Football Sponsored
Categories: ฟุตบอล

ย้อนรอยตำนานไทยลีก : ไมเคิล เบิร์น ราชาไร้บัลลังก์

Football Sponsored
Football Sponsored

ในยุคสมัยที่ฟุตบอลไทยยังไม่เฟื่องฟู ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นนักเตะยุโรปจะย้ายมาค้าแข้งในไทยลีก ยิ่งการจะสร้างชื่อเป็นตำนานก็แทบเป็นไปไม่ได้

แต่ดาวเตะชาวเวลส์ที่ตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาหาความท้าทายกับอาชีพฟุตบอลในประเทศไทยสามารถทำสิ่งนั้นได้ เขาคือ ไมเคิล เบิร์น…

ไมเคิล เบิร์น เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังเป็นเด็กฝึกหัดของ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมดังของอังกฤษ ก่อนจะเซ็นสัญญาอาชีพเต็มตัวกับ สต็อคปอร์ท เคาน์ตี้ อย่างไรก็ตามการเล่นลีกอาชีพในยุโรปของเขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เบิร์น ถูกปล่อยให้ ลีห์ อาร์เอ็มไอ หรือ ลีห์ เจเนซิส ในปัจจุบัน ยืมตัวก่อนจะถูกต้นสังกัดอย่าง สต็อคปอร์ท เคาน์ตี้ ยกเลิกสัญญา และย้ายไปอยู่กับ นอร์ธวิช วิคตอเรีย ซึ่งเป็นทีมในลีกสมัครเล่นของ อังกฤษ

Editor Picks

  • ดาวซัลโวไทยลีก 2020 : โรลเลอร์นำแข้งไทย, มูริลโลตามทาร์เดลี
  • Thai League Top Assists : สรุปอันดับจอมแอสซิสต์ไทยลีก
  • โปรแกรมถ่ายทอดสดฟุตบอล – ดูบอลสดคืนนี้ (พรีเมียร์ลีก, ไทยลีก, ลาลีกา, บุนเดสลีกา, แชมเปี้ยนส์ลีก, ฯลฯ)
  • IN NUMBERS : ลิโอเนล เมสซี ยิงได้กี่ประตูในชีวิตค้าแข้ง?

ช่วงหนึ่ง เบิร์น เคยถูกเรียกติดทีมชาติเวลส์ รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี รวมถึงทีมชาติเวลส์ ชุดบี ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่เขาประทับใจไม่ลืมกับการได้รับใช้บ้านเกิด แต่หนทางอาชีพในระดับสโมสรไม่ได้ราบรื่น ทำให้เขาตัดสินใจเผชิญความท้าทายใหม่เมื่อเดินทางข้ามโลกมาประเทศไทย ซึ่งเวลานั้นฟุตบอลไทยยังไม่เป็นอาชีพเต็มตัวที่มีเงินหนาเหมือนปัจจุบัน ดังนั้นการมีนักเตะยุโรปสักคนบินมาเล่นลีกอาชีพเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่แค่สไตล์ฟุตบอลที่ต่างกัน แต่เรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่หลายสโมสรยังไม่กล้าทุ่มซื้อแข้งยุโรป โดยเฉพาะนักเตะโนเนมที่ไม่มีใครรู้จักอย่างเขา

แต่แล้วโชคชะตาเหมือนขีดเขียนให้เขาเป็นว่าที่ตำนานไทยลีก เมื่อได้เซ็นสัญญากับ นครปฐม เอฟซี เป็นสโมสรแรกในไทย แต่ตอนเริ่มแรกเขาแปลกใจกับระบบการจ่ายเงินของสโมสร เพราะเพิ่งรู้ว่า ทีมในไทยจ่ายค่าเหนื่อยเป็นรายเดือนต่างจากยุโรปที่จ่ายเป็นสัปดาห์ แต่เขาโฟกัสกับฟุตบอลเท่านั้นจึงไม่ติดใจอะไร และเปิดรับโอกาสนั้นเพื่อนับหนึ่งกับฟุตบอลอาชีพในแดนสยาม

