วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
นอกจากประโยชน์ในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว จีนยังใช้ประโยชน์จากการกีฬาในด้านการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และอื่นๆ อีกด้วย เราไปคุยกันต่อเลยครับ …
อีกด้านหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญก็คือ การใช้การกีฬาเพื่อการเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ นอกเหนือจากการส่งนักกีฬาชั้นแนวหน้าเข้าร่วมการแข่งขันสำคัญในเวทีระดับโลกและภูมิภาคแล้ว จีนยังจัดการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬานานาชาติรวม 500-600 รายการต่อปี
อาทิ โอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงปักกิ่ง “Olympic 2008” ที่รัฐบาลจีนเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการกำหนดเอาวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 เป็นวันเริ่มพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เพราะเล่นเลข 8 ที่มีความหมายว่า “มั่งคั่ง” ในวัฒนธรรมจีนเลยทีเดียว
ในปีเดียวกันนั้นเอง เซี่ยงไฮ้-หังโจวก็จับมือกันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง ขณะที่ใน 2 ปีต่อมา นครกวางโจวก็คว้าโอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ “2010 Guangzhou Asian Games” และล่าสุดโอลิมปิกฤดูหนาว “Beijing 2022” เมื่อต้นปี 2022 ณ กรุงปักกิ่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 ที่หังโจว
นอกจากนี้ จีนยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเฉพาะประเภทนานาชาติอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ปิงปอง แบดมินตัน กรีฑา ฟุตบอล บาสเกตบอล และยิมนาสติก ภาพลักษณ์ของประเทศและความสามารถของนักกีฬาของจีนที่ดีทำให้สินค้าและบริการของจีนพลอยได้รับอานิสงค์ไปด้วย
ในโอกาสที่จีนได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬานานาชาติดังกล่าว รัฐบาลจีนตั้งคำถามสำคัญว่า “เราต้องการอะไรจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา” ผมเชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงการเป็นแชมป์เหรียญทอง และประโยชน์จากการการหลั่งไหลของแฟนกีฬาทั้งในและต่างประเทศ
แต่รัฐบาลจีนกลับมีมุมมองที่ลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคมจีนที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยได้ให้ความสนใจกับการมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงของชาวจีน ซึ่งนำไปสู่มาตรการและกิจกรรมมากมาย อาทิ การสนับสนุนส่งเสริมการออกกำลังกายของประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาและอุปกรณ์กีฬาที่มีคุณภาพสูงในมาตรฐานเดียวกันกับของประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากการแข่งขันกีฬาระดับระหว่างประเทศแล้ว จีนยังจัดงานแข่งขันกีฬาภายในประเทศที่อาจดูเล็กลงอย่างถนัดใจ อาทิ ออลไชน่าเกมส์ (All China Games) ที่เน้นประเภทกีฬาที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในโอลิมปิก จัดขึ้น 4 ปีครั้ง และการแข่งขันกีฬาแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นกีฬาระดับมณฑล/มหานคร ซึ่งถ้าเทียบกับบ้านเราก็คล้าย “กีฬาเขต” ที่เสมือนการมี 30-40 ประเทศมาแข่งขันกันเป็นประจำในจีน
นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการเฟ้นหาดาวรุ่งและการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการกีฬาก่อนไปสู่ระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งกระแสความห่วงใยสุขภาพแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬา และการมีปฏิสัมพันธ์ระดับมณฑล/มหานครภายในประเทศ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกมากมาย
ผลจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาและกระแสความห่วงใยในเรื่องสุขภาพที่กำลังขยายตัวในจีน ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑล/มหานครใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการกีฬาจีนอย่างกรุงปักกิ่ง มณฑลกวางตุ้ง เจ๋อเจียง เสฉวน และเหลียวหนิง
นอกจากนี้ กีฬาก็ยังถูกใช้เพื่อการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การทูตกีฬา” (Sport Diplomacy) ภายหลังการทำสงครามโลกกันอย่างยาวนาน นานาอารยประเทศต่างมองหา “เครื่องมือใหม่” ในการประสานความสัมพันธ์ของรัฐบาลและประชาชนในแต่ละประเทศ
