Football Sponsored

ผีลุ้นไร้พ่ายนอกบ้าน30นัดติด! รวมเกร็ดน่าสนใจบิ๊กแมตช์เอฟเอคัพ “เลสเตอร์VSแมนยู”

Football Sponsored
Football Sponsored

คืนวันอาทิตย์นี้ “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีคิวบุกไปเยือน “จิ้งจอกสยาม” เลสเตอร์ ซิตี้ ที่สังเวียนแข้ง คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ในศึก เอฟเอ คัพ รอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าน่าจะเป็นเกมที่สนุก เพราะต่างฝ่ายต่างก็หวังถึงแชมป์ โดยเฉพาะ เลสเตอร์ ที่น่าจะเน้นเป็นพิเศษ เนื่องจากฤดูกาลนี้พวกเขาเหลือลุ้นแชมป์ถ้วยนี้แค่รายการนี้เท่านั้น แต่ที่น่าเป็นห่วงแทนคือ พวกเขามีสถิติย่ำแย่มากๆ ในการฟาดแข้งกับ “ปีศาจแดง” แถมทีมของกุนซือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ฟอร์มโหดมากๆ ยามเล่นนอกบ้าน และนี่คือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจสำหรับแมตช์นี้

 เฮด-ทู-เฮด

 – เลสเตอร์ ชนะ แมนฯ ยูไนเต็ด แค่หนเดียวเท่านั้น จาก 25 เกมหลังสุดที่เจอกันรวมทุกรายการ (เสมอ 5, แพ้ 19) โดยครั้งเดียวที่ชนะคือศึก พรีเมียร์ลีก เมื่อเดือนกันยายน ปี 2014 ซึ่ง “จิ้งจอกสยาม” เปิดบ้านพลิกทุบ “ปีศาจแดง” สุดมันส์ 5-3 

 – นั่นคือชัยชนะในบ้านของ เลสเตอร์ เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด หนเดียว จาก 14 นัดหลังสุด 

 – ทั้งสองทีมเจอกันในศึก เอฟเอ คัพ มาแล้ว 2 หน และเป็นฝั่ง “ปีศาจแดง” ที่ได้เฮทั้งหมด โดยชนะ 3-1 ในรอบชิงฯ ฤดูกาล 1962/63 และชนะ 2-1 (เยือน) รอบห้า ฤดูกาล 1975/76

  เลสเตอร์ ซิตี้ 

 – เลสเตอร์ ครองสถิติที่ไม่มีใครอยากได้ โดยเป็นสโมสรที่เข้าถึงรอบชิงฯ เอฟเอ คัพ มากสุด แต่ไม่ได้แชมป์แม้แค่ครั้งเดียว (แพ้รวดในเกมรอบชิงฯ ทั้ง 4 หน คือปี 1949, 1961, 1963 และ 1969)

 – เลสเตอร์ ไม่เคยเข้าไปถึงรอบตัดเชือก เอฟเอ คัพ นับตั้งแต่ปี 1982 และหลังจากนั้นพวกเขาปราชัยในรอบก่อนรองฯ ทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดย 3 จาก 5 เป็นการพ่ายให้กับ เชลซี (ปี 2012, 2018 และ 2020)

 – ทั้ง 8 ประตูที่ เลสเตอร์ ทำได้ในศึก เอฟเอ คัพ ฤดูกาลนี้ มาจากผู้เล่นไม่ซ้ำหน้า (เจมส์ จัสติน, มาร์ค อัลไบรท์ตัน, อาโยเซ่ เปเรซ, ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์, เจงกิซ อุนเดอร์, ยูรี ตีเลอมันส์, เจมส์ แมดดิสัน และ เคเลชี่ อิเฮียนาโช่)

 – นับเฉพาะการแข่งขันทุกรายการภายในประเทศฤดูกาลนี้ เลสเตอร์ แพ้ถึง 6 จาก 17 เกม ถึงแม้ 7 เกมนับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2021 พวกเขาคว้าชัยชนะได้ถึง 5 นัดก็ตาม 

 – เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ผู้จัดการทีม “จิ้งจอกสยาม” แพ้ 11 จาก 14 เกม ที่คุมทีมเจอกับ แมนฯ ยูไนเต็ด โดยปราชัยรวดใน 7 เกมหลังสุด 

 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

 – “ปีศาจแดง” คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ มาแล้ว 12 ครั้ง เป็นรองแค่ อาร์เซน่อล (14 ครั้ง) ทีมเดียว โดยแชมป์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในฤดูกาล 2015/16 ที่พวกเขาเบียดชนะ คริสตัล พาเลซ 2-1 ในเกมรอบชิงฯ

 – แมนฯ ยูไนเต็ด ลุ้นผ่านเข้าสู่รอบตัดเชือก เอฟเอ คัพ เป็นหนที่ 31 ซึ่งจะแซงหน้า อาร์เซน่อล ที่ทำได้ 30 ครั้ง 

 – แมนฯ ยูไนเต็ด เข้ามาถึงรอบก่อนรองฯ เอฟเอ คัพ เป็นอย่างน้อย ตลอดช่วง 7 ฤดูกาลหลังสุด (ตั้งแต่ซีซั้น 2014/15 ถึงซีซั่นปัจจุบัน) แต่ 6 ฤดูกาลที่ผ่านมา มีแค่ 3 ครั้งที่ไปได้ไกลกว่ารอบนี้ (ซีซั่น 2015/16, 2017/18 และ 2019/20) 

 – แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 12 จาก 15 เกมหลังสุด ยามได้เตะศึก เอฟเอ คัพ นอกบ้าน (เสมอ 1, แพ้ 2)

 – หากนับเฉพาะการแข่งขันทุกรายการภายในประเทศ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่แพ้เกมเยือนมาแล้วถึง 29 นัดติด (ชนะ 21, เสมอ 8)
 
    – Subinho –

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.