เขาสามารถเล่นได้ทั้งกองหน้า และกองกลาง เพียงทีมแรกเขาจัดการโชว์ฟอร์มเปรี้ยงปร้างกับคลาสบอลเหนือชั้นที่ดูเหมือน นครปฐม จะเล็กเกินไปสำหรับเขา ทำให้ต่อมา ชลบุรี เอฟซี มหาอำนาจลูกหนังไทยในตอนนั้นทุ่มคว้าเขาไปร่วมทัพเพื่อแทนที่ สุรัตน์ สุขะ กองกลางที่ย้ายไปเล่น เมลเบิร์น วิคตอรี่ ใน เอลีก ออสเตรเลีย

การมาของเขาในสีเสื้อ ชลบุรี คือช่วงเวลาที่ชื่อของ ไมเคิล เบิร์น เป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้น และเมื่อได้ลงโชว์ฝีเท้าในสนาม เบิร์น ไม่ต่างจากสัญลักษณ์ ฉลามชล ในยุคนั้น ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่เสียงเรียกชื่อ ไมเคิล เบิร์น เทียบเคียงกับบรรดาผู้เล่นไทยฝีเท้าดีในทีมภายใต้การคุมทีมของ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ซึ่ง เบิร์น เคยยอมรับว่า นั่นคือช่วงเวลาที่เขามีความสุข และมีความมั่นใจกับฟุตบอลอย่างเต็มเปี่ยม

“ตอนที่ผมอยู่กับชลบุรี (2009) ที่คุมทีมโดย ‘ซิโก้’ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ตอนนั้นผมเล่นได้ดีจริง ๆ และความมั่นใจก็เต็มเปี่ยม”

“ทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลมันลงตัวไปหมด ไม่ว่าจะการฝึกซ้อม หรือเกมในสนาม รวมไปถึงความสัมพันธ์ของผมกับโค้ชด้วย”

ตลอดช่วงเวลากับ ฉลามชล แม้จะไม่มีแชมป์ติดมือ แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ดาวเตะชาวเวลส์ไต่ระดับจากแข้งโนเนมเป็นกองกลางฝีเท้าดีแถวหน้าของลีก และนั่นคือสาเหตุที่ บางกอกล๊าส เอฟซี หรือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน ทุ่มดึงเขาไปร่วมทีม ซึ่งเดิมที่ บางกอกกล๊าส ติดตามดูฟอร์มของเขามาตั้งแต่สมัย นครปฐม แล้ว

หลังย้ายสู่รัง กระต่ายแก้ว เบิร์น ยังเป็นที่นิยม และเป็นที่รักของแฟนบอล การผ่านบอลของเขายังแม่นยำบวกกับเซนส์ยิงประตูยังเฉียบคมเหมือนเดิม แต่ดูเหมือนความสุขใน ลีโอ สเตเดียม จะสั้นไปสักหน่อย เพราะในปี 2011 เขาไม่อยู่ในแผนการทำทีม ก่อนตัดสินใจย้ายไปอยู่กับ ชัยนาท ฮอร์นบิล แบบสุดเซอร์ไพร์ส ด้วยสัญญาระยะสั้น 6 เดือน

แม้ช่วงแรก เบิร์น เจออาการบาดเจ็บเล่นงาน และมีปัญหาเรื่องความฟิต แต่เขาก็ยังกลับมาสมบูรณ์จนได้รับการต่อสัญญา และกลายเป็นแข้งคนสำคัญของ นกใหญ่พิฆาต ตลอด 2 ฤดูกาล อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นชีพจนลงเท้าย้ายสู่ลีกล่างกับ อยุธยา เอฟซี ก่อนที่ปี 2015 จะย้ายสู่ หัวหิน ซิตี้ และเป็นปีสุดท้ายสำหรับเขาบนเส้นทางค้าแข้งในเมืองไทย

ต้นปี 2016 เบิร์น ตัดสินใจอำลาการค้าแข้งในไทยเพื่อกลับยุโรป ปิดฉาก 7 ปี กับวันแรกที่เริ่มต้นสู่ตำนานไทยลีก

