Football Sponsored

สถิติสโมสร!! เช็กชื่อ 20 นักเตะค่าตัวแพงที่สุดของ 20 ทีมพรีเมียร์ลีก

Football Sponsored
Football Sponsored

ส่องรายชื่อนักเตะซูเปอร์สตาร์ค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้ง 20 สโมสรแห่งศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

แม้ตลาดซื้อขายนักเตะศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 จะผ่านพ้นไปได้สักระยะแล้ว แต่ก็ยังมีการพูดถึงดีลต่างๆ กันอยู่บ้าง เพราะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา สโมสรพรีเมียร์ลีกมีการเสริมทัพแข้งใหม่กันแบบฝุ่นตลบ และในขณะเดียวกัน หลายทีมทุ่มเงินคว้านักเตะด้วยค่าตัวเป็นสถิติใหม่ของสโมสรกันเลยทีเดียว

ฉะนั้น เรามาอัปเดทกันหน่อยว่า นักเตะค่าตัวแพงที่สุดเป็นสถิติของแต่ละทีมในพรีเมียร์ลีกนั้นเป็นใครกันบ้าง และเป็นตัวเลขค่าตัวสูงมากน้อยแค่ไหน

  • อาร์เซน่อล – นิโกลาส์ เปเป้ : 72 ล้านปอนด์

หลังจากระเบิดฟอร์มให้ ลีลล์ ด้วยผลงานซัดไป 22 ประตูในศึกฟุตบอลลีกเอิง 2018/19 ทีม “ปืนใหญ่” อาร์เซน่อล จึงทุ่มเงิน 72 ล้านปอนด์ กระชากตัว นิโกลาส์ เปเป้ มาร่วมทีม เมื่อเดือนสิงหาคม 2019

อย่างไรก็ดี เมื่อก้าวลงสู่สมรภูมิพรีเมียร์ลีก ปีกทีมชาติไอวอรี่โคสต์รายนี้ไม่สามารถงัดฟอร์มเก่งออกมาได้เหมือนสมัยเล่นอยู่ที่ลีกเอิง โดยเฉพาะศึกพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลที่ผ่านมา เปเป้ ยิงได้เพียงประตูเดียวเท่านั้น ทำให้ซีซั่นนี้ถูกปล่อยให้ นีซ ยืมตัวกลับไปลุยลีกแดนน้ำหอมเหมือนเดิม

  • แอสตัน วิลล่า – เอมิเลียโน่ บูเอนเดีย : 35 ล้านปอนด์

เอมิเลียโน่ บูเอนเดีย โชว์ฟอร์มสุดร้อนแรง ช่วยให้ นอริช ซิตี้ คว้าแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ 2020/21 พร้อมกับคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งฤดูกาลของลีกแชมเปี้ยนชิพ ทำให้ แอสตัน วิลล่า ทุ่มเงิน 35 ล้านปอนด์ดึงตัว บูเอนเดีย ไปร่วมทีมเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 เพื่อมาทดแทน แจ็ค กรีลิช ซึ่งย้ายไปแมนซิตี้

  • บอร์นมัธ – เจฟเฟอร์สัน เลอร์มา : 25 ล้านปอนด์

เดือนสิงหาคม 2018 บอร์นมัธ ควักกระเป๋า 25 ล้านปอนด์ ดึงตัว เจฟเฟอร์สัน เลอร์มา กองกลางทีมชาติโคลอมเบีย มาจากสโมสรเลบันเต้ ซึ่งนับตั้งแต่นั้น เลอร์มา กลายเป็นผู้เล่นกำลังสำคัญของทีมมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เรียกว่าเป็นดีลที่คุ้มค่าเงินอย่างแท้จริง

  • เบรนท์ฟอร์ด – คีน ลูอิส-พ็อตเตอร์ : 17 ล้านปอนด์

“ผึ้งพิฆาต” เบรนท์ฟอร์ด คว้านักเตะเป็นสถิติสโมสรในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา หลังจากได้ คีน ลูอิส-พ็อตเตอร์ กองหน้าทีมชาติอังกฤษชุดยู-21 มาจากฮัลล์ ซิตี้ สนนราคาค่าตัวที่ 17 ล้านปอนด์ ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับดีลอื่นๆ แต่สำหรับ เบรนท์ฟอร์ด นี่คือผู้เล่นที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร 132 ปีของพวกเขาแล้ว

  • ไบรท์ตัน – อีน็อค เอ็มเวปู : 20 ล้านปอนด์

อีน็อค เอ็มเวปู กองกลางทีมชาติแซมเบีย ย้ายจาก เรดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก มาเป็นสมาชิกใหม่ของ ไบรท์ตัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 20 ล้านปอนด์ และไม่แน่ว่าทีม “นกนางนวล” อาจจะปั้น เอ็มเวปู จนปล่อยออกไปพร้อมกำไรบานเบอะ เหมือนกับที่พวกเขาเคยปั้นผู้เล่นอย่าง เบน ไวท์, อีฟส์ บิสซูม่า หรือ มาร์ค กูกูเรย่า จนได้เงินมหาศาลเข้าสู่สโมสรมาแล้ว

  • เชลซี – โรเมลู ลูกากู : 97 ล้านปอนด์

จากผลงานระเบิดฟอร์มสุดโหดยิง 64 ประตูจาก 95 นัดให้กับ อินเตอร์ มิลาน “สิงโตน้ำเงินคราม” เชลซี จึงตัดสินใจทุบสถิติสโมสร จ่าย 97 ล้านปอนด์แลกกับลายเซ็นของ โรเมลู ลูกากู ให้กับมาค้าแข้งในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เป็นคำรบสอง เมื่อเดือนสิงหาคม 2021

แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นอีกครั้งที่ ลูกากู ไม่สามารถฉายแสงภายใต้ยูนิฟอร์มสิงห์บลูส์ โดยเขายิงได้เพียง 8 ประตูในศึกพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งถือว่า “ล้มเหลว” เมื่อเทียบกับค่าตัวมหาศาลที่เชลซีจ่ายไป และฤดูกาลนี้ หัวหอกทีมชาติเบลเยียมก็ถูกปล่อยกลับไปยัง อินเตอร์ มิลาน ด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล

  • คริสตัล พาเลซ – คริสติยอง เบนเตเก้ : 27 ล้านปอนด์

เดือนสิงหาคม 2016 คริสตัล พาเลซ ได้ คริสติยอง เบนเตเก้ จากลิเวอร์พูล มาเสริมทัพด้วยค่าตัว 27 ล้านปอนด์ ซึ่ง เบนเตเก้ อยู่ค้าแข้งกับทีมปราสาทเรือนแก้ว 6 ฤดูกาล มีสถิติซัดไป 37 ประตูจาก 177 นัดในทุกรายการ ก่อนที่ล่าสุดจะย้ายไปโกยเงินดอลลาร์กับ ดีซี ยูไนเต็ด ของกุนซือเวย์น รูนี่ย์ ในศึกเมเจอร์ลีก สหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

  • เอฟเวอร์ตัน – กิลฟี่ ซิเกิร์ดสสัน : 45 ล้านปอนด์

เอฟเวอร์ตัน เซ็นเช็ค 45 ล้านปอนด์ให้กับ สวอนซี คว้าตัว กิลฟี่ ซิเกิร์ดสสัน มาร่วมทีมเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งมิดฟิลด์ชาวไอซ์แลนด์รายนี้เป็นผู้เล่นสำคัญของทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฤดูกาล 2021/22 มีข่าวว่าเจ้าตัวตกเป็นผู้ต้องหาคดีล่วงละเมิดทางเพศเยาวชน แต่ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าใช่ตัวเขาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในซีซั่นดังกล่าว ซิเกิร์ดสสัน ไม่ได้ลงสนามให้กับ เอฟเวอร์ตัน เลยแม้แต่นัดเดียว จนล่าสุดเจ้าตัวหมดสัญญากับทีม และถูกปล่อยตัวออกจากสโมสรไปแล้ว

  • ฟูแล่ม – อองเดร ฟรองก์ แซมโบ อองกีสซ่า : 27 ล้านปอนด์

ฟูแล่มได้ อองกีสซ่า มาจากโอลิมปิก มาร์กเซย ด้วยค่าตัว 27 ล้านปอนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 แต่เจ้าตัวไม่สามารถแจ้งเกิดได้ในศึกพรีเมียร์ลีก ก่อนจะถูกปล่อยยืมให้กับ บียาร์เรอัล และ นาโปลี ซึ่งกองกลางทีมชาติแคเมอรูนรายนี้โชว์ฟอร์มได้โดดเด่นในศึกเซเรียอา อิตาลี จึงถูก นาโปลี ดึงตัวไปร่วมทีมแบบถาวร เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

  • ลีดส์ – โรดริโก้ : 27 ล้านปอนด์

ลีดส์ ยูไนเต็ด ได้เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้งเมื่อฤดูกาล 2020/21 ทำให้ทัพ “ยูงทอง” ทุ่มเงินเป็นสถิติ 27 ล้านปอนด์ คว้าตัว โรดริโก้ กองหน้าทีมชาติสเปน มาจากบาเลนเซีย เมื่อเดือนสิงหาคม 2020 ซึ่ง โรดริโก้ ก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของทีม โดยเฉพาะซีซั่นนี้ ซึ่งดาวยิงเลือดกระทิงโชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรง ซัดไป 4 ประตูจากการลงสนาม 5 นัด

  • เลสเตอร์ – ยูริ ตีเลอมันส์ : 40 ล้านปอนด์

เลสเตอร์ ยืมตัว ยูริ ตีเลอมันส์ มาจากโมนาโก เมื่อเดือนมกราคม 2019 และทำผลงานได้เข้าตาสตาฟฟ์โค้ช ทีม “จิ้งจอกสยาม” จึงเซ็นสัญญาถาวรในเดือนกรกฎาคม 2019 ด้วยค่าตัว 40 ล้านปอนด์ ซึ่งในเวลานั้นอาจจะดูเหมือนเป็นค่าตัวที่สูงไม่น้อย แต่ ณ ปัจจุบัน มิดฟิลด์ทีมชาติเบลเยียมรายนี้กลายเป็นคีย์แมนสำคัญของทีม เรียกได้ว่าโชว์ฟอร์มคุ้มค่าตัวสุดๆ จนหลายสโมสรยักษ์ใหญ่ตามจีบ และถ้ามีการย้ายทีมเกิดขึ้นจริง รับรองว่า เลสเตอร์ ได้กำไรจากดีลนี้แน่นอน

  • ลิเวอร์พูล – เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค : 75 ล้านปอนด์

ลิเวอร์พูล ถูกวิจารณ์หนักเมื่อตอนคว้า เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค มาจากเซาแธมป์ตัน เมื่อเดือนมกราคม 2018 ด้วยค่าตัวสูงถึง 75 ล้านปอนด์ เพราะตอนนั้น ฟาน ไดจ์ค ไม่ใช่กองหลังระดับตัวท็อป และยังไม่เคยคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ใดๆ เลย

แต่เมื่อย้ายมาสวมยูนิฟอร์มหงส์แดง ฟาน ไดจ์คสามารถยกระดับฝีเท้าขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ ลิเวอร์พูล กวาดสารพัดแชมป์อย่างยิ่งใหญ่ ในขณะที่ตัวเขาเองก็ก้าวขึ้นมาเป็นเซนเตอร์แบ็กเบอร์ต้นๆ ของโลก พร้อมกับคว้าเกียรติยศส่วนตัวมาครองได้ชนิดนับไม่ถ้วน

  • แมนฯ ซิตี้ – แจ็ค กรีลิช : 100 ล้านปอนด์

ไม่เพียงแต่จะเป็นสถิติสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้เท่านั้น แต่ แจ็ค กรีลิช ยังทำสถิตินักเตะอังกฤษค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังย้ายจาก แอสตัน วิลล่า มายังทีมเรือใบสีฟ้าด้วยค่าตัวมหาศาล 100 ล้านปอนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 แต่ทว่า กรีลิช ยังโชว์ฟอร์มได้ไม่คุ้มค่าตัวสักเท่าไร หลังจากยิงได้เพียง 3 ลูกจากการลงสนาม 26 นัดในศึกพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา

  • แมนฯ ยูไนเต็ด – ปอล ป็อกบา : 89 ล้านปอนด์

จากเด็กปั้นของทีมปีศาจแดง ย้ายฟรีไปสร้างชื่อกระหึ่มกับยูเวนตุส ก่อนที่ แมนยู จะยอมทุ่มเงินเป็นสถิติสโมสร 89 ล้านปอนด์เพื่อดึงตัว ป็อกบา กลับมาร่วมทีมเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 

จากนั้น ป็อกบา ลงสนามให้ทีมผีแดง 6 ฤดูกาล พร้อมกับฟอร์มการเล่นที่ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่ก็ยังมีโทรฟี่กับแมนยู 2 รายการคือ ยูโรป้า ลีก กับ คาราบาว คัพ ในฤดูกาล 2016/17 ก่อนที่มิดฟิลด์ทีมชาติฝรั่งเศสรายนี้จะหมดสัญญาและย้ายฟรีกลับไปร่วมทัพ ยูเวนตุส อีกครั้งเมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา พร้อมกับเสียงด่าตามหลังของสาวกเร้ดอาร์มี่

  • นิวคาสเซิ่ล – อเล็กซานเดอร์ อิซัค : 59 ล้านปอนด์

การได้กลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบียเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสร ทำให้ นิวคาสเซิ่ล มีงบประมาณเสริมทัพมากมายชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และทีมสาลิกาดงก็จัดการกระชากตัว อเล็กซานเดอร์ อิซัค กองหน้าทีมชาติสวีเดนวัย 22 ปี มาจากเรอัล โซเซียดัด ด้วยค่าตัวเป็นสถิติ 59 ล้านปอนด์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

  • น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ – มอร์แกน กิ๊บบ์ส-ไวท์ : 25 ล้านปอนด์

