์นี้เป็นรายการที่ ‘ผู้เล่นยอดเยี่ยม’ คงไม่มีไปไหน เพราะไม่มีใครโดดเด่นเกิน ธีารทร บุญมาทัน กัปตันทีมชาติไทย 

แม้ว่า ธีรศิลป์ แดงดา จะซัดไป 6 ประตู สะสมสกอร์รวมดาวซัลโวสูงสุดไปไกล หรือฝั่งเวียดนาม ก็มี เหงียน เทียน ลินห์ ที่ยิงเท่ากัน หรือแม้แต่ โด ฮุง ดุง หัวหน้าทีมของทัพดาวทองที่ผลงานแจ่มจัดตั้งแต่รอบแรก

แต่ทุกคนไม่มีใครทาบรัศมี ธีราทร ได้เลย

นับถึงรอบชิงชนะเลิศนัดแรก นักเตะวัย 32 ปี ทำไปแล้ว 6 แอสซิสต์ อันเป็นจำนวนมากที่สุดของทัวร์นาเมนต์

ในบทบาทกองกลาง ธีราทร ทำให้เขาเหมือนเป็นคอนดักเตอร์ (Conductor) หรือวาทยกรแห่งออร์เคสตร้า (Orchestra) ผู้ควบคุมวงดนตรีให้กลมกล่อมไปกับบทเพลงบรรเลงใจ

แผงมิดฟิลด์ของไทย ก็เช่นกัน การที่ไทย มีแชมป์ เจลีก 2019 ยืนอยู่ ทำให้เกมรับและรุกของทัพช้างศึกมีความสมดุล การต่อบอลไหลลื่นและเพลินตา

ส่วนคู่แข่งก็ต้องพบกับความยากลำบาก เพราะว่า ธีราทร เป็นนักเตะที่อ่านจังหวะได้ดีมากๆ เขาไม่จำเป็นต้องวิ่งเยอะ หากแต่ใช้สมองและประสบการณ์ดักทางเอา โดยมี สารัช อยู่เย็น กับ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี คอยประคอง 

[ 5 ] เอกนิษฐ์ ขออีกนิด-ปรเมศย์แววไกล

ในเกมบุกไปเสมอกับเวียดนาม ได้ถึงถิ่น 2-2 ทั้งๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพสนามที่เป็นอุปสรรคใหญ่ แถมยังต้องเจอการเตะหนักและวิ่งไล่บดจากเจ้าถิ่น ถือเป็นผลการแข่งขันที่น่าพอใจ

ผู้เล่นหลายๆ คนทำผลงานได้โดดเด่น ไล่ตั้งแต่ ธีราทร บุญมาทัน กับการคุมจังหวะของเกมได้เนียนตา และยังทำไป 2 แอสซิสต์ อีกด้วย ขณะที่ สารัช อยู่เย็น กับ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี ก็ช่วยให้แดนกลางของไทย เหนือกว่าทีมดาวทองอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ อดิศักดิ์ ไกรษร ก็ทดแทนการหายไปของ ธีรศิลป์ แดงดา ได้น่าประทับใจ กับการพักบอลและอัดกับแนวรับเวียดนาม ได้อย่างเต็มเหนี่ยว

ทว่าที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ปรเมศย์ อาจวิไล ศูนย์หน้าวัย 24 ปี ที่ผลงานเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

หัวหอกจาก เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้ออกสตาร์ตเป็นตัวจริงเป็นนัดแรกของทัวร์นาเมนต์ และก็ประสานงานกับ อดิศักดิ์ ได้ดีในแดนบน หรือจะต่อบอลกับบรรดาแผงมิดฟิลด์ก็ทำได้เยี่ยมเช่นกัน

ประตูตีเสมอ 1-1 ซึ่งเป็นการทำสกอร์เป็นลูกแรกในนามทีมชาติไทย ปรเมศย์ ก็แสดงให้เห็นถึงความเฉียบขาดและเยือกเย็น ซึ่งนั่นจะทำให้ต่อจากนี้เขาจะเริ่มมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

ส่วนอีกคนที่ผลงานดี แต่น่าเสียดายนิดๆ ตรงที่เกือบจะเป็นฮีโร่ยิงประตูชัย นั่นคือ เอกนิษฐ์ ปัญญา อีกหนึ่งนักเตะจาก เมืองทอง ยูไนเต็ด

แนวรุกวัย 23 ปี มีคุณสมบัติที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นชั้นนำของประเทศแบบครบถ้วน

ทักษะสูง, เซ้นส์ฟุตบอลเหลือร้าย, ฉลาดเล่น และอื่นๆ อีกมากมาย ทว่าสิ่งที่เด็กหนุ่มจากจังหวัดเชียงราย ยังขาดคือ ‘ความมั่นใจในการจบสกอร์’

เอกนิษฐ์ ทำผลงานได้ดีมาตั้งแต่นัดแรก จนได้รับความไว้วางใจจาก อเล็กซานเดร โพกิ้ง ให้ลงเป็นตัวจริง 6 นัด ติดต่อกัน ก่อนจะถูกดร็อปในนัดชิงชนะเลิศด้วยเรื่องของแท็กติก

การที่โค้ชมั่นใจให้ลงเล่นอย่างต่อเนื่องแบบนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเก่งกาจเพียงใด ซึ่งในทัวร์นาเมนต์นี้เจ้าตัวก็ทำได้เยี่ยมทีเดียว แต่ขาดเรื่องจังหวะสุดท้ายที่ยังไม่เฉียบคมเท่านั้น

ทว่าในวัย 23 ปี หนทางข้างหน้าของ เอกนิษฐ์ ยังอีกยาวไกล มันเป็นเรื่องที่ค่อยๆ ปรับแก้กันได้ และเมื่อไหร่ที่เขาสามารถลบความผิดพลาดของตนเองสำเร็จ เมื่อนั้นเราจะได้เห็นซูเปอร์สตาร์ของวงการลูกหนังไทย คนต่อไปแบบไม่ต้องไร้ข้อกังขา

คอยดูเถอะว่า วันใดวันหนึ่งข้างหน้า เอกนิษฐ์ นี่แหละจะได้ไปเล่นที่ เจลีก หรือลีกที่มาตรฐานสูงกว่า ไทยลีก อย่างแน่นอน

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.