อะไรเอ่ย ไม่ใช่เงินเราแต่เดือดร้อน?
คำตอบนั้นมีหลายอย่างเหลือเกิน และรวมไปถึงเรื่องราวในวงการฟุตบอลด้วย เพราะเมื่อสโมสรหนึ่งเซ็นสัญญากับนักเตะดัง ๆ ค่าตัวหรือค่าเหนื่อยแพงระยับในแบบที่ทีมอื่นจ่ายไม่ไหว พวกเขาจะมักจะโดนล้อว่า “มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้นะ …”
และฝั่งที่โดนล้อก็จะตอบกลับด้วยประโยคสุดคลาสสิกว่า “แค่ขายเสื้อก็คุ้มแล้ว” … แทบจะ 9 ใน 10 ครั้ง ประโยคนี้ถูกนำออกมาใช้เสมอ ๆ เพื่อยืนยันว่า “นี่คือดีลที่ชาญฉลาด”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้วลีสุดคลาสสิก ความจริงเป็นเช่นไร ? แค่ขายเสื้อก็คุ้มแล้วมีจริงหรือไม่ ? หรือแค่แก้เขินไปอย่างนั้น ? ติดตามได้ที่ Main Stand
การซื้อสตาร์กับฟุตบอลสมัยใหม่
การซื้อซูเปอร์สตาร์เข้ามาร่วมทีมจำเป็นต้องคิดหน้าคิดหลังเยอะมากในช่วงเวลานี้ เนื่องจากรายได้ของแทบจะทุกสโมสรหดหายไปถึง 2 ปีเต็ม ๆ จากสถานการณ์โควิด-19 จนกระทั่งฤดูกาล 2021-22 นี้ ถือว่าเป็นการ “รีสตาร์ต” กันใหม่อีกครั้ง
เหล่าสโมสรดัง ๆ ต่างเลือกวิธีของตัวเองหลังจากได้บทเรียนที่หนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ลิเวอร์พูล ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ใช้เท่าที่จำเป็นต่อไป ไม่ทุ่มซื้อนักเตะราคาแพงมากมายนัก ขณะที่ทีมอื่น ๆ อย่าง อาร์เซน่อล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เดินหน้าเสริมทัพและใช้เงินไปมากมายสำหรับนักเตะที่ย้ายเข้ามาใหม่ คำถามคือทำไมพวกเขายังกล้าใช้เงินเยอะในสถานการณ์ที่หลายทีมรัดเข็มขัดเช่นนี้ ?
แม้ว่าจะเป็นการเซ็นสัญญาแบบไม่ต้องจ่ายค่าตัว เพราะ เมสซี่ ไม่มีสโมสรต้นสังกัด จากปัญหาทางการเงินของ บาร์เซโลน่า ต้นสังกัดเดิม แต่ตามที่รายงานของ The Athletic สรุปคือ เมสซี่ จะได้ค่าเหนื่อยปีละเกือบ ๆ 40 ล้านยูโร นอกจากนี้ เปแอสเช ยังจ่ายค่าเซ็นสัญญากินเปล่าให้กับ เมสซี่ ในวัย 34 ปี อีก 30 ล้านยูโร โดยคิดเป็นยอดรวมทั้งหมดที่ เมสซี่ ได้จาก เปแอสเช ในปีแรกที่ย้ายมาร่วมทีม 75 ล้านยูโร
และแน่นอนว่าฟุตบอลคือเรื่องของธุรกิจ ซื้อเข้ามาก็ใช่ว่าจะหวังแต่ผลงานในสนามเพียงอย่างเดียว การเข้ามาของนักเตะระดับสตาร์ ส่งผลอย่างมากต่อด้านการตลาด ทั้งการเพิ่มฐานแฟนคลับ ชัดเจนที่สุดก็คงต้องยกเคสของ เมสซี่ ขึ้นมากล่าวอีกครั้ง
สิ่งที่เพิ่มตามมาหลังจากนี้คือยอดขายเสื้อลิขสิทธิ์ของสโมสร ที่สามารถบอกได้ว่าการย้ายเข้ามาของนักเตะคนนี้ส่งผลต่อการตลาดของทีมได้ขนาดไหน สำหรับ เมสซี่ ข้อมูลล่าสุดคือ 1 ชั่วโมงแรกหลังการเปิดตัวกับ เปแอสเช เสื้อของเขาขายได้มากถึง 150,000 ตัว (นับเฉพาะเสื้อที่แฟน ๆ สกรีนหมายเลข 30 และมีชื่อของเขาอยู่ด้านหลัง)