ฤดูกาลนี้ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ได้เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาสู่สังเวียนพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี ทำให้ทีม “เจ้าป่า” ช็อปปิ้งนักเตะใหม่เข้าเสริมทีมอุตลุดมากกว่า 20 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มอร์แกน กิ๊บบ์ส-ไวท์ กองกลางดาวรุ่งจากวูล์ฟแฮมป์ตัน ซึ่งย้ายมาด้วยค่าตัวเป็นสถิติสโมสร 25 ล้านปอนด์ 

  • เซาแธมป์ตัน – แดนนี่ อิงส์ : 22 ล้านปอนด์

หลังจากไม่ประสบความสำเร็จกับลิเวอร์พูล แดนนี่ อิงส์ จึงเก็บกระเป๋าย้ายไปล่าตาข่ายให้กับ เซาแธมป์ตัน ด้วยสัญญายืมตัวในฤดูกาล 2018/19 ก่อนที่จะย้ายไปร่วมทีม “นักบุญ” แบบถาวรด้วยค่าตัว 22 ล้านปอนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 ซึ่ง อิงส์ ทำผลงานให้กับ เซาแธมป์ตัน ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้หลังจากนั้น แอสตัน วิลล่า ควักกระเป๋า 25 ล้านปอนด์ ดึงตัว อิงส์ ไปร่วมทีมสิงห์ผยองเมื่อเดือนสิงหาคม 2021

  • สเปอร์ส – ตองกีย์ เอ็นดอมเบเล่ : 59 ล้านปอนด์

ตองกีย์ เอ็นดอมเบเล่ ทำผลงานสุดโดดเด่นให้กับ โอลิมปิก ลียง จนมีชื่อติดทีมยอดเยี่ยมของศึกลีกเอิง ฝรั่งเศส 2018/19 ทำให้ เมาริซิโอ โปเชตติโน่ กุนซือสเปอร์สในขณะนั้น เบิกงบสโมสร 59 ล้านปอนด์เพื่อคว้าตัว เอ็นดอมเบเล่ มาเสริมแดนกลางให้กับทีมไก่เดือยทอง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019

อย่างไรก็ตาม เอ็มดอมเบเล่ ไม่สามารถงัดฟอร์มเก่งออกมาเหมือนตอนเล่นอยู่ในลีกเอิงได้เลย ทำให้เขาถูกปล่อยยืมไปให้กับ ลียง เมื่อฤดูกาลที่แล้ว และซีซั่นนี้ก็ปล่อยให้ นาโปลี ยีมตัวไปใช้งานอีก 1 ฤดูกาล

  • เวสต์แฮม – ลูคัส ปาเกต้า : 51 ล้านปอนด์

ตลาดนักเตะพรีเมียร์ลีกช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา เวสต์แฮมเป็นทีมที่ใช้เงินมากที่สุดเป็นอันดับ 3 เป็นรองเพียง เชลซี และ แมนฯ ยูไนเต็ดเท่านั้น โดยทีมขุนค้อนใช้เงินเสริมทัพไปมากกว่า 180 ล้านปอนด์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือดีลของ ลูคัส ปาเกต้า มิดฟิลด์ดีกรีทีมชาติบราซิล ที่ย้ายมาจากโอลิมปิก ลียง ด้วยค่าตัวเป็นสถิติสโมสร 51 ล้านปอนด์

  • วูล์ฟแฮมป์ตัน – มาเธอุส นูเนส : 38 ล้านปอนด์

วูล์ฟแฮมป์ตัน เป็นอีกหนึ่งทีมในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาที่ทุบสถิตินักเตะค่าตัวแพงสุดของสโมสร หลังจากควักกระเป๋า 38 ล้านปอนด์เพื่อเป็นค่าตัวของ มาเธอุส นูเนส มิดฟิลด์ตัวรุกทีมชาติโปรตุเกสวัย 24 ปี จากสปอร์ติ้ง ลิสบอน ซึ่งมีดีกรีติดโผทีมยอดเยี่ยมของลีกลูกหนังโปรตุเกส เมื่อฤดูกาลที่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • บอกจบครบหมด! วิธีการดูบอล แพ็กเกจ พรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID – ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี
  • โปรแกรมพรีเมียร์ลีก 2022/23 ตารางบอลพรีเมียร์ลีก พร้อมลิ้งก์ดูบอลสด
  • ดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก 2022/23 / แอสซิสต์ / คลีนชีท ศึกพรีเมียร์ลีก
  • ตารางคะแนนพรีเมียร์ลีก 2022/23 อัปเดตล่าสุด

————————————————-

วิธีการดูบอลพรีเมียร์ลีก 2022/23 ที่ TrueID : แพ็กเกจชมครบทุกคู่ – ซิมทรูชมทีมโปรดฟรี!

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! หรือ กด *301*32# โทรออก

หรือ อัพเดทข่าวบอลไทยลีก กด *301*36# โทรออก

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.