Football Sponsored

เพิ่งถึงหลัก 100 นัด! เทียบฟอร์มเกมรับ แม็กไกวร์ ในสีเสื้อ แมนยู กับ เลสเตอร์

Football Sponsored
Football Sponsored

นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่รวดเร็วพอตัวที่ แฮร์รี่ แม็กไกวร์ กองหลังชาวอังกฤษได้ลงเล่นให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรดังของศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ครบหลัก 100 นัดจากทุกรายการแล้ว โดยเขาลงเล่นถึงหลักนั้นได้ทั้งที่เพิ่งมาอยู่กับทีมเมื่อช่วงซัมเมอร์ ปี 2019 เท่านั้น

    แน่นอน มันยังไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะบอกว่า แม็กไกวร์ เล่นได้สมกับที่ทีมยอมประเคนเงินถึง 80 ล้านปอนด์เพื่อเป็นค่าตัวของเขา โดยเจ้าของสถิติกองหลังที่มีค่าตัวแพงที่สุดของโลกถึงขั้นมีชอตที่เล่นพลาดจนนำไปสู่การทำให้ทีมเสียประตูอยู่บ้างด้วย แต่โดยรวมแล้วเขาก็ถือเป็นคนที่เล่นได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของทีม จนเข้าขั้นเป็นคนที่ทีมขาดไม่ได้คนหนึ่งเหมือนกัน

    ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสที่ แม็กไกวร์ เพิ่งลงเล่นให้ต้นสังกัดแตะตัวเลข 3 หลัก ในเกมลีกที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน 2-1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา วันนี้เราเลยจะมาลองดูกันสักหน่อยว่าตัวเลขผลงานด้านต่างๆ ในด้านเกมรับของเขามันเป็นยังไงบ้าง โดยจะเปรียบเทียบกับช่วง 76 นัดในทุกรายการที่เขาเล่นให้ เลสเตอร์ ซิตี้ และจะอ้างอิงสถิติจาก fbref เว็บไซต์แนวบันทึกสถิติรายหนึ่ง

    – การดวลลูกกลางอากาศ
    75.1 เปอร์เซ็นต์ คือเปอร์เซ็นต์การชนะจังหวะดวลลูกกลางอากาศที่ แม็กไกวร์ ทำได้กับการลงเล่น 100 นัดที่ผ่านมาให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด โดยคิดเป็นการชนะจังหวะดวลลูกกลางอากาซ 389 หนจากการดวลเวลาทั้งหมด 518 ครั้ง

    ทั้งนี้ แม็กไกวร์ มีผลงานการดวลลูกกลางอากาศดีกว่าตอนเล่นให้กับ เลสเตอร์ นิดหน่อย เพราะตอนนั้นเขามีเปอร์เซ็นต์ชนะการดวลลูกกลางอากาศ 74.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมาจากการชนะ 172 หน จากชอตขึ้นโขกกลางอากาศ 231 รอบ

    – การฟาวล์
    ตรงจุดนี้ถือว่า แม็กไกวร์ เสียฟาวล์มากกว่าสมัยที่เล่นให้ เลสเตอร์ เยอะพอตัว เพราะเขาทำฟาวล์ในสีเสื้อ “ปีศาจแดง” ไปแล้ว 105 ครั้ง ขณะที่ตอนอยู่กับ เลสเตอร์ เสียฟาวล์ไป 64 หน นอกจากนี้ เขาก็ยังโดนใบเหลืองกับต้นสังกัดปัจจุบันไปแล้ว 20 ครั้ง มากกว่าตอนเล่นให้ เลสเตอร์ 5 หน

    ถึงกระนั้น เขาก็ยังไม่เคยโดนใบแดงกับ แมนฯ ยูไนเต็ด เลย ส่วนตอนเล่นให้ เลสเตอร์ เขาโดนส่งไปอาบน้ำก่อนเพื่อน 1 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในเกม พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2018-19 ที่ เลสเตอร์ ชนะ เบิร์นลี่ย์ 2-1 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ปี 2019

    – ความผิดพลาดที่ทำให้คู่แข่งมีลุ้น
    ทั้งตอนอยู่กับ เลสเตอร์ และ แมนฯ ยูไนเต็ด แม็กไกวร์ มีจังหวะที่เล่นพลาดจนนำไปสู่การทำให้คู่แข่งมีโอกาสลุ้นทำประตู 2 ครั้งเท่ากัน โดยในกรณีกับของ แมนฯ ยูไนเต็ด นั้น มันเกิดขึ้นในเกม พรีเมียร์ลีก เมื่อซีซั่นก่อนกับฤดูกาลนี้รอบละ 1 หน

    ทั้งนี้ จังหวะพลาดของ แม็กไกวร์ ที่ทำให้คู่แข่งของ แมนฯ ยูไนเต็ด มีโอกาสลุ้นทำประตูในซีซั่นนี้ได้แก่เกมที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ นิวคาสเซิ่ล 3-1 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนของซีซั่นก่อนเป็นเกมที่ทีมของเขาเจอกับ วัตฟอร์ด เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ยังดีที่ตอนนั้นทีมของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ไม่เสียประตูจนชนะไป 3-0

    – การสกัด
    2 ฤดูกาลที่อยู่กับ เลสเตอร์ แม็กไกวร์ สามารถพุ่งสกัดโดนบอลได้ 95 ครั้ง ซึ่งจนถึงตอนนี้เขาทำอย่างนั้นให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้น้อยกว่านิดหน่อย จากการทำได้ 88 หน อย่างไรก็ตาม สมัยเล่นให้ เลสเตอร์ นั้น มีอยู่ 68 หนที่การสกัดของ แม็กไกวร์ เป็นการสกัดที่ทำให้ทีมได้เอาบอลมาเล่นต่อได้ ส่วนในฐานะลูกทีมของ โซลชา เขาทำแบบนั้นได้ 71 ครั้ง

    อย่างไรก็ตาม แม็กไกวร์ อ่านเกมได้ดีขึ้นในช่วงที่อยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด เพราะเขาสามารถตัดบอลโดยที่ไม่ต้องพุ่งเสียบได้แล้ว 147 ครั้งกับการเล่นให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ส่วนสมัยอยู่กับ เลสเตอร์ เขาทำอย่างนั้นได้ 90 ครั้ง นอกจากนี้ เขายังเคลียร์บอลให้พ้นจุดอันตรายได้ 479 ครั้งในสีเสื้อ แมนฯ ยูไนเต็ด มากกว่าสมัยตอนเล่นให้ เลสเตอร์ ในระดับที่น่าประทับใจด้วย เพราะตอนอยู่กับ เลสเตอร์ เขาเคยทำอย่างนั้นได้ 331 หน

   
    – เด็กเกร็ดบอล –

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร
Add friend ที่ @Siamsport
Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.