Football Sponsored

วันนี้ที่รอคอย – สยามกีฬา

Football Sponsored
Football Sponsored

หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือน คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม จะพบว่า นอกจากผ้ายันต์เกจิดังจากเมืองไทยที่แปะไว้ใต้หลังคาเหนืออัฒจันทร์ทุกด้านกระทั่งหน้าห้องแต่งตัวนักเตะทีมเหย้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถเห็นได้ทั่วไปคือป้ายที่เขียนข้อความสั้นๆ แต่กระแทกใจผู้มีส่วนเกี่ยว

     มันอ่านได้ว่า : “FOXES NEVER QUIT”
  
     คุณอาจแปลความว่า ไม่เคยยอมแพ้, ไม่เคยถอดใจ, ไม่เคยยอมจำนน และอีกไปยาล

     ไม่ว่าจะแปลความหมายมันว่าอย่างไร นี่คือสิ่งที่นักเตะ เลสเตอร์ ซิตี้ ยึดมั่นมาตลอด 

     เป็นปรัชญาของสโมสรที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ขณะที่แฟนๆ ก็ร่วมซึมซับและมักนำป้ายข้อความดังกล่าวมาช่วยเร้าสปิริตผู้เล่นในวันแข่งเสมอ 

     “คนยอมแพ้ไม่เคยเป็นผู้ชนะ และผู้ชนะไม่เคยยอมแพ้”
 
     พวกเขาพร่ำบอกกันและกันเสมอว่าตัวเองคือ “จิ้งจอกยอดนักสู้” เมื่อแหงนมองป้ายปลุกใจเหนืออุโมงค์ก่อนเข้าสู่สังเวียนแข้งเพื่อไปสู้

    โลกอาจจดจำวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 ว่า เป็นวันสุขสมหวังของ เลสเตอร์ เมื่อ “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” จากการทำงานของ เคลาดิโอ รานิเอรี่ ผงาดคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้อย่างยิ่งใหญ่ ชนิดหักปากกาเซียนทั่วผืนพิภพ

     แน่นอนครับ ทุกคนชื่นชมกับความสำเร็จระดับ 5,000-1 (ไม่รวมทุน) เช่นเดียวกับสาวก เลสเตอร์ ที่ไม่มีทางลืมวันอัศจรรย์ของพวกเขาได้ 

     แต่ขณะเดียวกัน ลึกๆ แล้ว กองเชียร์พันธุ์แท้ “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” ต่างสำเหนียกดีว่า ภาพฝันของพวกเขา ยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าจะเห็นทีมรักได้ชูโทรฟี่น็อคเอ๊าต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกสักครั้ง เพราะมันเป็นความสำเร็จในประเทศที่สโมสรไม่เคยได้สัมผัสเลยนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 137 ปีที่แล้ว 

     ห้าปีที่ผ่านไป เลสเตอร์ อาจได้ไปยืนสูดอากาศบนจุดสูงสุดของลีกสูงสุด, ได้อวดฝีเท้าบนเวทียักษ์อย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทว่า เอฟเอ คัพ ถ้วยที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง ยังคงเป็นสุดยอดปรารถนาของพวกเขาเสมอ 

     ยิ่งเมื่อลองไปพลิกพงศาวดาร เอฟเอ คัพ ดู คุณจะพบชื่อทีมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแชมป์แต่กลับได้ชื่อว่าเป็นแชมป์เพียบ อย่าง วันเดอเรอร์ส, โอลด์ เอโตเนี่ยนส์, อ็อกซ์ฟอร์ด ยูนิเวอร์ซิตี้, รอยัล เอ็นจิเนียร์ส และ แบล็คเบิร์น โอลิมปิก เป็นอาทิ 

     แม้แต่ทีมในลีกล่างลำดับสี่อย่าง แบร็ดฟอร์ด ซิตี้ กระทั่งทีมที่ตอนนี้สูญพันธุ์จากสารบบลูกหนังเรียบร้อยอย่าง บิวรี่ หรือ แคล็ปแฮม โรเวอร์ส ที่ครั้งหนึ่งเคยวิ่งหวดลูกหนังกันขำๆ ในลีกวันอาทิตย์ ต่างเคยถูกจารึกชื่อในฐานะแชมเปี้ยนแห่ง เอฟเอ คัพ มาหมดแล้ว

     แต่สโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี้ กลับยังไม่เคยได้สัมผัสกับเกียรติยศนี้เลย

