คีนควงริชาร์ดส์จวกแหลก!วีเออาร์ริบประตูคาวานี่
รอย คีน อดีตแข้งดังชาวไอร์แลนด์ ไม่ปลื้มกับการตัดสินของกรรมการ และระบบวีเออาร์ ในจังหวะที่ริบประตูของ เอดินสัน คาวานี่ ในครึ่งแรกเกมที่ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ พบ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
รอย คีน ตำนานกองกลางกัปตันทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ออกโรงจวกจังหวะที่ “วีเออาร์” ริบประตูของ เอดินสัน คาวานี่ กองหน้าจอมเก๋าในครึ่งแรก แมตช์ระหว่าง ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ พบ “ปีศาจแดง” ศึกพรีเมียร๊ลีก อังกฤษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา
จังหวะดังกล่าวเริ่มจากที่ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ ได้บอล และแตะหลบ ซน ฮึง-มิน ก่อนส่งให้ ปอล ป็อกบา ที่บรรจงผ่านบอลให้ คาวานี่ ซัดผ่านมือ อูโก้ โยริส เข้าไป แต่เมื่อมีการเช็ควีเออาร์แล้วปรากฎว่ามือของ แม็คโทมิเนย์ ไปฟาดใบหน้าสตาร์ทีมชาติเกาหลีใต้ ทำให้กรรมการเปลี่ยนคำตัดสินไม่ให้ประตูเนื่องจากมีการทำฟาวล์ในจังหวะดังกล่าว
คีน แสดงความเห็นนี่เป็นการตัดสินที่น่าอับอายที่สุด “ผมแปลกใจจริงๆ ถ้าหากจังหวะนี้ฟาวล์ เราควรจะกลับบ้านกันดีกว่า มันแปลกประหลาดที่สุด สำหรับนักเตะอย่าง ซน ที่ดิ้นแบบนั้นมันน่าอายจริงๆ นั่นไม่ใช่จังหวะฟาวล์แน่นอน”
“หากจะให้พูดกันแบบแฟร์ๆ แรชฟอร์ด ก็ทำแบบนั้นช่วง 2 นาทีก่อนหน้านี้ ทั้งสองจังหวะนักเตะทั้งคู่ลงไปนอนกลิ้งและกรี๊ดร้องด้วยความเจ็บปวด กรรมการต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันสูงมาก พวกเขาเกิดความสงสัยในทุกๆ การตัดสินของพวกเขา แต่มันชัดเจนว่าจังหวะนั้นเขาทำผิดพลาด” คีน กล่าว
ขณะที่ ไมกาห์ ริชาร์ดส์ เห็นด้วยกับ “คีโน่” โดยกล่าวว่า “มันน่าอายจริงๆ นี่ไม่ใช่ฟุตบอลอีกต่อไปแล้ว เราได้แต่หัวเราะ และก็ขำจริงๆ เกมฟุตบอลถูกสปอยเยอะมาก ผมไม่สามารถจดจำเกมแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว แน่นอนว่ามันเป็นการตัดสินที่ตลกสิ้นดี และเป็นการสปอยวงการฟุตบอล”
อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
ฟุตบอลฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง
This website uses cookies.