นัด “แต่งดำ” กดดันตู่-หนู หมอไม่ทน ปมร้อนวัคซีน ครม.ผ่านแล้ว สั่งซื้อไฟเซอร์ – ไทยรัฐ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 12.30 น. วันที่ 6 ก.ค.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์โควิดประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 5,420 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,375 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,070 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,305 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 37 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 294,653 ราย อยู่ระหว่างรักษา 65,297 ราย อาการหนัก 2,350 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 643 ราย เสียชีวิต 57 ราย เป็นชาย 35 ราย หญิง 22 ราย อยู่ใน กทม. 33 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นครปฐม ระยอง ปทุมธานี ชลบุรี สงขลา สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก สมุทรสงคราม นราธิวาส ปัตตานี สกลนคร นครพนม จังหวัดละ 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 2,333 ราย ยอดฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 11,058,390 โดส มีผู้สูงอายุได้ฉีดไปเพียง 0.8% ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 3.4% อยากขอให้กลุ่มคนวัยทำงานชักชวนญาติที่อยู่ในกลุ่มนี้ไปฉีดวัคซีน

หลายจังหวัดผุดคลัสเตอร์ใหม่

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 6 ก.ค. ได้แก่ กทม. 1,492 ราย สมุทรสาคร 398 ราย สมุทรปราการ 318 ราย ชลบุรี 266 ราย ปัตตานี 262 ราย นนทบุรี 242 ราย ปทุมธานี 208 ราย นครปฐม 206 ราย ยะลา 135 ราย สงขลา 132 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ เช่น จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานผ้าอ้อม อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 9 ราย จ.ชลบุรี ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.บางละมุง 12 ราย จ.นนทบุรี ที่ชุมชนหลังเมเจอร์ อ.ปากเกร็ด 44 ราย จ.ปทุมธานี ที่โรงงานอะลูมิเนียม อ.ธัญบุรี 19 ราย ที่โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร อ.ลาดหลุมแก้ว 15 ราย จ.ตาก ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด 61 ราย ส่วนพื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 116 แห่ง พบคลัสเตอร์ใหม่ที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง เขตราชเทวี

กทม.พันธุ์อินเดียพุ่งเกินครึ่ง

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขได้หารือถึงสายพันธุ์โควิดที่แพร่ระบาดในไทยตอนนี้ พบว่ามีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์อัลฟาจากอังกฤษ สายพันธุ์เดลตาจากอินเดีย และสายพันธุ์เบตาจากแอฟริกา สายพันธุ์เดลตาพบในแคมป์คนงานหลักสี่ หลังจากนั้นแรงงานกระจายกลับบ้านในภาคอีสานและภาคเหนือ ส่วนสายพันธุ์เบตากระจุกตัวอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และเริ่มขึ้นไปที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชลบุรี อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากดูภาพรวมประเทศจนถึงวันที่ 2 ก.ค.พบว่าสายพันธุ์อัลฟา มีการแพร่ไปถึง 65.1% สายพันธุ์เดลตา 32.2% สายพันธุ์เบตา 2.6% เฉพาะในพื้นที่ กทม. พบสายพันธุ์อัลฟา 47% สายพันธุ์เดลตา 52% ถือว่าสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเมื่อช่วงเดือน เม.ย.-20 มิ.ย. มีเพียง 22.5% เท่านั้น แต่ช่วง 28 มิ.ย.-2 ก.ค. กลับสูงขึ้นไปถึง 52% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ขอให้ดูแลตัวเองเข้มข้นขึ้น เมื่อไวรัสปรับตัวเอง เราต้องปรับตัว ข้อแนะนำให้ใส่หน้ากากสองชั้นจึงเป็นเรื่องจริง

เตียง-เครื่องช่วยหายใจไม่พอ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ยังพบว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการน้อยมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือที่ไม่มีอาการ ตามด้วยกลุ่มสีเหลืองที่ตัวเลขยังพุ่งขึ้นมา แต่โชคดีคือผู้ป่วยกลุ่มสีแดง แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ไต่ระดับช้าๆ ไม่เหมือนสีเขียว ใน กทม. มีจำนวนใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความต้องการเตียงและเครื่องช่วยหายใจ ที่เรามีสะสมก่อนหน้านี้ยังไม่เพียงพอกับการติดเชื้อที่มีมากขึ้น ความต้องการใส่ท่อช่วยหายใจมีเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้อาจเห็นภาพผู้ใส่ท่อช่วยหายใจกลับมาปกติกันบ้าง แต่ไม่แน่ใจแล้ว เพราะตอนนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่คงต้องติดตามดูตรงนี้ เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนของการติดเชื้อ ตัวเลขสองวันหมื่นรายเช่นนี้ ต้องมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแน่นอน