     พวกเขาเฉียดที่ได้ลิ้มรสกับความสำเร็จนี้สี่วาระนะครับ…

     1949 – “หมาป่าขย้ำจิ้งจอก”
      เลสเตอร์ ที่รอดพ้นจากการตกชั้นสู่ดิวิชั่นสามแบบหวุดหวิด ต้องขาดสองคีย์แมนอย่างนายประตู เอียน แม็คกรอว์ กับ ดอน เรวี่ และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ 1-3 ต่อ วูล์ฟส์ ของยอดกุนซือ สแตน คัลลิส ซึ่งนับหนึ่งถ้วยใบแรกสุดจากทั้งหมดห้าใบในคราบหัวหน้าฝูงหมาป่า

     1961 – “ภาพทีวีสีขาว-ดำ” 
     เลสเตอร์ รออีก 12 ปีจึงได้หวนสู่นัดชิงชนะเลิศที่ โอลด์ เอ็มไพร์ สเตเดี้ยม อีกครั้ง จากการทำงานของกุนซือ แม็ตต์ จิลล์ส ซึ่งเกมนี้ มีการถ่ายทอดสดเป็นภาพสีสดใสครั้งแรกในอังกฤษ แต่มันกลับกลายเป็นภาพสีหม่นหมองของแฟนๆ “เดอะ ฟ็อกซ์” เมื่อทีมรักถูก สเปอร์ส ดับเบิ้ลแชมป์ในปีดังกล่าวโบย 2-0 โดยพวกเขาต้องเล่นเพียง 10 คนนานถึง 70 นาที เนื่องเพราะ เลน ชัลเมอร์ส ฟูลแบ็กตัวเก่งเจ็บขาขวาหลังผ่านไปแค่ 20 นาทีแรก

     1963 – “เป็นต่อ-ไม่พอใจ” 
     นี่เป็นครั้งเดียวที่ เลสเตอร์ ถูกยกให้เป็นต่อ จากฟอร์มที่ร้อนแรงภายใต้การนำของ จิลล์ส กุนซือคนดีคนเดิม ด้วยผลงานไร้พ่าย 18 เกม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสถิติสโมสรที่ยืนยงนานถึง 46 ปี อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับโดนทีมที่หนีตกชั้นในลีก ณ เวลานั้น อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด จับกด 3-1 
 
     อนึ่ง สำหรับนัดชิงชนะเลิศในปีนี้ ได้มีการถ่ายทอดสดโดยยิงสัญญาณภาพเป็นสีขาว-ดำ และที่แย่คือ เลสเตอร์ แพ้การเสี่ยงทายหัวก้อย เลยทำให้พวกเขาจำต้องสวมชุดสีขาวลงเตะ สร้างความไม่พอใจให้กองเชียร์ทางบ้านที่ติดตามชมยิ่งนัก เพราะต้องเพ่งจนปวดตา ก่อนจะปวดใจซ้ำอีกเมื่อสิ้นเสียงนกหวีดยาว 

     1969 – “รอ รอ รอ” 
     เลสเตอร์ รออีกเพียงหกปีในการพาตัวเองเข้าไปสู่ “เอฟเอ คัพ ไฟนั่ล” หนที่สามในรอบทศวรรษ โดยคราวนี้ กุนซือ แฟร้งค์ โอฟาร์เรลล์ ได้สร้างความฮือฮาด้วยการส่ง เดวิด นิช หนุ่มหน้าใสวัย 21 ลงสนามในฐานะกัปตันทีมที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์การแข่งขัน น่าเสียดายที่ “กัปตันนิช” ไม่สามารถนำลูกทีมสัมผัสกับโทรฟี่ได้ เมื่อโดน แมนฯ ซิตี้ แชมป์ลีกปีก่อนหน้าเชือด 1-0 ต่อหน้าแฟนบอลราว 100,000 คนที่ยัดทะยานแน่นหนาทุกตารางนิ้วในเมกกะลูกหนังหอคอยคู่อย่าง เวมบลีย์ 

    การเข้าชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ทั้งสี่ครั้งของ เลสเตอร์ จบแบบเดียวคือเจ็บ จนทำให้พวกเขาครองสถิติที่ไม่น่าพิสมัยเลยของ “เอฟเอ คัพ ไฟนั่ล” ในฐานะทีมที่ผ่านเข้าไปถึงได้มากสุด และแพ้มากสุด

     ในประวัติศาสตร์การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยมหาเสน่ห์ที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ.1872 หรือกว่า 149 ปี ไม่เคยมีทีมไหนเจ็บช้ำซ้ำซ้อนเท่ากับพวกเขาอีกแล้ว 
 
     ว่ากันว่า เอฟเอ คัพ กับ เลสเตอร์ ดูจะเป็นเหมือนเส้นขนานกัน 

     ปี 1974 และ 1982 แม้จะเข้าถึงรอบตัดเชือกได้ แต่ “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” ก็ถูก ลิเวอร์พูล และ สเปอร์ส สกัดกั้นไว้ ถัดจากนั้น พวกเขาต้องชวดเข้าถึงรอบรองชนะเลิศอีกห้าหน ซึ่งรวมถึงการพ่ายศึกรอบแปดทีมสุดท้ายถึงสามครั้งติดต่อกันด้วย 

