Football Sponsored

ย้อนไทม์ไลน์กว่าจะเป็น “จอห์น เมอร์ทัฟ” ผอ.ฟุตบอลคนแรกในประวัติศาสตร์ “แมนยูฯ”

Football Sponsored
Football Sponsored

“ผมมองว่าหลายๆ สโมสรควรจะมีตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลนะ เพราะว่ามันสำคัญมากจริงๆ ตำแหน่งดังกล่าวจะคอยช่วยเหลือประสานให้ทีมเดินทางข้างหน้าได้อย่างราบรื่นบนแนวทางเดียวกัน ซึ่งคนที่จะเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวควรจะมีความรู้เรื่องฟุตบอลมากกว่าในเรื่องของตัวเลข นี่คือความคิดเห็นของผมนะ”

“แน่นอนว่ามันจะช่วยให้งานออกมาเป็นสัดส่วนชัดเจน นั่นก็ทำให้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะว่าทำไมหลายๆ สโมสรถึงยังไม่มีการแต่งตั้งในตำแหน่งที่ว่านี้เสียทีอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผมว่าพวกเขาควรตั้งตำแหน่งนี้มาตั้งนานแล้ว” นี่คือความคิดเห็นของ มอนชี ผู้อำนวยการกีฬามือดีของ เซบีญา ใน ลาลีกา สเปน ในตอนที่ยอดทีมสีแดงแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ยังไร้ผู้อำนวยการกีฬา

ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนหน้านี้ เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์ อดีตผู้รักษาประตูของทีมชาวฮอลแลนด์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของทีมชื่อดังในบ้านเกิดอย่าง อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เคยออกมาบอกว่า “ในชีวิตของผม ผมมี 2 อย่างที่สำคัญมากในโลกของฟุตบอล อย่างแรกคือ อาแจ็กซ์ฯ เพราะที่นี่มอบโอกาสให้ผมได้พัฒนาตัวเองจนผมสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จ ดังนั้นผมจึงให้ความเคารพสโมสรแห่งนี้มากๆ”


“ขณะที่อย่างที่สองคือ ผมรักมากในอาชีพ ช่วงที่เฝ้าเสาให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พวกเขาให้การยอมรับในตัวผม ก่อนที่ให้ผมเข้าไปมีส่วนร่วมในการประสบความสำเร็จกับทีมมากมาย ถ้าผมมีโอกาส ผมอยากกลับไปร่วมงานอีกครั้งอย่างแน่นอน แต่ในตอนนี้ไม่ใช่แน่นอน เพราะผมกำลังมุ่งมั่นกับ อาแจ็กซ์ฯ ในบทบาทซีอีโอของทีม หลังจากที่ทำผลงานยอดเยี่ยมในศึก ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เมื่อสองซีซั่น รวมถึงแชมป์ลีกอีกด้วย”

นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีชื่อของ ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ ปาทริช เอวรา เข้ามาเป็นระยะ โดยเฉพาะรายแรก ถึงขนาดที่มีข่าวลือว่าตัวเขาได้หารือถึงโอกาสและความเป็นไปได้กับ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ที่จะให้อดีตตำนานกองหลังรายนี้เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งทางซีอีโอจอมหาเงินเก่งรายนี้มองว่า ริโอ เฟอร์ดินานด์ อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานพร้อมกับประสบความสำเร็จมากมาย ที่สำคัญคอนเน็กชั่นของเขาก็ไม่แพ้ใคร


ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่ดูเหมือนจะเงียบลงไป แต่แล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2021 คือวันที่ “ปิศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ประกาศแต่งตั้ง จอห์น เมอร์ทัฟ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา หรือ Director of Football (Dof) เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร ภายหลังจากที่มีข่าวลือหนาหูต่างๆ นานา มาอย่างยาวนาน จนสุดท้ายได้บทสรุปเสียที

ก่อนหน้านี้ชื่อของ จอห์น เมอร์ทัฟ แทบไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาสักเท่าไร หรืออาจไม่เคยถูกพูดถึงเลยด้วยซ้ำ โดยที่เกริ่นไปข้างต้นว่ามักจะมีชื่อของ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์, ริโอ เฟอร์ดินานด์, ปาทริช เอวรา, ราล์ฟ รังนิค หรือแม้แต่ หลุยส์ กัมโปส ทั้งๆ ตัวของ จอห์น เมอร์ทัฟ ย้ายมาทำงานภายใต้ชายคาโรงละครแห่งความฝันตั้งแต่ปี 2013 โน่นแล้ว หลังย้ายตาม เดวิด มอยส์ มาจาก “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” เอฟเวอร์ตัน โดยที่อีก 3 ปีให้หลังจะขยับขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลสโมสร


การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหน้าที่ดังกล่าวจะคอยประสานเรื่องต่างๆ ทั้งจากบอร์ดบริหารของสโมสรและทีมงานสตาฟฟ์โค้ชด้วยแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะนโยบายโครงสร้างด้านฟุตบอลทุกอย่างของทีม ในเรื่องการคัดสรรนักเตะเข้าสู่ทีม และสร้างจากอคาเดมีของสโมสร, การต่อสัญญาฉบับใหม่กับผู้เล่น, การปล่อยนักเตะที่ไม่อยู่แผนการทำทีมออกไป ที่ก่อนหน้านั้นเรื่องเหล่านี้มีการจัดการที่ไม่ดีนัก จนส่งผลเสียกับทีม

การแต่งตั้ง จอห์น เมอร์ทัฟ ก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมทีมไม่แต่งตั้งคนจากนอกสโมสร แต่จากการที่เราเห็นว่า เอ็ด วู้ดเวิร์ด มาตลอดว่าเขามักจะคอยรักษาอำนาจไว้ให้คงอยู่และต้องการเข้าถึงทุกเรื่องของสโมสรแห่งนี้ หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆ เลยคือ เขาต้องการคนที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของเขา นี่แหละคือคำตอบที่สะท้อนเหตุผลทั้งหมดได้เป็นอย่างดีจากการแต่งตั้ง จอห์น เมอร์ทัฟ ในครั้งนี้


ตัดภาพย้อนกลับไปตอนที่ จอห์น เมอร์ทัฟ เข้ามาทำงานกับทีมเมื่อปี 2013 หรือในยุคของ เดวิด มอยส์ กุนซือชาวสกอตแลนด์ เขามักทำงานเบื้องหลังหลายอย่าง และมักจะมีผลงานที่น่าประทับใจ ทั้งช่วยประสานปิดดีลคว้าตัวนักเตะใหม่, มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาฟุตบอลหญิงของทีม รวมถึงช่วยผลักดันนักเตะระดับเยาวชนขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่หลายราย อีกทั้งยังลงทุนไปรับนักเตะใหม่ๆ มาเองกับมือ ซึ่งในรายล่าสุดนั้นคือ อเล็ก เตลเลส แบ็กซ้ายชาวบราซิล และก่อนหน้านั้นก็เป็น อเล็กซิส ซานเชซ รวมถึงยังเคยไปโรงพยาบาลตอนที่ ดาลี บลินด์ และ มาร์กอส โรโฮ มาตรวจร่างกาย นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็เป็นคนนึงที่ทุ่มเทให้กับงาน

รอยด่างพร้อยอันเดียวที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบมาก่อน นั่นคือ เขามีส่วนผิดพลาดที่ทำให้ทีมชวดได้ตัว เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์ กองหน้าที่ยังโนเนมในเวลานั้นและยังเคยได้ร่วมงานกับ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เมื่อปี 2018 ขณะที่นักเตะยังอยู่กับ โมลด์ ทีมในลีกนอร์เวย์ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนั้นยอดทีมสีแดงแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ สามารถคว้าตัวนักเตะได้ด้วยสนนราคาเบื้องต้น 3 ล้านปอนด์เท่านั้น ก่อนที่จะจ่ายเงินเพิ่มหากนักเตะทำได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา


ตอนนั้น จอห์น เมอร์ทัฟ ได้บอก จิม โซลบัคเคน เอเย่นต์ของนักเตะในเวลานั้นเอาไว้ว่าจะติดต่อกลับไปช่วง 9 โมงเช้าของวันๆ หนึ่ง แต่ตัวเขาดันพลาดเข้าอย่างจังเพราะลืมนึกไปว่าเวลาที่นอร์เวย์เร็วกว่าที่อังกฤษ 1 ชั่วโมง ตัวเขาติดต่อไปตอน 10 โมงแทน ซึ่งปรากฏว่ามันสายไปเสียแล้ว เพราะดีล เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์ ได้บทสรุปย้ายซบ เรดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก

จากเดิมที่แต่ก่อนเขาอาจจะไม่ได้มีบทบาทสำคัญ หรือมีพื้นที่บนหน้าสื่อเหมือนเมื่อก่อน แน่นอนว่าความกดดันหรือสิ่งต่างๆ จะเข้ามาหาเขามากกว่าที่เคย ต้องดูว่าเขาจะแสดงความสามารถในการกำหนดทิศทางโครงสร้างของทีมได้ดีแค่ไหน หรือจะเป็นได้เพียงแค่หุ่นเชิดที่คอยขยับเคลื่อนไหวตามการสั่งการของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด เท่านั้น.

ผู้เขียน : iPoppz_5

กราฟิก : Theerapong Chaiyatep

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.