Football Sponsored

กีฬา – New Forest derby…เกลียดข้างเดียว!

Football Sponsored
Football Sponsored

วันเสาร์ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.

โพลล์สำรวจ “The League of Love and Hate” เมื่อสองปีก่อน ระบุว่า แฟนบอลของ บอร์นมัธ เกลียด เซาแธมป์ตันอย่างที่สุด!!!

ขยายความแห่งการเกลียดชัง ของสองทีมที่ถูกตั้งชื้อดาร์บี้แมทช์ว่า “New Forest derby” ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเกลียดกันข้างเดียว!

กล่าวคือ ทั้งสองเมืองนี้ได้แบ่งปันภาคธุรกิจ, การขนส่ง, สื่อต่างๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกัน

หนังสือพิมพ์ประจำเมือง Southern Daily Echoในเซาแธมป์ตัน และ Bournemouth Echo เป็นเจ้าของเดียวกัน ซึ่งการเดินทางระหว่างเมือง 30 ไมล์ ใช้เวลาประมาณ 27 นาที ด้วยรถไฟสาย เซาธ์เวสต์ ระหว่างนั้นมีอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะอังกฤษ

ชื่อว่า “The New Forest” และสีของทั้งสองสโมสรที่ใช้ ก็ใกล้เคียงกันมาก

เสาร์นี้ บอร์นมัธ จะดวลกับ เซาแธมป์ตัน โดยมีโควตารอบรองชนะเลิศเอฟเอ คัพ เป็นเดิมพัน

ย้อนกลับไปในระหว่างปี 2008-2010 เป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำของทีมจากแดนใต้

ปี 2008 พอร์ทสมัธ ได้แชมป์เอฟเอ คัพ อย่างยิ่งใหญ่ แต่ซีซั่นต่อมา บอร์นมัธ กับ เซาแธมป์ตัน สองทีมนี้พร้อมกันวิกฤติพร้อมๆ กัน

ปี 2009 บอร์นมัธ เกือบหลุดจากลีกอาชีพของอังกฤษ กลายเป็นทีมนอกลีก หลังจบด้วยอันดับ 4 จากท้ายตารางลีกทูหรือดิวิชั่น 4 เพราะพวกเขาถูกตัดแต้มถึง 17 คะแนน เนื่องจากสโมสรมีปัญหาด้านการเงินจนเกือบจะล้มละลาย

ขณะที่ เซาแธมป์ตัน ก็หล่นมาอยู่ลีก วัน หรือ ดิวิชั่น 3โดนหักคะแนน และบริษัทแม่อย่าง Southampton Leisure Holdings PLC ถูกควบคุมกิจการ

ปี 2010 พอร์ทสมัธ กลายเป็นทีมที่โดน “อาถรรพ์แดนใต้”เล่นงานอีกทีมหรืออย่างไร……

พวกเขากลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีกที่ต้องเข้ารับการฟื้นฟูกิจการ มีหนี้สินสะสมราว 60 ล้านปอนด์ ก่อนจะตกชั้นพร้อมกับถูกตัดไป 9 แต้ม

นับจากวันนั้น พอร์ทสมัธ ออกนอกฝั่งไม่กลับมาอีก ตรงกันข้ามกับ บอร์นมัธ และเซาแธมป์ตัน

จากการบริหารจัดการใหม่ทั้งหมด ทำให้ เซาแธมป์ตัน คืนชีพอย่างเหลือเชื่อ หลังจากใช้เวลาในลีก วัน แค่ 2 ซีซั่น ก่อนจะกลับมาสู่เดอะ แชมเปี้ยนชิพ และใช้เวลาเพียงปีเดียวขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกอีกทีในซีซั่น 2012-13 และยืนหยัดจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ บอร์นมัธ ฟื้นตัวได้อย่างเหลือเชื่อ และขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 125 ปีของสโมสร เมื่อปี 2015ทำให้โลกฟุตบอลได้จากทีมแดนใต้กลับมาใหม่อีกครั้ง

ไม่ใช่ “พอร์ทสมัธ” แต่เป็น “บอร์นมัธ”

พวกเขาอยู่ในพรีเมียร์ลีก 5 ซีซั่นติดต่อกัน ก่อนจะทนพิษบาดแผลไม่ไหวตกชั้นมาเมื่อซีซั่นก่อน ปิดตำนานทีมเล็กที่สุดในยุคพรีเมียร์

ถามว่าเล็กขนาดไหนนั้น แทบไม่มีใครอยากเชื่อว่าพวกเขาจะขึ้นชั้นมาได้ และอยู่มาได้นานขั้นนี้

อย่างว่า….เมื่อคุณถามแฟนบอร์นมัธ ว่า เกลียดใครมากที่สุด เขาจะตอบทันทีว่า เซาแธมป์ตัน

แต่ถ้าไปถามแฟนบอลเซาแธมป์ตัน บ้าง คุณจะได้รับคำตอบทันทีว่า พอร์ทสมัธ

คำตอบนี้ก็จะได้จากปากแฟนบอลพอร์ทสมัธเช่นกันว่า “เกลียด เซาแธมป์ตัน มากกว่าใคร”

ระยะทางอย่างที่กล่าว บอร์นมัธ-เซาแธมป์ตัน 31 ไมล์, เซาแธมป์ตัน-พอร์ทสมัธ 17 ไมล์ และพอร์ทสมัธ-บอร์นมัธ 51.9 ไมล์