     เลสเตอร์ ต้องเจ็บการโดนทีมจากลีกรองลำดับสามอย่าง วีคอมบ์ วันเดอเรอร์ส บุกขยี้คาบ้านเก่า ฟิลเบิร์ต สตรีท ในรอบตัดเชือกปี 2001 หลัง รอย เอสซานโดห์ ที่เซ็นสัญญาสั้นจู๋กับทีมแค่สองวีก โขกตุงในนาทีบาป น.90 ผ่านมือ ไซม่อน รอยซ์ จนส่งให้ “เดอะ แชร์บอยส์” ทะยานสู่รอบตัดเชือกเหลือเชื่อ ถึงขนาดที่ สตีฟ บราวน์ นักเตะทีมเยือนถอดเสื้อเฉลิมฉลองอย่างบ้าคลั่งกระทั่งโดนใบแดงเลยทีเดียว

     ปี 2017 แม้จะพกดีกรีแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่ เลสเตอร์ ก็ยังไม่วายถูก มิลล์วอลล์ หมิ่นศักดิ์ศรีด้วยประตูชัยโดย ฌอน คัมมิ่งส์ ในนาทีสุดท้าย จนทำให้ทีม “สิงโตลอนดอน” จากลีกวัน ตีตั๋วเข้ารอบแปดทีมสุดท้ายหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เหลือ 10 คนตั้งแต่นาทีที่ 52 

     อีกเพียงสองปีต่อมา ทีมไซส์เล็กอย่าง นิวพอร์ท เคาน์ตี้ ก็ยังกล้าๆ เขี่ย เลสเตอร์ ปิ๋วรอบสามที่สังเวียน ร็อดนี่ย์ พาเหรด จากจุดโทษท้ายเกมของ เปแดร็ก อามอนด์ ชนิดตะลึงงันกันทั้งวงการ เพราะทั้งสองทีมห่างกันถึง 74 อันดับในระบบฟุตบอลลีก โดยมีการบันทึกว่า นี่คือหนแรกที่ “ดิ เอ็กไซล์ส” บังอาจน็อคคู่แข่งในลีกสูงสุดร่วงหลุดวงโคจรรายการนี้สำเร็จตั้งแต่ปี 1964 โน่นเทียว

     และอย่างที่คุณรู้ มันคือจุดเริ่มต้นของจุดจบกุนซือ โคล้ด ปูแอล ในถิ่น คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ก่อนที่ผู้จัดการทีมหนุ่มชาวไอร์แลนด์เหนือนาม เบรนแดน ร็อดเจอร์ส จะเข้ามาแทนที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 

    “บี-ร็อด” เข้ามารับงานตอนที่ เลสเตอร์ รั้งอันดับ 11 ในพรีเมียร์ลีก ห่างจากโซนท็อปโฟร์ถึง 18 แต้ม และทำได้เพียง 34 ประตูจาก 28 นัด แต่หลังจาก “คุณต๊อบ” อัยย์วัฒน์ ศรีวัฒนประภา ปล่อยให้เขาทำงานอย่างอิสระและเห็นพ้อง ปรากฏว่า จาก 108 เกม “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” สามารถเก็บชัยได้ถึง 59 นัด และตะบันทะลุ 199 ดอกส์ พร้อมกับถือค่าเฉลี่ยแต้มต่อหนึ่งเกมสูงถึง 1.8 แต้ม

     เลสเตอร์ ภายใต้การบริหารของคนไทย ที่เพิ่งได้รับโหวตให้เป็นเจ้าของสโมสรในดวงใจแฟนๆ และ ร็อดเจอร์ส กลายเป็นขาประจำที่เวียนว่ายในอาณาเขตท็อปโฟร์มาตลอด ยกเว้นเพียงตอนที่จบซีซั่น 2019/20 ด้วยอันดับห้า หลังเก็บได้แค่เจ็ดแต้มจากแปดนัดหลัง และพ่ายคาบ้านต่อ แมนฯ ยูไนเต็ด ในนัดปิดซีซั่นจนพลาดตั๋วไปลุย แชมเปี้ยนส์ ลีก อย่างน่าเสียดาย 

     แต่หลังจาก ร็อดเจอร์ส พาทีมไปปักธงชัยที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด เมื่อคืนอังคารที่ผ่านมา หมายความว่า พวกเขาต้องการชัยชนะอีกแค่นัดเดียวเหนือ เชลซี หรือ สเปอร์ส ในพรีเมียร์ลีก เพื่อการันตีตั๋วไปลุย แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลหน้าเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์สโมสร หลังเคยทำได้มาแล้วตอนคว้าแชมป์เมื่อซีซั่น 2015/16
 