จริง ๆ ไม่ต้องมีตัวเลขคอนเฟิร์มก็เดาได้ว่ายอดขายเสื้อจะพุ่งขนาดไหน เมื่อมีซูเปอร์สตาร์เข้ามาสู่ทีม เมื่อพวกเขามาถึง แฟน ๆ ตื่นเต้นกันแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน คนที่ไม่เคยคิดจะซื้อเสื้อก็อยากจะได้เสื้อแข่งสักตัวที่มีเหตุผลมากพอที่พวกเขาจะเจียดรายได้ของตัวเองเพื่อซื้อเสื้อมาสวมใส่ ในขณะที่คนที่มีเสื้ออยู่แล้วก็อยากจะได้เสื้อที่ปักชื่อนักเตะระดับโลกเพิ่มขึ้นอีกสักตัว เพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำหรืออะไรก็ว่ากันไป
คำถามต่อจากนี้คือ ที่ว่าขายเสื้อได้กำไรมากมาย มันมากขนาดไหน เงินจากเสื้อของซูเปอร์สตาร์จะมากพอจนทำให้วลี “แค่ขายเสื้อก็คุ้มแล้วจริงหรือไม่?”
กลไกของเสื้อแข่ง
อย่างแรกเลย หลายคนอาจจะมีความเข้าใจที่ผิดไปพอสมควรสำหรับการขายเสื้อแข่งของสโมสรฟุตบอลแต่ละทีม ความเชื่อที่ว่าขายเสื้อก็คุ้มแล้ว สามารถถูกปัดตกไปได้ทันทีว่าแนวความคิดนี้ “ไม่จริง” แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่ายอดขายเสื้อจากสตาร์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยอะไร ?
ทุกสโมสรล้วนมีสปอนเซอร์ชุดแข่งเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะทีมระดับโลกนั้น พวกเขามีสัญญากับแบรนด์สปอร์ตแวร์ระดับแนวหน้าของโลกอย่าง ไนกี้, อาดิดาส หรือ พูม่า จับจองอยู่เสมอ แถมยังเป็นการเซ็นสัญญาระยะยาวระดับ 5 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น
แบรนด์อย่าง ไนกี้, อาดิดาส, พูม่า หรือแบรนด์อื่น ๆ มีเงื่อนไขกับสโมสรที่พวกเขาเซ็นสัญญาสนับสนุนแตกต่างกันออกไป เมื่อพวกเขาลงทุน พวกเขาจะได้อะไรกลับมาบ้างนอกจากการการโฆษณา … ทางตรงเลยคือ “ส่วนแบ่งจากยอดขาย”
ทุก ๆ การขายเสื้อแข่งของสโมสร 1 ตัว สปอนเซอร์ชุดแข่งจะได้ส่วนแบ่งเป็นจำนวนมากแบบที่คุณไม่อยากจะเชื่อ ตัวเลขที่ปรากฏผ่านการยืนยันของ Goal.com คือบางแบรนด์เอาส่วนแบ่งจากการขายเสื้อไปมากกว่า 90% … สมมุติว่าเสื้อตัวละ 100 บาท ขายได้ 1 ตัว สโมสรจะได้ส่วนแบ่งเพียง 10 บาทเท่านั้น อีก 90 บาท จะไปเข้าที่สปอนเซอร์ทั้งหมด
ยกเอาเคสของ เมสซี่ มาเป็นตัวอย่างอีกสักครั้ง ถ้าเราเอาตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยคือ ยอดขายเสื้อแข่งเปแอสเชหมายเลข 30 ของ เมสซี่ ทั้งหมด 150,000 ตัว จะสร้างรายรับรวมทั้งหมด 25 ล้านยูโร แต่ทว่าเงื่อนไขของ ไนกี้ คือ พวกเขาจะเอาส่วนแบ่งจากยอดขายเสื้อไปทั้งหมดราว ๆ 85-90% ดังนั้นจึงเท่ากับว่าจากรายรับทั้งหมด 25 ล้านยูโร เปแอสเช จะมีรายได้จากยอดขายเสื้อที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอยู่ราว ๆ 3 ล้านยูโรเท่านั้น
