Football Sponsored
Categories: ฟุตบอล

จิตกร Review : “The End of The Storm” ภาพยนตร์ฟุตบอล ที่คนไม่ดูฟุตบอลก็ควรดู

Football Sponsored
Football Sponsored

ถ้าหากคุณเป็นแฟนบอล ลิเวอร์พูล … คุณคาดหวังอะไรบ้างจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ?

คิดแบบเร็ว ๆ ผมอยากเห็นบรรยากาศในห้องแต่งตัว ช็อตคำรามแยกเขี้ยวใส่นักเตะของ เยอร์เกน คล็อปป์ ปลุกเร้าในเกมยากลำบากกลับมาชนะได้ แบบเอ็กซ์คลูซีฟไปเลย

เหตุผล คือ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ลิเวอร์พูล เจอ เรดบูล ซัลซ์บวร์ก แล้วช่วงนั้นทีมดังออสเตรียมีถ่ายทำสารคดี เผยทุกคำของกุนซือ เจสซี่ มาร์ช พอคล็อปป์ได้เห็น จึงบอกสั้น ๆ ว่า ถ้าสโมสรปล่อยให้เผยแพร่ภาพแบบนี้ ผมคงต้องลาออก ! 

แค่อยากรู้ครับว่า พอต้องมาโดนเปิดเผยจริง ๆ เจเคจะรู้สึกอย่างไร ?

คำตอบคือ … ไม่มีครับ ไม่มีซีนอารมณ์ห้องแต่งตัวระหว่างแข่งขัน ยอมรับว่าผิดคาดเล็กน้อย เพียงแค่สิ่งได้รับมา ผมถือว่าเกินคาด 

The End of The Storm คือเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ลิเวอร์พูล รำลึกถึงความรู้สึกคว้าแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 30 ปี 

เจมส์ เออร์สคีน (The Ice King, Billie, One Night in Turin, Le Mans: Racing is Everything) ในฐานะผู้กำกับ ร่ายเรียงเรียบง่ายทว่ามีประสิทธิภาพ 

การเล่าเรื่องมีสไตล์ของตัวเอง ฉับไว โฉบเฉี่ยว แถมมีกิมมิคเล็ก ๆ คือใช้ตัวการ์ตูนดำเนินเรื่องในบางช่วงบางตอน เพิ่มมิติมากขึ้น

แน่นอนครับ เยอร์เกน คล็อปป์ คือพระเอก บทสัมภาษณ์ทรงพลังช่วยปลุกให้คุณอยากลุกขึ้นสู้เดี๋ยวนั้นด้วยซ้ำ แถมหลายประเด็นยังเจาะถึงความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีความคิดความอ่านสุดลึกล้ำ

แค่ซีนแรกโผล่ออกมา บอกไว้ก่อนครับ ใครใจไม่แกร่งพอ ร้องไห้ตามเอาง่าย ๆ

เจเคย้ำเสมอว่าเขาไม่ใช่คนเก่ง ฉะนั้นต้องหาคนเก่ง ๆ มาอยู่รอบตัวเพื่อเดินหน้าบรรลุเป้าหมาย แต่สิ่งพิเศษ คือ เขาเก่งในการพาคนเหล่านั้นมารวมตัวกันได้ 

เรื่องราวครอบครัวจาก “ป่าดำ” เขากับคุณพ่อมีเวลาด้วยกันน้อยเกินไป ไม่ค่อยพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ช็อตนี้ใคร “อิน” เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย คงเหมือนเรานั่งดูชีวิตตัวเอง

ไม่ยอมคุยกัน แอ็คท่าใส่กัน ทั้ง ๆ รู้ว่าต่างคนต่างหวังดี แต่อีโก้จัดเหลือเกิน สุดท้ายในวันประสบความสำเร็จ พ่อไม่อยู่แล้ว !

