- เฟอร์นานโด ดูอาร์เต
- บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
การประกาศเบื้องต้นของสโมสรฟุตบอลชั้นนำ 12 ทีมในยุโรปว่า พวกเขาจะร่วมกันก่อตั้ง ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก (European Super League หรือ ESL) กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก
บรรดาแฟนบอล อดีตผู้เล่น และแม้แต่ผู้นำรัฐบาลอย่างนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ต่างวิพากษ์วิจารณ์แผนการที่ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.
จนถึงขณะนี้ เสียงวิจารณ์ที่ดังที่สุดเป็นไปในแง่ลบ แต่โอกาสที่ทีมฟุตบอลที่มีคนติดตามมากที่สุดในโลกบางทีมจะได้ฟาดแข้งกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข่าวร้ายเสมอไปสำหรับคนบางส่วน โดยเฉพาะแฟนฟุตบอลในต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ในยุโรป
ภายใต้แผนการก่อตั้ง ESL สโมสรที่ร่วมก่อตั้งจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันถาวร ได้แก่ ทีมอาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และท็อตแนม ของอังกฤษ ทีมแอตเลติโก มาดริด, บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด ของสเปน ทีมเอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน และยูเวนตุส ของอิตาลี
อย่างไรก็ดี ล่าสุด แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ออกมาประกาศจะถอนตัวแล้ว และเชลซีก็เตรียมจะไม่เข้าร่วมเช่นกัน โดยเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) มีแฟนบอลทีมเชลซีราว 1,000 คน ไปรวมตัวประท้วงหน้าสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ก่อนทีมจะแข่งกับทีมไบรตัน
ก่อนหน้านี้ สองทีมใหญ่จากแมนเชสเตอร์และกรุงลอนดอน เป็นส่วนหนึ่งของทีมใหญ่จากอังกฤษ 6 ทีม ที่ตกลงจะเข้าร่วมลีกใหม่นี้
ต่างไปจากการแข่งขันฟุตบอลชั้นนำระดับทวีปในปัจจุบัน คือ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ซึ่งผู้ที่ได้ตำแหน่งดีที่สุดในลีกประจำชาติจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมแข่งขัน
เกมการแข่งขันที่เร้าใจมากขึ้นทางทีวี
แต่ 12 ทีมที่อ้างว่ามีฐานแฟนฟุตบอลทั่วโลกมากที่สุด จะได้รับการรับประกันให้เข้าร่วมการแข่งขันที่จะได้รับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์
แฟนบอลจากแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย คงกำลังตั้งหน้าตั้งตารอชมอยู่แน่ ๆ ใช่ไหม
ก็ไม่แน่เสมอไป
จริงที่ว่าแฟนบอลที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปแสดงความรู้สึกพึงพอใจผ่านทางโซเชียลมีเดียและวงสนทนาทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ในการที่มีโอกาสจะได้ชมทีมฟุตบอลที่โด่งดังฟาดแข้งผ่านทางโทรทัศน์และอุปกรณ์พกพามากขึ้น
แต่ก็มีปฏิกิริยาในทางลบคล้ายกับแฟนบอลในยุโรปเกิดขึ้นเช่นกัน รวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่า สโมสรฟุตบอลขนาดใหญ่มีความโลภ ต้องการที่จะหาเงินให้ได้มากขึ้นจากการแข่งขันใหม่ นอกเหนือจากยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก
คาดว่า “ซูเปอร์ ลีก” อาจจะทำรายได้ให้กับโทรทัศน์มากกว่า 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
(ข้อความทางทวิตเตอร์ของแฟนบอลชาวบราซิลชื่อ จูลี ชิกการินี บอกว่า “น่าละอายและน่ารังเกียจ”)
“ช่างเป็นการกระทำที่น่าละอายและน่ารังเกียจของสโมสรเหล่านั้น” จูลี ชิกการินี แฟนบอลชาวบราซิลทีมอาร์เซนอล ซึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลียกล่าวกับบีบีซี
มูชฟิก ซาเลฮิน แฟนบอลชาวบังกลาเทศทีมเรอัล มาดริด ระบุทางทวิตเตอร์ว่า “ฟุตบอลยุโรปกำลังขายจิตวิญญาณของตัวเองแลกเงิน”
แต่ก็มีแฟนบอลในต่างประเทศที่ตื่นเต้นกับการก่อตั้ง ซูเปอร์ ลีก ใหม่นี้เช่นกัน
“การแข่งขันใหญ่ขึ้น…สนุกมากขึ้น”
จอน แฟนบอลชาวไนจีเรีย บอกกับบีบีซีผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เขาตื่นเต้นที่จะได้เห็นเชลซี ทีมโปรดของเขา ได้เล่นในการแข่งขันระดับชั้นนำยุโรปบ่อยขึ้น