ส่วนคำถามที่ว่าขายเสื้อก็คุ้มแล้ว แม้จะเป็นไปได้ยากแต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต เพราะหากเราเอายอดขาย 150,000 ตัว ที่ เปแอสเช จะได้เงิน 3 ล้านยูโร มาเปรียบเทียบกับเงินที่พวกเขาจ่ายให้ เมสซี่ สำหรับค่าเหนื่อยและค่าเซ็นสัญญารวมทั้งหมด 75 ล้านยูโร เท่ากับว่า หากพวกเขาจะขายเสื้อ เมสซี่ ให้คุ้ม จะต้องขายเสื้อ เมสซี่ ให้ได้ทั้งหมดราว ๆ 5 ล้านตัว ซึ่งนั่นคงเป็นอะไรที่ยากพอสมควร เพราะในฤดูกาล 2020-21 ที่ผ่านมา สโมสรที่ขายเสื้อได้มากที่สุดอย่าง ลิเวอร์พูล ก็ยังขายได้แค่ 1.67 ล้านตัวเท่านั้น
มูลค่าที่มองไม่เห็น
จากคำตอบด้านบน เราอาจจะพอมองเห็นว่า สโมสรนั้นเสียเปรียบแบรนด์เสื้ออยู่พอสมควร เพราะพวกเขาได้ส่วนแบ่งน้อยมาก ๆ แต่ในความเป็นจริงคือพวกเขาก็ได้เงินแบบชัวร์ ๆ ไปแล้ว ในวันที่เซ็นสัญญากับแบรนด์เสื้อแข่ง ต่อให้พวกเขาไม่ต้องซื้อใครมาเสริมทัพเลย แบรนด์ชุดแข่งก็ต้องจ่ายเงินให้กับพวกเขาอยู่ดี
ยกตัวอย่างเช่น ลิเวอร์พูล ที่เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ชุดแข่งของ ไนกี้ เมื่อปี 2020 โดยปกติแล้ว ไนกี้ จะแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากยอดขายเสื้อให้กับสโมสรนั้น ๆ อยู่ที่ราว ๆ 7.5-15% แต่ทีมเจรจาของหงส์แดง ก็ได้ทำการต่อรองขั้นเซียน โดยยอมรับเงินสนับสนุนต่อปีแค่ราว 30 ล้านปอนด์เท่านั้น ทว่าสามารถทำให้ ไนกี้ ยอมแบ่งรายได้จากชุดแข่งขันหรือสินค้าของสโมสรให้มากถึง 20% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งไม่มีสโมสรไหนในโลกสามารถเอาส่วนแบ่งจาก ไนกี้ ได้มากขนาดนี้อีกแล้ว ว่ากันว่า นี่คือตัวเลขที่จะทำให้ลิเวอร์พูลรับทรัพย์จากแบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติอเมริกันมากถึง 100 ล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว
สิ่งที่ เปแอสเช ต้องการคือส่วนแบ่งที่มากขึ้น เพราะพวกเขาเองก็ลงทุนไปเยอะมากกับ เมสซี่ ตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งหาก เปแอสเช สามารถขอส่วนแบ่งได้สัก 20% เหมือนที่ ลิเวอร์พูล ทำได้ หรือมากกว่านั้น และหาก เมสซี่ เกิดยิ่งเล่นยิ่งเทพ จนสร้างสตอรี่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ (ยกตัวอย่างก็แชมป์ยุโรปที่สโมสรนี้รอคอยมาตลอด) จนยอดขายเสื้อของ เปแอสเช ขยับมาเป็นหลัก 1.5-1.6 ล้านตัวต่อปี และขายดีแบบนี้ต่อเนื่องไปสัก 3-4 ปี วลี “ขายเสื้อก็คุ้มแล้ว” อาจจะใกล้ความจริงเข้ามาอีกหน่อย
This website uses cookies.