บุรุษเบื้องหลัง “แชมป์หญ้าสวย” – สยามกีฬา


บุรุษเบื้องหลัง

คนบางคน ไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว แต่เขายังทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขด้วย

    โทนี่ ซินแคลร์ เป็นหนึ่งในคนจำพวกนี้ 

         งานของเขาไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่งตัวธรรมดา ไม่โก้หรู มือถือไม้คราดสามง่ามคอยแซะหญ้า คราบดินแปดเปื้อนตามตัวก็บ่อยไป แต่ ซินแคลร์ ยังคงก้มหน้าก้มตาทำมันอย่างตั้งอกตั้งใจเหมือนเดิมมานานเหยียบ 30 ปี  

บุรุษเบื้องหลัง

    เหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพราะมันคือสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข

         หน้าที่รับผิดชอบของ ซินแคลร์ ในฐานะ “Ground manager” หรือผู้จัดการสนามประจำสโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือการดูแลสนามให้อยู่ในสภาพพร้อมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ

         ไม่ใช่เพียงแค่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด แต่ขอบข่ายงานของเขา ยังคลอบคลุมไปถึงสนามซ้อมต่างๆ ในเครือของสโมสรด้วยทั้งที่ แคร์ริงตัน, เดอะ คลิฟฟ์ และ ลิตเติ้ล โร้ด 

     นับรวมแล้ว มีถึง 23 สนามหญ้าธรรมชาติ และอีก 5 สนามที่เป็นหญ้าเทียม ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของเขา

        แต่ละสนาม มีกรรมวิธีดูแล และบำรุงรักษาที่แตกต่างกันออกไป

     ซับซ้อนที่สุดคือ สังเวียนหลักที่เป็นหน้าเป็นตาของสโมสรอย่าง โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 

บุรุษเบื้องหลัง

         “โรงละครแห่งความฝัน” ถูกปูด้วยหญ้าไฮบริด ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างหญ้าแท้ และเทียม ประกอบด้วยวัสดุที่ผลิตจากไนล่อนกว่า 20 ล้านชิ้น ฝังลึกกดลงไป 20 ซม. เว้นระยะห่างกันราว 1.5- 2 ซม. คิดเป็น 3% ของสนามทั้งหมด

         คุณจำเป็นต้องพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์หญ้า

         ซินแคลร์ คัดแล้วคัดอีก… คัดแล้วคัดอีก เพื่อหาหญ้าชนิดที่เหมาะสมที่สุดกับสภาวะอากาศของเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งถูกขนานนามว่า “Rainy City” หรือเมืองแห่งห่าฝน 

         ต้นหญ้าทุกต้นใน “โรงละครแห่งความฝัน” สามารถยืนตระหง่านท้าลมฝนแห่งเมืองแมนได้นานนับชั่วโมง แม้จะเทกระหน่ำลงมาจากฟากฟ้ามากปานใด คุณแทบไม่เคยเห็น ซินแคลร์ และทีมงานเจ้าหน้าที่สนามต้องนำอุปกรณ์รีดน้ำมาใช้เลย เพราะหญ้าที่เลือกมาใช้ มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถระบายน้ำได้ด้วยตัวเอง

บุรุษเบื้องหลัง

     ขั้นตอนของการคัดสรรสายพันธุ์หญ้าว่ายุ่งยากแล้ว แต่กระบวนการบำรุงรักษายิ่ง “เยอะ”

    ในแต่ละปี โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ถูกตะบี้ตะบันใช้งานในหลายโอกาส ทั้งในพรีเมียร์ลีก, ศึกฟุตบอลถ้วยในประเทศ 2 รายการ, ฟุตบอลถ้วยยุโรป รวมถึงยังโดนใช้เป็นสังเวียนซ้อมยามอาคันตุกะจากภาคพื้นทวีปมาเยือน และเวทีโชว์สำหรับทีมเยาวรุ่น ยู-23 ด้วย 

         นอกจากนี้ สนามฟุตบอลความจุ 76,000 คน ยังมักถูกยืมไปใช้เป็นสังเวียนแข่งรักบี้เมืองผู้ดี แถมด้วยการโดนใช้ในฐานะเวทีคอนเสิร์ตรายการใหญ่ๆ อีก

         แต่ถึงกระนั้น แม้ถูกปู้ยี้ปู้ยำหนักหน่วง แต่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ก็ยังคงอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดสำหรับการใช้งานเสมอ 

         แน่นอน มันมาจากการทำงานหนักของ ซินแคลร์ และทีมงานกว่า 30 ชีวิต

         งานนี้ นอกจากทีมเวิร์กที่ดีแล้ว เขายังมีกลเม็ดเด็ดสะระตี่

บุรุษเบื้องหลัง

         หากคุณเดินทัวร์รอบๆ สนามในบางสัปดาห์ อาจมีกลิ่นฉุนกึ๊กของกระเทียมโชยมาเข้ากระแทกโพรงจมูก จนแอบสงสัยว่ามีใครแอบมาปรุงอาหารแถวๆ นั้น แต่เปล่าเลย มันคือกลิ่นที่ลอยขึ้นมาจากพื้นสนามนั่นแล

