Football Sponsored
Categories: ฟุตบอล

วิพากษ์ เซาธ์เกต – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

ตอน แกเร็ธ เซาธ์เกต เข้ามาคุมทีมชาติอังกฤษใหม่ๆ

    ถ้ามีใครมาบอกว่ากุนซือมาดภารโรงผู้นี้นี่แหละคือคนที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลกและยูโรมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 1966 

    ผมคงสำรากเสียงหัวเราะออกมาเบาๆ พลางรำพึงรำพันในลำคอว่า… “มาเธอร์ฟัคเกอร์”

    แต่พลพรรคสิงโตคำรามกลับทะลุเข้าถึงรอบตัดเชือก ฟุตบอลโลก 2018 แบบพลิกความคาดหมายพอสมควร ซึ่งถือได้ว่าเป็นความดีความชอบของ แกเร็ธ เซาธ์เกต 

    ต่อเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด คุณก็จะพบว่า อังกฤษ มีจังหวะและเส้นทางที่เป็นใจเช่นกัน

    เพราะรอบแรกก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ “ฮาร์ดคอร์” พร้อมกับคู่แข่งที่น่าขามเกรงอะไรมากนัก 

    แถมเส้นทางในรอบน็อคเอาต์ยังสะดวกโยธินอีกต่างหาก

    พวกเขาพบ โคลอมเบีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย, สวีเดน ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และโครเอเชีย ในรอบตัดเชือก ทว่าเอาโอกาสเข้าชิงฯ ไปทิ้งลงโถส้วมอย่างน่าเสียดาย 

    เข้าใจครับว่าฟอร์มการเล่นของ โครเอเชีย และนาทีนั้นกำลังกระฉูดแตกพอดี แต่ทีมตราหมากรุกก็ไม่ใช่ทีมชาติที่ชื่อชั้นและศักดิ์ศรีสูงส่งอย่าง บราซิล, อาร์เจนติน่า, สเปน, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, เบลเยี่ยม, อิตาลี, ฮอลแลนด์ หรือ โปรตุเกส สักหน่อย
มันน่าเสียดายและน่าเจ็บใจมิใช่น้อยที่อดเข้าชิงฯ 

    หลังจากนั้น อังกฤษ จากการทำงานของ “เฮียเกตุ” ก็ทำผลงานได้ไฉไลในฟุตบอลรายการใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดอย่าง ยูฟ่า เนชั่น ลีก ครั้งแรก

    การที่ศึก ยูโร 2020 ถูกพิษโควิดเล่นงานจนต้องเลื่อนมาเผดียงแข้งกันในปี 2021 มันน่าจะส่งผลดีต่ออังกฤษนะครับ อย่างน้อยอายุของดาวรุ่งมากขึ้นอีก 1 ปี และมีประสบการณ์มากขึ้น 

    ผู้เล่นที่เจ็บหนักก็หายเจ็บกลับมาช่วยทีมชาติ อังกฤษ เหมือนเป็นเจ้าภาพแบบกลายๆ มิหนำยังเป็นอีกครั้งที่ “จังหวะ” และ “เส้นทาง” เข้าข้างพวกเขาพลางยักคิ้วให้

    สุดท้ายได้แค่ “รองแชมป์” อย่างน่าปวดใจทั้งๆ ที่ไม่เคยแพ้ทีมใดในเกมตลอดทัวร์นาเมนต์

    ข้อเสียที่ท่านผู้ชมทางบ้านอย่างผมมองเห็นด้วยตาเปล่าในการทำงานของ แกเร็ธ เซาธ์เกต คือเขาวางแผนให้ลูกทีมเล่นแบบเน้นผลการแข่งขันด้วยการเล่นอย่างระมัดระวังมากเกินไปหน่อยจนไม่กล้าเล่นเกมรุกเท่าที่ควร 

    เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงศักยภาพผู้เล่นของสิงโตคำรามชุดนี้ที่อุดมด้วยตัวรุกที่ฝีเท้าจัดจ้านทั้งนั้น

    บางนัดเพิ่มความ “เพลย์เซฟ” มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนระบบการเล่นเป็น “หลังสาม” ซึ่งเคยใช้ได้ผลในฟุตบอลโลก 2018 เพื่อให้เกมรับมีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ใน “ข้อเสีย” กลับแฝงไว้ด้วย “ข้อดี” 

    พี่แกเป็นกุนซือสายพันธุ์เดียวกับ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่มีความละเอียดและรอบคอบ แถมมีความระมัดระวังสูง รวมถึงขี้ระแวง  หรือพูดอีกอย่างว่า “ปอดแหก” นั่นแหละ

    นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ผมทั้งรักและทั้งเกลียดอีกอย่างคือการยึดมั้นและถือมั่นในแนวทางของตัวเองแบบมึนๆ โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของแฟนๆ หรือสื่อมวลชน เช่นเดียวกับที่ไม่สะทกสะท้านกับคำวิพากษ์-วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น !!!

    ที่สำคัญคือการตัดสินใจที่เด็ดขาด ไม่สองจิตสองใจ ไม่ใจดี และไม่ขี้เกรงใจลูกทีมมากเกินไป

    ย้อนกลับไปในเกมแรกของทัวร์นาเมนต์ แกเร็ธ เซาธ์เกต กระชากเสียงฮือฮาในการจัดผู้เล่น 11 ตัวจริง โดยกล้าที่จะเอาแบ็คขวาอย่าง คีแรน ทริปเปียร์ ไปเล่นเป็นแบ็คซ้ายซะอย่างนั้น ทั้งที่ในทีมมีแบ็คซ้ายธรรมชาติอย่าง ลุค ชอว์ และ เบน ชิลเวลล์ อยู่ถึง 2 คน 

    2 นัดแรกในรอบแบ่งกลุ่ม ไทโรน มิงส์ ลงเล่นเป็นเซ็นเตอร์แบ็คแบบไม่มีข้อบกพร่องจนได้รับคำชมล้นหลาม แต่เมื่อเจ้าของตำแหน่งตัวจริงอย่าง แฮร์รี่ แม็กไกวร์ หายเจ็บกลับมา กุนซือสิงโตคำรามก็ตัดปราการหลังจาก แอสตัน วิลล่า ออกจากตำแหน่งตัวจริงแบบไม่มีอิดออด ขณะที่กุนซือบางคนอาจลังเล และตัดสินใจไม่ถูก

    ในเกมรอบตัดเชือก หลังจากที่ อังกฤษ ขึ้นนำเป็น 2-1 ได้สำเร็จ คุณพี่เขาถอดตัวสำรองอย่าง แจ็ค กรีลิช ที่เพิ่งลงมาเป็นตัวสำรองออกจากสนาม เพื่อส่งกองหลังอย่าง คีแรน ทริปเปียร์ ลงมาแทนด้วยต้องการเกมรับพลางปรับระบบเป็น “หลังสาม”

    หลังดวลจุดโทษพ่าย อิตาลี ที่ เวมบลี่ย์ แกเร็ธ เซาธ์เกต ถูกตำหนิอย่างจงหนักเรื่องการส่งมือสังหารที่เตรียมไว้สำหรับการยิงจุดโทษโดยเฉพาะอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด กับ เจดอน ซานโช่ ลงมาช้าไปจนไม่มีเวลาปรับตัว รวมถึงการให้เด็กหนุ่มวัยละอ่อนแค่ 19 ขวบอย่าง บูกาโย่ ซาก้า รับหน้าที่เพชฌฆาตคนสุดท้าย…ซะอย่างนั้น

    แต่ผู้ชมทางบ้านอย่างผมมองว่าคุณพี่เขาทำถูกต้องแล้ว ในเมื่อวางลำดับเอาไว้แบบนั้นในการฝึกซ้อม แสดงให้เห็นว่าเตรียมตัวมาอย่างรอบคอบแล้ว มันก็ไม่ควรเปลี่ยนใจกลางคัน เพียงแต่ผลลัพธ์ดันไม่ออกมาเหมือนที่ซ้อมกันเอาไว้เท่านั้นเอง 

    เข้าใจครับว่าความกดดันในการฝึกซ้อมกับแข่งจริงมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

    แต่การซ้อมยิงจุดโทษ โดยวางตัวและวางลำดับเรียบร้อยย่อมดีกว่าการก้าวออกมายิงแบบตามบุญตามกรรม โดยไม่เตรียมตัวเอาไว้ก่อน  

    ชัดเจนที่สุดคือ ราฮีม สเตอร์ลิง นักเตะคู่บุญ-คู่บวชของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ที่ลงตัวจริงทั้ง 7 นัด

    เอากันตรงๆ ฟอร์มการเล่นโดยรวมของดาวเตะตูดงอนผู้นี้ก็ไม่ได้เลอเลิศอะไรมากนักหรอก แต่มักจะอยู่ถูกที่และถูกเวลา แล้วทำประตูได้เสมอ

    ว่าแล้วก็ทำไป 3 ประตู โดยเป็นประตูชัย 2 ครั้ง บวกประตูเบิกร่องในเกมสำคัญกับ เยอรมัน แถมเรียกจุดโทษให้ทีมเอาชนะคู่แข่งในรอบตัดเชือก ขอบอกว่า ราฮีม สเตอร์ลิง นี่แหละครับที่สะท้อนตัวตนของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ออกมาอย่างคมชัด คือไม่มีบารมีและไม่มีอะไรหวือหวา ทว่าทำประโยชน์

    อย่างไรก็ตามหากมองไปที่แผนกเกมรุกของสิงโตคำรามชุดนี้ คุณจะพบว่ามันอุดมด้วยดาวเตะฝีเท้าจัดจ้านระดับกินพริก 300 เม็ดก่อนลงสนาม น่าเสียดายที่ผู้เป็นกุนซือกลับนำมาใช้แบบไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไหร่ 

    ต่อเมื่อลองทบทวนอย่างถี่ถ้วนดูอีกครั้งก็พบว่าไอ้ความปอดแหกของผู้เป็นกุนซือนี่แหละ คือส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อังกฤษเดินทางไปถึงรอบชิงชนะเลิศ นั่นทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นในหนัง

    สังเกตได้เลยครับว่าไอ้พวกเก่งๆ ไอ้พวกห้าวๆ ประมาณว่า “กูนี่เจ๋งแบบเต็มประดา” มักจะตายก่อนเป็นประจำ เพราะพวกนี้มันจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงจนวู่วามและผลีผลามเกินไป ถ้าเป็นหนังสัตว์ประหลาด มันจะถูกแดกคำเดียวตั้งแต่ต้นเรื่อง

    ถ้าเป็นแสลชฟิล์ม ประเภท Friday the 13th มันจะถูก “เจสัน” เอาขวานจามหัวแบะ เอามีดพร้าแทงทะลุหัวใจ เอาเลื่อยไฟฟ้าหั่นตัวขาด และเอาเครื่องตัดหญ้ายัดเข้าไปในรูตูด เด๊ดห่าแบบง่ายๆ ตั้งแต่ต้นเรื่อง

    ส่วนตัวละครที่ขี้ขลาดตาขาว ชอบหนีเอาตัวรอดมากกว่าปะทะแบบตรงๆ มักจะปลอดภัย เพราะแอบไปหลบอยู่ในตุ่มตลอดทั้งเรื่อง 

    ความปอดแหกของ แกเร็ธ เซาธ์เกต นี่แหละครับช่วยให้เขาทำในสิ่งที่กุนซือคนอื่นของสิงโตคำรามอย่าง ดอน เรวี่, รอน กรีนวู๊ด, เซอร์ บ๊อบบี้ ร็อบสัน, เกรแฮม เทย์เลอร์, เทอร์รี่ เวนาเบิ้ลส์, เกล็น ฮ็อดเดิ้ล, เควิน คีแกน, สเวน โกรัน อีริคส์สัน, สตีฟ แม็คคลาเรน, ฟาบิโอ คาเปลโล่, รอย ฮ็อดจ์สัน และแซม อัลลาไดซ์ ไม่เคยทำสำเร็จ

    หาก อังกฤษ กล้าเล่นเกมรุกมากกว่านี้ บางทีพวกเขาอาจจะพุ่งชนความพ่ายแพ้และตกรอบไปแล้วก็ได้ หรือบางทีก็อาจจะคว้าแชมป์ ยูโร 2020 ไปแล้วก็เป็นได้ ในเมื่อมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

    ที่แน่ๆ คือ แกเร็ธ เซาธ์เกต ได้รับประสบการณ์ในการคุมทีมมากขึ้นแล้วน่าจะเอาข้อผิดพลาดไปปรับปรุงและแก้ไขให้มันดีขึ้นในลำดับต่อๆ ไป 

    นอกจากนี้ลูกทีมส่วนใหญ่ของเขาอายุก็ย้งน้อยๆ ทั้งนั้น

มาร์คัส แรชฟอร์ด 23 ขวบ
เมสัน เมาต์ 22 ขวบ
ดีแคลน ไรซ์ 22 ขวบ 
เจดอน ซานโช่ 21 ขวบ
รีซ เจมส์ 21 ขวบ
ฟิล โฟเด้น 21 ขวบ
บูกาโย่ ซาก้า 19 ขวบ
จู๊ด เบลลิงแฮม 18 ขวบ

    ส่วนพวกที่อยู่ในวัยกระฉูดแตกก็จะยังไม่แก่จนเกินไป แถมอาจมีผู้เล่นที่ระเบิดฟอร์มการเล่นโดดเด่นในฤดูกาลหน้าสอดแทรกเข้าเป็นทางเลือกใหม่ ตัวอย่างเช่น เจมส์ แมดดิสัน, เดเล่ อัลลี, เมสัน กรีนวู๊ด (19 ขวบ) หรือ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (22 ขวบ)

    เจดอน ซานโช่ จะได้แสดงความสามารถในสมรภูมิแข้งที่คุณภาพสูงขึ้นอย่างพรีเมียร์ลีก 1 ฤดูกาล แจ็ค กรีลิช อาจได้ย้ายไปอยู่กับทีมใหญ่มากขึ้นพร้อมประสบการณ์ใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แฮร์รี เคน ก็ยังน่าจะอยู่ในฟอร์มการเล่นที่ไฉไล

ฉะนั้น & ฉะนี้ แกเร็ธ เซาธ์เกต ควรได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเองอีกครั้งกับทีมสิงโตหนุ่มชุดนี้ในศึกฟุตบอลโลก 2022 

บอ.บู๋

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.