ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุเหยียบกันตายในสนามฟุตบอลอินโดนีเซีย เพิ่มเป็นอย่างน้อย 125 รายแล้ว ในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 2 นาย ที่ถูกแฟนบอลทำร้ายจนเสียชีวิต ถือเป็นโศกนาฏกรรมเหยียบกันตาย ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลก

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย สั่งให้ระงับการแข่งขันทั้งหมดของลีกฟุตบอลใหญ่สุดของประเทศ จนกว่าการสืบสวนสาเหตุ และผู้กระทำผิดจะแล้วเสร็จ

ความโกลาหลเกิดขึ้นหลังตำรวจตัดสินใจใช้แก๊สน้ำตา พยายามสลายการจลาจลของเหล่าแฟนบอล ที่บุกลงมาในสนามหลังอาเรมา เอฟซี พ่ายแพ้ให้กับทีมเพอร์เซบายา สุราบายา ด้วยคะแนน 3 ต่อ 2 โดยการแข่งขันมีขึ้นในจังหวัดชวาตะวันออก

ทีมอาเรมา เอฟซี และเซบายา สุราบายา ถือเป็นสโมสรฟุตบอลขนาดใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย และมีฐานแฟนบอลจำนวนมาก

เหตุเหยียบกันตายครั้งร้ายแรงของโลก

ในประวัติศาสตร์นั้น เกิดเหตุเหยียบกันตายในสนามกีฬาหลายครั้ง

ครั้งร้ายแรงสุด คือ เมื่อปี 1964 มีผู้เสียชีวิต 320 คน และบาดเจ็บกว่า 1,000 คน ระหว่างเหตุเหยียบกันตายในสนามกีฬากรุงลิมา ประเทศเปรู ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติเปรูและอาร์เจนตินา เพื่อชิงตั๋วไปเข้าแข่งโอลิมปิก

อันดับรองลงมาก็คือ เหตุที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 174 คน และอาจเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อปี 1989 ในสหราชอาณาจักร เกิดเหตุเหยียบกันตายก่อนการแข่งขันในสนามกีฬาเมืองเชฟฟิลด์ ส่งผลให้แฟนบอลลิเวอร์พูล 97 คนเสียชีวิต ถือว่าเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของสหราชอาณาจักร

ปี 1985 มีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บอีก 600 คน จากเหตุเหยียบกันตายในสนามฟุตบอลในกรุงบรัสเซลล์ของเบลเยียม หลังแฟนบอลแออัดติดกำแพง จนทำให้กำแพงพังถล่มลงมา ระหว่างการแข่งขันยูโรเปียนคัพรอบชิงชนะเลิศ ระหว่างสโมสรลิเวอร์พูล และยูเวนตุส

ฉากความโกลาหล

วิดีโอที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ และผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้คนกรูกันไปยังทางออก แต่แออัดยัดเยียดกัน จนหายใจไม่ออกและเหยียบกันจนเสียชีวิต

ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเสียชีวิตอยู่ภายในสนามฟุตบอล แต่ก็มีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลด้วย

รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้จำหน่ายตั๋ว 42,000 ใบ แม้ว่าสนามกีฬาจะบรรจุคนได้เพียง 38,000 คนเท่า

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งจังหวัดชวาตะวันออก นิโค อะฟินตา ระบุว่า การใช้แก๊สน้ำตาของตำรวจ ทำให้ประชาชนแตกตื่น จนนำไปสู่การเหยียบกันตาย

“มันกลายเป็นจลาจล แฟนบอลทำร้ายตำรวจ ทำร้ายรถตำรวจ” แต่ “เราอยากชี้แจงว่า…ไม่ใช่แฟนบอลทุกคนที่ก่อจลาจล มีเพียง 3,000 คนเท่านั้น ที่ลงไปบนสนาม”

ความแปดเปื้อนของวงการฟุตบอล

สมาคมฟุตบอลแห่งอินโดนีเซีย หรือพีเอสเอสไอ ระบุว่า ได้เริ่มการสอบสวนเหตุสลดที่เกิดขึ้น และนี่จะเป็น “ประวัติศาสตร์ที่แปดเปื้อนหน้าหนึ่งของวงการฟุตบอลอินโดนีเซีย”

“พีเอสเอสไอเสียใจต่อการกระทำของแฟนบอลทีมอาเรมา” โมชาหมัด อีเรียวาน ประธานสมาคมฯ กล่าวในแถลงการณ์

“เราต้องขอโทษและขออภัยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และทุก ๆ คน ต่อเหตุการณ์นี้ด้วย”

อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดของฟีฟ่า หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติกำหนดไว้ว่า ไม่ควรใช้อาวุธปืน หรือแก๊สควบคุมฝูงชน ในการควบคุมสถานการณ์ภายในสนามฟุตบอล

ตำรวจจังหวัดชวาตะวันออก ยังไม่ตอบคำถามว่า ทราบถึงข้อกำหนดดังกล่าวหรือไม่

อย่างไรก็ดี เหตุจลาจลกลางการแข่งฟุตบอลในอินโดนีเซียเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง