เงินกับความโลภของ “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” ถูกยกธงล้ำหน้าตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

เผยแพร่:
  ปรับปรุง:
  



สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) กับ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) 2 องค์กรลูกหนังมหาอำนาจของโลก กำลังต่อต้านลีกใหม่ที่เพิ่งประกาศก่อตั้งมีชื่อว่า “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” โดยล่าสุด บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่ “บิ๊กซิกซ์” ของ พรีเมียร์ ลีก ร่วมวงด้วย พร้อมมองว่าเหตุผลเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากเรื่อง “เงิน” เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” พร้อมแจกแจงรูปแบบโม่แข้งเอาไว้อย่างชัดเจน ที่สำคัญ มีการประกาศรายชื่อ 12 ทีมยักษ์ใหญ่ของทวีปยุโรปที่ลงชื่อร่วมแข่งขันด้วยเรียบร้อย ประกอบไปด้วย 6 ทีมจากอังกฤษ : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, อาร์เซน่อล, ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ 3 ทีมจากอิตาลี : ยูเวนตุส, เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน และ 3 ทีมจากสเปน : รีล มาดริด, บาร์เซโลนา และ แอตเลติโก มาดริด

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวว่าหลายสโมสรระดับบิ๊กเนมพยายามแยกตัวจาก ฟีฟา กับ ยูฟา เพราะไม่พอใจเงินส่วนแบ่งจากศึก ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก กับ ยูโรปา ลีก 2 ถ้วยหลักของยุโรป แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งล่าสุดมาถึง “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” ที่เป็นกระแสรุนแรงขึ้นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

แน่นอนว่า “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” กะจะชนกับ 2 องค์กรลูกหนังโลกให้แตกหักกันไปข้างหนึ่งเลย เนื่องจากโปรแกรมเตะ คือ ช่วงกลางสัปดาห์นั้น ทับกับศึก ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก กับ ยูโรปา ลีก ขณะที่เริ่มเตะเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤษภาคมไล่เลี่ยกันแบบพอดิบพอดี แม้ยืนยันว่า นักเตะละทีมก็แยกย้ายไปเตะถ้วยหลักของแต่ละประเทศได้ตามปกติ แต่ยกตัวอย่างคือในประเทศอังกฤษ เดิมทีแต่ละทีมเตะอยู่แล้ว 4 ถ้วยเท่ากับว่าจะเพิ่มมาเป็น 5 ถ้วย

ตอนนี้ได้แล้ว 12 ทีมก่อตั้ง

มองดูแล้วยังไม่เห็นทางออกเลย โดย 12 ทีมที่ลงชื่อแข่งขันไปแล้วนั้น เรียกตัวเองในฐานะ “สโมสรผู้ก่อตั้ง” (Founding Clubs) พร้อมยืนยันว่า จะส่งตัวแทนเข้าประชุมกับ ฟีฟา และ ยูฟา เพื่อหาทางออกทำงานร่วมกันสร้างประโยชน์แก่วงการลูกหนัง ที่สำคัญเลยจะช่วยทำให้เกิดการเติบโตด้านการเงินที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมาแต่ละทีมต้องรัดเข็มขัดเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธาน รีล มาดริด หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า “เราจะสนับสนุนฟุตบอลทุกระดับ และชักนำไปสู่จุดที่มันสมควรจะอยู่บนโลกนี้ ฟุตบอลเป็นกีฬามหาชน ซึ่งมีแฟนๆ มากกว่า 4 พันล้านคน ความรับผิดขอบของเราในฐานะสโมสรใหญ่ คือ ตอบสนองความต้องการของพวกเขา”

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างร้ายแรง คือ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พร้อมขู่จะตักเตือน 6 ทีมยักษ์ใหญ่ของพรีเมียร์ลีกที่ประกาศตัวเข้าร่วม โดยได้โพสต์ข้อความทาง “ทวิตเตอร์” สื่อสังคมออนไลน์ “แผนจัดการแข่งขัน ซูเปอร์ ลีก คือ สิ่งที่ทำลายวงการฟุตบอลอย่างรุนแรง และเราสนับสนุนองค์กรด้านฟุตบอลต่างๆ ทำอะไรสักอย่าง พวกเขาเหยียบย่ำหัวใจของการแข่งขันภายในประเทศ สร้างความกังวลแก่แฟนๆ ทั่วประเทศ สโมสรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องตอบคำถามแฟนๆ ของพวกเขา และชุมชนกีฬาฟุตบอล ก่อนดำเนินการขั้นต่อไป”

มีการคาดหมายกันว่า “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” มีมูลค่าสูงถึง 10 พันล้านยูโร (ประมาณ 370,000 ล้านบาท) แน่นอนว่า รายได้หลักจะมาจากสปอนเซอร์ รวมถึงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด โดยทุกทีมมองว่าที่ผ่านมาส่วนแบ่งจาก ฟีฟา กับ ยูฟา น้อยเกินไป และถูกผูกขาด โดยรูปแบบที่ผ่านมา มีการแบ่งปันให้ทีมเล็กมากเกินไป แต่จากนี้ลีกใหม่พวกเขาก็จะกินเต็มแบบไม่ต้องหักหรือแบ่งใครที่ไม่จำเป็นทั้งสิ้น

สำหรับรูปแบบการแข่งขันมีทั้งหมด 20 ทีม ตอนนี้ได้ 12 ทีมในฐานะสโมสรก่อตั้งแล้วรออีก 3 ทีม เพื่อให้ครบ 15 ทีมหลักที่จะได้แข่งแบบอัตโนมัติทุกฤดูกาล ส่วนอีก 5 ทีมนั้น คัดเลือกจากผลงานลีกในประเทศแต่ละทีม ดังนั้น ก็จะสลับสับเปลี่ยนหน้ากันไป

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่อต้าน

ทุกแมตช์ของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จะลงเตะช่วงกลางสัปดาห์ เริ่มฤดูกาล 2022-23 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤษภาคม โดยมี 20 สโมสรเข้าร่วม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม ลงเตะ 18 นัด (9 เกมเหย้า-เยือน) ท็อป 3 ของแต่ละกลุ่ม จะเข้าสู่รอบน็อกเอาต์แบบอัตโนมัติ และทีมอันดับ 4 และ 5 ของแต่ละกลุ่ม จะต้องมาเพลย์ออฟชิง 2 โควตาสุดท้าย จากนั้นรอบน็อกเอาต์เตะแบบเหย้า-เยือน ส่วนรอบชิงชนะเลิศนัดเดียวรู้ผล เตะที่สนามเป็นกลาง

แน่นอนว่า ข้อดีของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก คือ 1. แต่ละทีมได้เงินเพิ่มมากขึ้น 2. เงินจะนำมาช่วยเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และ 3. มีอำนาจต่อรองจาก ฟีฟา กับ ยูฟา มากขึ้น

แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อยเช่นกัน คือ 1.แมตช์ชนกับศึก ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก และ ยูโรปา ลีก 2. ไม่ได้รับการรับรองจาก ฟีฟา และ ยูฟา 3. โปรแกรมแต่ละทีมจะแน่นขึ้นไปอีก 4. นักเตะกรอบได้รับบาดเจ็บง่ายขึ้น และ 5. ทีมเล็กอาจไม่ร่วมแข่งขัน เพราะส่วนแบ่งน้อย

ทางด้าน แกรี เนวิลล์ อดีตแบ็กขวาทีมชาติอังกฤษ และสโมสร แมนฯยูไนเต็ด แสดงความไม่เห็นด้วยว่า “ผมอยู่ในวงการมา 40 ปี สิ่งนี้น่าอัปยศอย่างยิ่ง ทั้งหมดคือความโลภล้วนๆ เราอยู่ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็น 100 ปี เกี่ยวกับฟุตบอล มีแฟนท้องถิ่นที่รักและอาศัยอยู่ในละแวกทีมที่ชื่นชอบและเทิดทูน

แม้จะมีการประกาศชื่อทีม รวมถึงรูปแบบการแข่งขันออกมาแล้ว แต่ “ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก” ยังไม่อาจระบุห้วงเวลาการแข่งขันที่จะเริ่มแข่งได้อย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นว่าลีกนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งแค่นี้ก็ถูกต่อต้านแล้ว ขณะที่ บุนเดสลีกา เยอรมัน กับ ลีก เอิง ฝรั่งเศส ก็มีจุดยืนว่าจะไม่ร่วมด้วยอย่างชัดเจน เพราะดูแล้วประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากกว่าข้อเสีย ข้อดีนั้นเหมือนจะมีแค่ “เงิน” เท่านั้น และก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจะตั้งลีกแบบนี้ สุดท้ายก็ต้องม้วนเสื่อกลับไป