     ก่อนหน้าที่วันนั้นจะมาถึง “บี-ร็อด” และเด็กในคอนโทรล มีภารกิจสำคัญวางรออยู่ในวันเสาร์นี้
 

     พวกเขากำลังจะได้กลับไปเล่นนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ อีกครั้ง หลังจากผ่านความเจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่า

     นับจากการผ่านเข้าชิงถ้วยครั้งล่าสุดเมื่อปี 1969 ถึงตอนนี้ ก็ปาเข้าไปถึง 52 ปีแล้วนะครับ

     เวมบลีย์ ที่เคยมีหอคอยคู่ยืนตระหง่าน ได้เปลี่ยนไปเป็นสังเวียนแข้งสไตล์โมเดิร์นอันโอ่อ่าสุดแสนทันสมัย
 
     ขั้นบันไดที่ผู้ชนะต้องสืบเท้าย่ำขึ้นไปรับถ้วยแชมเปี้ยนบน รอยัล บ็อกซ์ จากที่เคยมีเพียง 39 ขั้นในยุคเก่า เพิ่มเป็น 107 ขั้น ที่วางกั้นระหว่างผืนสนามกับแท่นประธานตรงใจกลางอัฒจันทร์ฝั่ง นอร์ธ สแตนด์ 

     แฟนบอลที่เคยอัดแน่นเรือนแสนในวันนั้น จะลดปริมาณเหลือแค่ราว 21,000 คน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งเป็นกองเชียร์ทั้งสองทีมฝั่งละ 6,250 คน ที่เหลือจะเป็นประชาชนท้องถิ่นที่อาศัยในแถบเบรนท์, คนงาน, ผู้ประสบภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19, แขกพิเศษ และผู้ถือหุ้น เอฟเอ ทั้งนี้ นี่จะถือเป็นการซักซ้อมแผนการปล่อยให้กองเชียร์เข้าสนามฟุตบอลอังกฤษไปในตัว ก่อนอนุมัติใช้จริงต่อไป

     คู่ชิงจาก แมนฯ ซิตี้ กลายเป็น เชลซี ดีกรีแชมป์ถ้วยนี้แปดสมัย ซึ่งเคยเขี่ย เลสเตอร์ ตกรอบควอเตอร์ไฟนั่ลสามครั้งติดต่อกันมาแล้ว แถมยังกำลังไปได้สวยในอุ้งมือ โธมัส ทูเคิ่ล โค้ชชาวเยอรมันคนแรกที่นำลูกทีมเล่น เอฟเอ คัพ ไฟนั่ล 

     หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนสำหรับ เลสเตอร์ คือพวกเขาจะแน่วแน่ในการลงไปสู้ตามความเชื่อเหมือนเดิม เพื่อลากเส้นขนานให้บรรจบกันให้ได้  

     เข้าชิงห้าครั้ง จะแห้วทั้งห้าครั้งก็ให้มันรู้ไป 

     ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยๆ มันก็คงไม่เลวร้ายเหมือน 52 ปีก่อนที่พลพรรค “จิ้งจอกสีน้ำเงิน” ต้องกระเด็นตกชั้นอีกในสามสัปดาห์ถัดมาหลังจากปราชัยในนัดชิงถ้วย เอฟเอ คัพ แน่ๆ 
 
     17.15 น. หรือ 23.15 น. คืนวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคมนี้ตามเวลาประเทศไทย คือฤกษ์เตะนัดชิงถ้วย เอฟเอ คัพ ครั้งที่ 140 นะครับ หลังจากที่โม่แข้งกันดุเดือดมาตั้งแต่ 31 สิงหาคมปีที่แล้ว โดยมีทีมเข้าระบบการแข่งขันถึง 736 ทีม กระทั่งคัดเหลือผู้แข็งแกร่งสุดแค่เพียงสองคือ เชลซี ที่ถูกยกว่าเป็นต่อ กับ เลสเตอร์ ที่ถูกมองว่าเป็นรองเช่นเดียวกับหลายๆ วาระที่ผ่านมา 

     และปีนี้ จะเป็นอีกครั้งในไม่กี่ครั้งที่นัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ หวดกันก่อนจบฤดูกาล โดยหนล่าสุดที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ต้องย้อนไปซีซั่น 2012-13 ที่ทีมรองบ่อนอย่าง วีแกน หักปากกาเซียนด้วยการเฉือน แมนฯ ซิตี้ 1-0 

     คุณก็รู้ใช่ไหมว่า การหักปากกาเซียนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ เลสเตอร์?
 

 เปาผี

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.