“ที่สุดก็ถึงเวลาบอกลาบ้านหลังที่สองของผม.. ผมต้องขอขอบคุณทุกๆคนสำหรับแรงสนับสนุนและความช่วยเหลือต่างๆตลอด 7 ปี แห่งความสุขและความสำเร็จของผมที่เมืองไทย”

“ผมไม่มีทางที่จะลืมแฟนๆและเพื่อนที่แสนวิเศษทุกๆคนที่นี่ พวกคุณจะยังอยาในหัวใจของผมตลอดไป..แต่ถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องออกเดินทางต่อ พร้อมเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆที่รอผมอยู่ข้างหน้าในฐานะ ”นักฟุตบอลอาชีพ” ต่อไป..”

ไมเคิล เบิร์น กลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งก่อนหน้านั้นช่วงแรกที่เขากลับยุโรป เบิร์น ยังมีความคิดที่จะค้าแข้งต่อไป แต่ค่าตอบแทนที่จะได้รับนั้นน้อยนิด ประกอบกับเขามีภาระหน้าที่ดูแลครอบครัว ทำให้ตัดสินใจแขวนสตั๊ด และมุ่งหน้าทำธุรกิจเกี่ยวกับขายเสื้อผ้าออนไลน์ ที่ปัจจุบันกำลังไปได้สวย

และล่าสุดเป็นข่าวดีสำหรับแฟนบอลที่ยังคิดถึงเขา เพราะ เบิร์น กำลังจะกลับมาประเทศไทยเพื่อสร้างอคาเดมีลูกหนัง อาจเป็นย่าน เกษตร-นวมินทร์ หรือ ลาดพร้าว เดิมทีเป็นแพลนที่เขาวางไว้ตั้งแต่ปี 2020 แต่เหตุผลเรื่องโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้ แต่เร็วๆนี้เราจะได้เห็นเขาแน่นอน ซึ่งอคาเดมีนี้ เบิร์น ร่วมมือทำกับเพื่อนซี้ออย่าง จักรพันธ์ พรใส และแขกสุดพิเศษ พี่ตูน บอดีสแลม หนึ่งในแฟนบอลที่ชื่นชอบตัวเขา ก่อนจะกลายเป็นเพื่อนซี้ ที่จะมาเป็นแอมบาสเดอร์อคาเดมีแห่งนี้

อย่างไรก็ตามแม้จะถูกยกย่องเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เข้ามาสร้างสีสันฝากฝีเท้าจนกลายเป็นตำนานไทยลีก แต่ เบิร์น มีเรื่องค้างคาใจที่เขายังคงรู้สึกเสียดายมาจนทุกวันนี้…

“ตลอด 7 ปี ผมมีโอกาสเล่นให้หลายสโมสรในไทย มันเป็นความทรงจำที่ดี แต่มีสิ่งที่ผมเสียดายมากที่สุดที่ยังทำไม่ได้คือการที่ผมไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆที่นั่นได้เลย”

“ตอนอยู่กับ ชลบุรี เอฟซี ในฤดูกาล 2009 ผมมีโอกาสเข้าใกล้แชมป์ไทยลีก องค์ประกอบทุกอย่างพร้อม และมีศักยภาพมากพอ แต่เราผิดพลาดในช่วงท้ายจนต้องพลาดแชมป์ไป(ฉลามชล จบรองแชมป์ ส่วนเมืองทองฯ คว้าแชมป์ไปครองมีคะแนนห่างกันเพียง 3 คะแนน) หลังจากนั้นปี 2010 ชลบุรี ได้แชมป์เอฟเอ คัพ แต่ปีนั้นผมย้ายไป บีจี(บีจี ปทุม ยูไนเต็ด) พอดีเลยไม่ได้มีโอกาสคว้าแชมป์กับทีม”

“มันเป็นความรู้สึกที่ทำให้ผมยังเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้” ไมเคิล เบิร์น กล่าวปิดท้าย

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.