Football Sponsored

3 ทีมไทยใช้ 5 สนามจัด ACL 2021 รอลุ้นเตะแบบเปิด – SMMSPORT

Football Sponsored
Football Sponsored

รักษาการ ปธ.ไทยลีก ยืนยัน 3 สโมสรไทยเป็นเจ้าภาพจัดศึก ACL 2021 รอบคัดเลือก ได้แน่นอน แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. โดยต้องตรวจเชื้อก่อนแข่งทุกนัด และยังบอกไม่ได้จะเปิดให้แฟนบอลเข้าชมหรือไม่ เพราะต้องรอดูสถานการณ์โควิดอีกครั้ง

หลังจากที่ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี ได้มอบหมายให้ 3 สโมสรตัวแทนจากประเทศไทยคือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด , การท่าเรือ เอฟซี และ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2021 รอบแบ่งกลุ่ม ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 ที่จะถึงนี้ 

ล่าสุด “บิ๊กแชมป์” นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด เปิดเผยว่า “ได้เข้าไปหารือกับศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก ซึ่งได้อนุมัติหลักการในการจัดการแข่งขันเรียบร้อย หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำงานร่วมกับไทยลีกและ 3 สโมสรเจ้าภาพ ลงรายละเอียดของการจัดการแข่งขัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 บับเบิลด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะมีข้อแนะนำ และข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ทั้ง 3 สโมสรจะต้องดำเนินการให้ได้ หากว่ามีข้อใดที่ติดขัด หรือไม่สามารถหาทางออกหรือทำตามได้ อาจจะมีผลให้บับเบิลของกลุ่มนั้นๆ ไม่ได้รับอนุญาตในการจัดการแข่งขัน อย่างไรก็ตามถ้าหากสโมสรสามารถดำเนินการได้ตามมาตรการต่างๆ และผ่านคณะกรรมการชุดนี้รวมถึง ศบค.ชุดเล็กแล้ว ไม่น่ามีปัญหาเมื่อเสนอเข้าไปยัง ศบค.ชุดใหญ่เช่นกัน”

ส่วนมาตรการตรวจเชื้อระหว่างการแข่งขันนั้น นายกรวีร์ กล่าวว่า “แต่ละทีมจะเข้ามาไทย ก่อนแข่งราว 4 วัน ทุกคนจะต้องตรวจเชื้อมาก่อนเข้าประเทศไทย เมื่อมาถึงจะตรวจอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผลเป็นลบก็สามารถลงซ้อมได้ทันที เมื่อเข้าสู่บับเบิลแล้ว จะตรวจทุกๆ 1 วันก่อนการแข่งขัน ให้มั่นใจว่าจะไม่มีนักกีฬาที่มีเชื้อโควิด-19 ลงสนามไปเด็ดขาด ส่วนเรื่องแฟนบอลนั้น อาจต้องดูสถานการณ์ภายในประเทศเมื่อถึงเวลาแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจปลดล็อคให้แฟนบอลเข้าไปชมในสนามได้ตามจำนวนที่กำหนด แต่ถ้าหากเป็นเหมือนตอนนี้คิดว่าคงไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าชมได้แน่นอน”

นายกรวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้สโมสรได้ยืนยันแผนคร่าวๆ ทั้งสนามแข่งขัน , สนามซ้อม รวมถึงที่พักมาทั้งหมดแล้ว โดยในส่วนของกลุ่ม F บีจี ปทุม จะใช้สนามลีโอ สเตเดียม เป็นสนามหลัก ส่วนกลุ่ม G ราชบุรี มิตรผล จะใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็นสนามหลัก โดยทั้ง 2 กลุ่มจะใช้สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นสนามรองร่วมกัน เนื่องจากโปรแกรมการแข่งขันไม่ตรงกัน”

  • “เชียงรายฯ” ได้วันดวล “แดกู” เพลย์ออฟ ACL แต่รอลุ้นเตะที่ไหน (smmsport.com)
  • “กว่างโซ้ง” เผยโฉมชุดลุยถ้วยเอเชียแบรนด์ “แกรนด์สปอร์ต” (smmsport.com)
  • บีจี-ราชบุรี ประชุมเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพศึก ACL (smmsport.com)
  • “สิงห์เจ้าท่า” อวดโฉมชุดแข่งบู๊เอซีแอล 2021 แบรนด์ “อาริ” (smmsport.com)

