เพราะปฏิเสธสัญชาติญี่ปุ่น “เฮงซัง” ถึงได้ไปเล่นเยอรมัน
ปี 2520 หรือ 44 ปีที่แล้ว นักเตะจากประเทศไทยคนแรกประกาศศักดาด้วยการโยกไปค้าแข้งในลีกของประเทศญี่ปุ่นเป็นคนแรกนั่นคือ วิทยา เลาหกุล แข้งดังกองกลางทีมชาติไทยและสโมสรฟุตบอล “ตราชฎา” ราชประชา ด้วยการมีชื่อลงเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ่ โอซาก้า ปัจจุบัน) นี่คือนักเตะคนแรกของประเทศไทยในลีกญี่ปุ่นและเป็นใบเบิกทางให้นักเตะรายอื่นๆก้าวเดินตามมาในยุคหลังๆ
ตลอดสัญญาการค้าแข้งกับ ยันมาร์ ดีเซล ช่วง 2 ปี 2520-21 วิทยา เลาหกุล คือผู้เล่นคนสำคัญในการช่วยยกระดับทีมโชว์ฟอร์มการเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ผลงานในฐานะนักเตะอาชีพในญี่ปุ่นถือว่ายอดเยี่ยมเป็นผู้ยิงประตูสูงสุดในฟุตบอลเอฟเอ คัพ 6ประตู และ ในลีก 14 ประตู พร้อมติดทีมยอดเยี่ยมของลีก ช่วงหมดสัญญากับสโมสรฟุตบอลยันมาร์ ดีเซล ทางต้นสังกัดได้เปิดโต๊ะเจรจาให้รับใช้ต้นสังกัดต่อโดยยื่นสัญญาฉบับใหม่ระยะยาว 5 ปี นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้โอนสัญชาติเป็นชาวญี่ปุ่นแบบเต็มตัว เพื่อจะได้โควตานักเตะท้องถิ่นในสนามแข่งขัน ทำให้ตอนนั้นคิดหนักพอสมควรก่อนที่จะตัดสินใจกลับประเทศไทย เลือกไม่ต่อสัญญาในการเล่นฟุตบอลอาชีพที่ญี่ปุ่น
ท่ามกลางการตัดสินใจครั้งใหญ่เลือกเดินทางกลับประเทศไทยช่วงเวลานั้น กลับมารับใช้ทีมชาติไทยในรายการพิเศษ เพื่อลงแข่งขันกับสโมสรโคโลญจน์ (เยอรมัน), เอสปัญญอล (สเปน) และ บาร์เซโลน่า (สเปน) ห้วงเวลาดังกล่าวกลับทำให้ได้พบกับแมวมองของสโมสรจากเยอรมันที่เข้ามาเจรจาพูดคุยสุดท้ายตัดสินใจบินไปเล่นที่เยอรมันในเวลาต่อมาด้วยการลงเล่นให้กับแฮร์ธา เบอร์ลิน และ ซาร์บรุคเคน จนได้รับฉายาว่า “ไทยบูม”
อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
ฟุตบอลฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง
This website uses cookies.