จับตาวงการลูกหนังผู้ดี! จ่อคุมเข้ม

วันพฤหัสบดี ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 21.59 น.

จับตาวงการฟุตบอลอังกฤษ รัฐบาลจ่อคุมเข้มซื้อ-ขายทีม สกัดทุนเทา-นายใหม่ทำลายรากเหง้าชุมชน

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เว็บไซต์ นสพ.The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว ‘Indications are positive’: Tracey Crouch encouraged by football regulator leaks อ้างคำกล่าวของ เทรซี เคราซ์ (Tracey Crouch) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคอนุรักษ์นิยม ที่ระบุว่า มีสัญญาณเชิงบวกจากรัฐบาลอังกฤษ ในการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลการแข่งขันลีกฟุตบอลของประเทศ


สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ The Sun นสพ.แท็บลอยด์เจ้าดังของเมืองผู้ดี อ้างว่าได้เห็นเอกสารระบุแนวคิดของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะให้มีหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งมีอำนาจตรวจสอบว่าบุคคลหรือองค์กรที่จะเข้ามาซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลในอังกฤษมีแหล่งที่มาของเงินทุนอย่างไร รวมถึงออกคำสั่งห้ามเข้าร่วมการแข่งขันที่ไมได้รับการรับรองและลงโทษทีมที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้ ในปี 2564 เคราซ์ เขียนบทความชื่อ “ทบทวนธรรมาภิบาลในวงการฟุตบอล (Review of Football Governance)” เรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดควมยั่งยืน

เคราซ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้รับกำลังใจจากรายงานข่าวที่ว่าข้อเสนอแนะของตนกำลังจะกลายเป็นกฎหมายในฤดูกาลแข่งขัน 2024-25 (ปี 2567-68) แม้ว่าคำแนะนำบางอย่างจากบทวิจารณ์ที่นำโดยแฟนบอลอาจไม่ได้รับการนำไปใช้ แต่เนื้อหาที่สำคัญที่สุดคือ จากสิ่งที่ตนได้อ่าน ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยอมรับและจะปฏิบัติตามคำแนะนำพื้นฐานในการแนะนำหน่วยงานกำกับดูแลอิสระที่สนับสนุนโดยกฎหมาย

เควิน ไมล์ส (Kevin Miles) ผู้บริหารระดับสูงของสมาคมผู้สนับสนุนฟุตบอล (FSA) กล่าวว่า รายงาน ณ วันนี้ ระบุว่าแนวคิดหลายอย่างของเรารวมอยู่ในเอกสาร “สมุดปกขาว (White Paper)” การตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเจ้าของสโมสรที่มีศักยภาพ การมีส่วนร่วมของผู้สนับสนุนที่มากขึ้น การปิดกั้นการแข่งขันที่แตกแยกเช่น ยูโรเปียนซูเปอร์ลีก (European Super League) และการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลอิสระ หวังว่าจะได้เห็นเอกสารฉบับเต็มเมื่อมีการเผยแพร่ และเป็นอีกครั้งที่สมาคมฯ จะมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นและสร้างสรรค์กับกระบวนการให้คำปรึกษาเพื่อให้แน่ใจว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

รายงานของ The Guardian อ้างการเปิดเผยของ The Sun อีกว่า หน่วยงานกำกับดูแลสามารถใช้จ่ายงบประมาณเพื่ออุดหนุนทีมระดับล่างๆ ได้ หากพรีเมียร์ลีก (EPL) และอิงลิชฟุตบอลลีก (EFL) อันเป็น 2 องค์กรที่ดูแลลีกฟุตบอลในอังกฤษไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งปัจจุบันการเจรจายังไม่ไดข้อยุติ โดยทาง EFL กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ต้องการลดช่องว่างทางการเงินระหว่างกลุ่มล่างสุดของพรีเมียร์ลีกกับทีมชั้นนำของแชมเปี้ยนชิพลงครึ่งหนึ่ง อนึ่ง องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นจะวางระบบใบอนุญาตจัดตั้งสโมสรฟุตบอลที่สร้างความมั่นใจว่าสโมสรจะดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของผู้สนับสนุนและชุมชน และทีมฟุตบอลที่จะเข้าร่วมแข่งขันต้องเป็นทีมที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น

โฆษกของ ริชิ ซูแน็ก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ชี้แจงว่า เบื้องต้นยังไม่อาจคาดเดาได้ว่ากฎหมายจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่คาดว่าจะเผยแพร่ออกมาได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่สัปดาห์หน้า งเรายังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการปฏิรูปที่เข้มข้นซึ่งจำเป็นต่อความยั่งยืนของฟุตบอลในระยะยาว รายละเอียดที่แท้จริงของแผนกำลังได้รับการสรุปและจะเผยแพร่ในไม่ช้า สิ่งที่กำลังทำกับสมุดปกขาวนี้คือการแสวงหาความสมดุลที่เหมาะสมทั่วกระดานเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศนี้ยังคงมีและเป็นเจ้าภาพของทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก และยังเคารพในสิทธิของแฟนบอล และรับประกันว่าพวกเขาอยู่ในหัวใจของแผนการเหล่านี้เพื่อจัดการกับปัญหาใหญ่ที่วงการต้องเผชิญ

สำหรับรายงานจาก The Sun ที่ถูกกล่าวถึงนั้นคือ FOOTIE CHARTER LEAKED Biggest shake up to football ownership in years leaked – what it means for your club เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 โดยมีการยกตัวอย่าง กรณีของ โรมัน อบราโมวิช (Roman Abramovich) มหาเศรษฐีชาวรัสเซียซึ่งเคยเป็นเจ้าของสโมสร “สิงโตน้ำเงินคราม” เชลซี แต่ต่อมาถูกกดันให้ต้องขายทีมและออกไปจากพรีเมียร์ลีก ศึกฟุตบอลลีกสูงสุดของเมืองผู้ดี หลังเกิดกรณีรัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครน ซึ่ง อบราโมวิช ถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลแดนหมีขาว

นอกจากนั้น ภายใต้นโยบายใหม่ แฟนบอลจะมีส่วนร่วมมากขึ้นในการบริหารงานของสโมสร รวมถึงมีอำนาจยับยั้งผู้บริหารที่ต้องการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์และชุดแข่งของทีมในลักษณะที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ส่วนบทบาทขององค์กรอิสระที่จะมากำกับดูแลนั้น ตรวจสอบบุคคลที่จะมาซื้อทีมฟุตบอลในลีกเมืองผู้ดี ซึ่งหากไม่สามารถอธิบายที่มาของแหล่งทุนให้กระจ่าง การซื้อ-ขายทีมก็จะไม่ได้รับอนุญาต เพื่อปกป้องสโมสรจากการทำลายล้างทางการเงินและวัฒนธรรม

อีกทั้งสโมสรต่างๆ ยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนของหน่วยงานกำกับดูแล ตามฐานะทางการเงินของแต่ละทีมลดหลั่นกันไป โดยเงินกองทุนนั้นสามารถถูกนำไปใช้ดูแลสโมสรฟุตบอลในลีกระดับล่างๆ ให้อยู่รอดได้ อีกทั้งองค์กรอิสระนี้ยังมีอำนาจห้ามและลงโทษสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันรายการที่ไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งเคยเกิดกรณีบางทีมต้องการจะไปเข้าร่วม ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก จนมีการประท้วงมาแล้วในปี 2564

– 006