“เบลเยียมเป็นชาติที่อีกนิดเดียวก็จะถูกลืมไปแล้วในโลกของฟุตบอล” นี่คือสิ่งที่ มิเชล ซาบล็อง อดีตผู้อำนวยการด้านเทคนิคของทีมชาติเบลเยียม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างฟุตบอลในประเทศขึ้นมาใหม่ จนพวกเขาได้พบกับ “โกลเดน เจเนอเรชั่น” หรือทีมชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
ทีมที่สามารถขึ้นเป็นทีมเต็งในทุกทัวร์นาเมนต์ในรอบ 7 ปีหลังสุด, เป็นทีมอันดับ 1 ของโลกใน ฟีฟ่า เวิลด์ แรงกิ้ง และมีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์เต็มทีม … นี่คือสิ่งที่ชาติที่มีประชากรแค่ 11 ล้านคน ที่ใช้เวลาสร้างทีมขึ้นมาใหม่ในเวลาแค่ 10 ปี
วิธีไหนที่พวกเขาใช้สร้างทีมชุดมหัศจรรย์ชุดนี้? และทำไมทีมชุดนี้จึงทำได้แค่ใกล้เคียงกับการเป็นแชมป์เท่านั้น? … ติดตามได้ที่ Main Stand
ทำไมเราห่วยขนาดนี้?
ไม่มีความยิ่งใหญ่ใดที่ไม่เกิดขึ้นจากความทะเยอทะยาน … และฟุตบอลเบลเยียมก็เป็นเช่นนั้น
เบลเยียม เป็นประเทศที่รอบล้อมไปด้วยชาติมหาอำนาจด้านฟุตบอล หากมองจากแผนที่โลก ด้านตะวันออกติดเยอรมัน, ตะวันตกติดอังกฤษ (โดยมีทะเลเหนือคั่น) ด้านเหนือเป็นเนเธอร์แลนด์ และด้านใต้ติดฝรั่งเศส … ชาติเหล่านี้เป็นแชมป์โลก หรือแชมป์ยุโรปกันอย่างน้อยชาติละครั้งทั้งสิ้น มีแต่เบลเยียม ชาติเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงกลางและมีประชากร 11 ล้านคนเท่านั้น ที่ไม่เคยสัมผัสคำว่าแชมป์ และไม่ถูกพูดถึงเรื่องฟุตบอลมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุค “โมเดิร์น ฟุตบอล” (ฟุตบอลสมัยใหม่ หลังยุค 2000s)
ในอดีต เบลเยียมเคยเป็นชาติที่มีดี และมันเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในช่วงยุค 80s ทีมในช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกกันว่า “นิวเวฟ” หรือคลื่นลูกใหม่ของวงการฟุตบอลเบลเยียม ในยูโร 1980 ทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปคว้ารองแชมป์ หลังพ่ายให้กับ เยอรมันตะวันตก ในนัดชิงชนะเลิศ 1-2 ก่อนคว้าอันดับ 4 ในฟุตบอลโลก 1986 แต่หลังจากนักเตะชุดดังกล่าว ที่นำโดย แยน คูเลอม็องส์, ฌอง-มารี พัฟฟ์, เอ็นโซ ชีโฟ่ เข้าสู่ช่วงวัยเลข 3 เบลเยียมก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ ถึงความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกเขา
หัวเรือใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีชื่อว่า มิเชล ซาบล็อง อดีตโค้ชจากชุด “นิวเวฟ” ที่เห็นว่าทีมชุดนั้นเกิดขึ้นจากความโชคดีที่มีนักเตะเก่ง ๆ เกิดขึ้นพร้อมกันในหลาย ๆ ตำแหน่ง จนกระทั่งช่วงเวลาที่ทีมชุดนั้นหมดอายุการใช้งาน พวกเขาก็ไม่สามารถส่งไม้ต่อได้ เพราะไร้ซึ่งนักเตะรุ่นน้องที่มีคุณภาพมากพอ
ภาพความผิดหวังที่แฟนบอลเบลเยียมจดจำได้ดี คือในยูโร 2000 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วมกับ เนเธอร์แลนด์ แต่พวกเขากลับกลายเป็นเจ้าภาพที่กระเด็นตกรอบแรก ส่วนเพื่อนบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์ ไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศ
หลังจาก ยูโร 2000 ครั้งนั้น สมาคมฟุตบอลเบลเยียม หรือ RBFA รับแรงกระแทกครั้งใหญ่ ชาติของพวกเขายิ่งเล่นยิ่งหมดไฟ ทีมชุดที่ใช้แข่งในยูโร 2000 ประกอบด้วยนักเตะที่อายุเกิน 30 ปี ถึง 10 คน และมีนักเตะอายุต่ำกว่า 23 ปีแค่คนเดียวคือ เอมิล เอ็มเพนซ่า (อายุ 21 ปี) เห็นได้ชัดว่ามันถึงเวลาที่เขาต้องทำอะไรสักอย่าง หากปล่อยให้รอโชคหวังให้มีนักเตะเก่ง ๆ เกิดพร้อม ๆ กัน แบบยุคนิวเวฟ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี ดังนั้นพวกเขาต้องสร้างทีมชุดที่ดีที่สุดขึ้นมาเอง โดยเริ่มจากรากฐานตั้งแต่ระดับเยาวชน
การสร้างทีมฟุตบอลทีมหนึ่งต้องอาศัยอะไรบ้าง? ถ้าคุณคิดว่าดวงมีส่วนเกี่ยวข้อง เบลเยียม คงเป็นชาติที่ดวงดีเอามาก ๆ เพราะได้นักเตะระดับหัวแถวของโลกมาพร้อม ๆ กันเกินครึ่งค่อนทีมภายในระยะเวลาแค่ 1 ทศวรรษ … แต่สิ่งที่จะอธิบายถึงปรากฎการณ์ “โกลเดน เจเนอเรชั่น” ชุดนี้ได้ดีที่สุดคือ พวกเขาสร้างแบบแผนของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อบอกโลกให้รู้ว่า “ฟุตบอลเบลเยียม” เป็นเช่นไร
สร้างเยาวชน
มิเชล ซาบล็อง 1 ในสตาฟฟ์โค้ชขุด “นิวเวฟ” ชายผู้บ้าคลั่งเรื่องการวางรากฐาน ชอบตัวเลขสถิติ และชอบอ่านหนังสือหาความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ฟุตบอลทุกแขนง ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานเทคนิคของทีมชาติเบลเยียม (ตำแหน่งเดียวกับที่ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล รับหน้าที่กับทีมชาติไทยในเวลานี้) หลังจากความล้มเหลวใน ยูโร 2000
แม้ผลงานในสนามจะไม่ได้น่าประทับใจ แต่ข้อดีคือ เบลเยียมได้เงินก้อนโตจากการเป็นเจ้าภาพในครั้งนั้น และพวกเขาก็รู้ดีตั้งแต่แรกว่าเงินที่ได้มาควรจะเอาไปทำอะไร
ซาบล็อง ขอทุนก้อนนั้นเพื่อเอามาสร้าง “ยุคสมัย” ที่ไม่ต้องพึ่งดวงและโชคชะตา สิ่งที่เขาทำคือเริ่มสร้างตั้งแต่รากฐาน อาทิ การสร้างศูนย์ฟุตบอลแห่งชาติที่กรุงบรัสเซลส์ เพื่อเน้นไปที่การสร้างเยาวชนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ RBFA ยังรับลูกด้วยการเปิดอบรมโค้ชระดับเยาวชนตามมาตรฐานของ FIFA แบบ “ฟรี” ไม่คิดค่าเรียน เพื่อหวังสร้างผู้ฝึกสอนที่มีคุณภาพให้กระจายตัวไปยังทุกหัวมุมต่าง ๆ ในประเทศ
การมีโค้ชเยาวชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเบลเยียมไม่ได้เป็นประเทศที่มีสโมสรฟุตบอลระดับอาชีพรองรับนักเตะมากมายเหมือนกับประเทศรอบข้าง พวกเขามีสโมสรอาชีพเพียง 34 ทีม และมีการแข่งขันเพียง 2 ดิวิชั่นเท่านั้น ซึ่งการมีโค้ชที่ได้มาตรฐานในการสร้างเยาวชนตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คือสาเหตุที่สมาคมฯ ออกค่าเรียนฟรีให้ทั้งหมด
พวกเขามีศูนย์ฝึกและทีมฟุตบอลท้องถิ่นให้นักเตะเยาวชนทั่วประเทศได้ลงเล่นกันมากขึ้น ไม่มีการจำกัดสัญชาติ ไม่การเรียกเก็บค่าเรียน นักเตะอย่าง อัดนาน ยานาไซ ที่มีพ่อแม่เชื้อสายโคโซโว-อัลเบเนียน, แว็งซ็องต์ ก็องปานี ที่มีพ่อแม่เป็นผู้อพยพชาวคองโก, โรเมลู ลูกากู จากครอบครัวชาวดีอาร์ คองโก, มุสซ่า เดมเบเล่ มาจากครอบครัวชาวมาลี, อักเซล วิตเซล มาจากมาร์ตินีก, นาเซอร์ ชาดลี่ และ มารูยาน เฟลไลนี่ มาจากครอบครัวชาวโมร็อกโก … พวกเขาเหล่านี้ได้รับโอกาสจากการสร้างฟุตบอลเยาวชนท้องถิ่นในเบลเยียมทั้งสิ้น
สถานที่มีแล้ว บุคลากรก็เริ่มสร้างแล้ว สิ่งที่ต้องการอีกอย่างคือแบบแผนการทำงานที่ชัดเจน หรือที่ภาษาฟุตบอลเรียกว่า “ปรัชญาฟุตบอล” เมื่อสร้างคนแล้ว ก็จะต้องรู้ว่าจะสร้างคนคนนั้นไปเพื่ออะไร ต้องการให้ผลลัพธ์ปลายน้ำเป็นแบบไหน นั่นคือหน้าที่ของ ซาบล็อง ที่ต้องจัดการเรื่องนี้
และเขาเลือกที่จะใช้ปรัชญาฟุตบอลตามจากแรงบันดาลใจที่ได้จากการเดินทางไปยังศูนย์ฝึกเยาวชนที่ดีที่สุดในฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และ เยอรมัน จนกระทั่งได้เป็นพิมพ์เขียวแบบฉบับของเบลเยียมขึ้นมา โดยมีชื่อเรียกว่า “La vision de formation de l’URBSFA” (วิสัยทัศน์และการฝึกสอนของฟุตบอลเบลเยียม)
“ผมมีแผนงานในหัว ผมคิดว่าจะเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมดจากที่เราเคยมี เราต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง วันที่ผมเสนอแผนงานนั้นไป ผมถูกต่อต้านและมันไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก แต่มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องเสี่ยง เพราะตอนนั้นเราเกือบถูกลืมไปแล้วว่าเราเคยเป็นชาติที่โดดเด่นเรื่องฟุตบอล” ซาบล็อง กล่าวกับ BBC
ซาบล็อง ต้องจัดอบรมโค้ช เดินทางไปคุยกับสโมสรอาชีพทั่วประเทศ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของฟุตบอลเยาวชนคืออะไร … ที่เบลเยียม พวกเขาเคยยึดติดกับชัยชนะตั้งแต่ฟุตบอลเด็ก แต่ ซาบล็อง บอกให้พวกเขาเลิกทำ เพราะนั่นไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว
“อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับงานที่ผมทำน่ะเหรอ? การเปลี่ยนความเคยชินของคนนี่แหละ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คุณจะไปหาผู้คนต่าง ๆ เพื่อบอกให้พวกเขาหยุดทำสิ่งที่พวกเขาทำต่อ ๆ กันมาหลายปีแล้ว”
ซาบล็อง ผลักดันให้เกิดลีกเยาวชนแบบเป็นทางการตั้งแต่รุ่นอายุ 7-8 ขวบ เด็กคนไหนที่เก่งแล้วจะต้องเลื่อนขั้นขึ้นไปเล่นในระดับที่สูงขึ้น ไม่ถูกดึงกลับลงมาเล่นในรุ่นอายุเดิมเด็ดขาด เพราะไม่มีประโยชน์ในการพาทีมเอาชนะการแข่งขันได้ แต่เด็กไม่พัฒนาขึ้น
“เมื่อผมได้อำนาจมา ผมก็เชื่อมั่นในแนวทาง ผมไม่อนุญาตให้เด็ก ๆ ถูกดึงกลับไปในระดับการแข่งขันที่ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเป็นนักเตะที่เก่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แว็งซ็องต์ ก็องปานี คือนักเตะที่ผมโดนด่ากับเรื่องนี้มากที่สุด เขาเล่นยู 19 ให้เรา 2 นัด ผมก็ดันเขาให้ขึ้นไปเล่นในระดับยู 21 พอเขาเล่นระดับนั้นได้อีก 3 นัด ผมก็ผลักดันให้เขาขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ทันที และเขาก็ไม่เคยกลับมาเล่นในทีมรุ่นเยาวชนอีกเลย”
“ผมอยากให้ทุกคนในประเทศเปลี่ยนความคิดใหม่ ฟุตบอลเยาวชนต้องอย่าเน้นเอาชนะ แต่ต้องเน้นการพัฒนาผู้เล่น … จุดนี้แหละที่ยากมาก ผมโดนโจมตีเป็นการส่วนตัวเยอะเลย จากทั้งสื่อและผู้คนในสมาคมที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผม” ซาบล็อง ยอมรับ
การแบกอายุ เป็นวิธีที่ทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าตัวเองยังขาดเหลือสิ่งไหนได้ดีที่สุด การส่งพวกเขาไปเจอกับสถานการณ์จริง เจอคนที่ตัวใหญ่กว่า เร็วกว่า และเก่งกว่า ทำให้พวกเขารู้ว่าแท้จริงแล้วโลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่นัก และตัวเองยังต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่แค่เจอกับคนที่อ่อนกว่าและภูมิใจกับการพาทีมชนะอะไรแบบนั้น นั่นคือการสร้างนักเตะเยาวชนในแบบของเบลเยียม ที่ ซาบล็อง สู้กับคำติฉินนินทามาโดยตลอด
สร้างปรัชญาที่ชัดเจน
เมื่อมีการสร้างนักเตะเยาวชน เพิ่มนักฟุตบอลในประเทศ และเพิ่มผู้ฝึกสอนที่มีคุณภาพให้มากขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องต่อยอดคือการกำหนดว่า “พวกเขาจะต้องเป็นนักเตะเป็นแบบไหน”
การเดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, สเปน ทำให้สมาคมฟุตบอลเบลเยียมได้วางปรัชญาฟุตบอลใหม่ นั่นคือฟุตบอลในระบบการเล่น 4-3-3 (กองหลัง 4 คน กองกลาง 3 คน กองหน้า 3 คน) ซึ่งแผนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากศูนย์ฝึกของ อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) และ บาร์เซโลน่า (สเปน) ซึ่งเป็นสองสโมสรระดับโลกที่ได้รับการการันตีว่า “เก่งที่สุด” ในการสร้างนักเตะเยาวชน
เหตุผลที่ใช้ระบบ 4-3-3 ในทุกระดับอายุนั้น เพราะเชื่อว่านี่คือระบบการเล่นที่ยืดหยุ่นที่สุด และเป็นฟุตบอลโมเดิร์นขนานแท้ กล่าวคือเน้นที่การเล่นเกมรุก การเอาชนะตัวต่อตัว และความเร็วความเข้าใจในการเคลื่อนที่ร่วมกันทั้งทีม
บ็อบ โบรเวย์ส คือศิษย์เอกของ ซาบล็อง เขาเป็นโค้ชเยาวชนที่มีความคิดเห็นตรงกับประธานเทคนิคทีมชาติ ทั้งสองคนรับลูกกันเป็นอย่างดี พวกเขาส่งงานต่อกันเป็นทอด ๆ สิ่งที่เน้นให้นักเตะพัฒนาที่สุดคือ “อิสระในการเลี้ยงบอล” เพื่อเป็นกุญแจสำคัญของระบบการเล่น 4-3-3 ที่เมื่อนักเตะมีทักษะในการเลี้ยงบอล พวกเขาจะรู้วิธีการเอาชนะแบบตัวต่อตัว ซึ่งทำให้ทีมได้เปรียบในการเล่นเกมรุก
“4-3-3 คือระบบที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของนักเตะเยาวชน เราเน้นไปที่การพัฒนาด้านการเลี้ยงและครอบครองบอลตามแผนวิสัยทัศน์ ที่บอกว่าหัวใจของการเอาชนะคือการดวลกันแบบตัวต่อตัว เราส่งแผนงานนี้ให้กับโค้ชฟุตบอลทั่วประเทศ เน้นให้พวกเขามอบอิสระให้กับนักเตะในการเลี้ยงบอลอย่างเต็มที่” บ็อบ โบรเวย์ส กล่าว
หากไม่มีผลลัพธ์ที่ดี มันคงเป็นวิธีการที่สมควรแก่การโดนตั้งข้อสงสัย เพราะเราต่างเข้าใจว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม การเลี้ยงบอลเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง แต่ที่เบลเยียม ระบบการเล่นแบบเอาชนะการดวล 1-1 ถูกส่งต่อไปยังศูนย์ฝึกฟุตบอลท้องถิ่นทั่วประเทศ มันเลยกลายเป็นศูนย์ฝึกที่ทำให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอลโดยไม่ถูกจำกัดเชื้อชาติ และนั่นทำให้พวกเขาได้นักเตะท้องถิ่นเก่ง ๆ ที่กลายเป็นแข้ง “ยุคทอง” รุ่นนี้ขึ้นมาในบั้นปลายนั่นเอง
นักเตะมีพื้นฐานดีมาตั้งแต่การเล่นในระดับท้องถิ่น มีโค้ชที่สอนแนวทางที่ชาติต้องการ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อไปยัง 34 สโมสรอาชีพทั่วประเทศ … ทุกอย่างมีลำดับขึ้นตอนอย่างช้า ๆ ไม่นานนัก เสียงด่าที่มีต่อ ซาบล็อง ก็หายไป เพราะเป้าหมายการสร้างทีมเพื่อชัยชนะ เริ่มแสดงให้เห็นหลังจากพวกเขามีนักเตะเยาวชนที่ดี
“อันดับโลกของทีมชุดเยาวชนในรุ่น ยู 17 และยู 19 ของเราก็ดีขึ้น จากที่เคยอยู่ในท็อป 20 เราขยับมาอยู่ในตำแหน่งระดับท็อป 10 … คุณอยากรู้ไหมว่าทำไม?” ซาบล็อง ว่าต่อกับ BBC
“คำตอบง่าย ๆ แค่เรามีแผนพัฒนานักเตะไง สิ่งที่เราทำคือการทำให้เรามีนักเตะที่เก่งขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของ ฟีฟ่า แรงกิ้ง อะไรเลย แต่ผลลัพธ์ของการมีนักเตะที่ดี ก็ทำให้เรามีอันดับที่ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว” ซาบล็อง กล่าว
ออกจากรังในเวลาที่สมควร
อันเดอร์เลชท์, เกงค์, เกนท์, คลับ บรูช, สตองดาร์ด ลีแอช และ อันท์เวิร์ป คือสโมสรชื่อดังอันดับต้น ๆ ของประเทศ สโมสรเหล่านี้รับปรัชญาการสร้างทีมเพื่ออนาคตจากสมาคมฟุตบอลเบลเยียมเป็นอย่างดี พวกเขายึดมั่นในการสร้างวิธีเอาชนะตัวต่อตัว การสร้างระบบการเล่น 4-3-3 เพื่อให้เด็กเข้าใจวิธีการ และนำวิธีจากแผนพัฒนาแห่งชาติมาประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งที่สโมสรต้องการ
พวกเขาไม่เคยขายฝันให้เด็กว่า ระบบนี้จะสร้างให้ทุกคนได้โบยบินไปค้าแข้งกับลีกใหญ่ ๆ ในฐานะยอดนักเตะ แต่ละปี แต่ละสโมสรมีนักเตะเข้าสู่ระบบเยาวชนมากมาย แต่มีการสำรวจว่ามีนักเตะเพียง 10% เท่านั้น ที่จะได้ไปต่อบนเส้นทางอาชีพ ดังนั้นนอกจากสโมสรจะสอนให้นักเตะเล่นฟุตบอลเป็นแล้ว พวกเขายังสอนเด็ก ๆ ให้รับผิดชอบตัวเองด้วย
โอกาสคือสิ่งที่พวกเขาต้องสร้างขึ้นมาเอง นักเตะต้องพัฒนาตัวเอง กล้าที่จะเจอกับการแข่งขันที่สูงกว่า เพราะอย่างที่รู้กัน ลีกเบลเยียมไม่ใช่ลีกที่แข็งแกร่งอะไรมากมายนัก หากเทียบกับชาติมหาอำนาจด้านฟุตบอลอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส พวกเขาจะต้องย้ายทีมเพื่อไปเจอระดับการแข่งขันที่สูงกว่า และเป็นนักเตะที่ดียิ่งกว่าที่เคยเป็น
สโมสรในเบลเยียมพยายามฟูมฟักนักเตะของพวกเขาให้อยู่กับสโมสร จนกว่าที่พวกเขาจะเก็บเกี่ยวทุกอย่างในประเทศได้จนหมด จากนั้นนักเตะจะไม่ถูกกีดขวางเมื่อได้รับข้อเสนอจากทีมดังในต่างแดนในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยอายุสัก 18-19 ปี คือช่วงวัยที่เหมาะที่สุด
ฌอง คินเดอมันส์ ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของสมาคมฟุตบอลเบลเยียม และสโมสรอันเดอร์เลชท์ เผยว่า พวกเขาไม่เคยปิดกั้นโอกาสการย้ายทีมที่ทำให้เด็กสามารถพัฒนาการเล่นของตัวเองเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นก็เป็นข้อเสียเช่นกัน เพราะเมื่อมีรุ่นพี่อย่าง แว็งซ็องต์ ก็องปานี, โธมัส แฟร์มาเล่น, เควิน เดอ บรอยน์ ออกไปแสดงพรสวรรค์ในลีกใหญ่ ๆ ทีมจากทั่วยุโรปก็รู้ว่านักเตะเบลเยียมมีดี และบางครั้งพวกเขาก็มาซื้อตัวนักเตะ เบลเยียม ในช่วงอายุที่ยังไม่แข็งแกร่งพอ
“จริง ๆ เราขอแค่ได้ใช้นักเตะในทีมชุดใหญ่สัก 2-3 ปีก็พอแล้ว เราอยากให้พวกเขาพร้อม ไม่ใช่ให้พวกเขาก้าวกระโดด หลายครั้งที่เด็กอายุ 14-16 ปี ของเราโดนทีมใหญ่ ๆ ฉกตัวไป ช่วงเวลานั้นเด็ก ๆ กำลังอยากจะแสดงฝีมือ แต่พวกเขายังเด็กมาก มันเสี่ยงเกินไป และผมเองก็รู้สึกไม่ชอบใจนักที่พวกเขาตัดสินใจย้ายออกก่อนเวลาอันสมควรนั้น”
“เราเสีย อัดนาน ยานาไซ (ไป แมนฯ ยูไนเต็ด), ชาร์ลี มูซ็องด้า (เชลซี), มัทเธียส บอสแซร์ตส์ ( แมนฯ ซิตี้) และ อิสมาอิล อัซซาอุย (สเปอร์ส) ตอนที่นักเตะเหล่านี้ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ เราพยายามจะให้เด็ก ๆ อยู่ที่เบลเยียม จนอายุ 18 ปี อยู่จนเรียนจบชั้นมัธยมเสียก่อน แต่บางครั้งปัจจัยพวกนี้ก็ควบคุมไม่ได้ พ่อแม่ของพวกเขาเห็นข้อเสนอจากทีมใหญ่ที่พร้อมให้ค่าจ้าง 1 แสนยูโรต่อปี ขณะที่เล่นใน เบลเยียม จะได้แค่ 1 หมื่นยูโรต่อปีเท่านั้น … เรื่องนี้เราก็ต้องช่วยกันคิดหาวิธีร่วมกัน ทั้งสมาคมเบลเยียมและสโมสรด้วย” คินเดอมันส์ กล่าวกับ The Guardian
แต่ที่เห็นนั้นคือส่วนน้อย นักเตะเบลเยียมชุด โกลเดน เจเนอเรชั่น ส่วนใหญ่ได้ออกไปเล่นในยุโรปหลังอายุ 18 ปี และทุกคนก็เห็นว่ามันได้ผลลัพธ์แบบไหน ลูกากู และ เดอ บรอยน์ ออกจาก อันเดอร์เลชท์ กับ เกงค์ ไปเชลซี หลังจากอายุ 18 ปี แม้จะเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่พวกเขาก็รับมือได้ดีเพราะโตพอที่จะอยู่กับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สุดท้ายก็ได้กลายเป็นยอดนักเตะ …
ยังไม่รวมถึงพวก เฟลไลนี่, วิทเซล, เดมเบเล่, เมอร์เท่นส์ และคนอื่น ๆ อีก ที่เป็นข้อพิสูจน์ว่า การที่สโมสรเบลเยียม ให้เด็กได้เก็บเกี่ยวทุกอย่างให้พร้อมก่อนบินออกจากรังนั้นสำคัญขนาดไหน
โกลเดน เจเนอเรชั่น ที่ยังต้องรอการประทับตราว่า “ทำสำเร็จ”
การมีแผนงานที่ชัดเจน แก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้าง ใส่ใจกับระบบการเล่น พัฒนาเด็กจนถึงขีดสุด ทำให้ เบลเยียม ยุค “โกลเดน เจเนอเรชั่น” มีนักเตะค้าแข้งในทีมใหญ่ ๆ ทั่วยุโรป เคยก้าวขึ้นมาเป็นทีมอันดับ 1 ของโลกในการจัดอันดับของ ฟีฟ่า และเกาะกลุ่มท็อป 5 มาตลอดจนถึงทุกวันนี้
แต่กระนั้นฟุตบอลก็เป็นแบบนี้ ต่อให้เก่งแค่ไหน แต่การไม่เคยประสบความสำเร็จในฐานะแชมเปี้ยน คุณก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่า “สำเร็จจริงหรือ? เหตุใดยังไม่สามารถคว้าถ้วยแชมป์ได้เลยล่ะ?”
ยกตัวอย่างเช่นในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านมา เบลเยียม ยอดเยี่ยมในทุกตำแหน่ง มีวิธีการเล่นเกมบุกที่ดุดัน นักเตะสามารถเอาชนะสถานการณ์ตัวต่อตัวได้ในแบบที่เขาฝึกมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็มาจบเส้นทางที่รอบรองชนะเลิศด้วยการแพ้ ฝรั่งเศส ที่กลายเป็นแชมป์ในบั้นปลายด้วยสกอร์ 0-1 จากการโหม่งของ ซามูเอล อุมติตี้ ที่มีจุดเริ่มต้นจากลูกเตะมุม
ในเกมนั้น เบลเยียมไม่ได้เล่นแย่กว่าฝรั่งเศสเลย พวกเขามีโอกาสทำประตูจะ ๆ จาก ลูกากู และ เฟลไลนี่ สิ่งที่ทำให้พวกเขาพลาดเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกจากผลการแข่งขันนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจหลังเกม … นักเตะเบลเยียม ที่ถูกสอนมาให้เล่นเกมรุกนั้นพูดว่าพวกเขาแพ้ฝรั่งเศส เพราะทัพตราไก่ใช้แทคติกอย่าง “แอนตี้ฟุตบอล” กล่าวคือเล่นเน้นผล ตั้งเกมรับเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศส ไม่ทำแบบนั้น
“ผมอยากจะแพ้ให้กับ บราซิล ในรอบรองชนะเลิศ มากกว่าต้องมาแพ้ให้กับ ฝรั่งเศส ที่แค่มาเล่นแบบ แอนตี้ฟุตบอล พวกเขาตั้งรับ รอสวนกลับ และรอเล่นลูกเซ็ตพีซ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น” ธิโบต์ กูร์กตัวส์ นายทวารของเบลเยียมกล่าว
ขณะที่ อาซาร์ กัปตันทีมชุดนั้นก็บอกในแบบเดียวกันว่า “ผมขอเป็นผู้แพ้ในแบบฉบับของเบลเยียม ดีกว่าเป็นผู้ชนะแบบฝรั่งเศส”
แม้รูปเกมในสนามจะไม่ได้ผิดไปจากที่พวกเขาบอก แต่นี่คือฟุตบอล เกมที่ตัดสินทุกอย่างด้วยชัยชนะและประตู นักเตะของฝรั่งเศส รู้วิธีว่าทำอย่างไรให้ไปถึงตำแหน่งแชมป์ ทั้งที่พวกเขามีนักเตะที่เร็วอย่างกับนรก เช่น คีลิยัน เอ็มบัปเป้ มีจอมเทคนิคอย่าง อองตวน กรีซมันน์ ในแนวรุก และมีนักเตะสายสปีดเทคนิคสูงอีกหลาย ๆ คนอาทิ โตมาส์ เลอมาร์, อุสมาน เด็มเบเล และ คิงส์ลี่ย์ โกมัน นักเตะพวกนี้เป็นพวกเล่นเกมรุกเก่งไม่แพ้กับนักเตะของเบลเยียมเลยด้วยซ้ำ
ฝรั่งเศสสนใจผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ พวกเขาใช้ความเร็วของตัวรุกในเกมสวนกลับ และเลือกจะตั้งเกมรับเมื่อต้องเจอกับ 1 ในทีมที่มีเกมรุกดีที่สุดในทัวร์นาเมนต์ ต่อให้เบลเยียมจะเรียกว่า “แอนตี้ฟุตบอล” แต่โลกของฟุตบอลนั้นก็มีตรรกะที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ “ผู้ชนะจะถูกจดจำเสมอ”
ฝรั่งเศสต่างกับเบลเยียมตรงไหนในฟุตบอลโลกครั้งนั้น เราคงจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า “พวกเขาเชี่ยวชาญเพราะผ่านประสบการณ์ในเกมแบบแพ้คัดออกมามากกว่า” อย่าลืมว่าหลังจากสิ้นชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 และ ยูโร 2000 ฝรั่งเศส ผิดหวังในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติมาไม่น้อย
พวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มในฟุตบอลโลก ปี 2002 และปี 2010 และ 2 ครั้งที่พวกเขาเล่นเกมรอบน็อกเอาต์ด้วยการเป็นทีมที่เน้นเกมบุก ฝรั่งเศส จบทัวร์นาเม้นต์ด้วยการเป็นรองแชมป์ หลังแพ้ อิตาลี ในฟุตบอลโลก 2006 จากการดวลจุดโทษ และ แพ้ โปรตุเกส ในยูโร 2016 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ คุณเห็นอะไรจากความผิดหวังของฝรั่งเศสในทัวร์นาเมนต์ที่กล่าวมาบ้าง?
