จากทีมที่เกือบล้มละลายกลายเป็นทีมที่ไล่ชอปปิ้ง นักเตะด้วยเงินมากมายอย่างที่ไม่เคยมีสโมสรไหนทำมาก่อนแบบนี้
กว้านซื้อนักเตะทั้งมีชื่อเสียงประสบการณ์ และดาวรุ่งพรุ่งนี้ ทั้งตลาดซัมเมอร์และเดือนมกราคม สองตลาดนี้กดไป 21 คน มูลค่าการซื้อหลังจากกระชากตัว เอ็นโซ เฟร์นานเดส กองกลางแชมป์ฟุตบอลโลกจากเบนฟิก้ามาอีก £107 ล้านปอนด์ รวมแล้วเชลซี ภายใต้การบริหารของ โบห์ลี่ และเบห์ดาด เอ็กบาห์ลี เจ้าของร่วมใช้เงินในการซื้อนักเตะเข้าทีมสูงถึง £ 580 ล้าน คิดเป็นเงินไทยตอนนี้ประมาณ 23,200 ล้านบาท
เฉพาะตลาดเดือนมกราคมนี่….มูลค่าสูงกว่าอีกห้าลีกรวมกันซะอีก
เป็นไปได้ไง…ใช้เงินเยอะอะไรขนาดนั้น
ทำไมไม่ผิดกฏพรีเมียร์ลีกหรือว่า งบการเงินของยูฟา FFP (Financial Fair Play)
แล้วการซื้อนักเตะแบบเปลียนทีมได้นี้มันคือการถ่ายเลือดใหม่ล้างบางจากยุค โรมัน อบราโมวิช หรือว่ามันคือ “ความเสี่ยง” เดิมพันครั้งใหญ่ ลักษณะเหมือนทุ่มเงินแทงม้าสักตัวหนึ่งเพื่อให้เข้าวิน
คิดแบบสามัญสำนึก คือถ้าผิดกฏ คงซื้อทุ่มทุนสร้างไม่ได้แน่ๆ ข้อนี้ก่อน ส่วนเรื่องการแทงม้าหรือเสี่ยงกับเดิมพันอย่างที่ไม่เคยมีสโมสรไหนทำมาก่อนนั้น…คือเรื่องอนาคตครับ
จำนวน 21นักเตะบวกกับ แกรม พอตเตอร์ จะมีมูลค่าสูงขึ้นหรือใช้ความสามารถทำให้เชลซีกลับมาลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกและทุกถ้วย
ต้องเฝ้ารอดูครับว่าสุดท้ายแล้ว….”แทงม้า”ถูกตัวหรือไม่
เบื้องต้น….มาว่ากันถึงรายละเอียดในแบบเข้าใจง่ายๆ เหมือนเพื่อนคุยกันนะครับ
– 21 นักเตะ 24,000 ล้านบาท
เฉพาะตลาดเดียวเดือนมกราคม ทีมเชลซี ใช้ไป £288-323 ล้าน (8 คน) ซึ่งตัวเลขสื่ออังกฤษรายงานไม่ตรงกันครับ อยู่ในวงเงินประมาณนี้ เมื่อบวกกับตลาดหน้าร้อน ซึ่งเป็นตลาดแรกที่ ท็อดด์ โบห์ลี่ เจ้าของร่วมดำเนินการเกือบ £300 ล้านมาก่อนหน้านี้ (13 คน) ตัวเลขการใช้จ่ายซื้อนักเตะทั้งสองตลาดจึงทะลุ £580 ล้าน โดยประมาณ ใกล้เคียงกับสองหมื่นกว่าล้านบาทกับนักเตะ 21 คน (ไม่รวมเรียกกลับมาจากสัญญายืมตัว)
13 นักเตะจากซัมเมอร์ นะครับ จากเอดดี บีช ผู้รักษาประตูเซาธ์แฮมป์ตัน ไม่เปิดเผยค่าตัว ราฮีม สเตอริง,คูลิบาลี, กูกูเรยา, โฟฟานา , โอบาเมยัง มาจนถึง เดนิส ซากาเรีย ยืมจากยูเวนตุส £2.7 ล้าน
8 นักเตะช่วงมกราคมนี้ เริ่มจากเบอนัวต์ บาเดียชิล เซนเตอร์จากโมนาโก, มิคาอิโล มูดริก, เชา เฟลิกส์ มาล่าสุด เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ ที่ทำสถิติแพงสุดในพรีเมียร์ลีก £107 ล้าน ที่ได้มาวันสุดท้ายก่อนเส้นตายพอดี หลังจากเบนฟิกา ยึกยักพอประมาณเพื่อไม่ให้เสียเหลี่ยม ยังไงนักเตะไม่มีใจอยากอยู่กับทีมแล้ว ทั้งขอร้องให้ขาย ทั้งไม่มาซ้อมทีม ก็ต้องปล่อย มันเรื่องปกติ
เอามูลค่าแบบตัวเลขกลมๆนะครับ 24,000 ล้านบาท กับ 21 นักเตะใหม่ทั้งสองตลาดโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ และทีมงาน
– ถ่ายเลือดใหม่ยกทีม
ซื้อมาเยอะขนาดนี้ภาพจำสมัย “เสี่ยหมี” น่าจะหมดไปโดยเร็ว เพราะนี่คือเชลซีสัญชาติอเมริกันไม่ใช่ รัสเซียในสองทศวรรตที่ผ่านไป และมันคือการถ่ายเลือดสีน้ำเงินที่เดอะ บริดจ์ อย่างชัดเจน
เพียงแต่ว่าการถ่ายเลือดครั้งใหญ่…เราเห็นหน้าสื่อว่ามีแค่ ผ.จ.ก. และนักเตะ แต่เอาจริงๆ ท็อดด์ โบห์ลี่ ทำมากกว่านั้น
ในกระบวนการซื้อนักเตะเข้าทีม ท็อดด์ โบห์ลี่ มีทั้งทีมปรึกษาส่วนตัวและส่วนสโมสร
นอกจากเขาแล้ว เอ็กบาห์ลี เจ้าของร่วมและ พอล วินสแตนลีย์ ผู้อำนวยการฟุตบอล คนใหม่ที่ทำงานแทน มาเรียนา กรานอฟสกายา ที่ต้องกระเด็นไปตามนาย
เขียนถึง นาย วินสแตนลีย์ น่าสนใจนะครับ
วินสแตลีย์ เป็นอดีตนักเตะแมนฯซิตี้ ยุคคาบเกี่ยวก่อนตั้งพรีเมียร์ลีก เลิกเล่นไปทำงานกับวีแกน ในฐานะ “นักวิเคราะห์ฟุตบอล” ส่วนใหญ่งานหลักก็เรื่องนักเตะนั่นแหละ เขาค้นหาและดึงนักเตะมาเสริมทีม จนวีแกน ขึ้นชั้น ไปทำงานกับดาร์บี้ 6 ปี ก่อนไบรท์ตันดึงตัวมาโดยเจ้าของทีม โทนี บลูม นักธุรกิจกีฬา ที่ผันตัวเองมาจาก เซียน โป๊กเกอร์ ตัวทอปของสหราชอาณาจักร
วินสแตนลีย์ ทำงานกับไบรท์ตันมา 8 ปี อยู่กับทีมไบรท์ตัน มาก่อน พอตเตอร์ งานหลักของเขาคือ “ค้นหา” และ “คัดเลือก”นักเตะฝีเท้าดีราคาถูกและดาวรุ่งเพื่อเสริมทีม ไบรท์ตัน
ดูชื่อนักเตะที่ วินสแตลีย์ “ค้นหา” และ “คัดเลือก” เข้าทีมไบรท์ตัน ช่วงที่ผ่านมานะครับ ปาสกาล กรอสส์, โจเอล เวลต์มาน, อดัม เวบส์เตอร์, อเลกซิส แมก อลิสเตอร์, มอยเซส ไกเซโด , เลโอ ทรอสซาร์, อีฟ บิสซูมา, แดน เบอร์น, มาร์ก กูกูเรยา
ฝากนับด้วยว่าขายใครทำกำไรให้ ไบรท์ตันบ้าง
ไม่แปลกที่เขาจะถูก ท็อดด์ โบห์ลี่ ดึงตัวมา หลังจากได้ มาร์ก กูกูเรยา ซึ่งเชื่อว่า พอตเตอร์ น่าจะแนะนำ เพียงแต่ สแตนลีย์ ต้องทำงานร่วมกันกับ ผู้อำนวยการเทคนิค คริสตอฟเฟอร์ วิเวลล์ (ดึงมาจากไลป์ซิก หลังหมดบอลโลก) และอีกคนคือ “นักวิเคราะห์การคัดเลือกนักเตะ” ไคล แมกอลอย ที่พอตเตอร์ ดึงมาก่อนหน้านี้
นี่ดูแล้ว ท็อดด์ โบห์ลี่ ไม่ได้ซื้อแค่โค้ช, นักเตะนะครับ….ซื้อทีมงานนอกสนามมาอีกต่างหาก
พอล วินสแตลีย์ มีหน้าที่หลักคือเรื่อง “ซื้อขาย” และ “ค้นหา” ความสามารถระดับนานาชาติ ตามตำแหน่งของเขาคือ Director of Global Talent and Transfers.
สิ่งนี้บ่งบอกให้รู้ว่า….โบห์ลี่ เจ้าของใหม่เชลซี “ลงรายละเอียด” และ “ลึกซึ้ง” กับบอลอังกฤษ ที่เขาไม่เคยทำมาก่อน และแตกต่างจากวัฒนธรรมอเมริกัน เกมส์ อย่างแน่นอน
– ซื้อยกตลาด….ไม่ผิดกฏฟุตบอล?