หลายฝ่ายตระหนักดีว่า “กีฬา” สามารถเป็น “พลังละมุน” (Soft Power) ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสาธารณะประโยชน์และขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคหลังสงครามโลก และเปลี่ยนเวทีโลกไปสู่โมเมนตัมเชิงบวกบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมอย่างสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
เราจึงเห็นการพัฒนาการแข่งขันกีฬานานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นในเวทีใหญ่ระดับโลกอย่างโอลิมปิก หรือฟุตบอลโลก และระดับภูมิภาค อาทิ เอเชี่ยนเกมส์ กีฬาใหญ่ประจำทวีปเอเชีย ซีเกมส์ของมวลหมู่สมาชิกอาเซียน กีฬาเครือจักรภพอังกฤษ และฟุตบอลยูโรของสหภาพยุโรป
แต่กรณีศึกษาที่โด่งดังที่สุดและเป็นที่โจษขานจนถึงปัจจุบันก็เห็นจะได้แก่ “Ping-Pong Diplomacy” ที่จีนและสหรัฐฯ ใช้กีฬาปิงปองเป็นสื่อกลางในการสานสัมพันธ์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันและประธานเหมา เจ๋อตง เมื่อปี 1971
ในยุคนั้น จุดยืนและท่าทีทางการเมืองของสหรัฐฯ และจีนที่อยู่กันคนละขั้ว ทำให้เกือบทุกสิ่งแม้กระทั่งการแข่งขันกีฬาระหว่างกัน ก็ถูกหยิบยกเป็นประเด็นทางการเมือง
ข้อมูลจากหนังสือเล่มหนา “Henry Kissinger on China” ระบุว่า เหมา เจ๋อตงแปลง “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” โดยเชิญนักกีฬาปิงปองทีมชาติสหรัฐฯ ไปเยือนจีน และสื่อสารหลายสิ่งผ่านนักกีฬาปิงปองของสหรัฐฯ ในบริเวณห้องประชุมของมหาศาลาประชาชน
เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการยืมมือ “กีฬาปิงปอง” เป็นสื่อกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้อย่างแยบยล จนทำให้สหรัฐฯ และจีนปรับท่าทีและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันจนถึงปัจจุบัน
นักวิเคราะห์ทางการเมืองแสดงความคิดเห็นว่า ความสำเร็จในครั้งนี้มี โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน และเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น ร่วมมือกันเตรียมงานอยู่เบื้องหลัง การเลือกกีฬา “ปิงปอง” เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ยังสะท้อนถึงความหมายเชิงลึกของ “การแข่งขัน” และ “การร่วมมือ” ระหว่างกันในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
เรายังเห็นกีฬาถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการทูตอื่นในเวลาต่อมา ในคราวเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นผู้นำที่คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2015 ฟุตบอลก็ถูกใช้เป็นสื่อกลางแห่งการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “Football Diplomacy”
เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็สร้างความประทับใจด้วยการขายสุดยอดแห่ง “ซอฟท์พาวเวอร์” ของอังกฤษแก่ผู้นำจีน โดยนำคณะจีนไปเยี่ยมชมสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ และเชิญนักฟุตบอลชั้นแนวหน้า อาทิ เซอร์จิโอ “กุน” อเกวโร่ ดาวซัลโวสูงสุดของสโมสร มาร่วมให้การต้อนรับและถ่ายภาพเซลฟี่ด้วย ผลปรากฏว่า ภาพนี้ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทั่วไปและหนังสือพิมพ์กีฬาชั้นนำของอังกฤษในวันรุ่งขึ้น
“เรือใบสีฟ้า” นับเป็นสโมสรอังกฤษที่มีความเชื่อมโยงกับจีน เพราะในครั้งหนึ่ง ซุน จีไฮ่ อดีตนักเตะทีมชาติจีนเคยไปค้าแข้งอยู่ด้วยหลายปีก่อนหน้านั้น
การเยือนดังกล่าวเพิ่มกระแส “ฟุตบอลฟีเวอร์” ย่างกว้างขวางในจีน เพราะชาวจีนอยากเห็น “บอลจีนไปบอลโลก” อีกครั้งหลังจากห่างหายไปถึง 20 ปี และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “ฟุตบอลโลกชาย” เป็นครั้งแรกของจีน ตามรอยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
กิจการเอกชนรายใหญ่ต่างทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเป็นผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอล “ไชนีสซุปเปอร์ลีก” ในจีนเพื่อ “เอาใจ” ท่านผู้นำจีนกันแบบไม่กลัวเจ๊ง ส่งผลให้สโมสรฟุตบอลจีนมีเงินทุนก้อนใหญ่และสามารถดึงเอานักเตะชั้นนำของโลกจำนวนมากมาโชว์ฝีเท้าให้ชาวจีนได้ชมกัน
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนานัปการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ต้องอาศัยการทำงานอย่างหนัก คราวหน้าเราไปคุยกันต่อว่า รัฐบาล เอกชน และประชาชนจีนร่วมมือกันดำเนินการอะไร อย่างไรบ้างในการพัฒนาวงการกีฬาของจีนสู่เวทีโลก
…
ภาพจาก : AFP
This website uses cookies.