Football Sponsored

‘วิทยา เลาหกุล’ ยอดโค้ชผู้บุกเบิกการฝึกฟุตบอลแนวใหม่ Thailand Ways – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

ถ้าจะเอ่ยชื่อนักฟุตบอลสักคน ที่ทั้งทุ่มเท มุ่งมั่นและเสียสละ ในการสอนให้นักเตะรุ่นหลังเป็นคนที่มีความสามารถ และรู้ซึ้งถึงคำว่า ‘นักฟุตบอลอาชีพ’ ก็ต้องยกให้กับอดีตนักเตะทีมชาติไทยที่ชื่อ ‘วิทยา เลาหกุล’

    ‘โค้ชเฮง’ วิทยา เลาหกุล อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย จากจังหวัดลำพูน ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานนักเตะทีมชาติไทย ด้วยเป็นนักฟุตบอลของไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยไปค้าแข้งกับลีกชั้นนำของโลก อย่างบุนเดสลีกา ลีกสูงสุดของประเทศเยอรมัน ก่อนกลับไปทำงานเป็นหัวหน้าโค้ชสโมสรฟุตบอลในญี่ปุ่น และเป็นผู้ที่วงการลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัยยอมรับ ทั้งในฐานะผู้เล่นและกุนซือ ก่อนที่ปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายพัฒนาเทคนิค สโมสรฟุตบอลชลบุรี

    ย้อนอดีตไปตอนที่โค้ชรุ่นเก๋าอยู่ในวัยเยาว์ เขาเกิดในครอบครัวขนาดใหญ่และร่ำรวย แต่เมื่อคุณพ่อถูกฟ้องล้มละลาย ครอบครัวเริ่มลำบาก และถึงเวลาที่ตัวเขาและพี่น้องต้องเลือกทางเดินที่มั่นคงให้กับตัวเอง ซึ่งเขาเลือก ‘ฟุตบอล’ ที่เปรียบเสมือนลมหายใจ ให้เป็นเส้นทางของอนาคต เขาเรียนที่โรงเรียนบ้านเกิด โดยมีเป้าหมายหลัก คือซ้อมฟุตบอลวันละ 3-4 ครั้ง โดยใช้เวลาศึกษาเบสิกและเทคนิคต่างๆ จากนักฟุตบอลระดับโลกทางทีวี และเอากลับเอามาฝึกฝนต่อเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ  

    ในปีพ.ศ. 2516 อดีตกัปตันทีมชาติไทยเริ่มลงแข่งฟุตบอลอย่างจริงจัง โดยลงแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้กับทีมฟุตบอลเขต 5 จังหวัดลำพูน และได้รับเหรียญทอง พร้อมตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำรายการ ฝีเท้าในวัยแค่ 18 ปีเศษ ทำให้เขาถูกเรียกตัวไปทดสอบฝีเท้าที่กรุงเทพฯ และติดทีมนักเรียนไทย ชุดอายุ 18 ปี ที่มี ‘วิวิธ ธิโสภา’ เป็นโค้ช และนำทีมนักเรียนไทยไปคว้าแชมป์ฟุตบอลนักเรียนชิงแชมป์แห่งเอเชีย ที่ประเทศไต้หวัน

    นั่นคือจุดเริ่มต้นบนเส้นทางลูกหนังของ ‘วิทยา เลาหกุล’ จากนั้นเขาเริ่มสร้างชื่อเสียงและติดทีมชาติไทยทุกชุด ไม่ว่าจะเป็นคิงส์คัพ, ซีเกมส์, ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก รวมถึงเมอร์เดก้าคัพ ที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อ ‘คูนิชิเกะ กามาโมโตะ’ อดีตนักเตะ เจ้าของสถิติยิงประตูสูงสุดในทีมชาติญี่ปุ่น ดึงตัวเขาไปร่วมทีม ‘ยันมาร์ ดีเซล’ (เซเรโซ่ โอซาก้า) ในปีพ.ศ. 2520 ณ สโมสรแห่งนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้เทคนิค การฝึกที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น รวมถึงการปรับตัวด้านต่างๆ ซึ่งสัญญาฉบับนั้นตกลงกันไว้ 2 ปี ค่าเหนื่อยเดือนละ 120,000 บาท เมื่อ 44 ปีที่แล้ว จำนวนดังกล่าวถือว่ามหาศาลจนกลายเป็นแข้งไทยที่มีรายได้เยอะที่สุดในยุคนั้น