สายตรงรายงานวัคซีนถึงนายกฯ

ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. แถลงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่าจากการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค. มี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ตนเป็นรองประธาน กรรมการชุดนี้จะรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ขณะนี้สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กระจายไป 96 ประเทศรวมทั้งไทย คาดว่า 1-2 เดือนจะกระจายทั่วโลก สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบเร็วขึ้นเพียง 3-5 วันต้องให้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้ห้องไอซียูและเตียง

สำหรับผู้ป่วยสีแดงตึงมาก หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้ วัคซีนที่ทั่วโลกใช้อยู่ขณะนี้ มาจากไวรัสดั้งเดิมคืออู่ฮั่น เมื่อไวรัสกลายพันธุ์จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ต้องเร่งหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เดลตา (อินเดีย) คาดจะมีวัคซีนรุ่นใหม่ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

เจอเชื้อกลายพันธุ์ทำภูมิลด

ศ.นพ.อุดมกล่าวต่อว่า ระหว่างที่รอวัคซีนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องให้วัคซีนกระตุ้น เพราะพบว่าวัคซีนทั่วโลกเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม เมื่อเจอเชื้อกลายพันธุ์จะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ขณะที่ซิโนแวคจะเป็นข้อมูลของไทย สวทช.ร่วมกับจุฬาฯ ซิโนแวค 2 เข็ม เมื่อเจอเดลตา (อินเดีย) การสร้างภูมิคุ้มกันจะลดลง 4.9 เท่า ต้องยอมรับว่าวัคซีนชนิด mRNA ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด งานวิจัยพบว่าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นต่างชนิดกับเข็มที่ 1 และ 2 จะกระตุ้นภูมิกันเพื่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ เนื่องจากไทยใช้วัคซีนซิโนแวคฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 7 แสนคน ครบ 2 เข็ม เป็นเวลา 3-4 เดือน ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆลดลง ที่ประชุมมีมติที่จะให้วัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าเป็นกลุ่มแรก กลุ่มต่อมาคือกลุ่มเสี่ยง 7 โรค วัคซีนที่จะให้จะเป็นคนละชนิด ได้แก่ แอสตราเซเนกา ชนิดไวรัลเวคเตอร์ เป็นวัคซีนหลักของประเทศและไฟเซอร์ ชนิด mRNA ที่ไทยสั่งซื้อ 20 ล้านโดสจะเข้ามาในไตรมาสที่ 4 และอีก 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐฯบริจาคให้มาถึงเมื่อไรจะฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าทันที

แนะรอวัคซีนรุ่นใหม่ปีหน้า

ศ.นพ.อุดมกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่รองรับกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงอีกคณะด้วย จะเร่งศึกษาข้อมูลและประกาศให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆ ขณะนี้ไทยมีวัคซีนซิโนแวค แอสตราเซเนกา ซิโนฟาร์ม ขอให้ประชาชนรับวัคซีนให้ครบ 2 เข็มก่อน อย่าเพิ่งไปนึกถึงเข็ม 3 หรืออย่าเพิ่งไปจองวัคซีน เพราะจะได้วัคซีนรุ่นเก่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 2 เข็ม ควรเว้นระยะเข็ม 3 ไปอีก 6 เดือน เมื่อถึงเวลานั้น คาดว่าจะมีวัคซีน mRNA รุ่นใหม่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงลดลงและปลอดภัยมากขึ้น ขอให้รอฟังคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข

อย่าดาวน์เกรดซิโนแวค

ศ.นพ.อุดมกล่าวด้วยว่า วัคซีนแต่ละชนิดเมื่อเจอเชื้อกลายพันธุ์ ประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลง แต่ทั้ง 3 ชนิด ป้องกันอาการรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้กว่า 90% ดังนั้น การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการป่วยรุนแรงได้ ทำให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลและยังป้องกันการเสียชีวิต การที่มีคนตายวันละ 50 คน ป่วยวันละ 6 พันคน ไม่ไหวแล้ว ดังนั้น อย่าดาวน์เกรดซิโนแวค แม้จะป้องกันได้น้อย แต่ลดเจ็บป่วยหนักและการตายได้ ถือว่าคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากวัคซีนชนิดอื่น

“หมอไม่ทน” นัดแต่งดำ

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มบุคคลใช้ชื่อว่า “หมอไม่ทน” เปิดแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อคนในโซเชียลมีเดียสนับสนุนข้อเสนอการแก้ปัญหาโควิด-19 ถึงรัฐบาล 2 หัวข้อ พร้อมเชิญชวนประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมสวมเสื้อดำ/ติดโบดำในวันพุธที่ 7 ก.ค.เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. โดยขอให้นำเข้าวัคซีน mRNA ให้ เร็วที่สุดและนำมาใช้เป็นวัคซีนหลักโดยต้องเปิดเผยขั้นตอนการดำเนินการให้ประชาชนทราบ 2. นำวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แก่บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า 3.เปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาและซิโนแวค รวมถึงวัคซีนอื่นๆ 4. เปิดเผยบันทึกการประชุมเรื่องวัคซีนและการบริหารจัดการการระบาดโควิด-19 เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ 5.โควิด-19 สามารถแพร่กระจายผ่านอากาศ การสวมหน้ากาก N95 จึงไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ รัฐจำเป็นต้องจัดหา FFP3 หรือ N99 เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์

สั่งซื้อแล้วไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข รับมอบยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร 2.7 ล้านแคปซูล จากมูลนิธิชิน โสภณพนิช โดยคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช เป็นผู้มามอบเพื่อสนับสนุนโครงการ FAH FIRST AID และ รพ.สนาม สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระยะแรก นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสและรับวัคซีนบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่ง ส่วนร่างสัญญาที่ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา กระทรวงฯ รับมาและจะพยายามเจรจาให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด วัคซีนไฟเซอร์ กรมควบคุมโรคต้องเจรจาให้แล้วเสร็จใน 1-2 สัปดาห์ แต่ยังอยู่ในเงื่อนเวลา 30 วันหลังจากที่ลงนาม

ไฟเขียว 6 พัน ล.ซื้อซิโนแวค

บ่ายวันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบ 6,111,412,000 บาท จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีก 10.9 ล้านโดส (ซิโนแวค) ตามแผนการจัดหาวัคซีนให้ครบ 150 ล้านโดส สำหรับบุคลากรและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.ผู้มีโรคประจำตัวตามกำหนด 3.ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส มอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาและ ครม.เห็นชอบรับมอบความช่วยเหลือวัคซีนไฟเซอร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาทางเลือก ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางจัดหา

“พิธา” จี้ปกป้องบุคลากรด่านหน้า

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องประชาชนและบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ไม่ใช่ปกป้อง Sinovac” จากกระแสข่าวมีเอกสารบันทึกเรื่องการพิจารณาการจัดสรรวัคซีน Pfizer จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่ไทยจะได้รับในเดือน ก.ค. มีผู้เสนอความเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรนำวัคซีน Pfizer มาฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้า เพราะเท่ากับยอมรับว่าซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพและจะ “แก้ตัวยากขึ้น” ท้ายที่สุดที่ประชุม มีมติว่าจะไม่จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ รมว.สาธารณสุขยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง เห็นว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดต้องแก้ไข ไม่ใช่การแก้ตัว ถ้ายิ่งเจ้าของความคิดดังกล่าวเป็นแพทย์เองแล้ว ถือว่าอำมหิตอย่างยิ่ง เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้าเพื่อนร่วมอาชีพของท่าน กำลังเสี่ยงอันตรายช่วยเหลือประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สนใจในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ ว่าวัคซีนซิโนแวคขาดประสิทธิภาพ สะท้อนว่าสนใจเพียงการ “ไม่เสียหน้า” ของภาครัฐเอง ขอย้ำว่ารัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่ปกป้อง Sinovac รัฐบาลใดที่เห็นชีวิตของประชาชนและแพทย์มีความสำคัญน้อยกว่าชื่อเสียงหน้าตาตัวเอง และบริษัทยาต่างชาติ ไม่ใช่รัฐบาลที่มีความชอบธรรมอีกต่อไป

เผยขั้นตอนเจรจาไฟเซอร์

นายรักไทย บูรพ์ภาค อนุกรรมการประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อดีตนักศึกษา MIT ผู้มีส่วนเจรจากับสหรัฐอเมริกาจนได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสให้กับไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและคนไทยในสหรัฐฯ ช่วยกันประสานเพื่อหาทางให้คนไทยได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เมื่อเดือน พ.ค. เริ่มประสานกับอดีต รมช.สาธารณสุขสหรัฐฯ ขอวัคซีนที่เหลือมาให้ไทย การเจรจาระหว่างรัฐบาลเป็นผลจนได้รับการบริจาค 1.5 ล้านโดส พวกเราอยากช่วยแม้จะเป็นหน้าที่รัฐบาล เพราะวัคซีนที่มีไม่เพียงพอ หากมีโอกาสใช้คอนเนกชันได้ ส่วนกระบวนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐควรทำได้เร็วกว่านี้ แต่เพราะไปยึดติดกับระบบราชการ หากทำตาม กระบวนการเพื่อการตรวจสอบ แต่ขณะนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ สิ่งไหนที่สามารถลัดขั้นตอนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้รวดเร็ว ตัวอย่างสหรัฐฯที่จัดการสถานการณ์วิกฤติจนได้รับการยอมรับ เพราะมีสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency : FEMA) หรือฟีมา แนวคิดนี้น่าจะเกิดขึ้นในการทำงานภาครัฐโดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้

