Football Sponsored

สกู๊ปพิเศษ : อดีตที่ล้มเหลวและไอซ์แลนด์ ปูทาง ‘ฟินแลนด์’ สู่ ‘ยูโร 2020’ – มติชน

Football Sponsored
Football Sponsored

อดีตที่ล้มเหลวและไอซ์แลนด์ ปูทาง ‘ฟินแลนด์’ สู่ ‘ยูโร 2020’

ฟินแลนด์ เป็นทีมน้องใหม่ในยูโร 2020 เพราะทีมจากสแกนดิเนเวียทีมนี้ ไม่เคยได้สัมผัสรอบสุดท้ายของฟุตบอลรายการเมเจอร์อย่างฟุตบอลโลกหรือยูโรมาก่อนเลย

การเข้ามาถึงรอบสุดท้ายในครั้งนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้วงการฟุตบอลของประเทศ ถึงแม้จะไม่ใช่ยุครุ่งเรืองที่มีนักเตะฝีเท้าดีหลายๆ คน เหมือนในยุค 90 แต่พวกเขาก็ไปได้ไกลกว่ารุ่นพี่ รุ่นน้าแล้ว

อดีตที่ทำได้แค่ “เกือบ”

จริงๆ แล้วฟินแลนด์อาจจะไม่ต้องรอจนถึงยูโร 2020 เพราะในฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก ถือว่ากำตั๋วไปฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศสแล้ว แต่กลับพลาดในวินาทีสุดท้าย

11 ตุลาคม 1997 ฟุตบอลโลก 1998 รอบเพลย์ออฟ ระหว่างฟินแลนด์ กับ ฮังการี ที่กรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ต้องการชัยชนะเพียงแค่ประตูเดียวก็จะผ่านเข้ารอบสุดท้ายของฟุตบอลเมเจอร์เป็นครั้งแรก เพราะเกมแรกเสมอมาที่บูดาเปสต์ 0-0

เจ้าถิ่นนำ 1-0 มาจนถึงช่วงทดเวลาเจ็บครึ่งหลัง ฮังการีได้เตะมุม ถึงแม้จะป้องกันกันอย่างดี แต่บอลก็หลุดเข้าประตูไป เป็นประตูตีเสมอ 1-1 ที่ทำให้ฮังการีขโมยตั๋วลุยฟุตบอลโลกไปต่อหน้าต่อตา หลังประตูตีเสมอ กรรมการก็เป่านกหวีดหมดเวลา ท่ามกลางน้ำตาของนักเตะและแฟนบอล

จูฮา ไรนี่ หนึ่งในนักเตะทีมชาติฟินแลนด์ในวันนั้นบอกว่า แค่นาทีเดียวก็จะได้มีความสุขแบบสุดสุดแล้ว ตอนนั้นเพิ่งอายุ 22 และติดทีมชาติเป็นแมตช์แรก ความผิดหวังในวันนั้นยังติดอยู่ในใจ แต่ก็ทำให้เข้าใจว่าฟุตบอลคืออะไร

ส่วน เตโร วาไตเน่น หนึ่งในแฟนบอลที่อยู่ในสนามเล่าว่า จำบรรยากาศในสนามได้ดี ทุกคนเชียร์กันอย่างสุดเหวี่ยง แต่อีกไม่นานเสียงก็เงียบไปหมด มันแปลกมาก เหมือนกับว่าหายตัวจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเลยทีเดียว

นักเตะยุคทองที่ไปไม่ถึงฝัน

เข้าสู่ปี 2000 เป็นต้นมา ฟินแลนด์มีนักเตะชั้นยอดมาเสริมทีมหลายคน จนถูกขนานนามว่าเป็นโกลเด้น เจเนอเรชั่น ยารี่ ลิตมาเน่น, ซามี่ ฮูเปีย, ยุสซี่ ยัสเคไลเน่น, อันต์ติ นีมี่, มิกาเอล ฟอร์สเซลล์ ที่ต่างโลดแล่นกับสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรป ทำให้มีความหวังกันอีกครั้งว่า ทีมเค้าอินทรีจะเข้าสู่รอบสุดท้ายของฟุตบอลรายการใหญ่ได้เสียที

ยูโร 2008 เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ใกล้เคียงอีกครั้ง รอย ฮอดจ์สัน กุนซือชาวอังกฤษพาทีมลุ้นโควต้าถึงนัดสุดท้าย ฟินแลนด์ต้องการชัยชนะเหนือโปรตุเกส แต่กลับลงเอยด้วยผลเสมอ 0-0