เขายังได้เอ่ยถึงเรื่องที่ทีมฟุตบอลจากลอนดอนทีมนี้จะได้ลงแข่งกับทีมเรอัล มาดริด ในรอบเซมิไฟนอลที่กำลังจะมาถึงของยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ด้วยว่า เป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างสองทีมนี้ในการแข่งขันระดับยุโรปในรอบกว่า 20 ปี
“‘ซูเปอร์ ลีก’ จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ปี และนั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียว ยิ่งการแข่งขันใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งสนุกมากขึ้น” เขากล่าว
ชาร์ลส์ โอเยโชโม แฟนบอลลิเวอร์พูลชาวไนจีเรีย จากเมืองลากอส สนับสนุนการก่อตั้งซูเปอร์ ลีก นี้เช่นกัน
“ผมสนับสนุน ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก เพราะคุณภาพและมาตรฐานของฟุตบอลได้ลดลงไปพักหนึ่ง ผมว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา” เขาบอกกับบีบีซี
โอเยโชโม ยังเป็นผู้วิจารณ์องค์กรบริการด้านฟุตบอลอย่างยูฟ่า และฟีฟ่า และเชื่อว่า การแยกตัวออกมาก่อตั้ง ซูเปอร์ ลีก นี้ จะเป็นการกระทุ้งให้องค์กรเหล่านั้นดำเนินการที่เด็ดขาดมากขึ้นในประเด็นต่าง ๆ
“ยูฟ่า และฟีฟ่า ได้ผูกขาดการแข่งขันมานาน 20-30 ปีแล้ว ตอนนี้ นี่ได้ส่งผลให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นจำนวนมาก”
“ESL คงจะทำให้พวกเขาได้ลุกขึ้นมานั่งและแก้ปัญหาต่าง ๆ ดีขึ้น ยกตัวอย่าง การเหยียดเชื้อชาติ และปัญหาวีเออาร์ (การใช้วิดีโอช่วยในการตัดสิน) ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วยมาตรการเชิงรุก” เขากล่าวเพิ่มเติม
แฟนบอลหนุ่มสาวดูเหมือนจะสนับสนุนการแยกตัวของลีกใหม่มากกว่า
ในการสำรวจความคิดเห็นของแฟนบอลชาวอังกฤษเมื่อเดือน ธ.ค. 2020 บีบีซีพบว่า แม้ว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ในทุกช่วงวัยไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกมาตั้งลีกใหม่ แต่ส่วนต่างของคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยหดแคบลงในหมู่แฟนบอลหนุ่มสาว
ราว 48% ของคนที่อายุต่ำกว่า 55 ปี บอกว่า พวกเขาคงจะมีความสุขที่จะได้เห็น ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก
แตกต่างอย่างมากจากแฟนบอลที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งมีเพียง 10% ที่รู้สึกเช่นนั้น
ช่วงเริ่มแรก
เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจดจำว่า การประกาศนี้เป็นเพียงขั้นแรกของความสับสนวุ่นวายที่กำลังจะตามมาอีกหลายอย่างในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
ขณะที่สโมสรฟุตบอลของเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งรวมถึงแชมป์ยุโรปอย่างทีมบาเยิร์น มิวนิก และรองแชมป์อย่างทีมปารีส แซงต์-แชร์กแมง ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมก่อตั้งกับสโมสรฟุตบอล 12 ทีมดังกล่าว
องค์การบริหารฟุตบอลอย่าง ฟีฟ่า ได้ขู่ว่าจะไม่ให้ผู้เล่นจากสโมสรที่เข้าร่วม ซูเปอร์ ลีก “เป็นตัวแทนทีมชาติ” ในการแข่งขันหลายอย่างเช่น ฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจากฟีฟ่า แต่อย่างไรเสียนั่นก็เป็นการขู่เท่านั้น ขณะนี้มีนักฟุตบอลชื่อดังระดับโลกหลายคนเล่นให้กับ “สโมสรฟุตบอลกบฏทั้ง 12 ทีม”
นอกจากนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า การแข่งขันใหม่นี้จะทำให้แฟนบอลต้องจ่ายค่าชมการแข่งขันมากขึ้นหรือไม่ เพราะยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการขายสิทธิถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์
ยกตัวอย่างเช่นในบราซิล การแข่งขันของยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางเฟซบุ๊กได้อย่างเสรีในฤดูกาลนี้ และจะได้รับการถ่ายทอดให้ชมฟรีผ่านทางโทรทัศน์ตั้งแต่ฤดูกาล 2021/22 เป็นต้นไป
การแข่งขัน “ซูเปอร์ ลีก” จะเป็นเช่นนี้ด้วยหรือไม่
หรือจะล่มไม่เป็นท่า
ล่าสุด 6 สโมสรใหญ่ของอังกฤษ ได้แก่ อาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, และท็อตแนม ประกาศถอนตัวจากโปรเจ็กต์ดังกล่าวแล้ว ส่วนยูเวนตุสและสโมสรจากสเปนยังคงรอการยืนยันอย่างเป็นทางการ ทำให้ซูเปอร์ ลีก ส่อเค้าล่ม และยังคงต้องรอติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป