Football Sponsored

เหนียวแน่นเหมือนเดิม! “ลาลีกา” ลีกที่แกร่งที่สุดของโลกในรอบทศวรรษ

Football Sponsored
Football Sponsored

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2011-2020) สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFFHS) ยกให้ลาลีกา สเปน เป็นลีกที่ดีที่สุดของทวีปยุโรป นอกจากนี้ บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด ก็เป็น 2 สโมสรที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สโมสรจากสเปนครองความยิ่งใหญ่ในถ้วยยุโรปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รวมกัน 6 ครั้ง (เรอัล มาดริด 4, บาร์เซโลน่า 2), แชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รวมกัน 6 ครั้ง (เซบีย่า 4, แอตเลติโก มาดริด 2)

และในถ้วยยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ 10 ครั้งหลังสุด จะมีทีมจากสเปนเข้าชิงอย่างน้อย 1 ทีม ทั้งหมด 8 ครั้ง และได้แชมป์ไปถึง 7 ครั้ง โดย เรอัล มาดริด คว้าโทรฟี่ไปมากที่สุด 3 ครั้ง ตามมาด้วย บาร์เซโลน่า และ แอตเลติโก มาดริด ทีมละ 2 ครั้ง


ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ลาลีกา ได้รับเลือกให้เป็นลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ระหว่างปี 2011 ถึง 2020 นอกเหนือจากลีกสเปนแล้ว ก็ยังมีพรีเมียร์ลีก อังกฤษ, เซเรีย อา บราซิล, เซเรีย อา อิตาลี และ บุนเดสลีกา เยอรมนี ที่อยู่ใน 5 อันดับแรก

IFFHS ยังได้จัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาอีกด้วย โดยวัดจากความสำเร็จ และความสม่ำเสมอตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ปรากฏว่า บาร์เซโลน่า ยังคงรักษาความเป็นสโมสรฟุตบอลหมายเลข 1 ของโลกได้อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ บาร์ซ่า เคยได้รับการจัดอันดับจาก IFFHS ให้เป็นทีมฟุตบอลเบอร์ 1 ในรอบทศวรรษ 2001-2010 มาแล้ว

ตามมาด้วยเรอัล มาดริด ในอันดับที่ 2 และ แอตเลติโก มาดริด ในอันดับที่ 5 นั่นหมายความว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีสโมสรจากลาลีกา ติดอยู่ใน 5 อันดับแรก ถึง 3 สโมสร ซึ่งไม่มีลีกฟุตบอลประเทศใดในโลกทำได้เช่นนี้


ในแง่ของนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก็ล้วนมาจากลาลีกาทั้งสิ้น โดยวัดจากรางวัลบัลลง ดอร์ 10 ครั้งหลังสุด มีแค่ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า เท่านั้น ที่มีผู้เล่นคว้ารางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว

โดย “ราชันชุดขาว” มีนักเตะคว้าบัลลง ดอร์ รวมกัน 5 ครั้ง (คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 4, ลูก้า โมดริช 1) ส่วนทางฝั่ง “เจ้าบุญทุ่ม” ลิโอเนล เมสซี่ คว้าไปคนเดียว 4 ครั้ง ยกเว้นปี 2020 ที่ไม่มีการมอบรางวัล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกเหนือจากผลงานในสนามที่แข็งแกร่งแล้ว ผลงานนอกสนามก็แข็งแกร่งไม่แพ้กัน นับตั้งแต่ ฆาเบียร์ เตบาส เข้ามารับตำแหน่งประธานลาลีกา เมื่อปี 2013 ได้ออกกฎระเบียบทางด้านการเงินให้สโมสรต่างๆ ในลาลีกา นำไปปฏิบัติ และหลายๆ สโมสร ก็ได้มีการปรับปรุงเรื่องการเงิน ทำให้หนี้สินของสโมสรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังได้เพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับลีก ด้วยการเจาะตลาดในต่างประเทศ ทำให้แฟนลาลีกาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้

การพัฒนาฟุตบอลลีกในประเทศอย่างจริงจัง ทำให้ลาลีกาได้รับการจัดอันดับให้เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นอันดับ 8 และเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 36 ในปี 2021 ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมฟุตบอลจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า


ในช่วงต้นทศวรรษใหม่นี้ สถานะทางการเงินของสโมสรในลาลีกาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 โดยตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด มีการซื้อขายคิดเป็นกำไรสุทธิ 38 ล้านยูโร เมื่อเทียบกับลีกใหญ่อื่นๆ ที่ยังประสบปัญหาขาดดุล

จากการลงมือทำอย่างจริงจังของลาลีกา ทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว จะเห็นได้จากตัวแทนลีกสเปนทั้ง 7 สโมสรที่เข้าร่วมฟุตบอลยุโรปในฤดูกาล 2020/21 ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ของแต่ละรายการได้ครบถ้วนทุกทีม

นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีว่า ในรอบทศวรรษใหม่นี้ ฟุตบอลลาลีกา สเปน จะยังคงเป็นลีกที่แข็งแกร่งที่สุดของโลกต่อไป เหมือนเช่นทศวรรษก่อน ที่คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยูฟ่า ยูโรป้า ลีก อย่างละ 6 ครั้ง ก็เป็นได้

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.