หมดยุคทองไปแล้ว แต่ฟินแลนด์ก็ยังคงรอกันต่อไป

เริ่มใหม่กับเฮดโค้ชในร่างคุณครู

ในขณะที่นักเตะชื่อดังหลายคนพาฟินแลนด์ไปสู่ฝั่งฝันไม่ได้ แต่ทีมรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ก็เริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยมือของ มาร์กคู คูเนอร์วา อดีตปราการหลังทีมชาติ ที่เลิกเล่นและผันตัวมาเป็นโค้ช
คูเนอร์วาพาทีมยู 21 ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ฟุตบอลยูโร ยู 21 เมื่อปี 2009 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลฟินแลนด์เลยทีเดียว

คูเนอร์วาทำงาน 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ โค้ชฟุตบอลและอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์กับพลศึกษา
ไรนี่เล่าว่า เฮดโค้ชในร่างคุณครูคนนี้เป็นอาจารย์สอนวิชาโค้ชให้กับยูฟ่าด้วย และตัวไรนี่เองก็ต้องเรียนกับคูเนอร์วา วิธีการสอนของครูคนนี้ไม่ได้ดูเย่อหยิ่งหรือจะกดดันใคร แต่เขาพูดให้คิด พูดให้คนฟังอยากฟัง เพราะทุกครั้งที่พูด เขามีสิ่งที่ให้ประโยชน์กับคนฟังเสมอ

“ตีมู ปุ๊กกี้(กองหน้าเบอร์หนึ่งของทีมชาติฟินแลนด์) ก็ฟังเขาเหมือนเป็นนักเรียนตัวเล็กๆ เวลาที่คุเนอร์วาพูด ผมว่ามันเยี่ยมมากๆ เลยนะ” ไรนี่กล่าว

ไอซ์แลนด์คือแรงบันดาลใจ

ในวันที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไอซ์แลนด์ ทีมที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ยูโร 2016 ไปได้แล้ว และเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังชนะอังกฤษได้ ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าชาติที่เอาจริเอาจัง ก็ต้องมีหวังแบบไอซ์แลนด์

“แน่นอน ไอซ์แลนด์เป็นแรงบันดาลใจของพวกเรา พวกเขาแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ถูกเรียกว่าประเทศเล็กๆ ถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้องบนความเชื่อที่ชัดเจนแล้ว ฝันก็จะเป็นจริงได้” คูร์เนอวากล่าว

ความสำเร็จที่ผลิดอกออกผล

ถึงนักเตะฟินแลนด์ชุดปัจจุบันจะไม่ได้มีชื่เสียงมากมายเหมือนยุคทอง น่าจะมีเพียงปุ๊กกี้เพียงคนเดียวที่อยู่ในข่ายนั้น แต่ความไม่โด่งดังและไม่ถูกคาดหวังสูงก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฟินแลนด์ชุดนี้ประสบความสำเร็จ

ฟินแลนด์คว้าอันดับ 2 ในกลุ่มเจ ของรอบคัดเลือก ผลงานชนะ 6 แพ้ 4 เป็นรองเพียงอิตาลี และได้สิทธิเข้ารอบสุดท้ายแบบอัตโนมัติ ปุ๊กกี้ยิงคนเดียว 10 ประตูในรอบคัดเลือก นับเป็นฮีโร่ที่ทำให้ชาติบ้านเกิดสร้างประวัติศาสตร์ได้

อีกปัจจัยสำคัญ คือ นักเตะทีมยู 21 ที่คูร์เนอวาเคยพาไปลุยยูโร ยู 21 เมื่อ 10 ปีก่อน เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชุดใหญ่

ไรนี่บอกว่า การเล่นด้วยกันเป็นทีม จนบางคนคิดว่าฟินแลนด์ทีมนี้เล่นเหมือนฟุตบอลสโมสรมากกว่าทีมชาติ เพราะทุกคนรู้ใจกัน เล่นเกมรับที่เหนียวแน่นด้วยกันเป็นจุดเด่น เหมือนเครื่องยนต์ที่สอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน

ไม่ว่าจะไปได้ไกลในยูโร 2020 หรือจอดป้ายแค่รอบแรก แต่การเป็นหนึ่งใน 24 ทีมของยุโรปครั้งนี้ และคว้า 3 แต้มประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่นัดแรกที่ลงสนาม ก็เป็นก้าวอันยิ่งใหญ่ที่ผลิดอกออกผลจากการทำงานหนักมาหลายสิบปีของคนฟุตบอลหลายร้อยชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.