ว่าด้วย European Super League “ESL”


ว่าด้วย European Super League

ข่าวใหญ่เมื่อช่วงสามสี่ทุ่มคืนวันอาทิตย์คือเรื่อง “European Super League”

    เมื่อ 6 ทีมดังพรีเมียร์ลีก นำโดย แมนฯยูฯ, ลิเวอร์พูล,เชลซี, สเปอร์ส, อาร์เซนอล และตอนหลังแมนฯซิตี้ มาสมทบ พร้อมยักษ์ใหญ่ของทวีป เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า,ยูเวนตุส, อินเตอร์, เอซี มิลาน ร่วมลงนามก่อตั้งฟุตบอลรายการใหม่ชื่อ “ซุปเปอร์ ลีก”

    หรือชื่อเต็มๆ European Super League (ESL)

    เดอะ ไทมส์ สื่อหลักที่น่าเชื่อถือได้ของอังกฤษพาดหัวในฉบับ “วันอาทิตย์”

    หรือ  Sunday Times จะต้องมีเรื่องแนวๆ exclusive แบบเจาะลึกทุกสัปดาห์

    จากนั้นโลกออนไลน์ ทุกหัวกีฬา, การเงิน, ธุรกิจ จนถึง นิวยอร์ค ไทมส์ โน่น…

    ลงข่าวกันคึกโครมเป็นกระแสโซเชียล ติดเทรนดิ้งด้วย

    พลันที่ข่าวออกมา ก้อนอิฐลอยมาเต็มโซเชียลมากกว่าดอกไม้

    ช่วงวิเคราะห์บอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอ คัพ พิธีกรต้องเอามาถามทัศนะ

    เรื่อง “ซูเปอร์ ลีก”

    แกรี เนวิลล์ ถึงขั้นด่าว่า “แนวคิดที่น่าขยะแขยง”

    รอย คีน ลูกพี่อยู่อีกรายการหนึ่ง สั้นๆ ” (ไอ้)พวกโลภมาก”

    ถ้าคีโน่ ต้องแบบดิบๆนิดหนึ่ง อันนี้ผมเติม “ไอ้” ให้ครับ

    แกรี่ ลินเกอร์ พิธีกรกีฬาบีบีซี ก็ “ค้านหัวชนฝา”

    พรีเมียร์ลีก ออกแถลงการณ์พร้อมยูฟา “ตำหนิ” แนวคิดในการแยกตัว

    เพราะมั่นใจว่า “ทำลาย” รากหญ้าและพีระมิดฟุตบอลโดยภาพรวม

    European Super League คืออะไรและทำไมจึงต้องแยก

    เท้าความนิดหนึ่งครับเพื่อปูเรื่อง แนวคิดในการแยกตัวจัดตั้งลีกยุโรปนั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มสโมสรยักษ์ใหญ่ยุโรปมาตั้งแต่ปี 1998 ในนามของ G-14 นำโดยสโมสรยักษ์ใหญ่จากสเปน, อังกฤษ,เยอรมัน, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์​รวมทั้ง ปอรโต ของโปรตุเกส 

    เรอัล มาดริด, บาร์ซ่า, แมนฯยูฯ, ลิเวอร์พูล สองทีมจากเมืองมิลาน, ยูเวนตุส, อาแจ็กส์…

    ใช้เวลาสองปีก็เป็น G-14 อย่างเป็นทางการ ซึ่งยูฟาและฟีฟ่า รับรอง

    แนวทางเพื่อ “ดูแลผลประโยชน์ของสโมสรอาชีพ” 

ว่าด้วย European Super League

    ปี2005 ฟ้องศาลให้ ฟีฟา จ่ายเงินชดเชยกรณีนักเตะบาดเจ็บเมื่อเล่นทีมชาติ

    ก.พ.ปี 2008 จากG-14 มีสมาชิกทั่วยุโรปรวม 232 สโมสร เปลี่ยนชื่อเป็น  European Club Association หรือ  ECA นับจากนั้นเป็นต้นมาคือองค์กร ในการรับรองของ ยูฟาและฟีฟา ด้วยครับ ที่สำคัญ ECA ชนะคดีความเมื่อศาลสั่งให้ฟีฟา,ยูฟา ต้องจ่ายชดเชยสโมสรเมื่อนักเตะบาดเจ็บจากการเล่นทีมชาติในทัวร์นาเม้นต์ของทีมชาติทั้งหมด 

    ECA จึงเหมือนองค์กรเล็กในองค์กรใหญ่ ยูฟ่าและฟีฟ่า 

    รายละเอียดองค์กรนี้เข้าไปที่ www.ecaeurope.com

    มีคณะทำงานจากสโมสรทุกสโมสร ก็หัวเรือใหญ่จากทีมใหญ่ มีการประชุม, สัมนา กันตลอดทุกเดือน , มีทีมบริหาร, การเงิน, ประชาสัมพันธ์, ฝ่ายบุคคล เหมือนยูฟ่า ,ฟีฟ่าเลย

    แต่เป็นการบริหารจากกลุ่มตัวแทนทีมยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น  

    ประธานองค์กรนี้คือ อันเดรีย อันเญลลี จาก “ม้าลาย” ยูเวนตุส

    นอกเหนือจากการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกกันเองแล้ว หนึ่งในแนวคิดสำคัญคือความพยายามในการแยกตัวออกมาจัดตั้งลีกยุโรปกันในหมู่ทีม “อาชีพ” ชื่อดังที่เป็นแบรนด์ระดับโลกตามที่เอ่ยชื่อมานะครับ

    แนวคิด ESL หรือ ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ ลีก

    ถ้าซูเปอร์ ลีกเฉยๆจะเป็นรักบี้ ซูเปอร์ ลีก (จดทะเบียนก่อน)

    เริ่มต้นครั้งแรก 1998 ช่วงที่มี G-14 แต่ยูฟา สลายความคิดนี้ด้วยการเริ่มเพิ่มจำนวนทีม รอบแบ่งกลุ่มเป็นมินิลีก แต่พอองค์กรใหญ่ขึ้นเป็น ECA ทางด้าน ฟลอเรนติโน เปเรส ประธานเรอัล มาดริด นำเสนอแนวคิดตั้ง ยูโรเปี้ยน ซุปเปอร์ ลีก ขึ้นมาอีกครั้ง

    และคณะทำงานเริ่มเดินเครื่องจริงจัง ถึงขนาดที่ อาร์แซน เวนเกอร์ มั่นใจว่า 10 ปี จะต้องมีลีกนี้แน่ (พูดตอนนั้นคือ 2009)

    จากปีนั้น 2009 ทางยูฟ่า ก็พยายามปรับเปลี่ยนแนวทางการแข่งขัน UCL เพื่อเอาใจทีมใหญ่จากชาติใหญ่ ทั้งเรื่องแรงกิ้ง ยูฟา, เรื่องแชมป์ป้องกัน อันดับในลีก รวมทั้งผลประโยชน์,เงินรางวัล อะไรต่างๆ….

    บลา บลา บลา

    กลุ่มนี้ก็สงบไป แต่ยังไม่ล้มเลิกโครงการ 

    จนล่าสุดเหมือนเพาะบ่มจนสุก… ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ก็กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

    เมื่อข่าวใหญ่ 6 ทีมดังพรีเมียร์ลีกและยักษ์ใหญ่จากอิตาลี,เยอรมัน, สเปน ร่วมลงนาม

    เบื้องต้น 12 ทีมดัง + 3 ทีมที่ยังไม่ระบุว่าทีมไหน 

    รวมเป็น 15 ทีมที่ถือว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหรือ Founder 

    จากนั้นเชิญหรือคัดเลือกมาอีก 5 ทีมครบ 20 ทีมตั้งลีกได้

    โดยมี…..ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานกลุ่ม 

    รองประธานก็ อันเดรีย อันเญลลี (ม้าลาย)

    โจเอล เกลเซอร์ (ผี), 

    จอห์น เฮนรี (หงส์), 

    สแตน โครนเก้ (ปืน)

    แล้วถ้ายูฟ่า,ฟีฟ่า ขัดขวางกลุ่มนี้ไม่สำเร็จ

    ESL เริ่มต้นฤดูกาลแรก 2023-24 ครับ

    ทำไมทีมฟุตบอลที่เหมือนแบรนด์ระดับโลกต้องแยกตัวออกไป

    ไม่ยากเลยครับ “ผลประโยชน์เชิงธุรกิจฟุตบอล” ล้วนๆ

    หาเงินเอง แบ่งกันเอง 20 ทีม ไม่ต้องมีใครมาจัดสรรเงินให้อีกแล้ว 

    ทำตัวเป็น “เจ้ามือ” ซะเอง 

    จากโครงร่างที่หลุดมาตามรายงานข่าวทุกสื่อทั่วโลกนะครับ

ว่าด้วย European Super League

    1. มีตัวเลขระบุ 3,100 ล้านปอนด์ ก้อนแรกแบ่งปันกัน 15 ทีม (12+3) ของผู้ก่อตั้ง เป็นเงินที่ใช้เพื่อ ไinfrastructure grant” ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของสโมสรทั้งหมด สนาม, สิ่งอำนวยความสะดวก, สนามซ้อม มากสุด 310 ล้านปอนด์ น้อยสุด 89 ล้านปอนด์ นอกจากนี้เงินบางส่วนยังนำไปช่วยเหลือการไม่มีแฟนบอลเข้าสนามทำให้เสียรายได้ในช่วงโควิด-19 

    2. รายได้จากลิขสิทธิ์ทีวี (Broadcasting rights)และ ผู้สนับสนุนการแข่งขัน (sponsorship)ทั้งหมด 100% แบ่งได้ดังนี้

    ผู้ก่อตั้ง 12+3 ทีมได้ 32.5% เท่ากันก่อนเลย 

    อีกจำนวน 32.5% หารกันทั้ง 20 ทีม

    20% จัดให้ตามอันดับคะแนนที่ได้ในการแข่งขัน (กรณีไม่เข้ารอบนอคเอาต์) 

    15% ให้ตามส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา ขึ้นกับชื่อเสียงสโมสรอีก

    3. จากนั้นจัดตั้ง หน่วยงานตรวจสอบบัญชี ติดตามการใช้จ่ายของแต่ละทีมแบบต่อเนื่อง

    

    (‘Financial Sustainability Group’) โดย 55% ของงบประมาณที่แต่ละทีมได้รับจาก (ส่วนแบ่ง)ไปแล้วนั้นต้องเอาไปใช้จ่ายเป็นค่าจ้างนักเตะและการซื้อนักเตะ

    ส่วนแนวทางแข่งขัน 

    – ทั้ง20ทีม แบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 10 พบกันหมดในกลุ่มเหย้าเยือน

    – อันดับ1-4 ของสองกลุ่มเข้ารอบน้อคเอาต์ จากนั้นเตะเหย้าเยือน นัดชิงนัดเดียว

    – แข่งขันกลางสัปดาห์

    4 แต่ละสโมสรหาเงินได้เองจากถ่ายทอดสดแพลทฟอร์ม ดิจิทัล ปีละ 4 นัด

    โครงร่างนี้หลุดออกมาตามออนไลน์ของสื่อหลักทั่วโลกหมดแล้ว

    ขณะที่ยูฟ๋า กำลังเตรียมลงคะแนนประชุมเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ ลีกใหม่

    เพื่อใช้ปี 2024 ในโครงร่างที่เรียก Swiss Model ที่ใช้ในวิธีการแข่งขันหมากรุก, บริดจ์ คือคู่แข่งไม่ต้องพบกันหมด (round robin) อะไรพวกนั้น

    ยูฟ่า จะเพิ่มทีม 32 เป็น 36 ไม่เล่นแบ่งกลุ่ม เตะเหย้าเยือน 10 นัด (ประกบคู่ตามแรงกิ้ง) แล้วคัดทีมแต้มสูงสุด 8 ทีมแรกเข้ารอบน็อคเอาต์

    ส่วน 9-24 เพลย์ออฟ อีก 8 ทีมเพื่อนอคเอาต์ แล้วเจอ 8 ทีมที่ผ่านไปก่อนแล้ว

    จากนั้นก็เล่นจนถึงรอบชิง 

    วิธีการคัดเลือกยังอยู่กับสี่ชาติใหญ่ ชาติละ 4 ทีมตามอันดับในลีก

    ส่วนอีกสี่ทีมคัดเลือกนั้น 1 อันดับสี่ของลีกเอิง อีกสามมาจากสโมสรที่ไม่ได้ผ่านเส้นทางในลีกแต่มีผลงานที่ดีในสโมสรยุโรปในอดีตแต่ต้องจบซีซั่นอันดับ 5-7 

    อย่างเช่นพวกทีมชื่อดังทั้งหลาย ที่ไม่ติดทอปโฟร์ แต่ผลงานดีในยุโรป

    ข้อนี้..ลีกจากชาติที่มีแรงกิ้งต่ำ10 โวยแหลก เพราะมันเหมือนเป็นโควต้า “ไวลด์ การ์ด” ให้ทีมจากพรีเมียร์ลีก, สเปน , อิตาลี….แบบนี้เป็นต้น

    ยูฟ่า กำลังจะโหวตในวันจันทร์ที่ 19 เม.ย. แต่ข่าว  ESL ระเบิดตูมออกมาซะก่อน 

    ผลกระทบล่าสุด

    ยูฟ่า, ฟีฟ่า และ สมาคม,สหพันธ์ฟุตบอล 5-6 ชาติใหญ่ร่วมกันแถลงการณ์ “ตำหนิ” โดยยูฟ่า เปิดฉากก่อน ตามด้วยพรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอลอังกฤษ คัดค้านและมองว่านี่คือการทำลายรากหญ้าและพีระมิดฟุตบอลทั้งสมัครเล่นและอาชีพโดยภาพรวม

    ถึงขึ้นนายกรัฐมนตรีอังกฤษนาย บอริส จอห์นสัน ก็ตำหนิ สโมสรยักษ์ใหญ่เหล่านี้ที่พยายามแยกตัวออกไปตั้งลีกใหม่เอง

    โดยยูฟ่าและฟีฟ่า มีไม้แข็งรอไว้ก่อนแล้ว

    1. ถ้าออกไปตั้งลีกเอง ทีมเหล่านี้ หมดสิทธิ์แข่งขันรายการยุโรปและฟีฟ่า

    2. นักเตะสโมสรเหล่านี้ห้ามเล่นทีมชาติในยูโรและฟุตบอลโลก

    3. ฟ้องศาล เพื่อห้ามจัดการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก (ยากและเสียเวลา) 

    อ่า….ฟุตบอลอาชีพ มาถึงทางแยกอีกแล้วครับ

    เวลานี้ก้อนอิฐ โดนปาไปยัง บ้านเกลเซอร์, เฮนรี, ฟลอเรนติโน เปเรซ

    กลุ่มผู้ร่วมลงนามเต็มโซเชียล

    เป็นก้อนอิฐจากองค์กรฟุตบอล, นักเตะเก่า, สื่อ 

    ล้วนแล้วแต่โจมตี  ESL ครับ

    เรื่องนี้มองคนละมุมที่แตกต่าง

    ฝั่งองค์กรผู้ควบคุมฟุตบอล ย่อมมีแนวคิดพื้นฐานในการสร้างบอลอาชีพเพื่อพัฒนาฟุตบอลโดยภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่สมัครเล่นคือรากหญ้าฟุตบอล เป็นฐานรากพีระมิดจนถึงยอดคือบอลอาชีพ 

    ฝั่งธุรกิจฟุตบอลหรือนายทุนของสโมสรใหญ่มองเรื่อง “ผลประโยชน์” เชิงธุรกิจฟุตบอลของพวกเขาเป็นหลัก ด้วยเพราะเม็ดเงินที่จะได้จากแบรนด์สโมสระดับโลกที่มีแฟนบอลเกินสามพันล้านคนเฝ้าติดตามนั้นจะกลับเข้าสโมสรเต็มๆ

    มุมมองผมนะครับ…อาจหัวเก่าอนุรักษ์นิยม

    ผมมองว่า “รายได้” และ “ผลประโยชน์” สุดท้ายก็เข้ากระเป๋านายทุนเจ้าของทีมนั่นแหละ

    มันก็เหมือนธุรกิจแขนงอื่นๆ เพียงแต่ฟุตบอลมันคือธุรกิจ อีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป

    มันยังมีความเป็นสถาบันฟุตบอล,​มีพันธะของแฟนบอลกับสโมสร, มีพันธะกันของคู่แข่งขัน ที่เป็นตัวสร้างบรรยากาศให้ฟุตบอลสนุก ตื่นเต้นในแต่ละซีซั่น

    มัน, มีกฏ กติกา มารยาท 

    สุดท้าย…ผลประโยชน์ทั้งหมดของฟุตบอลควรตกอยู่กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

    ไม่ใช่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง

    ผมมองภาพรวมนะครับ

    ถ้ามีลีกยุโรปใหม่นี้เกิดขึ้น เรอัล มาดริด-บาร์เซโลน่า , แมนฯยูฯ-ลิเวอร์พูล เตะกันทุกปี

    ลิเวอร์พูล-บาร์ซ่า, เรอัล-ยูเว่ เฉพาะกลุ่มนี้ 

    มองเห็นความตื่นเต้นเหมือนบอล “อินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพ” ที่เคยจัดแข่งกันก่อนเปิดซีซั่น แต่มันจะตื่นเต้นแบบยั่งยืนมั้ย ก็ไม่แน่ใจนะครับ

    อาจตื่นเต้นไปตลอด อาจสนุกไปตลอด  หรือสุดท้ายก็ไม่สนุก

    บอกไม่ได้ในเวลานี้แค่คาดการณ์เอา

    แต่ที่แน่ๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิด “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” หรือ  ESL สักเท่าไหร่

    มันเหมือนมีแต่ส่วนยอด…..แต่ขาดรากแก้ว

    กระนั้นเรื่อง “เงิน” ไม่เข้าใครออกใคร 

    ในแง่ธุรกิจ “นายทุน” และ “ทีมใหญ่” คือผู้กำหนดเม็ดเงิน และรับเงินนั้นด้วยตัวของพวกเขาเอง ไม่ต้องให้ “ตัวกลาง” อย่างองค์กรมาจัดสรรให้ รับก็รับกันเต็มเม็ดเต็มหน่วย มากกว่าที่เล่นแชมเปี้ยนส์ลีก ในแต่ละปี แถมได้แบบยั่งยืนไปตลอดอีก เนื่องจากพวกเขาไม่มีคำว่า “ไม่ได้เล่นแชมเปี้ยนส์ลีก” 

    เนื่องจากพวกเขาได้เล่นทุกปีแน่นอน

    อีกทั้งต่อไปพวกเขาอาจปรับเปลี่ยนกฏ กติกา การแข่งขัน

    อย่างเช่น บอลเล่น เป็น 3 ควอเตอร์ หรือ 4 ควอเตอร์ ก็เป็นได้

    var อาจจะไม่ใช้แล้ว ไม่งั้น สมาชิกเถียงกันตาย

    จากลูกทุ่ม เปลี่ยนเป็นเตะจากด้านข้างเข้าไป

    หรืออาจยกเลิกล้ำหน้าเหมือนบอลกีฬา 7 สี

    ESL อาจเป็นลีกฟุตบอลหรือเป็นกลุ่มองค์กรอิสระทางฟุตบอล

    เป็น เอนเตอร์เทนเมนต์ อะไรไปโน่น

    

    อันนี้ ผมคิดเผื่อไว้ แต่เชื่อว่ามันต้องมี “ไอเดีย” ที่แหวกแนวแต่สร้างสรรค์

    เพื่อทำให้คนทั้งโลกต้องดู ESL

    ฉีกกฏฟุตบอลทุกอย่างที่เคยมีมา

    เชื่อว่าศึกสงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว…. 

    ระหว่าง ยูฟ่า+ ฟีฟ่า vs 12 สโมสรแบรนด์ดังระดับโลก

    ส่วนใครจะเป็นฝ่ายชนะ

    หรือว่าสงครามมีแต่ผู้แพ้

    ปูเสื่อ….รอดู

    ภาพจาก : www.marca.com

    Jackie

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร

Add friend ที่ @Siamsport