“ส่วนกลุ่ม J การท่าเรือ จะใช้สนามช้าง อารีนา เป็นสนามหลัก โดยมีสนามเขากระโดง เป็นสนามรอง ซึ่งทางบุรีรัมย์นั้นได้ทำการปรับปรุงสนามเขากระโดงจนผ่านเกณฑ์ของเอเอฟซี ในการจัดการแข่งขันได้แล้ว”

ทั้งนี้ กลุ่ม F บีจี ปทุม ยูไนเต็ด แชมป์ไทยลีก ปีล่าสุด อยู่ร่วมกับ อุลซาน ฮุนได (เกาหลีใต้) , เวียตเทล (เวียดนาม) และทีมจากเพลย์ออฟ ขณะที่กลุ่ม G ราชบุรี มิตรผล อยู่ร่วมกับ โปฮัง สตีลเลอร์ (เกาหลีใต้) , นาโกย่า แกรมปัส เอจ (ญี่ปุ่น) และ ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม (มาเลเซีย) ส่วนกลุ่ม J การท่าเรือ เอฟซี ร่วมกับ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ (จีน) , คิตฉี (ฮ่องกง) และผู้ชนะในรอบเพลย์ออฟระหว่าง เซเรโซ โอซาก้า (ญี่ปุ่น) หรือ เมลเบิร์น ซิตี้ (ออสเตรเลีย) ทีมใดทีมหนึ่ง 

ขณะที่อีก 1 ทีมตัวแทนของไทยอย่าง “กว่างโซ้งมหาภัย” สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด จะต้องลงเล่นในรอบคัดเลือก พบกับ แตกู เอฟซี จากเกาหลีใต้ ที่สนามโลโคโมทีฟ สเตเดียม ประเทศอุซเบกิสถาน ในวันที่ 23 มิ.ย.2564 โดยผู้ชนะระหว่างทั้งสองทีม จะผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่มทันที โดยจะเข้าไปอยู่กลุ่ม I ร่วมกับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล (ญี่ปุ่น) , ปักกิ่ง เอฟซี (จีน) และ ยูไนเต็ด ซิตี้ (ฟิลิปปินส์)

Football Sponsored
ฟุตบอล

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่นิยมเล่นมากที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2440 และฟุตบอลทีมชาติไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นับว่าเป็นประเทศแรกของโซนเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่เป็นทีมที่ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จในระดับไหนเลย แต่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพเอเชียนคัพ 2007 ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนนักฟุตบอลอาชีพนัก นักเตะจึงนิยมไปค้าแข้งกับประเทศอื่นที่มีการสนับสนุนดีกว่า แต่หลังจากปี พ.ศ. 2552 ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มตื่นตัว เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียตั้งกฎข้อบังคับให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่มีสโมสรองค์กร รัฐวิสาหกิจ ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีการยุบทีมทิ้ง หรือขายทีมไป หลังจากไทยพรีเมียร์ลีก 2552 เริ่มขึ้น แฟนบอลเริ่มเข้ามาชมเกมส์ในสนามมากขึ้น เงินเดือนนักเตะสูงขึ้น การจัดการของแต่ละสโมสรดีขึ้น ลีกไทยค่อย ๆ พัฒนาเป็นระดับ ส่งผลทำให้นักฟุตบอลที่เคยไปค้าแข้งต่างแดนกลับมายังประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลงานทีมชาติกลับสวนทางเพราะว่าต้องใช้เวลาปรับตัว เนื่องจากยุคที่ลีกบ้านเรายังไม่เจริญนักฟุตบอลมีเวลาเตรียมทีมเยอะ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีเวลาเพราะสโมสรเรียกเก็บตัวซ้อมเพื่อการแข่งขัน นักเตะจึงต้องใช้เวลาปรับตัว แต่ถือว่าฟุตบอลของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังจากนั้นเพียง 2 ปี แฟนบอลหันมาเชียร์ทีมในจังหวัดตัวเองมากขึ้น ทีมกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดท้องถิ่นนิยม จึงเป็นที่มาที่แฟนบอลไทยเข้าไปชมเกมฟุตบอลลีกดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 มากขึ้นนั่นเอง

This website uses cookies.