พวกเขาแพ้มาก่อน และพวกเขาเรียนรู้จากความพ่ายแพ้นั้น โดยใช้เวลาทั้งหมด 16 ปี
ฝรั่งเศส เป็นทีมที่มีนักเตะที่สามารถเล่นเกมบุกได้เก่งที่สุดในโลก แต่บางครั้ง “กลยุทธ์” คือสิ่งที่สำคัญมากในเกมที่เจอกับคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันในระดับหายใจรดต้นคอ ใครพลาดก่อน คนนั้นเป็นฝ่ายแพ้ … และสุดท้ายพวกเขาก็พบสัจธรรมของฟุตบอลบางข้อที่บอกว่า “เกมรุกที่ดีทำให้คุณชนะ แต่การมีเกมรับที่ดีทำให้คุณเป็นแชมป์” … สัจธรรมนี้ตกผลึกมาจากความผิดหวังที่ได้พบเจอในอดีตทั้งสิ้น
เบลเยียม ชุด โกลเดน เจเนอเรชั่น เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในฟุตบอลโลก 2014 พวกเขาเก่งแค่ไหน ใคร ๆ ก็รู้ แต่ถึงตอนนี้ผ่านเวลามาแล้ว 7 ปีกว่า ๆ แล้ว กลับไปได้ไกลที่สุดแค่อันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2018 เท่านั้น
นี่คือโค้งสุดท้ายของทีมชุด โกลเดน เจเนอเรชั่น แล้ว…
จากความผิดพลาดและพ่ายแพ้ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พวกเขาอาจจะตกผลึกอะไรบางอย่าง และเจอเหตุผลที่พยายามหาคำตอบมานาน … บางทีพวกเขาอาจจะต้องมองวิธีการของฝรั่งเศส ทีมที่ชนะพวกเขาและเป็นแชมป์โลกในครั้งนั้นดูบ้าง
แม้ในแง่ของความรู้สึกจะทำใจปฏิบัติได้ยากที่ต้องมาเล่นแบบแอนตี้ฟุตบอล เพราะพวกเขาเรียนรู้วิธีการเอาชนะแบบ “ตัวต่อตัว” เพื่อทำให้ทีมได้เล่นเกมรุกมาตั้งแต่ยังเด็ก
แต่เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า บางครั้งก็ต้องเปลี่ยนแปลงและประยุกต์บ้างเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ เหมือนกับที่ มิเชล ซาบล็อง ทำ นั่นคือล้างระบบฟุตบอลเก่า ๆ ของพวกเขาทิ้งไปเพื่อพาชาติมาเจอกับทีม โกลเดน เจเนอเรชั่น ของยุคนี้
2 ปีก่อน พวกเขาเคยยินดีที่ได้เป็นผู้แพ้ที่เล่นเกมบุก มากกว่าจะเป็นผู้ชนะที่เล่นเกมรับ แต่ ณ เวลานี้ อาจจะถึงช่วงเวลาแล้วที่ทีมชุด โกลเดน เจเนอเรชั่น จะต้องเรียนรู้วิธีใหม่ ๆ ดูบ้าง เพื่อทำให้พวกเขาเป็นแชมเปี้ยน และได้สวมมงกุฎเหมือนกับชาติมหาอำนาจลูกหนังอื่นๆในยุโรปเสียที