แยกออกเป็นสองส่วนนะครับ พรีเมียร์ลีกกับ ยูฟา ลักษณะคล้ายๆกันเรื่องตลาดซื้อขายนักฟุตบอลที่ต้องควบคุม ไม่อย่างนั้นทีมที่มั่งคั่งมีเงินเยอะกว่า ซื้อใครก็ได้ตามใจชอบ (แต่ก็มีบางทีมตกแต่งบัญชี แค่ไม่มีหลักฐานยืนยัน)
1พรีเมียร์ลีก
กำหนดเพดานงบการเงินสโมสรขาดทุนได้ £105 ล้านต่อสามปี หากสโมสรไหนขาดทุนมากกว่านี้ จะโดนตัดแต้มและปรับเงินตามความเหมาะสม ภายใต้วงเงินขาดทุนจำนวนนี้ สามารถใช้เงินซื้อผู้เล่นได้ ซึ่งเชลซีขาดทุนไม่เกินยอดนี้แน่นอน
2 FFP Financial Fair Play
งบการเงินของยูฟา กำหนดเอาไว้ว่าแตกต่างจากพรีเมียร์ลีก ยูฟ่า กำหนดตัวเลขขาดทุนไว้ที่ £53 ล้านต่อ 3 ปี ถ้าผิดกฏยูฟา…มีบทลงโทษ เริ่มจากเตือน, ปรับ และโดนยึดแชมป์ หากไม่ปฏิบัติตาม
เชลซี ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะทีมเปลี่ยนเจ้าของใหม่
อีกทั้ง ท็อดด์ โบห์ลี่ เล่นทำสัญญาผ่อนชำระ มูดริก 8 ปีครึ่ง ล่าสุด เอ็นโซ เฟรนานเดส อีก 8ปีครึ่ง!!!
เท่ากับจ่าย มูดริกปีละ 10 ล้านปอนด์
ผ่อนจ่าย เฟรนานเดส ปีละ 13-14 ล้านปอนด์ !!!! จนครบสัญญา
ถ้าเชลซีขายนักเตะเหล่านี้ได้ก่อนหมดสัญญา จะเป็น capital gain หรือผลกำไรจากส่วนต่างของค่าตัวแน่นอน
ล่าสุด…ซัมเมอร์หน้ายูฟ่าจะมีการปรับกฏการซื้อใหม่ เรื่อง “ระยะเวลา” ของสัญญานะครับ หลังจากโดน ท็อดด์ โบห์ลี่ โชว์ทริค ยืดสัญญาเป็น 7-8 ปี เพื่อผ่อนจ่ายค่าตัวปีละไม่เกินสิบล้านปอนด์
โดยยูฟา จะกำหนดให้ “ระยะเวลา” ต่อสัญญาหนึ่งครั้งไม่เกิน 5 ปี และใน 3 ปี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตัว (transfer fee) ,ค่าจ้าง (wage bills) และค่านายหน้า (agent fee) จะลดระดับลงจากปีแรก 90%,ปีที่สอง 80%, และปีที่สาม 70% จากรายได้สโมสร เริ่มซีซั่น2023-24 (แน่นอน ท็อดด์ โบห์ลี่ รู้เรื่องนี้ดี)
– เหมือน ท็อดด์ด์ วางเดิมพัน แทงม้า
อีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามนั่นคือ “มูลค่า” นักเตะที่ซื้อมาอาจลดลงจากเดิม ก็เป็นไปได้ หากเขาเล่นได้ไม่ดี ไม่มีผลงานมากพอที่จะเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง ตรงนี้คือความเสี่ยงระดับ 2 หมื่นล้านบาทของ โบห์ลี่
มันเหมือนเขา “เสี่ยง” ลงทุนนะครับ เพราะเรื่องการทุ่มซื้อนักเตะสองตลาด 21 คน ไม่เคยมีทีมไหนทำมาก่อน นอกจากพวกเขาและ นอตติงแฮม ฟอเรสต์ 5555
เชลซี ใช้เงินเยอะกว่าว่ากันแบบนั้น แล้วถ้า พอตเตอร์ ไม่สามารถผสมผสานชุดนักเตะเหล่านี้ได้ละครับ
มันอาจเป็นการลงทุนที่ล้มเหลวก็เป็นไปได้
เช่น ไม่ผ่านไปแชมเปี้ยนส์ ลีก, ไม่ได้แชมป์อะไรเลย สักถ้วยในปีหรือสองปี้นี ให้สามปีเลยครับ
ทางเดียวกันถ้าเวิร์ค ซึ่ง โบห์ลี่ มั่นใจว่าเวิร์ค เชลซี จะกวาดทั้งเงินและกล่อง และไม่ให้พลาดเหมือนยุค เสี่ยหมี ที่ได้กล่องมากมายจริงแต่ผลประกอบการ “ขาดทุน” จนสโมสรต้องยืมเงินจาก เสี่ยหมี พันล้านกว่าปอนด์!!!!
รอติดตามนะครับ…ที่แน่ๆ บุคคลที่กดดันสุดๆเวลานี้ ชื่อ แกรม พอตเตอร์ อย่างไม่ต้องสงสัย
ลงทุนให้ขนาดนี้ ….คงไม่รอเวลาซื้อความสำเร็จนานแน่นอน
JACKIE
This website uses cookies.