ฟุ้งยกหูหาซีอีโอ

นายรักไทยกล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสชุดนี้ หากรัฐบาลเป็นฝ่ายซื้อตนไม่มีปัญหาว่าจะนำไปจัดการอย่างไร แต่วัคซีน ลอตนี้มาจากการบริจาค ต้องจัดการไม่ให้ผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคที่ต้องการให้นำไปฉีดกับบุคลากรด่านหน้า เมื่อถามว่า รู้จักกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เคยศึกษาอยู่ที่ MIT หรือไม่ นายรักไทยกล่าวว่า เป็นรุ่นน้องนายพิธาที่ MIT เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ตนกับนายพิธาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทราบว่านายพิธาได้ติดต่อคุยกับซีอีโอของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทโมเดอร์นาในเบื้องต้นแล้ว

พระราชทาน “ฟ้าทะลายโจร”

ที่ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลอากาศโท สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์ฯ ส่งมอบ ยาฟ้าทะลายโจรพระราชทานให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2,000 ขวด แก่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เพื่อนำส่งมอบให้แก่สถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

สาวติดเชื้อเครียดดิ่งตึก

อีกด้าน ช่วงเช้าวันเดียวกัน พ.ต.ต.ธีระวัฒน์ เกิดจงรักษ์ สว. (สอบสวน) สน.สำเหร่ ไปสอบสวนเหตุหญิงกระโดดจากที่สูงลงมาได้รับบาดเจ็บ ที่หน้าอพาร์ตเมนต์ 3 ชั้น ไม่มีชื่อ กลางซอยเจริญนคร 46 แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ พบร่างน.ส.สุจิตรา แซ่เฮ้ง อายุ 51 ปี ได้รับบาดเจ็บมีแผล แตกที่หน้าผาก ขาซ้ายหัก นายภูวิสิษฐ ภูวสวัสดิ์ เลขานุการชุมชนวัดสุทธาราม เล่าว่า น.ส.สุจิตรา ไม่มีครอบครัว ขายของอยู่ที่ตลาดนัดวัดสุทธาราม พักอยู่กับพี่น้องและหลาน รวม 4 คน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.มิตรประชาหมอให้กลับมากักตัวที่บ้าน จึงแจ้งสายด่วน 1669 ให้ส่งเจ้าหน้าที่มารับ ได้รับคำตอบว่าให้รอเตียง ตน เป็นคนส่งข้าวส่งน้ำให้กับคนเจ็บและคนที่ถูกกักตัวโควิด-19 ในชุมชนทุกคน คาดว่าช่วงเช้า น.ส.สุจิตรา คงเครียดเรื่องรอเตียง จึงกระโดดอพาร์ตเมนท์ ขณะที่ ญาติอีก 3 คน กำลังรอผลตรวจ

อาคารคลังสินค้าเป็น รพ.สนาม

อีกด้าน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรม ธนารักษ์ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำ นวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง นำคณะไปสำรวจอาคารคลังสินค้า 4 สนามบินดอนเมือง ที่จะนำมาจัดตั้ง รพ.สนาม (ชั่วคราว) ขนาด 2 พันเตียง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (สีเขียว) ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันทำให้มีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ประกอบกับ รพ.บุษราคัม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ในเดือน ส.ค. กระทรวงสาธารณสุขจึงประสานมายังกระทรวงคมนาคม ขอพื้นที่ของอาคารคลังสินค้าที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานมาเป็น รพ.สนาม คาดว่าจะ รองรับผู้ป่วยได้มากกว่า รพ.บุษราคัม 3 เท่า

อังกฤษอาจติดเชื้อครึ่งแสนต่อวัน

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็นกว่า 185 ล้านคน เสียชีวิตรวมทะลุ 4 ล้านคนอย่างเป็นทางการ ที่อังกฤษสื่อท้องถิ่นรายงานอ้างการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่าในช่วงวันที่ 19 ก.ค. ที่รัฐบาลตั้งใจจะปลดล็อกดาวน์เปิดประเทศ ยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยนั้น อาจมีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 50,000 คน เดือนถัดไปอาจพุ่งเป็นวันละ 1 แสนคน หลังอัตราการติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดติดเชื้อในวันเดียวเมื่อ 5 ก.ค. อยู่ที่ 27,334 คน ขณะที่จำนวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ทั้งที่ประชากรผู้ใหญ่กว่า 64% ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว แต่นักวิชาการมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน มองว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงระหว่างการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่ถึงวันละกว่า 1,000 คน เหมือนช่วงเดือน ม.ค.

ปฏิบัติการไทยรัฐ ฝ่าวิกฤติโควิด-19