         ซินแคลร์ และทีมงานซึ่งเดินสำรวจสังเวียนจนทั่ว จะหยอดกระเทียม รวมถึงหยดน้ำมันกระเทียมลงไปยังพื้นสนาม เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ และบำรุงหญ้าให้ฟูไปในตัว 

     นอกจากนี้ ยังจะมีการแซะเอาหญ้าบางจุดไปเข้าห้องแล็บเพื่อเช็กสุขภาพของมันอย่างสม่ำเสมอด้วย

         ในฤดูหนาวอันเย็นยะเยียบที่ดวงอาทิตย์ของ แมนเชสเตอร์ อับแสง เขาจะเอาเครื่องฉายแสงพิเศษซึ่งสั่งนำเข้าจากฮอลแลนด์ ชนิดเดียวกับที่ใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของดอกไม้งามอันลือชื่อของแดนกังหันลม มาใช้ดูแลต้นหญ้าที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 

         การเอาใจใส่ทุกรายละเอียด และทำให้กรรมวิธีการดูแลสนามวิวัฒน์ขึ้นไปอีกขั้นของ ซินแคลร์ ทำให้ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ได้รับรางวัลสนามสวยที่สุดของพรีเมียร์ลีกประจำฤดูกาล 2020/21 ซึ่งนับเป็นการครองแชมป์ถึงสองหนในสามปีล่าสุด หลังเพิ่งได้มาเมื่อปี 2019  

     แชมป์หญ้าฟู หรือ แชมป์หญ้างาม ใครจะมองมันอย่างไรก็ช่าง แต่ความนับถือในตนเองของ ซินแคลร์ ยังคงเข้มข้นเหมือนวันแรกที่รับงานนี้

บุรุษเบื้องหลัง

         “เราภูมิใจมาก ไม่ใช่แค่ผมนะ แต่ทั้งทีมงานของเราทั้งหมด” ซินแคลร์ หล่นคำสัมภาษณ์ให้เครดิตทีมงานด้วยแววตาเป็นประกายวับวาว “เราภูมิใจเสมอเมื่อเห็นสภาพสนามของเราอยู่ในเงื่อนไขที่สมบูรณ์สูงสุด กุญแจสำคัญคือ ผมมีทีมที่แข็งแกร่ง เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่ทำให้สนามของสโมสรแห่งนี้ดีที่สุด”

     “ไม่ใช่แค่สนามแห่งนี้ แต่รวมถึงสนามซ้อม, ลิตเติ้ล โร้ด, เดอะ คลิฟฟ์, เอออน เทรนนิ่ง คอมเพล็กซ์ ผมจะไม่สามารถทำได้เลยหากปราศจากทีมงานที่สุดยอด”

         ย้อนกลับไปเมื่อซีซั่น 2014/15 เขาเคยได้รับรางวัลชนะเลิศร่วมกับ อาร์เซน่อล มาแล้ว 

         ซินแคลร์ ผ่านยุคสมัยของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล, โชเซ่ มูรินโญ่ กระทั่งมาถึง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา และเขาไม่เคยอยู่นิ่ง แต่ทำงานหนัก คิดค้น ตลอดจนมองหาหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เสมอๆ จนแตกฉานในงานดูแลต้นหญ้า

     งานที่บางคนมองด้วยหางตาว่า โด่… กะอีแค่ “ทำให้หญ้าไม่เฉา”

         แต่มันเป็นงานที่เขาตั้งใจทำสุดหัวใจ 

         งานที่ไม่ได้ให้เขาแค่เงิน แต่ยังมอบความสุขเป็นค่าตอบแทนด้วย

บุรุษเบื้องหลัง

         เขาอาจไม่ได้ทำงานทุกวัน แต่ในหนึ่งปีที่มี 52 สัปดาห์ ซินแคลร์ไม่เคยหยุดแม้แต่วีกเดียว เพราะเขาตระหนักดีว่า ต้นหญ้าในสนามไม่เคยหยุดการเจริญเติบโต 

 

     ต้นหญ้าไม่ได้ต้องการเขา มากเท่ากับที่เขารู้สึกต้องการพวกมัน 

     ทันทีที่สิ้นเสียงนกหวีดยาวทุกครั้งที่ โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด หากภาพทีวียังฉายค้างไว้ เรามักจะเห็นเขาพร้อมทีมงานกรูลงไปปรับพื้นสนาม และตรวจเช็กสภาพเสมอ

       ไม่ว่าคุณจะมองเห็นสนามหญ้าอันเขียวขจีแล้วนึกชื่นชม หรือรู้สึกขบขันกับฉายา “หญ้าฟู ยูไนเต็ด” ของ “ปีศาจแดง” เชื่อเถิดว่า หนุ่มเจ้าเนื้อที่ชื่อ โทนี่ ซินแคลร์ จะยังคงมองดูผลงานของตัวเองด้วยความภาคภูมิ และคิดถึงวิธีการบำรุงสังเวียนแข้งให้สมบูรณ์ในเช้าวันถัดไปเหมือนเดิม

เปาผี

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร

Add friend ที่ @Siamsport

เพิ่มเพื่อน