แฟนบอลบอร์นมัธ คงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ เนื่องจากเซาแธมป์ตัน กับ พอร์ทสมัธ มีปัญหาไม่กินเส้นกันมาตั้งแต่ยุคกลาง(Mediaeval times) เนื่องจาก เซาแธมป์ตัน เป็นเมืองใหญ่ ส่วน พอร์ทสมัธ คือหมู่บ้านเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพประมง

แต่จะด้วยเหตุผลกลใดไม่รู้ พ่อค้าต่างๆ เลือกจะประกอบการค้าขายที่ พอร์ทสมัธ มากกว่าที่ เซาแธมป์ตัน ทำให้เหมือนกับเป็นการ “ลูบคม” และทำให้เมืองใหญ่”เสียหน้า”

ขณะที่ เจนเนวีเว่ ไบลี่ย์ นักประวัติศาสตร์เซาแธมป์ตันยืนยันว่า การโกรธและเกลียดกันของ เซาแธมป์ตัน กับ พอร์ทสมัธมาจากพื้นฐานการเดินเรือ

“หลังจากการจมลงของเรือไททานิค ปี 1912 ยังผลให้แรงงานเซาแธมป์ตัน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานกับเรือโอลิมปิกซึ่งเป็นเรือน้องสาวของไททานิค เนื่องจากไม่มีชูชีพเพียงพอ ทุกคนหวั่นว่าจะเกิดเหตุเดียวกับการเสียชีวิตแบบไททานิค ที่ชาวเซาแธมป์ตัน เสียชีวิตมากมาย เพราะการที่เรือออกจากที่นี่ทำให้คนที่นี่ขึ้นไปทำงานกันเยอะ แต่ก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะเสียชีวิตเนื่องจากชูชีพไม่พอ”

ด้วยเหตุนี้ทำให้แรงงานจากพอร์ทสมัธ ได้เข้ามาทำงานในเรือโอลิมปิก แทนพวกเซาแธมป์ตัน โดยพวกเขาตัดสินใจเดินทางมาที่เรือในเวลากลางคืน และเดินทางมาทางเรือ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกชาวเซาแธมป์ตันทำร้าย หากมาทางบก

กระทั่งสู่ยุคศตวรรษที่ 19 เมื่อโลกของฟุตบอลมาถึง ริชาร์ดโอเว่น นักประวัติศาสตร์กิตติมศักดิ์ของพอร์ทสมัธ ระบุเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มสหภาพแรงงานของ บริษัท เซาแธมป์ตันมักจะเดินทางไปทำงานที่พอร์ตสมัธ โดยบริษัทชื่อว่า SouthamptonCompany Union men

“แฟนบอลพอร์ทสมัธ ประดิษฐ์คำย่อของบริษัท [S.C.U.M.]มาด่าใส่นักบอลของเซาแธมป์ตัน และบ่อยครั้งที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอกันที่แฟร็ตตัน พาร์ค บ้านของพอร์ทสมัธ พวกเขาจะปาหินใส่ผู้เล่นฝั่งตรงกันข้าม!!!”

เป็นที่มาของ The South Coast Derby หรือ the Hampshire Derby ของ เซาแธมป์ตัน กับ บอร์นมัธ

…..เหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ บอร์นมัธ ไม่เคยอยู่ในสายตาทั้ง เซาแธมป์ตัน และพอร์ทสมัธ เลย พวกเขาเป็นเพียงแค่“ไก่รองบ่อน” ในสายตาของคู่ปะทะที่ใกล้เคียงกันที่สุดในภูมิศาสตร์

แต่อย่างน้อย แฟนบอลของ บอร์นมัธ ก็ได้ภาคภูมิใจกับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อ 1 มีนาคม 2016 เหนือ เซาแธมป์ตัน2-0 ที่ไวตาลิตี้ เพราะนั่นคือชัยชนะบนลีกสูงสุดเหนือคู่ปรับที่พวกเขามองว่า สำคัญที่สุด

เป็นการปลดปล่อยหลังจากที่อยู่ใต้ร่วมเงาของ เซาแธมป์ตันมานานแสนนาน

ที่ผ่านมา เซาแธมป์ตัน เห็น บอร์นมัธ เป็นเพียง “เพื่อนบ้านธรรมดา” และก็ส่งพวกบรรดานักบอลมาฝึกวิชาที่นี่ หนึ่งในนักบอลคนหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดที่มาชุบตัวคือ อดัม ลัลลาน่า เป็นต้น

อย่างที่ว่ากันไปสถิติการเจอกันจะบอกว่าเยอะก็คงไม่ได้เพราะกว่าร้อยปี เจอกันเพียง 31 ครั้งเท่านั้น และนี่จะเป็นเอฟเอ คัพ ครั้งที่ 3 ที่ทั้งคู่เจอกัน

เป็นหนแรกในรอบ 68 ปีเลยทีเดียว

เกมนี้อาจจะเป็น “ดาร์บี้แมทช์” ที่อาจจะไม่อยู่ในสายตาใครอาจจะไม่ใช่สำหรับเซาแธมป์ตัน ก็ได้

แต่สำหรับ บอร์นมัธ แล้ว………..

เชื่อว่าทั้งหมดทำความเข้าใจกันได้ หากว่าอ่านกันถึงบรรทัดนี้!!!

บี แหลมสิงห์

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.