    วิทยาใช้เวลาในฟุตบอลญี่ปุ่นกับยันมาร์ ดีเซล 2 ปี เป็นผู้เล่นคนสำคัญในการช่วยยกระดับทีม โชว์ฟอร์มการเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ยิงประตูสูงสุดในฟุตบอลเอฟเอ คัพ 6 ประตู และในลีก 14 ประตู พร้อมติดทีมยอดเยี่ยมของลีก พอถึงช่วงหมดสัญญากับยันมาร์ ทางต้นสังกัดได้เปิดโต๊ะเจรจาให้รับใช้ต้นสังกัดต่อ โดยยื่นสัญญาฉบับใหม่ระยะยาว 5 ปี นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้โอนสัญชาติเป็นชาวญี่ปุ่นแบบเต็มตัว แต่เขาปฎิเสธ เพราะมีความฝันที่ทะเยอทะยานมากกว่าการค้าแข่งในเอเชีย วิทยาเคยเปิดใจว่าสมัยเด็กๆ เขามักวาดรูปตัวเองลงเล่นท่ามกลางคนดูหลักหมื่นที่ยุโรปอยู่เสมอ และที่ญี่ปุ่นเล็กเกินไปสำหรับเขา

    ในที่สุดความฝันของวิทยาก็เป็นจริง เมื่อถูกแมวมองชาวเยอรมันดึงไปค้าแข้งในลีกเยอรมันกับสโมสรฟุตบอลแฮร์ธา เบอร์ลิน และ ซาร์บรุ๊คเค่น เป็นเวลารวม 6 ปี จนได้รับฉายาว่า ‘ไทยบูม’ ซึ่งในระหว่างนั้นเขาก็ได้มองหาเส้นทางสายใหม่ที่จะได้อยู่กับฟุตบอลได้ตลอดชีวิต นั่นคือการอบรมโค้ชระดับ A license ที่เยอรมัน เพราะรู้ดีว่าโรงเรียนฟุตบอลเยอรมันดีที่สุดในโลก

    แม้ว่าทุกอย่างกำลังจะไปได้สวย เพราะเขาสามารถพาต้นสังกัดเลื่อนชั้น และได้รับการจับตามองในฐานะนักเตะที่ขึ้นทำเนียบอินเตอร์เนชั่นแนล แต่ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ ที่ต้องการกลับมาเป็นโค้ชสอนเด็กไทยให้ได้รับโอกาสอย่างเขา ทำให้โค้ชเฮงตัดสินใจกลับเมืองไทย เพื่อทำตามความฝัน แม้ว่าระหว่างทางจะพบเจอกับอุปสรรคมากมาย แต่เขาก็ไม่ได้ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่น เพื่อฟุตบอลที่เขารัก พัฒนาบุคลากรฟุตบอล ทั้งการเป็นโค้ชและวิทยากรอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมกับแนวคิดในการปูรากฐานของเยาวชนและผู้ฝึกสอน ผ่านโปรแกรมการฝึกซ้อมสไตล์ Thailand’s Way โดยนำรูปแบบการเล่นของที่ต่างๆ อย่างเยอรมนี, ญี่ปุ่น, เบลเยี่ยม มาผสมผสานเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเล่นที่คิดเร็ว ทำเร็ว มีความดุดัน

    นอกจากนี้ ‘โค้ชเฮง’ ยังทำหนังสือสอนฟุตบอลด้วยทุนส่วนตัวออกมาหลายเล่ม เพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่สนใจ ทั้งยังร่วมทำโครงการต่างๆ อีกมากมายที่ช่วยให้เด็กหรือโค้ชมีความเข้าใจในกีฬาฟุตบอลมากขึ้น

    โปรไฟล์

    ชื่อ-สกุล : วิทยา เลาหกุล

    ชื่อเล่น : เฮง

    เกิด : 1 กุมภาพันธ์ 2497 (ลำพูน)

    ประเภทกีฬา : ฟุตบอล

    ผลงาน :

    ในฐานะนักเตะ

    – 1 ใน 11 ผู้เล่นที่ดีที่สุดของลีกญี่ปุ่น (มัตสึชิตะ หรือกัมบะ โอซาก้า)

    – พ.ศ. 2520 เหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 9 ประเทศมาเลเซีย

    – พ.ศ. 2526 แชมป์ลีก Oberliga Südwest เยอรมัน (สโมสรซาร์บรุ๊คเค่น)

    – พ.ศ. 2528 เหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ประเทศไทย (กัปตันทีม)

    ในฐานะผู้จัดการทีม

    – พ.ศ. 2533 แชมป์ Emperor’s Cup (มัตสึชิตะ หรือกัมบะ โอซาก้า)

    – พ.ศ. 2535 แชมป์ควีนส์คัพที่ประเทศไทย (มัตสึชิตะ หรือกัมบะ โอซาก้า)

    – พ.ศ. 2539 แชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2539/40 (สโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ)

    – โค้ชยอดเยี่ยมประจำปี ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก (สโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ)

    – พ.ศ. 2540 เหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย (ทีมชาติไทย)

    – พ.ศ. 2553 แชมป์ไทยคม เอฟเอคัพ (สโมสรฟุตบอลชลบุรี)

    – พ.ศ. 2554 รองแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีก (สโมสรฟุตบอลชลบุรี)

    – ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ถ้วย ก ชนะเลิศ 4 สมัย (2551, 2552, 2554 และ 2555)
 

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.