Football Sponsored

รู้จักกฎ “5 วัน” และบทลงโทษหากไม่ทำตาม – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

กลายเป็นเรื่องใหญ่โตกันเลยหลังจากที่ บราซิล, เม็กซิโก, ปารากวัย และ ชิลี ต่างก็เรียกร้องให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) สั่งห้ามนักเตะจากชาติของพวกเขาลงเล่นให้กับหลายทีมในเกาะอังกฤษเป็นเวลา 5 วัน ตามกฎ “5 วัน” ที่ ฟีฟ่า เคยตั้งเอาไว้ โทษฐานที่ทีมเหล่านั้นไม่ปล่อยนักเตะมารับใช้บ้านเกิดในโปรแกรมเกมทีมชาติช่วงเดือนกันยายนนี้

    สำหรับสโมสรจากเกาะอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากการร้องเรียนของ 4 ชาติจากทวีปอเมริกาใต้มีทั้ง ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, ลีดส์ ยูไนเต็ด, วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส, นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด และ วัตฟอร์ด ซึ่งแน่นอนว่ากรณีของนักเตะจาก บราซิล เป็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เพราะมีนักเตะชาวบราซิเลียนชื่อดังหลายคนที่เล่นให้กับสโมสรเหล่านั้น อย่างเช่น อลีสซง เบ็คเกอร์, โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ และ ฟาบินโญ่ ที่อยู่กับ ลิเวอร์พูล, เอแดร์ซอน โมราเอส กับ กาเบรียล เชซุส ที่เล่นให้ แมนฯ ซิตี้, เฟร้ด ที่อยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด, ติอาโก้ ซิลวา ของ เชลซี และ ราฟินญ่า ของ ลีดส์ ยูไนเต็ด เป็นต้น

    กรณีการที่หลายทีมในเกาะอังกฤษไม่ปล่อยนักเตะบางคนไปเล่นให้ทีมชาตินั้นเชื่อว่าหลายคนอาจจะพอรู้กันอยู่แล้ว เพราะเหล่าทีมใน พรีเมียร์ลีก มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์กันไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ปล่อยแข้งภายในสโมสรไปรับใช้บ้านเกิดหากนักเตะต้องเดินทางไปยังชาติที่อยู่ในกลุ่ม “เร้ด ลิสต์” หรือกลุ่มที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทื่น่าเป็นห่วงในสายตาของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยคนที่เคยเดินทางไปในชาติเหล่านั้นจำเป็นต้องกักตัว 10 วันทันทีที่เข้าสู่สหราชอาณาจักร จนจะทำให้พวกเขาอดสิทธิ์ช่วยทีมในบางนัด แต่กฎ “5 วัน”อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกจนสงสัยว่ามันคือกฎอะไร

    สำหรับกฎ “5 วัน” นั้น เป็นกฎที่ ฟีฟ่า ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องไม่ให้เหล่าทีมชาติถูกสโมสรเอาเปรียบมากเกินไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้บางครั้งเหล่าสโมสรหาข้ออ้างถอนตัวนักเตะจากทีมชาติแบบไม่จำเป็น โดยกฎนั้นระบุว่าหากนักเตะคนไหนไม่โดนปล่อยไปเล่นกับทีมชาติแล้วล่ะก็ แข้งคนนั้นๆ ก็มีโอกาสที่จะถูกสั่งห้ามลงช่วยต้นสังกัดเป็นเวลา 5 วัน นับตั้งแต่วันที่จบโปรแกรมเกมทีมชาติในช่วงนั้นๆ โดยมันขึ้นอยู่กับ ฟีฟ่า ว่าจะลงดาบแบบนั้นรึเปล่า

    ทั้งนี้ โปรแกรมเกมทีมชาติหนนี้จบลงในวันที่ 9 กันยายน (เช้าวันที่ 10 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย) จากการที่เกม ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ เตะกันในวันนั้น นั่นหมายความว่ากฎห้ามนักเตะลงเล่นให้สโมสรเป็นเวลา “5 วัน” นั้น จะมีผลในระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน

    ใช่แล้ว ในกรณีของบางสโมสรนั้นบทลงโทษในครั้งนี้จะมีผลเฉพาะเกมลีกในช่วงสุดสัปดาห์นี้เท่านั้น แต่ในกรณีของ แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี มันจะมีผลไปจนถึงเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่เตะกันในวันที่ 14 ก.ย. ด้วย หลังจากวันนั้น แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องไปเยือน ยัง บอยส์ ส่วน เชลซี ต้องเจอกับ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก

    ในขณะเดียวกัน ถ้าหากสโมสรไม่ยอมทำตามกฎ “5 วัน” และฝืนส่งนักเตะที่โดนแบนอยู่ลงเล่นภายในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วล่ะก็ มันก็จะมีการปรับแพ้ทีมนั้นด้วยสกอร์ 0-3 ทันที แต่หากสกอร์มันออกมาในสภาพที่ทีมนั้นแพ้ด้วยผลต่างเกิน 3 ลูก มันก็จะยึดให้ผลออกมาเป็นแบบนั้นไปเลย อย่างเช่น ทีมที่ส่งนักเตะซึ่งโดนแบนอยู่ลงเล่นแต่แพ้ 0-4 ก็จะมีการยึดให้ผลออกมาเป็น 0-4 ไม่ใช่การปรับแพ้ 0-3 เป็นต้น

    นอกจากนี้ ทีมที่ส่งนักเตะซึ่งโดนแบนอยู่ลงเล่นนั้นก็จะโดนปรับเงินเป็นจำนวน 5,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 177,700 บาท) ด้วย ขณะที่ตัวนักเตะเองก็อาจจะโดนลงโทษในระดับหนึ่งเหมือนกัน

    ทั้งนี้ ลิเวอร์พูล กับ ลีดส์ มีคิวเจอกันเองในสุดสัปดาห์นี้พอดี ทำให้หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าเกิดทั้ง 2 ทีมต่างส่งนักเตะที่โดนแบนอยู่ลงเล่นแล้วนั้น บทลงโทษจะออกมาเป็นยังไง ? คำตอบก็คือทั้งคู่จะโดนปรับแพ้ด้วยสกอร์ 0-3 ไปเลยนั่นเอง

    หลายคนอาจจะแปลกใจว่าทำไม เอฟเวอร์ตัน ถึงไม่อยู่ในกลุ่มที่โดน บราซิล ฟ้อง ทั้งที่พวกเขาก็ไม่ได้ปล่อย ริชาร์ลิซอน มารับใช้ชาติในโปรแกรมเกมทีมชาติหนล่าสุดเหมือนกัน โดยสาเหตุเป็นเพราะว่า เอฟเวอร์ตัน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล จากการที่ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” เพิ่งยอมให้ ริชาร์ลิซอน ไปเล่นในศึก โอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพนั่นเอง

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.