ถ้าจำไม่ผิด แววตาคล็อปป์มีน้ำตารื้นออกมา

เราได้เห็นบทสัมภาษณ์อีกหลายคนอันแสนธรรมดาสุดวิเศษ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ฝ่าฟันจากวันแรกถึงวันชูถ้วยอย่างไร 

โดนตัดสิน, โดนวิจารณ์, โดนเหมารวมว่าไม่ดีพอ ทว่าสุดท้ายคนมอบถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกให้ คือ คนซื้อตัวเขามาจากซันเดอร์แลนด์

บ๊อบบี้ ฟีร์มีโน่, อลีสซง เบ็คเกอร์ คู่หูแซมบ้าผู้พลิกอารมณ์ร่วมให้ทีมมุ่งมั่นเอาแชมป์สโมสรโลกให้ได้ ทั้ง ๆ ก่อนหน้านี้ แทบไม่มีใครสนใจถ้วยกลางซีซั่นด้วยซ้ำ

เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค แสดงความเป็นผู้นำในทีมยังไง จึงได้รับเสียงชื่นชม หรือ ซาดิโอ มาเน่ เหงาแค่ไหน เพราะไม่มีเมีย ! 

บทสัมภาษณ์ทุกคน ออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ ด้วยภาษาตัวเอง ตรงนี้ยอมรับครับว่าเจ๋งจริง เจมส์ เออร์สคีน บอกว่า เขาตั้งใจให้ทุกคนพูดภาษาตัวเอง เพื่อให้ได้ความรู้สึกที่แท้จริง โชคดีที่โปรดิวเซอร์เรื่องนี้คือ เรเชล แรมซีย์ พูดได้ทั้ง อังกฤษ, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส 

การดำเนินเรื่อง เต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะประเด็นโคโรนาไวรัส เล่นงานโลกของเราอย่างหนักหน่วง ทีมงานเจอผลกระทบทั้งหมด โปรแกรมถ่ายทำยกเลิก, ตัวละครแฟนบอลเปลี่ยนกลางคัน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเต็มไปหมด

มันสื่อถึง “มรสุม” คล้ายคลึงกับช่วงลิเวอร์พูลเดินหน้าไล่ล่าความสำเร็จชิ้นโต ในสนามฟุตบอลว่ายากแล้ว นอกสนามยากไม่แพ้กัน 

อีกอย่างที่ผมชอบคือ ซับภาษาไทย แปลได้ถึงอารมณ์แฟนบอลเหลือเกิน รู้เลยว่าละเอียดแค่ไหน เพราะคุณไม่มีทางเจอคำแปลอย่าง “ร็อบโบ้แม่งกาก” หรือ “ร็อบโบ้โคตรดีดทั้งเกม” ในหนังฟุตบอลอื่นแน่ ๆ

เสน่ห์หนังเรื่องนี้ คือความจริงเหล่านี้ครับ

ความจริงแม้เรารู้จุดลงเอยด้วยความสำเร็จ กระนั้นระหว่างทางพวกเขากอดคอเดินลุยมาด้วยกันอย่างไร ระหว่างเจอคำสั่งล็อกดาวน์ ทุกคนเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกันมากแค่ไหน

หรือแม้แต่จิตวิทยาจากนักโต้คลื่นระดับโลก มีผลต่อทีมลิเวอร์พูลขนาดนั้นเชียวหรือ ?

ว่ากันในนามคนดูหนังทั่วไป จริง ๆ มันไม่ใช่หนังฟุตบอล หรือ สารคดีกีฬาด้วยซ้ำ แต่มันคือหนังชีวิตของทุกคนครับ 

ชีวิตที่เคยฝ่าฟันอุปสรรค​, ชีวิตที่เชิดหน้าสู้ในวันห่วยแตก, ชีวิตที่ล้มเหลวเพื่อกลับมาสำเร็จ

และระหว่างทางนั้น​ ทุกชีวิตไม่เคยเดินเดียวดาย

ส่วนถ้าจะว่าด้วยความเป็นแฟนลิเวอร์พูล คำถามพวกควรดูรึเปล่า ? และมันน่าดูแค่ไหน ? อันนี้ไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย

คำตอบสำหรับผมคือ เดอะ ค็อป “ต้อง” ดูเรื่องนี้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด … มัน คือ หนังที่ต่อให้คุณไม่ใช่แฟนฟุตบอล แต่อยากได้แรงบันดาลใจในชีวิต

ภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณต้องดู ! 

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.